News Sections
 
Weekly in Print
Columnists
 
Control
 
พุทธศาสนิกในโลกร่วมสมัย
Nov 28, 2005

คนไทยสมัยนี้เป็นพุทธศาสนิกกันหรือไม่ น่าสงสัย อย่างน้อยก็ในทางเนื้อหาสาระ โดยไม่ต้องพูดถึงไสยเวทวิทยาและ พุทธพาณิชย์ ตลอดจนศักดินาขัตติยาธิปไตย รวมถึงความเป็นชาตินิยมที่เข้ามาปนเปไปขนาดไหนบ้าง หากประเด็นพวกนี้ จะขอยกไว้ก่อน โดยจะบอกกล่าวว่าฝรั่งนั้นหันมาสมาทานพระรัตนตรัยกันยิ่งๆขึ้น จึงใคร่จะเสนอมุมมองของฝรั่งที่ถือพุทธมา ให้รับทราบกัน แม้ในสมัยของสมเด็จพระวันรัต เฮง เขมจารีนั้น ฝรั่งส่วนใหญ่ออกจะเป็นมิจฉาทิฐิ ดังพระคุณท่านไม่โปรด ให้พระเณรในอาณัติของท่านเรียนภาษาอังกฤษเอาเลยด้วยซ้ำ สำหรับฝรั่งที่เข้าไม่ถึงสาระของพระพุทธศาสนามักจะ แปลกใจจนถึงกับตกใจเมื่อเขาเรียนรู้ว่าอริยสัจข้อต้นนั้นคือความทุกข์

ทุกขสัจเป็นพื้นฐานของพุทธศาสนา เพราะความทุกข์ชี้ไปให้เห็นถึงรหัสยนัยแห่งชีวิต ขอให้สังเกตดูก็ได้ว่าปรัชญาต่างๆ และลัทธิศาสนาต่างๆนั้น มักพยายามอธิบายถึงความลี้ลับของชีวิต โดยอาศัยสมมุติฐานทางความเชื่อ ถ้าเชื่อเช่นนั้นแล้ว ชีวิตก็จะมีความหมายไปตามนัยยะดังกล่าวแต่เราต้องไม่ลืมว่าความหมายของชีวิตที่ขึ้นอยู่กับความเชื่อนั้น ถ้าความเชื่อขั้น พื้นฐานปลาสนาการไป ความหมายที่ตราขึ้นไว้ก็สลายไปด้วย เช่น ถ้าเราเชื่อว่าเมื่อพ้นชาตินี้ไปแล้ว ชีวิตจะเป็นนิรันดร บนสรวงสวรรค์หรือในโลกันต์นรกก็สุดแท้ แต่ถ้าเผอิญคนที่เรารักเป็นอย่างยิ่ง ตายจากไปอย่างกระทันหัน เราจะยังคงเชื่อ อีกต่อไปไหม ว่าคนรักของเราจะคงสภาพอยู่ในโลกหน้าอย่างเป็นอมตะ แล้วเราเชื่อจริงๆหรือว่าเราจะได้ไปพบคนรักของเรา และเราคงถามต่อไปด้วยว่า ทำไมคนที่เรารักจึงตายจากไปอย่างรวดเร็วนัก ปล่อยให้คนที่เราเกลียด และโกงกินบ้านเมือง ดำรงคงอยู่ ยังกับว่าไม่มีทางที่จะปลาสนาการไปเอาเลย

ข้าพเจ้ารู้จักนักบวชนิกายอังกฤษคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเจ้าวัด ไครสต์ เชิร์ช ที่ถนนคอนแวนต์ ในกรุงเทพฯเขาทำวัตรสวดมนต์ สรรเสริญคุณพระเจ้าทุกเช้าค่ำ และเป็นคนอารมณ์ดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และแล้ววันดีคืนดี ภรรยาเขาก็ตายจากไปอย่างทันที ทันใด โดยเราต้องไม่ลืมว่าบาทหลวงนิกายนั้นมีภรรยาได้อย่างเปิดเผย เป็นเหตุให้เขาสงสัยคลางแคลงใจมาก ว่าทำไม พระเจ้าจึงทำกับเขาได้ถึงเพียงนั้น ความเชื่อมั่นในองค์พระผู้ทรงฤทธาศักดานุภาพทุกประการ สั่นคลอนลงเป็นอย่างยิ่ง

พวกเราเอง เวลาเราไปงานศพ เราไปเพื่อปลง ไปเพื่อคิดคำนึงถึงคนตาย ว่าเขากลายสภาพไปเป็นอะไรหรือไม่ หรือว่า เราไปงานศพเพียงเพื่อกิจกรรมทางสังคมเท่านั้นเอง

เมื่อเราหาคำตอบให้ไม่ได้ในเรื่องความตายหรือหลัดๆคนที่เรารักก็ตายจากไป เราย่อมคลางแคลงใจ ในความเชื่อที่เราได้ รับคำสั่งสอนมา

แท้ที่จริงนั้น ความตายส่อไปให้เราเห็นถึงความลี้ลับมหัศจรรย์ของความมีชีวิต แต่แล้วลัทธิศาสนาต่างๆก็พยายามอธิบาย ในเรื่องความตายให้โยงไปถึงโลกหน้า นรก สวรรค์ หรือนิรันดรภาพ ส่วนคนในปัจจุบันส่วนใหญ่ถูกล้างสมองโดย ลัทธินิยมวัตถุ ให้เชื่อว่าชีวิตมีแค่แต่เกิดถึงตาย แล้วก็หมดสิ้นกันไปเลย

เบอทรัน รัสเซลเป็นคนสำคัญที่ยืนยันว่าตายแล้วศูนย์ ทั้งๆที่เขาพิสูจน์ความข้อนี้ไม่ได้ ในเรื่องนี้ ชวนให้ต้องนึกถึงยอช เดรฟัส ซึ่งรำพึงถึงตัวเขา เมื่อยังเยาว์วัย ดังขอแปลคำของเขามาอ่านให้ฟังดังต่อไปนี้

เมื่อข้าพเจ้าแรกเริ่มวัยรุ่นนั้น ข้าพเจ้านึกถึงเรื่องความตายอย่างเอาจริงเอาจังยิ่งนัก ข้าพเจ้ามักนอนในเตียง แล้วก็นึกกลัว เป็นอย่างยิ่งว่าถ้าตายไป คงหมดสภาพไปเป็นศูนย์เอาเลย ข้าพเจ้าพยายามจะให้เหตุผลกับตนเอง ว่าประสบการณ์เมื่อตาย ไปแล้ว คงไม่ต่างไปจากประสบการณ์เมื่อตอนก่อนเกิดว่าไม่ความตายก็คงไม่ต่างไปจากการ นอนหลับคือเราหมดการรับรู้ ไป แต่แล้วคำตอบต่างๆเหล่านี้ก็ไม่เป็นที่พอใจ และข้าพเจ้าก็ได้แต่กอดหมอนแน่น จนหลับไปได้นั่นแลจึงเท่ากับว่ารอดพ้น ไปจากความทรมานในเรื่องนี้ พร้อมกันนั้น ข้าพเจ้าก็สงสัยในเรื่องธรรมชาติของอัตลักษณ์ หรือเอกลักษณ์ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามักคิดอยู่เสมอว่า “ ฉันคือใคร”….. “ฉันเป็นผลแห่งความชอบที่พ่อแม่เสพสังวาสกันกระนั้นหรือ…..” หรือว่าฉันมีความเป็นตัวตนอย่างจริงแท้แน่นอนยิ่งไปกว่านั้น” ถ้าพ่อแม่ไม่ได้รู้จักมักจี่กัน ฉันจะเกิดขึ้นได้ไหม”

ปัญหาอันเป็นธรรมดาสามัญ และนับเป็นปัญหาพื้นฐานที่ว่านี้ ดูคนที่อยู่รอบๆตัวข้าพเจ้าจะไม่มีคำตอบใดๆให้เลยบิดาข้าพ เจ้าซึ่งเป็นนายแพทย์และเป็นปัญญาชน ซึ่งสนใจในหลายสาขาวิชา เช่น ฟิสิกส์ ชีววิทยา ประวัติศาสตร์ และมานุษยวิทยา แต่ดูท่านไม่สามารถช่วยข้าพเจ้าได้ในทางปรัชญาเอาเลย ส่วนสมาชิกคนอื่นๆในครอบครัวของข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้ามีส่วน เกี่ยวข้องด้วยน้อยกว่า ก็ดูเหมือนพวกเขาจะสนใจแต่กับกิจธุระประจำวันของเขากันเท่านั้น จนแทบไม่มีคำตอบอะไรให้ข้าพ เจ้าได้เอาเลยทีเดียว ผู้นำทางศาสนายูดาย ซึ่งบิดาส่งข้าพเจ้าไปเรียนรู้ทางลัทธิศาสนานั้น อย่างน้อยก็เป็นการรักษา จารีตที่ท่านรับมาจากบรรพชน โดยที่ตัวท่านเองก็ไม่เลื่อมใสในทางนี้เท่าใดนัก ท่านผู้นำทางลัทธิศาสนาก็ดูจะสนใจ แต่ในการยึดมั่นตามพระคัมภีร์ว่ามีความจริงแท้แน่นอนอย่างไม่อาจสงสัยได้ ยิ่งกว่าที่ท่านจะตอบปัญหาที่ข้าพเจ้า ถือว่าสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

ยิ่งสถาบันการศึกษาด้วยแล้ว โดยทั่วไป ถือว่าน่าเสียใจจริงๆ แม้นี่จะเป็นชุมชนที่คนสนใจในเรื่องทางความรู้ความคิด แต่ข้าพเจ้ารู้สึกว่าสถาบันการศึกษาให้อะไรข้าพเจ้าน้อยมาก ในข้อที่จะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจหรือสติปัญญา โลกทัศน์ที่ข้าพเจ้าเติบโตมานั้น เป็นไปในทางวัฒนธรรมของคนที่พูดภาษาฝรั่งเศส ที่มีแนวโน้มในทางที่จะเป็นปัญญาชน และทิศทางของคนรุ่นใหม่เป็นไปในทางต่อต้านกระแสหลัก โดยหันไปทางการเมืองฝ่ายซ้าย แต่สถานการณ์ในช่วงปลาย แห่งทศกะที่ ๑๙๖๐ โดยเฉพาะก็การเสื่อมสลายของขบวนการนักศึกษา กับการที่โซเวียตบุกเข้าไปยึด ครองเชกโกสโลวา เกียนั้น ทำให้ทัศนะและความเชื่อมั่นทางด้านความชอบธรรมของพวกฝ่ายซ้าย ได้ถูกทำให้เสื่อมคลายไปเป็นอย่างมากเลย ทีเดียว ข้าพเจ้าก็เหมือนกับคนร่วมสมัยเป็นอันมาก ที่ต้องการทางเลือกที่แผกไปจากชีวิตประจำวันอันน่าเบื่อ ดังพวกเราที่เป็นนักศึกษาซึ่งพูดภาษาฝรั่งเศส ใช้คำว่า เราต้องไปให้พ้นจาก Metro, boudo, dedo คือพ้นไปจากการใช้รถใต้ดิน การทำงาน และการนอน

เดรฟัส ซึ่งเป็นชาวสวิส ต้องการหาคำตอบให้ตนเองในเรื่องสาระแห่งชีวิต จึงเดินทางไปทวีปเอเชียโดยหวังว่าคงจะหา อะไรๆได้ในขณะที่สิ่งซึ่งตนต้องการจะแสวงหานั้น ดูจะไม่มีเอาเลยในวัฒนธรรมตะวันตกที่ตนเติบโตขึ้นมาครั้นเมื่อเขา ได้ไปรู้จักกับพุทธศาสนาแบบธิเบต เขาได้รับความประทับใจจากปรัชญาของฝ่ายพุทธเข้าอย่างทันทีทันใดคำสอนในเรื่อง อริยสัจสี่ ดูสมเหตุสมผล ทางด้านการตอบคำถามที่สำคัญสุดอันเขาแสวงหามาตลอดชีวิต โดยเฉพาะก็ในเรื่องการดำรง อยู่และการตาย ยิ่งเมื่อเขาได้พบอาจารย์ท่านหนึ่ง เขาก็ทึ่งในคุณภาพของพระคุณท่าน ซึ่งมีบุคคลิกภาพที่มั่นคงมีจิตใจ อันงดงามและมีคำพูดที่แหลมคม โดยจับประเด็นในทางปรัชญาที่ยากเย็นและลึกซึ้งได้อย่างเป็นนายของปัญหา ดังจะเห็นได้ว่าคำสอนของท่านนั้นชัดเจนและแจ่มใส

เดรฟัสทึ่งมาก ที่พระอาจารย์ของเขาเชื่อมั่นในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่สืบทอดกันต่อๆมาจากองค์พระศาสดา ดังท่าน พร้อมที่จะอภิปรายกับเขาในทุกๆปัญหาอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา (ผิดกับโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ของเราเกือบ จะขาวเป็นดำ เพราะพระมักตีฝีปากในการตอบปัญหาเยาวชน โดยเฉพาะกับสาวๆ และพระผู้สอนพุทธศาสนาส่วนใหญ ่ก็ไม่ได้เข้าถึงไตรสิกขาเอาเลย)

นักศึกษาถามปัญหาใดๆได้มาก และท่านอาจารย์ก็มีคำตอบที่ดีให้ได้ตลอดเวลา โดยที่คำตอบดังกล่าวนั้น ขึ้นอยู่กับคุณค่า ของถ้อยคำนั้นๆเอง ไม่ได้ขึ้นกับคัมภีร์ของลัทธิศาสนาหรือความศักดิ์สิทธิ์ของครูอาจารย์แต่ประการใด

นอกไปจากนี้แล้ว นักศึกษายังได้รับอิสรภาพในการคิดค้นด้วยตนเอง เมื่อนักศึกษาเผชิญกับเรื่องที่ยากๆอย่างเรื่องของ กรรมกับการเกิดใหม่ ท่านอาจารย์จะเสนอว่ายังไม่ต้องตัดสินใจในเรื่องพวกนี้ ดังท่านย้ำว่า “เมื่อเธอศึกษา และปฏิบัติได้ มากกว่านี้ เธอจะตัดสินใจได้ดีกว่าในปัจจุบัน ในขณะนี้ เรื่องนี้ยังไม่สำคัญ ขอให้ศึกษาและปฏิบัติธรรมไปก่อนจะดีกว่า”

คำตอบเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่า ความเชื่อไม่ใช่พื้นฐานของการปฏิบัติธรรม ที่สำคัญคือการแสวงหาสาระจากคำสั่งสอนต่างหาก ทั้งนี้นับว่าต่างไปจากลัทธิศาสนาต่างๆโดยทั่วไป ที่เน้นในเรื่องกฎเกณฑ์ทางความเชื่อที่ตายตัวจนดังกับว่าถ้าปราศจากความ เชื่อขั้นพื้นฐานดังกล่าวเสียแล้ว ย่อมเข้าถึงศาสนาไม่ได้เอาเลย

ว่ากันตามเนื้อแท้แล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้านั้น เป็นระบบที่เอื้ออาทร ให้เราตื่นขึ้นเพื่อรู้จักตัวเรา ว่าเราคือใครคำสอน ทั้งหลายเป็นไปเพื่อช่วยให้เราหยุดวงวัฏฏที่ก่อให้เกิดและตอกย้ำไปที่ความทุกข์รูปแบบและพิธีกรรมต่างๆในทางวัฒนธรรม ทั้งหลายในฝ่ายพุทธศาสนาอาจส่อไปว่านี่คือลัทธิ ซึ่งอาจใช้คำในภาษาอังกฤษว่า religion แต่ความจริงหาเป็นเช่น นั้นไม่ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ พุทธศาสนาเป็นการประมวลอุปายวิธีที่จักช่วยให้เราตื่นขึ้นจากความทุกข์ หรือความสับสนต่างๆ

อุปายวิธีที่มาแต่พระบรมศาสนานั้น มีวิวัฒนาการเรื่อยมา เป็นเวลาหลายศตวรรษ จนเกิดหลายลัทธิหลายนิกายที่มีปรัชญา หรือคำอธิบายอันแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะในเรื่องของจักรวาลวิทยา ศีลธรรมจรรยา แม้จนข้อวัตรปฏิบัติ ทั้งที่เหมาะ สำหรับบรรพชิตและคฤหัสถ์ ตลอดจนพิธีกรรมในเรื่องพุทธาภิเษก หรือการแปรสภาพทางพลังจิตให้ตนเองและผู้อื่น ตลอดจนการบริกรรมในทางสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนา โดยที่อุปายวิธีเหล่านี้ล้วนเป็นไปเพื่อให้เราได้แปรสภาพจาก ความโลภ ให้กลายไปเป็นทาน ให้แปรสภาพความโกรธ ให้กลายเป็นเมตตา กรุณา และให้แปรสภาพความหลง ให้กลาย เป็นปัญญา ความรู้ลึก รู้รอบ และรู้อย่างเป็นองค์รวม ทางด้านธิเบตนั้น มีการใช้รูปเทวดา ตลอดจนนางตารา พระโพธิสัตว์ และทักคินี ท้าวมหากาฬ ฯลฯ ให้มาเป็นพาหะ เพื่อช่วยให้เราเข้าใจถึงธรรมชาติที่แท้ของความมีความเป็นอีกด้วย

ก็ในเมื่ออุปายวิธีมีมากมาย ในหลายสำนัก และหลายครูบาอาจารย์ ย่อมอาจทำให้เราหลงทางได้แต่ที่สำคัญสุดอันพึงตรา ไว้ก็คือ ระบบทั้งหมดในทางพุทธศาสนานั้น เป็นไปเพื่อทำลายอะไรๆก็ตาม ที่จะก่อให้เกิดความทุกข์ขึ้นได้อย่างไม่รู้จัก จบนั้นแล

คำอธิบายในทางปรัชญาก็ดี ข้อวัตรปฏิบัติในทางศีลธรรมจรรยาก็ดี รวมถึงการเจริญสมาธิภาวนา และพิธีกรรมต่างๆทั้ง หลายนั้น สรุปรวมแล้วขึ้นอยู่กับประเด็นเดียว คือช่วยให้เราตื่นขึ้นจากความหลับใหล ดังที่เรามักจะฝันไปว่า เราเป็นผู้ซึ่ง ต่างไปจากประสบการณ์ของเราเอง

ประสบการณ์อะไรเล่าที่เราเรียกว่าชีวิต ขอให้มองดูรอบๆตัวเรา มองดูที่ห้องนี้ ที่เรานั่งอยู่นี่ มองดูเครื่องตกแต่งต่างๆ ขอให้สังเกตสีและแสง ขอให้ตระหนักรู้ถึงตัวเราเอง ขอให้สังเกตดูความคิดและความรู้สึกของเรา ฯลฯ กล่าวคือชีวิต ก็คือสิ่งซึ่งเรามีประสบการณ์นั้นแล ในแต่ละช่วงขณะนั้นแล เราไม่รู้ว่าประสบการณ์นั้นมาจากไหน และประสบการณ์จาก เราไปไหน เราไม่รู้ว่าเรามาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร และเราก็ไม่รู้ว่าเมื่อเราตายจากไปแล้ว จะมีอะไรเกิดขึ้น แม้ช่วงต่อจากนี้ไป อะไรจะเกิดขึ้น ก็ไม่แน่นอนเช่นเดียวกัน เรารู้แต่ว่าเรามีชีวิตอยู่ และเรารู้ถึงความจริงข้อนี้ เรารู้จักความคิดของเรา ความรู้สึกของเรา ที่จริงเรารู้เพียงแค่นี้เอง นอกเหนือไปจากนี้แล้ว ต้องนึกว่าชีวิตนั้นลึกลับมหัศจรรย์ หรือเป็นรหัสยนัย

บางครั้ง ณ บางเสี้ยว บางส่วนของชีวิต เราเข้าถึงรหัสยนัยของชีวิต ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเมื่อความรู้สึกเปิดกว้างอย่างไม่มี จุดจบ ในขั้นตอนที่อารมณ์เราผันแปรไปกับกาลเวลา เมื่อเราได้รับความรู้สึกเช่นนี้ ที่เราเคยนิยามชีวิตไว้ดังที่เราเป็นสัตว์ สังคม หรือสัตว์เศรษฐกิจ ก็ดูจะปลาสนาการไป จนบางทีเรารู้สึกว่า ตัวเราแตกแยกออกเป็นเสี่ยงๆ บ่อยครั้งที่เราพยายาม ยึดติดกับตัวเราให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้น จนเราถือมั่นเอา ว่าเราเป็นเช่นนี้เช่นนั้น เป็นคนนี้คนนั้น ตามที่เราคิดเอา หรือตามที ่สังคมยัดเยียดให้เราคิดตามวัฒนธรรมในสังคม หาไม่ก็ปล่อยให้ไสยเวทวิทยา หรือนักจิตวิเคราะห์เป็นผู้ควบคุมเรา ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเฉพาะก็เมื่อเราเกิดอาการเจ็บป่วยขึ้นทางจิตใจ หาไม่ก็เมื่อไม่มั่นใจในชีวิต โดยเราทิ้งไปเสียสิ้น ซึ่งประสบการณ์อันเราได้รับมาในทางที่เปิดกว้างอย่างเป็นศูนย์ โดยที่เรามักไม่ถามตัวเราเองเลยว่า “เรามัวยึดถืออะไรเอาไว้”

ในบางขณะนั้นเล่า รหัสยนัยแห่งชีวิตอาจปรากฎขึ้นมาอย่างเด่นชัด แม้ในชีวิตประจำวันอันธรรมดาสามัญของเราจนปรากฎ แก่เราว่า ในช่วงขณะหนึ่ง โลกนี้ช่างมีชีวิตชีวาอย่างน่ามหัศจรรย์นัก เราได้ประโยชน์เช่นนั้นเพียงชั่วขณะหนึ่ง เป็นช่วงขณะ ที่ชัดเจนแจ่มใส อย่างที่เรามีสติอันรำลึกได้ จะว่ารหัสยนัยเผยตนออกมาให้ปรากฎ จนตระหนักได้ดังกับเป็นอกาลิโกก็ว่าได้ จนเรารู้สึกเหมือนกับว่า เราตื่นขึ้นอย่างสมบูรณ์ จนเราอดสงสัยเสียมิได้ว่าที่แล้วๆมา เราไปหลับไหลอยู่เสียที่ไหน

และแล้วชั่วขณะดังกล่าวก็ปลาสนาการไป เกิดกำแพงขึ้นมาขวางกั้น ให้เราเข้าไม่ถึงความมหัศจรรย์ หรือรหัสยนัยของชีวิต ถ้าเราเป็นคนช่างสังเกต เราก็จะรู้ได้ว่าสิ่งซึ่งเรียกว่าตัวตนนั้นแล ที่อยู่เบื้องหลังของกำแพงดังกล่าว เราใช้ชีวิตให้หมดไป โดยใช้เวลาเป็นอันมาก กับการโดดเดี่ยวเดียวดาย แยกออกหากจากผู้อื่น และสรรพสิ่ง แต่ลึกลงไปแล้ว เราอดเสียมิได้ ที่ต้องถามว่า “กำแพงอะไรที่มาขวางกั้นเราไว้” ดุจดังที่เราต้องถอยออกมาจากความรู้ที่ว่าเราย่อมต้องตายในวันหนึ่งข้าง หน้า และแล้วเราก็ต้องถอยออกมาจากรหัสยนัยของชีวิต

รหัสยนัยหรือความลี้ลับที่ว่านี้ ทำให้เราเกิดความกลัว ไม่แต่เพียงการกลัวตาย หากเป็นความกลัวที่ลึกซึ้งลงไปยิ่งกว่านั้น คือกลัวว่าเราคงไม่ได้เป็นคน ดังที่เราคิดว่าเราเป็น

ที่เราไม่กล้าเข้าหาหรือเผชิญหน้ากับความลึกลับของชีวิต ก็เพราะเราไปหลงติดยึดอยู่กับความคิดในเรื่องตัวตน หรือตัวกู ซึ่งเราถือว่าตัวกูที่ว่านี้ ดำรงอยู่อย่างเป็นอิสระจากโลกที่อยู่รอบๆตัวเรา ผู้คนพากันไปติดยึดว่า ตัวตนหรือตัวกูนี้ มีอยู่อย่าง เป็นเอกเทศ เป็นดังกรรตุวาจกในขณะที่โลกรอบๆตัวเราเป็นเพียงกรรมวาจก ทั้งๆที่ตามความเป็นจริงแล้ว เราไม่รู้เอาเลยว่า กูคืออะไร และโลกรอบๆกูคืออะไร โดยเราปล่อยให้เรื่องอันสำคัญสุดนี้ ไปอยู่ในมือของนักปรัชญา นักการศาสนา หรือผู้ที่มีอาชีพในทางให้คำตอบจากตำรา หรือลัทธิศาสนาไปเอาเลย

เราเชื่อมั่นว่าเรามีอยู่ โดยเราไม่พิจารณาเอาเลยว่า ความเชื่อที่ว่านี้ผิดหรือถูก ทั้งๆที่ศาสนา หรือศาสนาที่เข้าถึงความลึกซึ้ง ทางนามธรรม มักจะเตือนเราว่า ความยึดมั่นที่ว่านั้นผิด หรือเป็นเรื่องที่ปรุงแต่งขึ้นให้เชื่อตามๆกัน เป็นดังนวนิยาย หรือพูดอย่างจังๆก็คือ เป็นความเชื่อถือที่ผิดโดยแท้

ตราบใดที่เราดำรงชีวิตอยู่ด้วยการยึดถืออย่างผิดๆ ว่าเราแตกแยกจากส่วนอื่นๆ เป็นเอกเทศเราย่อมต้องเผชิญกับความ ผิดหวัง งงงวย เศร้าสลด อย่างวุ่นวาย จนเกิดความทุกข์ขึ้น เพราะทุกสิ่งที่เราทำนั้น ขาดตอนออกไปจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ เราดำรงชีวิตอยู่ในโลกอันเลวร้าย ซึ่งเต็มไปด้วยผีปีศาจ โดยที่ในโลกปัจจุบัน ผีปีศาจกลายสภาพมาเป็นเทคโนโลยี่ต่างๆ รวมทั้งโทรทัศน์และคอมพิวเตอร์ ถ้าเราไม่ถูกพวกนี้สะกดไว้ เราก็หันไปสู่ความฝันเฟื่อง หรือความหม่นหมอง เพื่อนกิน เพื่อนคุย เพื่อนเที่ยว แม้จนเพื่อนนอน เอื้ออาทรได้บ้างในบางขณะเท่านั้น และแล้วเราก็รู้สึกเหงา โดดเดี่ยว เดียวดาย จนบางทีเรามุ่งทำกิจการต่างๆอย่างหาสาระที่แท้ไม่ได้ รวมถึงถลำเข้าไปในอบายมุขต่างๆ ดังรัฐบาลในระบอบธนาธิปไตย จะเน้นให้ราษฎรหันเหไปในทิศทางอันชั่วร้ายต่างๆนี้ นี้แลที่ทำให้เราเป็นทุกข์

ที่เราคิดว่าเราเป็นผู้ซึ่งแยกขาดจากคนอื่นนั้นเกิดขึ้นในชีวิตของเราตั้งแต่แรกแล้ว บางคนกล่าวหาว่า ความคิดที่ว่านี้มีมา ก่อนเกิดเสียอีกด้วยซ้ำไป จะอย่างไรก็ตาม ปัญหาต่างๆในชีวิตของเรานั้น มาจากการติดยึดในเรื่องตัวตน หรือตัวกู ที่แตกแยกออกเป็นเอกเทศนั้นแล

เมื่อปรัชญาสมัยใหม่ของตะวันตก ที่เริ่มแต่เรอเน เดคาตส์ เสนอวลีที่เป็นอมตะว่า cogito ergo sum (I think therefore I am) หรือ ”เพราะฉันคิดได้ จึงมีตัวฉัน” นั้นแลคือการเริ่มขบวนการติดยึดในตัวตน ในหัวสมอง อย่างไม่โยงใยมาถึงหัวใจ หรือลมหายใจอันเป็นสาระของชีวิตขบวนการดังกล่าวเริ่มลัทธิปัจเจกนิยม ซึ่งสืบทอดมาจนเป็น ลัทธิทุนนิยม และบริโภคนิยมอยู่ในบัดนี้

นักจิตวิทยาฝรั่งให้เหตุผลว่า ความนึกคิดในเรื่องตัวตน อันแยกออกจากคนอื่นอย่างเด็ดขาดนั้นจำเป็น และช่วยให้เราเติบ โตขึ้นเป็นคนที่มีความสามารถเป็นส่วนตัว ซึ่งก็อาจจะจริง แต่ตราบใดที่เราติดยึดไปในทางที่ผิด และตราบที่ความติดยึด ในความเป็นเอกเทศของเรายังดำรงอยู่ ก็เท่ากับว่าเรายังคงรักษากำแพงไว้ให้ขวางกั้นเราจากความเป็นตัวเราที่แท้จริง

เราจะเอาชนะการติดยึดที่ผิดๆนี้ได้อย่างไร แม้เราจะพยายามหลีกเลี่ยงการแตกแยกออกไป แต่ก็ดูวิถีชีวิตของเราจะยืน ยันความเป็นเอกเทศของเรา ยิ่งพยายาม ก็ยิ่งยึดมั่นในตัวตน ยิ่งดำรงชีวิตไปในแนวนี้ เราก็ยิ่งเป็นตัวเป็นตนมากขึ้น กลิ้งกล่อนมากขึ้น และกดดันคนอื่น สัตว์อื่น ตลอดจนอะไรๆที่รอบตัวเรายิ่งๆขึ้น เราหวังจะเป็นนั่นเป็นนี่ โดยไม่มีเวลาอย ู่กับชั่วขณะปัจจุบันอย่างรู้เท่าทันเอาเลย เราเลยกลายเป็นผู้เสพ ที่ถูกความหิวกระหายกำหนดให้เรารับอะไรต่ออะไร เข้าไป ในความกลวงโบ๋ ภายในจิตใจของเรา เรามัวไปเห็นโลกและคนอื่น สิ่งอื่น ว่าเป็นดังอาหารหรือวัตถุเพื่อความพึงพอใจ ของเรา หรือความหิวกระหายของเราเท่านั้นเอง เรากินมัน เสพมัน เพื่อให้สมอยาก ตามที่เรากระหายอยู่อย่างไม่รู้จักจบสิ้น ถ้าไม่ได้มาตามที่เราปรารถนา เราก็แสดงความโกรธขึ้ง กราดเกรี้ยว เท่าที่เรานึกว่าเรามีอำนาจที่จะแสดงออกได้ทั้งหมด นี้เป็นเพราะเรารู้สึกว่าเราขาด เราแปลกแยก เราเป็นอื่นไป อย่างไม่มีความสมบูรณ์ นับว่านี่เป็นวิถีชีวิตที่น่าเศร้า

เดวิด ลอย ใช้คำว่า the sense of lack แทนคำว่า ทุกขสัจ คือเรารู้สึกขาด หรือพร่อง จึงจำต้องเติมให้เต็ม และแล้วก็ไม่มีวันเต็มได้เอาเลย

พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า การเอาชนะความคิดผิด หรืออวิชชา ึ้ขึ้นอยู่กับสัมมาสติอันเกิดจากสัมมาสมาธิเมื่อสติเกิดขึ้นกำแพง ที่ขวางกั้นตัวตน เราเขา ให้เข้าไม่ถึงธรรมชาติที่แท้ ย่อมปลาสนาการไป

กำแพงที่ว่านี้ เกิดขึ้นจากความนึกคิดตามที่เราเคยๆกันมา ขึ้นอยู่กับอารมณ์ และนิสัยสันดาน อันมีตัวตนเป็นเจ้าเรือน

กำแพงที่ว่านี้ก่อสร้างขึ้นจนไปติดยึดเอาว่าสาระสำคัญของชีวิตคือความสำเร็จ หรือความล้มเหลว ได้หรือเสียมีเกียรติ หรือไร้เกียรติ มีทรัพย์หรือไร้ทรัพย์ ถ้ามีแล้ว ต้องมากขึ้นไปเรื่อยๆกระนั้นหรือ แต่กล่าวโดยสรุปแล้วก็คือการที่เราติด ยึดว่าเราแปลกแยกไปจากคนอื่น สัตว์อื่น อย่างเป็นเอกเทศนั้นแล ถ้าเป็นพวกเราแล้วใช้ได้ หาไม่ มันก็เป็นศัตรูจนเรา ไม่สามารถเปิดกว้างไปยังผู้อื่น สัตว์อื่น อย่างโยงใยถึงกัน ในทางอิงอาศัยกันและกัน ที่ทางพุทธศาสนาเรียกว่า อิทัปปัจจยตา

สัมมาสติเกิดจากสัมมาสมาธิ ที่ทำลายกำแพงอันก่อขึ้นจากนิสัยสันดานเดิมๆมา ที่มีความเห็นแก่ตัวเป็นเจ้าเรือน โดยที่พลังของสัมมาสตินั้น เป็นดุจดังแสงอาทิตย์ ที่มีอานุภาพทางความร้อน ที่ทำลายก้อนน้ำแข็งอันมหึมาให้ละลายลงได้ เมื่อก้อนน้ำแข็งละลายลง ก็ย่อมกลายเป็นน้ำอันบริสุทธิ์ นี้ฉันใด สัมมาสติย่อมทำลายนิสัยสันดานเดิมๆให้ปลาสนาการไป ไล่ๆกับการลดความเห็นแก่ตัวลงไปเรื่อยๆ

ขอพูดให้เป็นรูปธรรมอย่างชัดๆ โดยอ้างคำว่า เรยินัล เรย์ ซึ่งถือกันว่าเป็นอาจารย์ที่สอนธรรมปฏิบัติคนสำคัญของสหรัฐ เขากล่าวว่า
.
….ที่ผมได้ลิ้มลองรสชาติของการฝึกภาวนาเกิดขึ้นเมื่อผมได้พบท่านตรุงปะครั้งแรกในปี ๑๙๗๐ ท่านเพิ่งจะมาถึงที่ ศูนย์ปฏิบัติธรรมหางแห่งพญาเสือ (Tail of Tiger) ได้ไม่นาน ซึ่งปัจจุบันศูนย์ดังกล่าวได้เปลี่ยนชื่อเป็น คามา เชอลิง ท่านได้พูดอบรมเกี่ยวกับความสำคัญของการฝึกปฏิบัติเข้ม ผมเห็นว่าท่านได้เริ่มส่งคนเข้าฝึกปฏิบัติเข้มบ้างแล้ว ซึ่งโดยมากคนเหล่านั้นแทบไม่เคยมีประสบการณ์การฝึกปฏิบัติมาก่อนเลย ผมเลยเดินเข้าไปถามท่านตรุงปะ “ผมควร จะเข้าฝึกปฏิบัติเข้มด้วยไหม” ท่านตอบว่า “แน่นอนสิ” ผมก็บอกท่านไปว่า “อืม...ผมไม่เคยปฏิบัติมา ก่อนเลยนะ แต่ผมคิดว่าจะลองดูสักเดือนหนึ่ง” ท่านก็ตอบกลับมาว่า “เยี่ยมไปเลย คุณทำได้อยู่แล้ว ไม่มีปัญหา” แม้ว่าผมจะไม่เคย ปฏิบัติมาก่อนเลยในชีวิต ท่านกลับมีความมั่นใจอย่างเปี่ยมล้นในรูปแบบการฝึกปฏิบัติเข้ม ท่านให้ความสำคัญต่อสิ่งนี้ว่า เป็นหัวใจของธรรมะ “สิ่งนี้คือความเป็นเรา เราผู้สืบทอดธรรมะสายคากิว เราคือผู้ปฏิบัติธรรม และเราฝึกปฏิบัติเข้ม นี่คือหัวใจของชีวิตเราทั้งชีวิต”

ผมจึงวางแผนการฝึกปฏิบัติเข้มทันทีเลย ครั้งแรกที่ผมเข้าฝึก คือเมื่อปี ๑๙๗๒ ที่คามา เชอลิง ตอนนั้นผมไม่รู้จะคาด หวังอะไร แต่ก็คิดว่ามันคงจะเป็นอะไรที่สงบ เงียบ วิเวก และราบรื่น สิ่งที่ผมค้นพบเพียงแค่ในอาทิตย์แรกของการ ฝึกเท่านั้น คือ ผมมีจิตที่ยุ่งเหยิง วุ่นวาย สับสน ที่สุดเท่าที่ผมจะจินตนาการได้ มันแทบเพี้ยนเลยนะ เพียงอาทิตย์เดียว เท่านั้น ผมรับไม่ไหวอีกแล้ว พอกันทีกับการที่จะต้องนั่งอยู่ในกระต๊อบเล็กๆ ชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่า ผมบอกตัวเอง “โทษทีนะ ฉันทำไม่ได้จริงๆ” ผมทนอยู่จนจบอาทิตย์แรกแล้วก็หนีออกมา จริงๆแล้วต้องบอกผมหนีออกมาตอนกลางดึก วิ่งลงมาจากภูเขา ท่ามกลางอากาศหนาวจัด ทั้งในชุดนอนและรองเท้าแตะ คิดแต่เพียงว่ายังไงก็ต้องออกไปจากที่นั่นให้ได้ ...นั่นคือประสบการณ์แรกของผม

พอผมออกมาได้ ผมเริ่มสังเกตเห็นว่าจิตของผมทำงานดีขึ้น ใส และชัดเจน ประสาทสัมผัสของผมมั่นคงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ผมยังสัมผัสได้ถึงจิตใจที่เปิดกว้างต่อผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยประสบมาก่อนเลย ผมเลยได้ตระหนักว่า แม้ประสบ การณ์แรกของการปฏิบัติเข้มของผมออกจะทรมานไม่น้อย แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับมานั้นมากมายอย่างไม่สามารถปฏิเสธได้ ผมจึงวางแผนการฝึกเข้มครั้งต่อไปทันทีในปีถัดไป ซึ่งผมสามารถผ่านการฝึกหนึ่งเดือนเต็มในเต้นท์บนยอดเขาในนิวแฮม เชอร์

จากนั้นแทบทุกปีผมจะให้เวลากับการฝึกปฏิบัติเข้ม ฤดูร้อนนี้ผมจะฝึกประมาณสามเดือน ผมอยากจะถึงจุดหนึ่งซึ่งเพิ่มเป็นหก เดือนต่อปี ผมเริ่มจะมีอายุมากแล้ว ปีนี้ผมหกสิบสอง กำลังวังชามันเริ่มจะเป็นปัญหาใหญ่ขึ้น ไม่รู้ว่าจะนานแค่ไหนที่ผม ยังจะสามารถขึ้นไปปฏิบัติบนภูเขาได้ มีคำกล่าวในนิกายคากิวว่า “เมื่อตอนเรายังเป็นหนุ่มเป็นสาว เราไม่เคยตระหนักถึง ความสำคัญของการปฏิบัติธรรม พอเราเข้าสู่วัยกลางคน เราก็คิดว่าชีวิตยุ่งเกินกว่าจะสนใจในเรื่องนั้น และพอเข้าสู่วัยชรา มันก็สายเกินไปเสียแล้ว” ตอนนี้ผมก็ได้ตระหนักจริงๆถึงความสำคัญอย่างใหญ่หลวง อย่างที่ไม่สามารถ ประเมินค่าได้ ของการฝึกปฏิบัติเข้ม ชีวิตผมกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาที่ร่างกายของผมจะไม่สามารถปฏิบัติเช่นนั้นได้อีกแล้ว การตระหนักรู้สิ่งนี้ช่างน่าใจหายยิ่งนัก……

ด้วยความสัตย์จริงเลย เวลาในการปฏิบัติเข้มครั้งแรกๆของผม ส่วนมากจะหมดไปกับการเฝ้ามองจิตที่แทบจะไม่รู้จักหยุดพัก มันสุดจะรวดเร็ว ยุ่งเหยิง และก็แสนจะผูกกับความคิดฟุ้งซ่านในเรื่องต่างๆเรียกได้ว่าประมาณเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ในการฝึก เข้ม จิตของผมอยู่ในภาคปั่นป่วน แต่กระนั้นมันก็มีอีกสิ่งหนึ่ง มันคือความล้ำลึกของประสบการณ์ที่ไม่รู้มาจากแห่งหนตำบล ใด ผมบอกได้ตั้งแต่แรกเลยว่าประสบการณ์นั้นคือสิ่งที่ทั้งหมดจะมุ่งไปสู่แต่ขณะเดียวกันผมก็ได้ตระหนักว่ามันต้องอาศัย ความพากเพียรของการปฏิบัติที่มั่นคงทีเดียว ในการที่จะเพาะบ่มประสบการณ์อันนั้น

คุณไม่สามารถคาดหวังจะดำรงชีวิตอยู่ในสภาวะแห่งการตื่นรู้ด้วยการฝึกสมาธิเพียงแค่สองสามวัน มันต้องอาศัยการฝึกปฏิบัติ อย่างต่อเนื่องทั้งชีวิต แต่ผมก็พบว่าหากปฏิบัติไปเรื่อยๆ ผลลัพธ์มันจะแสดงให้เห็นด้วยตัวของมันเอง ซึ่งตอนนี้ผมรู้เลยว่ามัน ยิ่งใหญ่ขนาดไหน นี่ไม่ใช่ความคิดเพ้อฝันลมๆแล้งๆ สิ่งที่เป็นอยู่ ณ ตรงนี้ เป็นเรื่องจริง ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ และเป็นการ เปลี่ยนแปลงด้านในอย่างถาวร นี่คือสิ่งที่ผมพยายามจะบอกนักเรียนของผมอยู่ตลอด ข้อแรก: อาศัยการฝึกฝน ข้อสอง: มันจะพาชีวิตเราไปในที่ที่เราอยากจะไปมากกว่าที่อื่นใดในโลก ดังนั้นมันจึงคุ้มค่าที่จะทำเป็นอย่างยิ่ง
ถึงจะยังปฏิบัติเข้มไม่ได้ ก็ควรเริ่มเดินลมหายใจง่ายๆ เช่น ภาวนาว่า
หายใจเข้า ร่างกายฉันสงบระงับ
หายใจออก ฉันยิ้มละไม
ดำรงอยู่เพียงกับปัจจุบันขณะ
ฉันรู้ว่านี้เป็นช่วงขณะที่วิเศษ
หายใจเข้า ฉันรู้ว่ากำลังหายใจเข้า
หายใจออก ฉันรู้ว่า
ขณะที่หายใจเข้าอย่างลึกๆนั้น
การหายใจออกย่อมเชื่องช้าลง
หายใจเข้าทำให้ฉันสงบระงับ
หายใจออกทำให้ฉันรู้สึกเบาสบาย
ด้วยลมหายใจเข้า ฉันยิ้มละไม
ด้วยลมหายใจออก ฉันผ่อนคลาย
หายใจเข้า มีแต่เพียงปัจจุบันขณะ
หายใจออก เป็นช่วงขณะที่วิเศษ

พลังภายในที่ปลอดไปจากความเห็นแก่ตัวมากเพียงไร ย่อมช่วยให้สติสัมปชัญญะบริบูรณ์ขึ้นเพียงนั้นจนการติดยึดในความ เป็นตัวตน เราเขา ปลาสนาการไป จนเข้าได้ถึงรหัสยนัยแห่งชีวิต หรือความวิเศษมหัศจรรย์ของชีวิต อันไปพ้นองคาพยพ ในทางยันตรกรรม ที่เราถูกครอบงำมาจากปรัชญาตะวันตก หรือการแยกนามกับรูปออกจากกัน หรือการแบ่งแยกกูมึง ดำขาว มืดสว่าง อย่างที่เป็นทวิภาค ตามที่เราเคยถูกสั่งสอนมาแต่ไหนแต่ไร

เนื้อหาสาระแห่งพระศาสนาดูจะอยู่ที่ตรงนี้เอง และแทบทุกศาสนา ประเด็นที่สำคัญสุดอยู่ที่การทำลายความเห็นแก่ตัวที่ทาง ฝ่ายพุทธเราใช้คำว่า อัตวาทุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นในตัวตน หรือที่ท่านอาจารย์พุทธทาส ใช้คำว่าตัวกู เมื่อมีกูก็ย่อมต้อง มีมึง จึงแบ่งแยก แก่งแย่งแข่งดี และเอาชนะคะคานกัน เพราะอวิชชา หรือความไม่รู้ หรือรู้ผิด อันมาจากความเห็นแก่ตัว แต่ถ้าเข้าถึงรหัสยนัยของชีวิต หรือความวิเศษมหัศจรรย์ของชีวิต ซึ่งจะเรียกว่าเข้าสู่กระแสของโลกุตตรธรรมก็ได้ โลกียสุขหรือโลกธรรม ที่เป็นไปในทางลาภยศสุขสรรเสริญ หรือสิ่งที่ตรงกันข้ามนั้นๆ ก็ลดหรือหมดความสำคัญไป

มีใครคนหนึ่งกล่าวว่า ประสบการณ์ทางศาสนา ที่เข้าได้ถึงอย่างลึกซึ้ง ย่อมแสดงออกมาสามทางคือ
๑) ธรรมปฏิบัติที่เป็นไปในทางที่ข้ามความเป็นธรรมดาสามัญในทางโลกีย์ เพื่อไปพ้นอามิสสุข สู่นิรามิสสุข
๒) ประสบการณ์อันวิเศษนี้ ย่อมนำมาแสดงออกได้ในทางศาสนพิธี อย่างมีความหมาย
๓) วิถีทางแห่งการดำเนินชีวิตในทางธรรม ที่ต่างไปจากในทางโลกๆ อย่างที่สังคมทั่วๆไปกำหนดกฎเกณฑ์ให้เป็นวิถีชีวิต จนเกิดศีลาจารวัตร หรือระเบียบวินัยอันดีงามขึ้น อย่างที่เป็นตัวอย่างให้ได้แก่ชาวโลก

ครั้นกาลผ่านไป จนศาสนากลายไปเป็นสถาบันขึ้น ๑) คำสอนในทางศาสนาก็เลยกลายเป็นคัมภีร์ที่สักแต่ว่าเชื่อตามๆกัน อย่างปราศจากวิจารณญาน เพื่อพิจารณาคำสอนนั้นๆ ๒) พิธีกรรม ็กลายไปเป็นรูปแบบอันปราศจากการปรับปรุงเปลี่ยน แปลง ซึ่งมีความน่าเบื่อหรือเข้าใจไม่ได้ จนถึงนำมาใช้ในทางมอมเมาไปเอาเลย ๓) ศีลธรรมจรรยาซึ่งควรเป็นข้อแนะ แนวทางสำหรับการดำเนินชีวิต ก็กลายเป็นกฎระเบียบอันตายตัว จนกลายเป็นสีลัพพตปรามาสไป คือติดในศีลในพรต อย่างปราศจากอิสรภาพไปเอาเลย


ยิ่งศาสนาที่เก่าแก่ มีมาแต่โบราณกาลด้วยแล้ว ย่อมกลายสภาพจากของแท้ ไปเป็นของปลอม หรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหา สาระไปได้เป็นระลอกๆ แต่แล้วก็มีท่านผู้ที่เข้าถึงโลกุตตรธรรม นำเอาพระสัทธรรมที่บริสุทธิ์ มาสลัดสัทธรรมปฏิรูปออก ได้เป็นคราวๆไป เช่น เซนเกิดจากการปฏิบัติฌาน หรือสมาธิภาวนาในเมืองจีน ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากลัทธิเต๋าของจีนด้วย เพื่อสลัดความเคร่งครัดในทางศีลทางพรตและพิธีกรรมอันไม่สมสมัยต่างๆแห่งราชวงศ์ถัง หรือที่บรรพชนของเราในเมืองไทย และเอเชียอาคเนย์ หันมาถือลัทธิลังกาวงศ์ของเถรวาท ก็เพราะมหายานทางกัมพูชาปนเปไปกับลัทธิศาสนาของพราหมณ์ จนชนชั้นปกครองกลายเป็นพระโพธิสัตว์ ที่มาเบียดเบียนบีฑาประชาชนและผู้คนในดินแดนต่างๆอย่างเลวร้าย บรรพชน ของเราจึงเห็นว่าการเข้าหาสาระของคณะสงฆ์ นั่นคือความเสมอภาคอย่างเป็นภราดรภาพ เพื่ออิสรภาพจากโลภ โกรธ หลง และจากความกดขี่ข่มเหงของชนชั้นปกครองอีกด้วย


ถ้าคนไทยสมัยนี้ตามีแวว ก็คงจะตระหนักได้ว่าทักษิณ ธนาธิปไตย ใช้ลัทธิทุนนิยมและบริโภคนิยม มอมเมาเราทั้งๆที่นั่น คือเผด็จการอันเลวร้าย แม้ผู้นำพรรคไทยรักไทยจะอ้างว่าถือพุทธ หากนั่นคือสัทธรรมปฏิรูปดังที่เลขาธิการพรรคนั้นอุด หนุนคณะพระธรรมกายอย่างออกหน้าทั้งๆที่คณะนั้นคือตัวทำลายพระพุทธศาสนาที่เนื้อหาสาระ เพราะลัทธิธรรมกายในเมือง ไทยมอมเมาผู้คน ให้หลงไปในทางของโลภ โกรธ หลง อย่างเลวร้ายยิ่งนัก แต่สถาบันสงฆ์ของไทยก็อ่อนแอเกิน ไปที่จะทำอะไรกับพวกสัทธรรมปฏิรูปเหล่านี้ได้ เพราะผู้ใหญ่ในสถาบันสงฆ์ก็มักมัวเมาในลาภ ยศ และแก่งแย่ง แข่งดี กันอย่างมีความเป็นลัชชีน้อยลงไปทุกทีแทบทั้งนั้น ยิ่งมียศศักดิ์มาก ยิ่งหลงไปกับอภิสิทธิ์ ซึ่งผูกติดอยู่กับขัตติยราช และทุนนิยม บริโภคนิยม โดยที่จะให้ไปเข้าใจถึงโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรมด้วยแล้ว อย่าได้พึงหวังเลย ทั้งๆที่พระคุณท่านนั้นๆมีกำพืดเดิมมาจากความยากจน แต่ก็รังเกียจคนจน หรือต้องการพยุงให้คนจนเป็นชนชั้นกลาง โดยที่ตนเองก็ต้องการเคลื่อนย้ายสถานะทางสังคมไปเป็นชนชั้นสูงอีกด้วย โดยที่ระบบการศึกษาของพระและของฆราวาส ก็เป็นเพียงบันไดในการไต่เต้าเพื่อเลื่อนสถานะทางชนชั้นเท่านั้นเอง

ถ้าเข้าหาสาระของพระพุทธศาสนาได้ ย่อมเข้าใจได้ว่าพระศาสนาหยิบยื่นเครื่องมือต่างๆให้เรา เพื่อให้เราตื่นขึ้น จากความ หลงไปกับโลกธรรมและวัฒนธรรมในสังคม เพื่อเข้าถึงธรรมชาติที่แท้ของความเป็นมนุษย์ ซึ่งในทางมหายานเรียกว่า ตถาคตครรภะโดยแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Buddha nature กล่าวคือเราทุกคนมีธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะอยู่ด้วย กันทั้งนั้น หากความโลภโกรธหลง หรือความเห็นแก่ตัว บดบังธรรมชาติอันวิเศษสุดนี้เสีย ฉะนั้นการเจริญสมาธิภาวนา หรือจิตสิกขา จักช่วยให้เราเป็นคนปกติ คือเข้าถึงศีลสิกขา อันได้แก่ การไม่เอาเปรียบตนเองและผู้อื่น สัตว์อื่น ยิ่งลดความเห็นแก่ตัวลงไปได้มากเพียงไร ปัญญาสิกขาก็จะเกิดขึ้นมาเป็นเงาตามตัว จนรับรู้อะไรๆได้อย่างปราศจากอคติ

ศีล สมาธิ ปัญญา หรือไตรสิกขานี้แล ที่อาจโยงใยหัวใจของเราให้เข้าไปสมานกับหัวสมอง อย่างมองเห็นทุกขสัจ โดยหาเหตุของทุกข์ได้ที่ความโลภ ซึ่งได้แก่ทุนนิยมและบริโภคนิยม ความโกรธ ซึ่งได้แก่อำนาจนิยม แม้ในสังคมสงฆ์ และความหลงในปัจจุบันปรากฎอยู่อย่างชัดเจนในการศึกษากระแสหลัก ทั้งในอาณาจักรและศาสนจักร

ความโลภโกรธหลงเหล่านี้ อาจเอาชนะได้ หรือลดน้อยถอยลงได้ ถ้าเราใช้ไตรสิกขาอย่างถูกต้องถ่องแท้ หากใช้ไม่ได้ อีกแล้วตามวิธีที่เคยประพฤติปฏิบัติกันมา ในสมัยที่สังคมยังเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย อย่างที่เป็นสังคมการเกษตร อย่างปราศ จากโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรมและรุนแรง อย่างสลับซับซ้อน ตามแบบสังคมเมืองอย่างใหญ่ๆอันโยงใยไปกับการ อุตสาหกรรมและบรรษัทข้ามชาติ เช่นในปัจจุบัน

พระอาจารย์เจ้าที่เป็นผู้นำทางด้านวิปัสสนาธุระในเมืองไทยนี้นั้น ยังไม่ปรากฎแก่ข้าพเจ้าแม้แต่รูปเดียว ที่จะปลอดไปได ้จากความเป็นชาตินิยม หรือขัตติยนิยม แม้บางท่านจะเคร่งครัดในทางศีลาจารวัตร แต่ท่านนั้นๆก็มักสยบยอม หรือยินดี ปรีดาอยู่กับคนรวยและคนมีอำนาจ ที่เข้าไปสงเคราะห์อนุเคราะห์คนยากไร้ อย่างเข้าใจทุกขสัจของคนนั้นๆ เอาเลย

ส่วนพระอาจารย์เจ้าที่แม่นในทางคันถธุระนั้นเล่า ที่เข้าใจถึงโลกสันนิวาสอย่างใหม่ ที่มีจักรวรรดิอเมริกันเป็นตัวกำหนด ซึ่งผูกสนิทอยู่กับบรรษัทข้ามชาติ แล้วโยงใยมาถึงทักษิณ ธนาธิปไตย ที่เป็นลูกสมุนอยู่นั้นเล่า ข้าพเจ้าก็มองไม่เห็นอีก เช่นกัน ก็ถ้าภิกขุปยุตฺโตไม่อาพาธเสีย และไม่ถูกรบกวนไปในทางเปลือกกระพี้ของดิรัจฉานวิชาต่างๆ ที่มีคนไปขอให้ท่าน นำเอาพุทธธรรมมาประยุกต์ใช้กับเรื่องนั้นๆ อย่างเป็นเสี่ยงๆ เราอาจพึ่งพระคุณท่านได้ในทางที่เป็นแก่นยิ่งกว่าที ่แล้วๆมา กระมัง ดังที่เราเคยพึ่งภิกขุพุทธทาสอินทปัญโญมาก่อนแล้ว ยิ่งท่านองค์หลังนี้ด้วยแล้ว ท่านสามารถโยงคันถธุระ เข้ากับ วิปัสนาธุระได้อย่างแยบคาย จนสามารถเข้าถึงไตรสิกขาได้อย่างแท้จริง ดังที่ท่านได้เสนอธรรมิกสังคมนิยมให้เป็นทางออก ของบ้านเมืองอย่างควรแก่การสำเหนียกยิ่งนัก

สมาธิภาวนาหรือจิตสิกขานั้น จะมากำหนดไว้แต่ในวัด หรือในสถานที่วิเวกเท่านั้นไม่ได้อีกแล้ว แม้ในระยะเริ่มแรกจะจำ เป็นก็ตาม หากเราควรไปภาวนาที่หน้าค่ายทหาร ณ ที่ที่ทหารและตำรวจ เป็นผู้ฆ่าฟันผู้คนที่อ้างว่าต่างศาสนาไปจากเรา ต่างเชื้อชาติไปจากเรา จนถึงกับกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายไปเอาเลยด้วยซ้ำ เพื่อเราจะได้บ่มเพาะให้เกิดสันติภาวะภายใน จนเข้าถึงโยนิโสมนสิการ คือการวิเคราะห์เจาะลึกลงไปถึงอัตวาทุปาทาน แล้วต้องการมีบทบาทในสังคม อย่างใช้ศีลสิกขา ให้สมสมัย ด้วยการรับใช้ผู้ยากไร้ ผู้ที่ถูกเอาเปรียบ และร่วมทุกข์กับพวกเขา เพื่อร่วมกันหาเหตุแห่งทุกข์ให้ได้อย่างเป็น รูปธรรม แม้ชนชั้นบนและคนมีอำนาจจะกดขี่ข่มเหงเรา ดังที่เขาทำมาแล้วโดยตลอดกับชนชั้นล่าง เราก็จะเริ่มเข้าใจ และใช้ปัญญาอบรมให้เข้าถึงสาระแห่งมุทิตาธรรม อย่างไม่เกลียดโกรธคนที่ทำร้ายเราเหล่านั้น และการร่วมทุกข์กับคน ยากไร้คือการุณยธรรมที่แท้ โดยเราต้องเริ่มจากเมตตาธรรมที่รักตัวเราเองอย่างถูกต้องเสียก่อน คือรักอย่างไม่หลงในตัวตน ดังขอยกบทภาวนาดังต่อไปนี้มาให้พิจารณา เผื่อจะนำมาใช้กับรัฐบาลทักษิณ ธนาธิปไตยในบัดนี้

เราขอสวดภาวนาให้ประชาราษฎรได้อิสรภาพ
-แด่ผู้ที่ตั้งตนเป็นศัตรูกับราษฎรและกดขี่ประชาชน เราขอเคารพท่าน และที่ท่านโกงกินมากับการเลือกตั้งทั้งยังสังหาร ราษฎรที่ภาคใต้ และภาคอื่นๆ ในนามแห่งการกำจัดยาบ้ายาม้า
-ท่านใช้เล่ห์เพทุบาย ทำลายชีวิตของผู้คนและทำลายล้างสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เพียงเพื่อความมั่นคงและผลประโยชน์ ส่วนตัวของท่าน ท่านอ้างความรักชาติและราษฎร ทั้งๆที่ท่านทำทุกอย่างเพื่อตนเองและบริษัทบริวาร ท่านแสดงให้เราเห็นว่า เราย่อมต้องยืนหยัดอยู่กับความสุจริตและความมีใจกว้าง เราย่อมต้องทำการต่างๆอย่างรอบคอบ ด้วยความเมตตากรุณา เราขอขอบคุณท่าน
-ที่ท่านช่วยให้เรารักผืนแผ่นดิน ผืนแผ่นน้ำ และธรรมชาติอื่นๆ โดยที่เรารักชีวิตของพวกเราและสรรพสัตว์อีกด้วย
-ที่พวกเรามีพลัง เพื่อต่อต้านการกระทำอันเลวร้ายของท่าน ก็เพราะเรามีธรรมะ เรามีศักดิ์ศรี และเรามีความซื่อสัตย์ พร้อมด้วยการให้อภัย
-เราสงสารท่าน ซึ่งเต็มไปด้วยความโลภ เต็มไปด้วยความโกรธ เต็มไปด้วยความกลัว และเต็มไปด้วยความหลง ท่านแยก ตัวท่านออกจากสาธุชนอย่างน่าสมเพทยิ่งนัก
-ท่านช่วยให้เราแปรเปลี่ยนความโกรธให้เป็นความรัก โดยเราจักแผ่ความรักออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดด้วยการรักความถูก ต้องดีงาม และรักความชอบธรรมอย่างสันติ นี้แลที่ความยุติธรรมในสังคมจักเกิดมีขึ้นได้โดยที่เราจะชนะมารและความเลว ร้าย ต่างๆ ทั้งที่ผ่านมาและกำลังเป็นไป เพราะธรรมะย่อมชนะอธรรม

ในที่สุดเราก็ย่อมเข้าได้ถึงอุเบกขา คือการตัดสินใจใดๆอย่างถูกต้องถ่องแท้ อย่างปราศจากอคติทั้งสี่ประการ นั้นแล

เจ้าคุณสมเด็จพระวันรัต เฮง เขมจารีนั้น ท่านทรงไว้ซึ่งพรหมวิหารธรรม ท่านจึงเป็นผู้ใหญ่ ในทางที่ท่านควบคุมตัวเอง ไว้ได้ด้วยสติสัมปชัญญะ แล้วนำธรรมะที่ท่านรอบรู้ มาประยุกต์ใช้กับศิษยานุศิษย์ และสาธุชน อย่างสมกับสมัยของท่าน

น่าเสียดายที่ในบัดนี้ ยากที่จะหาผู้หลักผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะในทางอาณาจักร หรือศาสนจักร ที่จักประกอบไปด้วยพรหมวิหาร ธรรม แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญเท่ากับว่า เราแต่ละคนต้องเจริญพรหมวิหารธรรม เพื่อเราจะได้เติบโตขึ้นในทางธรรม เพื่อปรับเปลี่ยนความเป็นอัตตาธิปไตย อันมีความเห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง ไปสู่โลกาธิปไตย ที่เห็นคนหมู่มาก ที่ยากไร้ ว่าสำคัญยิ่งกว่าเรา โดยเราควรแสวงหากัลยาณมิตรไว้ตักเตือนเรา ไม่ให้หลงไปกับโลกธรรม ไม่ว่าจะในทางลาภยศ สุขสรรเสริญ หรือสิ่งซึ่งตรงกันข้ามกับทั้งสี่ประการนั้น หากช่วยกันอุทิศตน เพื่อเข้าใจโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรม แล้วพยายามเอาชนะมันให้ได้ โดยเรียนรู้ที่จะไม่เกลียดชังผู้ที่กดขี่ข่มเหงเรา

เมื่อเราเจริญโยนิโสมนสิการได้ อย่างรู้เท่าทันความเห็นแก่ตัว หรือความติดยึดในตัวกูของกู จนแลเห็นและเข้าใจได้ซึ้งถึง ตถตา หรือความเป็นเช่นนั้นเอง นี้แลจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญสำหรับพุทธศาสนิกในโลกร่วมสมัย แม้ชาวพุทธเช่นนี้ จะมีไม่มาก หากเริ่มต้นเข้าหาไตรสรณาคมอย่างถูกทาง เราจะยึดมั่นในพระพุทธคุณ คือความตื่นจากโลภโกรธหลง พระธรรมคุณคือเดินตามพระอริยมรรคอย่างสันติวิธี โดยมีไตรสิกขาเป็นเจ้าเรือน และพระสังฆคุณ คือการเห็นคุณค่า ของชุมชน ที่มีชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย อย่างรู้ตัวทั่วพร้อม และอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน ให้กายกับใจประสานกันในแต่ละคน อย่างรู้จักพอ อย่างพร้อมที่จะให้มากกว่าการเรียกร้องต้องการอะไรๆจากชีวิต หรือจากสังคม เพื่อให้ทุกๆคนใน ชุมชนดำรง ชีพอยู่อย่างประสานสอดคล้องกัน โดยบรรสานไปกับธรรมชาติอีกด้วย เมื่อเป็นเช่นนั้น เราย่อมพร้อมที่จะแบ่งปันกัน ให้อภัยกันและกัน ด้วยความเสมอภาค อย่างเป็นภราดรภาพ เพื่อเข้าถึงอิสรภาพจากโลภโกรธหลง

หากตั้งปณิธานร่วมกันได้ดังนี้ เราจะนำความเป็นพุทธศาสนิกกลับคืนมาสู่โลกร่วมสมัยได้ และนี่จะเป็นการบูชาคุณเจ้า คุณสมเด็จพระวันรัต เฮง เขมจารี ผู้เป็นปูชนียบุคคล ไม่แต่กับจังหวัดอุทัยธานี หากกับสยามประเทศทั้งหมด โดยที่ปีหน้า ก็จะครบชาตกาลศตวรรษของเจ้าคุณพุทธทาส อินทปัญโญ ผู้เป็นมณีรัตนะดวงสำคัญของสยาม หรือของโลกเอาเลยก็ว่าได้ หวังว่าเราจะอาศัยกาลและโอกาสเช่นว่านี้ เพื่อเป็นการเบิกทางให้เราเข้าถึงวัฒนธรรมแห่งการตื่นและอหิงสธรรม ตามรอยบาทของพระบรมศาสดา สัมมาสัมพุทธเจ้านั้นแล

ด้วยปณิธานดังกล่าว ข้าพเจ้าขอโอกาสอาราธนาพระคุณเจ้าได้เจริญชัยมงคลคาถา เพื่อเปิดหอสมุดสมเด็จพระวันรัต เฮง เขมจารี ณ บัดนี้

ปาฐกถาเปิดหอสมุดสมเด็จพระวันรัต เฮง เขมจารี ณ วัดธรรมโสภิต อุทัยธานี วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๔๘


Page 1 of 1

Send this article to a friend

-->