มาร์กาเรต แทตเชอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บารอเนส แทตเชอร์
นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร
ดำรงตำแหน่ง
4 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 – 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533
กษัตริย์ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
ก่อนหน้า เจมส์ คัลลาฮาน
ถัดไป จอห์น เมเจอร์
ผู้นำฝ่ายค้านในสภาสามัญชน
ดำรงตำแหน่ง
11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 – 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2522
กษัตริย์ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ 2
นายกรัฐมนตรี ฮาโรลด์ วิลสัน
เจมส์ คัลลาฮาน
ก่อนหน้า เอ็ดวาร์ด ฮีธ
ถัดไป ไมเคิล ฟุต
หัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม
ดำรงตำแหน่ง
11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 – 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533
ก่อนหน้า เอ็ดวาร์ด ฮีธ
ถัดไป จอห์น เมเจอร์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ดำรงตำแหน่ง
20 มิถุนายน 2513 – 4 มีนาคม 2517
นายกรัฐมนตรี เอ็ดวาร์ด ฮีธ
ก่อนหน้า เอ็ดเวิร์ด ชอร์ท
ถัดไป เรจินัลด์ เพรนไทซ์
สมาชิกสภาสามัญชน
เขต Finchley
ดำรงตำแหน่ง
8 ตุลาคม 2502 – 9 เมษายน 2535
ก่อนหน้า John Crowder
ถัดไป Hartley Booth
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด 13 ตุลาคม พ.ศ. 2468
ลินคอร์นไชร์, อังกฤษ, สหราชอาณาจักร
เสียชีวิต 8 เมษายน พ.ศ. 2556 (87 ปี)
ลอนดอน, อังกฤษ, สหราชอาณาจักร
พรรคการเมือง พรรคอนุรักษนิยม
คู่สมรส เดนิส แทตเชอร์
ศิษย์เก่า Oxford
ศาสนา คริสตจักรแห่งอังกฤษ

มาร์กาเรต ฮิลดา แทตเชอร์ (อังกฤษ: Margaret Thatcher) หรือนามตามบรรดาศักดิ์ บารอเนส แทตเชอร์ (ชื่อเดิม มาร์กาเรต ฮิลดา โรเบิตส์; 13 ตุลาคม พ.ศ. 2468 – 8 เมษายน พ.ศ. 2556) นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรตั้งแต่ พ.ศ. 2522 ถึง พ.ศ. 2533 และเป็นผู้นำพรรคอนุรักษนิยมตั้งแต่ พ.ศ. 2518 ถึงปี พ.ศ. 2533 โดยเป็นผู้หญิงคนแรกและคนเดียวจนถึงปัจจุบัน ที่ดำรงทั้งสองตำแหน่งพร้อมกันในประวัติศาสตร์สหราชอาณาจักร

บารอนเนสแทตเชอร์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรเป็นเวลายาวนานที่สุดนับตั้งแต่สมัยของลอร์ดซอลส์เบอรี และอยู่ในตำแหน่งติดต่อกันยาวนานที่สุดนับตั้งแต่สมัยของลอร์ดลิเวอร์พูล นายกรัฐมนตรีในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นสตรีคนแรกที่นำพรรคการเมืองเสียงข้างมากของสหราชอาณาจักร และเป็นสตรีคนแรกของเพียงสามคนที่ได้ดำรงหนึ่งในสี่ตำแหน่งสำคัญของประเทศ หลังจากการเกษียณตัวเองจากการเมืองในปีค.ศ. 1992 มาร์กาเรต แทตเชอร์ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ขุนนางตลอดชีพเป็น 'บารอนเนสแทตเชอร์แห่งเมืองเคสตีเวน ในมณฑลลิงคอล์นไชร์ ซึ่งทำให้เธอได้มีโอกาสนั่งในสภาขุนนางของสหราชอาณาจักร บารอนเนสแทตเชอร์ถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2556 ด้วยอาการอุดตันของเส้นเลือดสมอง

ชีวิตวัยเด็กและการศึกษา[แก้]

นางแทตเชอร์เกิดที่เมืองแกรนแทมในมณฑลลิงคอล์นไชร์ บิดาคือ อัลเฟรด โรเบิตส์ ซึ่งเป็นเจ้าของร้านขายของชำในเมืองและได้มีส่วนร่วมในการเมืองและศาสนาของท้องถิ่น โดยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดและเป็นฆราวาสนักเทศน์ในนิกายเมโทดิสต์ โรเบิรตส์มาจากครอบครัวพรรคเสรีนิยม แต่ไม่ได้สังกัดพรรคใด ด้วยถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของการเมืองท้องถิ่นในสมัยนั้น เขาเสียตำแหน่งผู้ว่าราชการไปในปี พ.ศ. 2495 หลังจากที่พรรคเสรีนิยมชนะเสียงข้างมากเป็นครั้งแรกในสภาเมืองแกรนแทมในปี พ.ศ. 2493 อัลเฟรดได้แต่งงานกับเบียทริซ สตีเฟนสัน และได้มีบุตรีสองคน (คือนางแทตเชอร์กับ มูเรียล ซึ่งเป็นพี่สาว ; เกิด: พ.ศ. 2464; ถึงแก่กรรม: พ.ศ. 2547) แทตเชอร์ได้รับการเลี้ยงดูแบบลัทธิเมโทดิสต์ที่เคร่งครัดศาสนาและยังคงเป็นคริสต์ศาสนิกชนมาตลอดชีวิต แทตเชอร์ได้รับการศึกษาอย่างดี โดยเข้าเรียนในโรงเรียนเด็กหญิงเคสตีเวนและแกรนแธม และต่อมาในปี พ.ศ. 2487 ก็ได้เข้าเรียนในวิทยาลัยซอเมอร์วิลล์ เมืองออกซ์ฟอร์ด เพื่อเรียนวิชาเคมี โดยเลือกลงเรียนเอกวิชาผลิกศาสตร์ แทตเชอร์ได้รับตำแหน่งประธานสมาคมอนุรักษนิยมแห่งมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดในปี พ.ศ. 2489 โดยเป็นสตรีคนที่สามที่อยู่ในตำแหน่งนี้ แทตเชอร์จบการศึกษาเกียรตินิยมและเข้าทำงานเป็นนักเคมีวิจัยให้แก่ British Xylonite และ บริษัท J. Lyons and Co. โดยได้ช่วยเหลือในการพัฒนาวิธีการในการเก็บรักษาไอศกรีม แทตเชอร์เป็นสมาชิกในทีมที่พัฒนาไอศกรีมแบบอ่อนนุ่มเป็นรายแรก แทตเชอร์ยังเป็นสมาชิกของสมาคมผู้ทำงานด้านวิทยาศาสตร์อีกด้วย

ชีวิตทางการเมือง[แก้]

นางแทตเชอร์เข้าสู่การเมืองได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งฟินช์เลย์เป็นครั้งแรก พ.ศ. 2502 ร่วมเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลเงา พ.ศ. 2510 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและวิทยาศาสตร์ในปี พ.ศ. 2513-2517 เป็นอัครมหาเสนาบดีเงาร่วม (joint shadow Chancellor) พ.ศ. 2517-18 และใน พ.ศ. 2520 ได้รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมแทนนายเอดเวิร์ด ฮีท แทตเชอร์เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองสตรีคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองของอังกฤษ ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรหลังจากชนะการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2522[1]

ด้วยการนำโดยแทตเชอร์ พรรคอนุรักษนิยมได้กลายเป็นพรรคขวาจัดมากขึ้น ทำให้การเมืองและสังคมของประเทศอังกฤษแบ่งขั้วมากที่สุดนับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลแทตเชอร์ได้ใช้นโยบายปฏิรูปที่ค่อนข้างรุนแรง สนับสนุนกิจการเอกชน แปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งอุตสาหกรรมและสาธารณูปโภคที่รัฐบาลก่อน ๆ ยึดเป็นของรัฐคืนเอกชนด้วยการกระจายหุ้น ลดบทบาทสหภาพแรงงาน ลดภาษีเงินได้ และพยายามจัดตั้งบรรษัทขึ้นดูแลการศึกษาและสาธารณสุขที่เป็นหน้าที่ของรัฐ

นางแทตเชอร์ได้รับเลือกกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลวาระที่ 2 ในปี พ.ศ. 2526 โดยได้เสียงข้างมากทั้ง ๆ ที่อัตราการว่างงานของอังกฤษต่ำที่สุดในรอบ 50 ปี สงครามฟอล์กแลนด์และความระส่ำระสายของพรรคฝ่ายค้านทำให้ความนิยมแทตเชอร์เพิ่มมากขึ้นและได้รับเลือกกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลวาระที่ 3 ในปี พ.ศ. 2530 และเมื่อถึงปี พ.ศ. 2531 แทตเชอร์ได้ทำสถิติกลายเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดในคริสต์ศตวรรษ ที่ 20 แทตเชอร์ได้รับการขนานนามว่า “ลัทธิแทตเชอร์” (Thatcherism) และด้วยเหตุผลที่แทตเชอร์เป็นผู้ดึงดันยึดมั่นในนโยบายอย่างมั่นคงไม่ว่าจะถูกคัดค้านจากนักวิจารณ์ว่าอย่างไร รวมทั้งจากการกังขาไม่แน่ใจของผู้สนับสนุนรัฐบาลเองด้วย

ตราประจำตำแหน่งของบารอนเนสแทตเชอร์ ภาพนายพลเรือแทนสงครามฟอล์กแลนด์ ภาพเซอร์ไอแซก นิวตันแทนภูมิหลังแห่งการเป็นนักเคมีและแทนบ้านเกิดเมืองแกรนแทม

ภายหลังการดำรงตำแหน่ง[แก้]

นางแทตเชอร์ได้ลาออกจากตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน 2533 สืบเนื่องจากการต่อสู้ภายในพรรคและการถกเถียงโต้แย้งกับฝ่ายค้านในประเด็นที่แทตเชอร์ไม่ยอมเสียเอกราชในการเข้าเป็นสมาชิกเศรษฐกิจประชาคมยุโรป รวมทั้งการเสื่อมความนิยมจากการไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับนโยบายผู้มีสิทธิ์ออกเสียง (Poll Tax)

หลังจากได้รับบรรดาศักดิ์ชั้นบารอน แทตเชอร์ได้ตระเวนปาฐกถาไปทั่วโลกในนามของมูลนิธิแทตเชอร์ และได้ตีพิมพ์หนังสืออัตชีวประวัติชื่อ "มาร์กาเรต แทตเชอร์: ชีวิตในดาวนิงสตรีต" (Margaret Thatcher: the Downing Street Years) เมื่อปี พ.ศ. 2536

นางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบเมื่อเช้าวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2556 ด้วยอาการอุดตันของเส้นโลหิตที่ไปเลี้ยงสมอง ทำให้เส้นเลือดตีบ รวมอายุได้ 87 ปี[2]

อ้างอิง[แก้]

  • The Cambridge Biograhical Encyclopedia / Edited by David Cystal-2nd ed., Cambridge University Press, 2000

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]