8.คำถาม-คำตอบ เกี่ยวกับมหาธรรมกายเจดีย์
ถาม: เมื่อมหาธรรมกายเจดีย์สร้างเสร็จแล้ว อยากทราบถึงการจัดวางระบบแสงให้ส่องไปที่เจดีย์ให้สวยงามในยามค่ำคืนอย่างไร
ตอบ : องค์พระธรรมกายเจดีย์เป็นพุทธสถานที่มีความสำคัญ ถ้าคิดในแง่ของตำแหน่งที่ตั้ง มหาธรรมกายเจดีย์จะอยู่ในตำแหน่งที่สามารถเป็นสัญญลักษณ์ของกรุงเทพมหานครได้ ที่เราใช้คำว่า Land mark ของกรุงเทพมหานคร เพราะตำ-แหน่งที่ตั้งของมหาธรรมกายเจดีย์อยู่ในช่วงทางสัญจรของเครื่องบินที่มาจากต่างประเทศ สายการ บินทุกสายจะต้องผ่านมหาธรรมกายเจดีย์ ดังนั้นเมื่อมีความสำคัญ ๒ ประการนี้ ในลักษณะของพุทธสถาน และในลักษณะของ Land mark จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีระบบแสงเข้ามาช่วยให้เห็นเด่นชัดในตอนกลางคืน เพื่อสร้างความสง่างามให้กรุงเทพมหานคร สร้างความสำคัญในลักษณะพุทธสถาน ในเรื่องของแสงนี้เราได้ศึกษากันมานาน ได้จัดทำแนวความคิดซึ่งเป็น Philosophy เน้นให้เห็นความสำคัญของธรรมกายเจดีย์ ทั้งในทางส่วนข้างบนลงมาและในทางราบ ความเห็นของผมนั้น เมื่อสาธุชนมารวมกันนับแสนๆ คน ลักษณะความสง่างามของพระเจดีย์ มีความสำคัญในทางราบ ความคิดขั้นต้นก็คือทำอย่างไร จะให้แสงที่เราใช้ในบริเวณ ๒,๐๐๐ ไร่ เน้นไปที่องค์เจดีย์ และควรมีการควบคุมน้ำหนักของแสงสว่างอย่างไร และมืดตามขั้นตอนของพิธีกรรม เช่นในขณะที่พระสงฆ์กำลังเดินเวียนเทียน มีแสงเน้นไปที่องค์พระสงฆ์ที่เดินเวียนเทียน ไปจับที่ผ้าเหลือง แสงที่องค์เจดีย์ก็จะหรี่ลงในขณะ ที่พระสงฆ์เดินครบแล้วขึ้นไปนั่งที่สังฆรัตนะ ผ้าเหลืองที่อยู่โดยรอบพุทธรัตนะ นับหมื่นรูปนั้น เหมือนกับกลีบดอกบัว เพราะพระภิกษุทุกรูป ท่านมีการเคลื่อนไหว ความคิดขั้นต้นก็คือ เราอยากจะทำให้แสงนี้เป็นแสงไม่จ้าและสงบนิ่งตายตัว ให้เป็นการเคลื่อนไหวเหมือนลักษณะสีทอง ส่วนบริเวณพุทธรัตนะ มีพระธรรมกายประจำตัวนั้น ซึ่งผิววัสดุที่ใช้เป็นสัมฤทธิ์ หากไม่มีการเคลือบผิวด้วยสีที่สามารถรับแสงได้ การคิดค้นแสวงหาแนวทางในการใช้แสงจึงมีความสำคัญมาก ผมมีความเห็นว่า ถ้าเราสามารถควบคุมระบบแสงตลอดช่วงระยะเวลาที่มีพิธีกรรม ๓-๔ ชั่วโมง ให้สอดคล้องกับจังหวะที่หลวงพ่อให้โอวาท ให้พร พระภิกษุสวดพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ พระภิกษุสวดชยันโต ขณะที่พระสงฆ์เดินเวียนเทียน ถ้าแสงนี้มีโอกาสเอื้ออำนวยให้เหมาะสมกับพิธีกรรมด้วย ก็จะสร้างความประทับใจสูงสุด คือเร่งเร้าศรัทธาต่อสาธุชนได้สูงสุดเป็น Climax ของพิธีกรรม ไม่ใช่ แสงเพียงแค่สว่างแล้วเห็นชัดเท่านั้น แสงนี้จะเป็นแสงพิเศษ ที่มาเร่งเร้า Emotional Impact ได้สูงสุด เพราะฉะนั้นจึงคิดถึงว่า ขณะที่เป็นไฮไลท์สุดยอดของพิธีกรรมอาจจะมีแสงพิเศษ ที่สามารถทำให้เกิดฉัพพรรณรังสีครอบองค์โดม ถ้าทำได้ในลักษณะนี้ ความคิดที่จะสร้างสรรค์ทั้งรูปธรรมและนามธรรมก็จะสมบูรณ์ สำหรับแสงทั่วๆ ไป บริเวณที่เป็นที่นั่งของสาธุชน เนื่องจากแต่เดิมเรามีแนวปฏิบัติยึดถือมาเป็นเวลานานว่า ในดวงประทีปที่เป็นโคม จะเป็นลักษณะที่เป็นไฮไลท์ในส่วนที่เป็นที่นั่งของสาธุชน โดยเน้นความเป็นระเบียบ ความเป็นแถวเป็นแนว นั่นคือความสว่างโดยทั่วๆ ไปซึ่งเพียงพอแล้ว ส่วนความสว่างขององค์เจดีย์ ปัจจุบันก็ตั้งเสาเพื่อจะฉายลำแสงเข้าสู่องค์เจดีย์ แต่เสานี้ใช้เฉพาะวันที่มีพิธีกรรมเท่านั้น เราจะมีการปรับแสงเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นไปตามที่เราต้องการ ส่วนในวันปกติตอนเย็นเราจะเปิดแสงที่เป็นแสงตายตัว ๑๐-๑๒ ชั่วโมง เพื่อที่จะเน้นในเรื่องของพุทธสถาน และเน้นในเรื่องของแลนด์มาร์ค ลำแสงนี้จะอยู่ในโซนที่ ๖ ซึ่งเป็นโซนสระน้ำ แล้วจะเรืองขึ้นมาโดยรอบ ลักษณะของการเรืองแสงเพียงพอในการจะมองเห็นองค์ธรรมกายเจดีย์เต็มทั้งรูปวงแหวน
ถาม : ธรรมกายเจดีย์ แบ่งออกเป็นกี่ส่วน และแบ่งเป็นโซนด้วยความแตกต่างกันอย่างไร
ตอบ : ธรรมกายเจดีย์ มี ๓ ส่วน และ ๑๒ โซน ลักษณะที่แบ่ง เราแบ่งจากแบบสถาปัตย-กรรม คือ ๓ ส่วน พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ
ส่วนที่ ๑ พุทธรัตนะ ส่วนเดียวจะแบ่งเป็น ๒ โซน คือ โซน ๑ ส่วนโดม
โซน ๒ เชิงลาดโดม
ส่วนที่ ๒ ธรรมรัตนะ คือโซน ๓ และ
ส่วนที่ ๓ สังฆรัตนะ คือ โซน ๔ โซน ๕ คือโซนที่นอกองค์เจดีย์ออกมาแล้ว เป็นโซนที่ใช้ประกอบพิธีเดินเวียนเทียนของพระสงฆ์ โซน ๖ คือโซนสระน้ำ แยกระหว่างฆราวาสกับบรรพชิต โซน ๗ คือโซนที่ใช้เวียนเทียนของสาธุชน โซน ๘ เป็นโซนที่นั่งสนามหญ้า โซน ๙ เป็นโซนขอบของวิหารคด โซน ๑๐ คือวิหารคด โซน ๑๑ คือโซนที่เป็นขอบระหว่างวิหารคดกับสระน้ำ โซน ๑๒ กับที่เหลือเป็นโซนสระน้ำกว้าง ๘๑ เมตร
ถาม : เมื่อพระภิกษุสงฆ์นั่งประกอบศาสนพิธีในส่วนของสังฆรัตนะ จะห่างหรือติดกับองค์พระธรรม-กายประจำตัวขนาดไหน
ตอบ : ห่างกัน ๑๐.๘๐ เมตร และยังมีความสูงเอียงลาดอีก ๑๔ เมตร
ถาม : ทำไมต้องทำวงแหวนล้อมรอบธรรมกายเจดีย์ถึง ๒ วงแหวน และ ๒ วงแหวนนี้ เกี่ยวข้องกับความ ปลอดภัยของธรรมกายเจดีย์หรือไม่
ตอบ: แนวความคิดการทำวงแหวนนี้เป็นนโยบายจาก พระเดชพระคุณหลวงพ่อ ทีมงานมิได้คิดขึ้นเอง และพื้นวงแหวนวงในเป็นคอนกรีตที่อยู่ได้ ๑,๐๐๐ ปี แต่ถ้าวงแหวนใหญ่รอบนอกเป็นพื้นธรรมดา วงแหวนนี้จะช่วยด้านความงามสง่า ขอบเขตเจดีย์ชัดเจนและช่วยด้านความปลอดภัยด้วย
ถาม : เพราะเหตุใดภายหลังจึงไม่มีกำแพงแก้ว
ตอบ: เดิมที่เราวางแบบจะให้มีกำแพงแก้ว ซึ่งพระเดชพระคุณหลวงพ่อให้ยกเลิกเปลี่ยนเป็นคูน้ำโดยรอบ จุดประสงค์เพื่อให้พื้นที่ธรรมกายเจดีย์และสภาธรรมกาย กับมหาวิหารต่อเนื่องเป็นพื้นที่เดียวกัน
ถาม : การกำหนดเสร็จของโซนต่างๆ ของธรรมกายเจดีย์จะเสร็จเมื่อไร
ตอบ : พระเดชพระคุณหลวงพ่อมีดำริว่า ถ้าสามารถสร้างเสร็จได้ต้นปี ๒๕๔๒ ก็หมายถึงว่าเราจะเริ่มใช้งานพิธีในวันมาฆบูชา ๒๕๔๒ นั่นคือระบบแสง ระบบสนามหญ้า ระบบระบายน้ำ จะต้องเสร็จพอสมควร อาจแม้จะยังไม่สมบูรณ์ ผมแน่ใจว่าตั้งแต่มิถุนายน ๒๕๔๑ งานที่เป็นส่วนประกอบของที่นั่งสาธุชน เช่น งานดิน งานสนามหญ้า ระบบระบายน้ำ งานระบบทั่วๆ ไปที่สามารถตอบสนองการใช้งานในปี ๒๕๔๒ จะต้องเสร็จอย่างน้อย ๖๐-๗๐ เปอร์เซนต์
ถาม : ส่วนใดของมหาธรรมกายเจดีย์ ที่ถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกได้
ตอบ : จริงๆ แล้ว ตั้งแต่โจทย์หนึ่งพันปีก็มหัศจรรย์อยู่แล้ว ซึ่งไม่เคยมีใครคิดงานแบบนี้มาก่อน การสร้างเจดีย์หนึ่งพันปีนี้ เราใช้แนวความคิดของคนโบราณที่ใช้มาแล้ว และมีหลักฐานยืนยันแน่นอน เราไม่พยายามที่จะใช้ของที่ทันสมัย เช่นใช้คอนกรีต หรือบรอนซ์ ประการที่ ๑ คือ ความคิด ๑,๐๐๐ ปี ซึ่งเป็นสิ่งมหัศจรรย์ ประการที่ ๒ คือ Shape และSize เจดีย์ทรงนี้เรียกว่า Modern Shape ไม่ใช่ Old Shape ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน ถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์สิ่งแรก
ถาม : พื้นคอนกรีตโดยรอบองค์เจดีย์ มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับคอนกรีตที่ใช้ทำเสาเข็มหรือไม่
ตอบ : ไม่เหมือนกัน เพราะว่าส่วนที่เราใช้ทำเสาเข็มจะต้องป้องกันกรดด้วย ฉะนั้นเราจึงมีสูตรพิเศษกว่าคอนกรีตที่เราใช้อยู่บนฐานรอบองค์เจดีย์
ถาม : คอนกรีตที่สร้างธรรมกายเจดีย์มีความแข็งแรงมาก ขนาดไหน น้ำหนักเท่าไหร่
ตอบ : ถ้าพูดในด้านเทคนิคแล้ว มีความทนทานของแรงอัดถึง ๖๐๐-๗๐๐ กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับคอนกรีตตามท้องตลาดที่เขาใช้กันอยู่ก็คือ อยู่ในระหว่าง ๓๐๐ กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร
ถาม : คอนกรีตมีผลทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นหรือไม่ในช่วงเวลากลางวัน
ตอบ : ไม่มี เพราะคอนกรีตจะมีบรอนซ์คลุม หรือมีหินแกรนิตคลุม
ถาม : แผ่นหินแกรนิตที่วางไว้บนคอนกรีตเสริมเหล็ก เวลาเดินผ่านจะเคลื่อนหรือไม่ เพราะไม่มีการยึดระหว่างคอนกรีต
ตอบ : หินแกรนิตก้อนหนึ่งหนา ๕ ซม. ก้อนหนึ่งอย่างน้อย ๕๐ ลบ.ซม. ประมาณร้อยกว่ากิโลกรัม คงจะไม่มีใครเดินหรือวิ่ง แล้วจะทำให้เขยื้อนได้ เพราะหนักมาก
ถาม : หินแกรนิต ทำไมต้องใช้ความหนาที่ ๕ ซม.
ตอบ : หินแกรนิตที่เราใช้ความหนา ๕ ซม. ถ้าใช้มากกว่านี้ก็ดี ทนทาน แต่จากการคำนวณแล้ว เราพบว่า ๕ ซม. มีความทนทานอยู่แล้วในระยะกว่า ๑,๐๐๐ ปี และหินของเรามีโอกาสใช้งานปีหนึ่ง ๓ ครั้ง เพราะฉะนั้นโอกาสสึกกร่อนมีน้อย ไม่มีความจำเป็นต้องใช้มากไปกว่านี้
ถาม : ทำไมต้องใช้หินแกรนิตจากต่างประเทศ
ตอบ : ก่อนอื่นต้องขอตอบว่า ที่เราเลือกหินแกรนิตเพราะคุณสมบัติของหิน มีดังนี้
๑. มีความขาวมากที่สุด
๒. สามารถซึมซับน้ำหรือความชื้นได้น้อย
๓. มีความแข็งแกร่งเพียงพอ สาเหตุที่ไม่เลือกใช้ในประเทศเพราะหินแกรนิตบ้านเรามีจำนวนไม่มาก และไม่สามารถควบคุมคุณภาพของสีได้ หากใช้ไปมหาธรรมกายเจดีย์จะมีหลากหลายสี แต่ที่สหรัฐอเมริกามีหินแกรนิตมากพอ ที่สามารถคัดสีและลายให้เหมือนกันทุกแผ่นที่ใช้ และสามารถส่งให้เราได้ตามกำหนด เพื่อให้แผนงานเสร็จสิ้นทันเวลา เหมืองดังกล่าวเปิดมาแล้วประมาณ ๑๐๗ ปี มีหินแกรนิตมากมายมหาศาล
ถาม : บรอนซ์ หรือตัว Cladding ที่เป็นฐานธรรมกายเจดีย์ เมื่อได้รับความร้อนที่สะสมไว้จะทำลายพื้นคอนกรีตหรือไม่
ตอบ : ไม่ทำลาย เพราะจะมีฉนวนปกป้องไว้
ถาม : ความร้อนที่ทำให้โลหะขยายตัว จะทำให้องค์พระธรรมกายประจำตัวเบียดกันหล่นได้หรือไม่
ตอบ : ไม่หล่น เพราะการขยายตัวนี้ได้รับการคำนวณ มาแล้วว่า สามารถที่จะรองรับองค์พระได้ คือเราออกแบบ Cladding เพื่อจะให้ทุกๆ ๑.๔๐ เมตร เมื่อมีการขยายตัวและก็สามารถเกาะกลุ่มของมันเองได้ โดยไม่ได้ยึดกับสิ่งของอื่น
ถาม : ขอความกรุณาอธิบายคำว่า กาลักความร้อนอีกครั้งหนึ่ง
ตอบ : กาลักความร้อน คือการอาศัยหลักการลอยตัวของอากาศร้อนที่ได้รับความร้อนจากโลหะบรอนซ์ อากาศจะขยายตัวและลอยขึ้นสู่เบื้องบน แล้วจะเกิดแรงดูดอากาศเย็นไหลเข้ามาแทนที่ หมาย ความว่า อากาศเย็นจะเคลื่อนที่จากข้างล่างเข้าไป ภายในองค์ธรรมกายเจดีย์ แล้วถูกดูดออกมานอกองค์เจดีย์ใหม่ มารับความร้อนที่บรอนซ์และขยายตัวลอยขึ้นไปข้างบนอีก จะเป็นภาพที่ครบวงจรอย่างนี้
ถาม : ในเวลากลางวัน หากขึ้นไปชมองค์เจดีย์ จะได้รับกระแสความร้อนหรือไม่
ตอบ : ไม่มีการอนุญาตให้ขึ้นไปชมข้างบนองค์เจดีย์
ถาม : เมื่อต้องการดูองค์พระประจำตัว มีการตรวจเช็คการติดตั้งองค์พระอย่างไร
ตอบ : เราใช้ระบบ Data Base ซึ่งจะระบุว่าองค์พระประจำตัวของแต่ละท่านจะอยู่ชั้นไหน แถวไหน และองค์พระรหัสอะไร โดยไล่ตั้งแต่ทิศใต้มาเรื่อย เราสามารถกดรหัสองค์พระของเราเข้าไปในคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์จะแสดงว่าองค์พระของเรานั้นอยู่แถวไหน ชั้นที่เท่าไร องค์ที่เท่าไร ซึ่งจะเห็นในคอมพิวเตอร์อย่างชัดเจน และเราก็สามารถเดินไปดูได้
ถาม : ส่วนของโดมสามารถเปิดออกได้หรือไม่
ตอบ : ส่วนของโดมไม่สามารถเปิดออกได้ แต่ในช่วงที่กำลังก่อสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก สามารถมีช่องเปิดได้ เพื่อประดิษฐานพระบรมพุทธเจ้าในปี ๒๕๔๑ หลังจากที่ประดิษฐานพระบรมพุทธเจ้าแล้ว ก็จะปิดโดมนี้และไม่สามารถเปิดได้อีกเลย
ถาม : องค์พระธรรมกายประจำตัวอยู่ได้ ๑,๐๐๐ ปี ฐานองค์พระก็อยู่ได้ ๑,๐๐๐ ปี ส่วนชื่อจารึกจะอยู่ถึง ๑,๐๐๐ ปีหรือไม่
ตอบ : อยู่ครับ เพราะว่าการแกะสลักชื่อลงบนฐานองค์พระเรากดเป็นร่องในเนื้อโลหะเลย เพราะฉะนั้นถ้าโลหะไม่สูญสลายไป ชื่อจะติดกับโลหะตลอด เราสลักชื่อไว้ลึกมาก มากกว่า ๒ มม. เมื่อกาลเวลาผ่านไปเป็นพันๆ ปี อาจจะกร่อนไปสัก ๑ มม. เพราะฉะนั้นชื่อจารึกจะอยู่คู่กับองค์พระจนกว่าองค์พระจะสลายไป
ถาม : องค์พระบนโดมจะติดตั้งอย่างไร
ตอบ : การติดตั้งองค์พระบนโดม จะมี ๓ ส่วน คือ ส่วนแรก จะเป็นผิวเปลือกโดม ส่วนที่สอง คือจากผิวเปลือกโดมจะมีฐานออกมา ส่วนที่สาม คือองค์พระจะติดบนฐาน จะมองเป็น ๓ ส่วนง่ายๆ คือ เปลือก โดม ขายื่นจากโดม และองค์พระสวมที่ขาตัวนี้ องค์พระบนโดมจะติดตั้งเช่นเดียวกับตัวขั้นบันได (Step Cladding) มี ๓ ส่วนเหมือนกัน คือ ตัวแผ่นสเต็ปที่วางไว้ มีตัววงแหวนที่วางองค์พระ และองค์พระนำไปสวม
ถาม : พระบรมพุทธเจ้า หนัก ๑๔ ตัน จะติดตั้งอย่างไร อยู่ส่วนไหน และจะประดิษฐานที่เจดีย์เมื่อไร
ตอบ : พระบรมพุทธเจ้าจะติดตั้งภายใต้โดม ที่ศูนย์กลางธรรมกายเจดีย์ การติดตั้งจะใช้เครนยกแล้วหย่อนลงไปบนยอดโดม เครนหนักประมาณ ๓๐๐ ตัน และจะติดตั้งประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ หลังจากติดตั้งเสร็จแล้วก็จะปิดโดมทันที เพื่อเตรียมการติดตั้งองค์พระองค์แรก เดือนเมษายน ๒๕๔๑
ถาม : มีวิธีการป้องกันสัตว์ต่างๆ เข้าไปทำรังได้อย่างไร
ตอบ : บริเวณตามซอกผิวบรอนซ์ หรือใต้องค์พระเจดีย์เป็นช่องระบายอากาศ เราจะมีตะแกรงกันสัตว์ แต่ไม่ละเอียดถึงขนาดกันยุง ช่องต่างๆ นี้จะระบายความร้อนออก ถ้าหากตะแกรงถี่ขนาดกันยุงแล้ว ลมก็จะไม่เข้า ความร้อนก็จะไม่ออก เราใช้ตะแกรงขนาด ๖ มม. เพื่อกันสัตว์ใหญ่เข้าไป และจากลักษณะอากาศในช่วงกลางวันอาจจะไม่มีสัตว์เข้าไปอยู่ เพราะจะทนความร้อนใต้ผิวหินไม่ไหว
ถาม : อยากทราบว่าเตรียมระบบป้องกันฟ้าผ่าไว้อย่างไร
ตอบ : เราจะมีสายล่อฟ้า มองไกลๆ จะเล็กมาก กระ- จายเป็นจุดๆ บริเวณบรอนซ์ บริเวณโดม บริเวณทั่วๆ ไป ซึ่งจะลดความเสี่ยงจากการถูกฟ้าผ่า เพราะองค์พระมีส่วนผสมของทองแดงซึ่งเป็นตัวนำไฟฟ้า ระบบนี้จะสามารถช่วยป้องกันได้มากที่สุด
ถาม : มีวิธีการป้องกันแผ่นดินไหวอย่างไร เพื่อให้ธรรม-กายเจดีย์ปลอดภัย
ตอบ : โดยลักษณะขององค์เจดีย์จะไม่มีผลต่อการเกิดแผ่นดินไหว เพราะฐานเจดีย์มีความกว้างมากกว่าความสูง ๒๔๘ เมตร ๗ เท่าของความสูง เป็นเจดีย์ที่ไม่สูงมากนัก สำหรับการป้องกันด่านที่ ๒ คือ พื้นชั้นล่างสุดทำเป็นแพที่เชื่อมต่อกับเสาเข็มเพื่อที่จะให้มีโอกาสการถ่ายเทแรงไปยังเสาเข็มที่อยู่ข้างๆ และแพนี้สามารถลอยอยู่ด้วยตัวมันเอง ไม่มีผลกระทบต่อตัวองค์เจดีย์ แพที่ว่านี้เป็นคอนกรีตทั้งชิ้นหนา ๘๐ ซม. และมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๙๔.๔๐ เมตร ยึดเป็นแผ่นกับเสาเข็มไว้
ถาม : มีระบบการระบายน้ำอย่างไร
ตอบ : เราได้เตรียมเรื่องน้ำที่ระบายออกมาจากการทำความสะอาด หรือกรณีฝนตก มีระบบระบาย น้ำออก และมีการถ่ายเทอยู่ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้น้ำขังในอาคาร
ถาม : อยากทราบว่าเมื่อธรรมกายเจดีย์ติดตั้งองค์พระ ๓๐๐,๐๐๐ ภายนอกแล้ว มีระบบในการทำความสะอาดหรือการดูแลต่างๆ ของชั้นองค์พระอย่างไร
ตอบ : โดยหลักการกว้างๆ การทำความสะอาดองค์พระ องค์เจดีย์เราใช้วิธีธรรมชาติก่อนที่จะช่วยดูแลคือฝนตกลงมามีการทำความสะอาดตามธรรม- ชาติ แต่ขณะเดียวกันในแง่การบำรุงรักษานานๆ ครั้ง จะใช้น้ำจากปั๊มฉีด ได้เตรียมก๊อกน้ำเอาไว้แล้ว
ถาม : อยากทราบว่าคนงานที่ทำงานด้านการก่อสร้างมีจำนวนเท่าไหร่
ตอบ : ปัจจุบันตอนนี้มีอยู่ประมาณ ๕๐๐ กว่าคน
ถาม : เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้ว มีการตรวจสอบคุณภาพอย่างไรจึงจะมั่นใจว่าเป็นไปตามที่ออกแบบไว้ทุกประการ
ตอบ : การตรวจสอบจะมีทั้งหมด ๓ ฝ่าย คือ
๑. ฝ่ายผู้ขายสินค้าให้เรา
๒. บริษัทก่อสร้างที่จะตรวจสอบ ทำหน้าที่ เช่น คอนกรีตที่เทไปเป็นส่วนผสมที่เราคิดหรือเปล่า และทีมที่
๓. บริหารโครงการ ก่อสร้าง จะตรวจสอบงานที่ทำได้ทำตามข้อกำหนดที่ทำสัญญาซื้อขายกันหรือไม่ จะเห็นว่าการตรวจสอบมี ๓ ฝ่ายเพื่อสร้างความมั่นใจว่าคุณภาพงานที่ผ่านมาเป็นไปตามวัตถุประสงค์ทุกประการ
ถาม : ในขณะทำการก่อสร้างมีการอนุญาตให้เข้าไปชมได้หรือไม่
ตอบ : เราเกรงว่าสาธุชนที่เข้าไปแล้วจะไม่ได้รับข้อมูล ที่ถูกต้อง และไม่สะดวก อีกทั้งไม่ปลอดภัยในขณะเข้าไป เพราะกำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ ดังนั้นจึงยังไม่อนุญาตให้เข้าไปชมในขณะนี้ แต่ได้จัดสถานที่ไว้ให้ชมที่อาคารสำนักงานสนาม
ถาม : สิ่งที่เป็นปัจจัยทำให้งานล่าช้าคืออะไร
ตอบ : ปัจจุบันนี้ในแง่ของการก่อสร้าง การจัดหาวัสดุมาประกอบการก่อสร้างธรรมกายเจดีย์ จัดหาได้ครบสมบูรณ์แล้ว ไม่ว่าจะเป็น คอนกรีต บรอนซ์ หินแกรนิต หรือส่วนประกอบอื่นในการก่อสร้าง ได้ทำสัญญาว่าจ้างเรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้น ปัจจัยสำคัญที่ทำให้งานล่าช้ามีสิ่งเดียว คือทุน-ทรัพย์ที่จะเข้ามาเพื่อใช้จ่ายให้ทันแผนงานการก่อสร้างเท่านั้น
ถาม : วันธรรมดาจะเดินเข้าไปดูองค์เจดีย์ไม่ได้ จะมีสัญญาณอะไรบอกหรือไม่
ตอบ : เราสามารถเดินเข้าไปได้ถึงแค่วิหารคด ถ้าใกล้ไปกว่านั้นจะมีสัญญาณเตือนดังขึ้น จะมีหน่วยรักษาความปลอดภัยทำหน้าที่อยู่
ถาม : จะร่วมเป็นเจ้าภาพสร้างมหาธรรมกายเจดีย์ได้อย่างไร
ตอบ :
๑. สร้างเสาค้ำมหาธรรมกายเจดีย์ ซึ่งมีจำนวนจำกัดเพียง ๘๑๕ ต้น เท่านั้น
๒. สร้างพระธรรมกายประจำตัวเพื่อประดิษฐานบนโดม ทำบุญองค์ละ ๒๐,๐๐๐ บาท โดยจะได้รับการจารึก ชื่อ-สกุล ที่ฐานองค์พระ-ธรรมกาย ๑ องค์ ต่อ ๑ ชื่อ
๓. สร้างพระธรรมกายประจำตัวเพื่อประดิษฐานถัดจากโดมลงมาตามลำดับ ทำบุญองค์ละ ๑๐,๐๐๐ บาท ได้รับการจารึก ชื่อ-สกุล ๑ องค์ ต่อ ๑ ชื่อ

สารบัญ