ประเทศลิกเตนสไตน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ราชรัฐลิกเตนสไตน์
Fürstentum Liechtenstein (เยอรมัน)
ตราแผ่นดิน
คำขวัญFür Gott, Fürst und Vaterland
"แด่พระเจ้า, เจ้าชาย, และมาตุภูมิ"
เพลงชาติโอเบน อัม ยุงเงน ไรน์
Oben am jungen Rhein
"เหนือไรน์อันเยาว์วัย"
เมืองหลวง วาดุซ
47°08.5′N 9°31.4′E / 47.1417°N 9.5233°E / 47.1417; 9.5233
เมืองใหญ่สุด ชาน
ภาษาราชการ ภาษาเยอรมัน
การปกครอง ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
 -  เจ้าชาย เจ้าชายฮันส์-อาดัมที่ 2
 -  ผู้สำเร็จราชการ เจ้าชายอาโลอิส
 -  นายกรัฐมนตรี อาดรีอัน ฮัสเลอร์
เอกราช
 -  วันที่ พ.ศ. 2349 (สนธิสัญญาเพรสส์บูร์ก
พื้นที่
 -  รวม 160.4 ตร.กม. (215)
62 ตร.ไมล์ 
 -  แหล่งน้ำ (%) 2.7[1]
ประชากร
 -  2557 (ประเมิน) 37,215 [2] (215)
 -  ความหนาแน่น 232 คน/ตร.กม. (57)
600 คน/ตร.ไมล์
จีดีพี (อำนาจซื้อ) 2553 (ประมาณ)
 -  รวม 3,545 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (163)
 -  ต่อหัว 98,432 ดอลลาร์สหรัฐ 
HDI (2556) 0.889[3] (สูงมาก) (18)
สกุลเงิน ฟรังก์สวิส (CHF)
เขตเวลา CET (UTC+1)
 -  (DST) CEST (UTC+2)
โดเมนบนสุด .li
รหัสโทรศัพท์ 423

ลิกเตนสไตน์ (เยอรมัน: Liechtenstein) หรือชื่ออย่างเป็นทางการ ราชรัฐลิกเตนสไตน์ (เยอรมัน: Fürstentum Liechtenstein) เป็นประเทศเล็กๆ ที่ถูกล้อมรอบด้วยประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และตั้งอยู่ในทวีปยุโรปกลาง มีพรมแดนด้านตะวันออกติดกับประเทศออสเตรีย และด้านตะวันตกติดกับสวิตเซอร์แลนด์ ถึงแม้ประเทศนี้จะมีขนาดเล็ก และเต็มไปด้วยภูเขาสูง แต่ก็มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายเป็นเสมือนที่รวมสถานที่ท่องเที่ยวในยุโรปทั้งหมด นอกจากนี้ ลิกเตนสไตน์ยังเป็นที่นิยมของนักเล่นกีฬาฤดูหนาว และยังมีชื่อเสียงในฐานะเป็นประเทศที่เก็บภาษีต่ำมากประเทศหนึ่งด้วย

ประวัติศาสตร์[แก้]

ในปี ค.ศ. 1719 โยฮันน์ที่ 1 โยเซฟ เจ้าชายแห่งลิกเตนสไตน์ ได้ซื้อแคว้นสองแคว้นที่มีชื่อว่า วาดุซ และ เชลเลนบูร์ก จากจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และตั้งชื่อใหม่ว่า ลิกเตนสไตน์ ต่อมาในปี ค.ศ. 1815 ดินแดนนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสมาพันธรัฐเยอรมัน และแยกตัวออกเป็นอิสระในปี ค.ศ. 1866 ลิกเตนสไตน์เป็นประเทศเดียวในยุโรปในศตวรรษที่ 20 ที่ไม่เคยเกิดสงครามเลย[4]

ภูมิศาสตร์[แก้]

แม่น้ำไรน์ เขตแดนซึ่งแบ่งสวิตเซอร์แลนด์กับลิกเตนสไตน์

ประเทศลิกเตนสไตน์ตั้งอยู่ทางตอนกลางของทวีปยุโรป อยู่ระหว่างประเทศสวิตเซอร์แลนด์และออสเตรีย พิกัด 47°16′ องศาเหนือ 9°32′ องศาตะวันออก มีพื้นที่ทั้งหมดเพียง 160 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (มีขนาดเป็น 0.9 เท่า) โดยมีความยาวจากเหนือจรดใต้ 25 กิโลเมตร และกว้างสุดเพียง 6 กิโลเมตร มีพรมแดนติดต่อกับประเทศออสเตรียยาว 34.9 กิโลเมตร ติดกับสวิตเซอร์แลนด์ 41.1 กิโลเมตร รวมพรมแดนยาวทั้งหมด 76 กิโลเมตร แต่ในปี ค.ศ. 2006 มีการสำรวจและพบว่า อาณาเขตที่แท้จริงมากกว่าเดิม 1.9 กิโลเมตร เป็น 77.9 กิโลเมตร โดยไม่มีทางออกสู่ทะเล ลิกเตนสไตน์เป็นหนึ่งในสองประเทศของโลกที่ถูกประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลล้อมรอบ ซึ่งอีกประเทศหนึ่งคือ อุซเบกิสถาน

พื้นที่ 2 ใน 3 ของประเทศเป็นภูเขา ภูเขาส่วนใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาแอลป์ มีแม่น้ำไรน์ไหลผ่านทางด้านตะวันตกของประเทศ จุดที่สูงที่สุดคือยอดเกราชพิทซ์ (เยอรมัน: Grauspitz) มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 2,599 เมตร ตั้งอยู่ใต้สุดของประเทศ ส่วนจุดที่ต่ำที่สุดสูงกว่าระดับน้ำทะเล 430 เมตร

ส่วนภูมิอากาศมีลักษณะคล้ายกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในฤดูหนาวอากาศหนาว เมฆมาก มีหิมะและฝนบ่อยครั้ง ส่วนในฤดูร้อนจะชื้น อากาศเย็นถึงอุ่น มีเมฆมาก

การแบ่งเขตการปกครอง[แก้]

เขตปกครองของลิกเตนสไตน์

ลิกเตนสไตน์แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 11 เทศบาล (เยอรมัน: Gemeinden [เกไมน์เดน], รูปเอกพจน์ Gemeinde) ซึ่งเทียบได้กับ "จังหวัด" ในประเทศไทย ส่วนใหญ่ประกอบด้วยเมืองเพียงแห่งเดียว โดยเทศบาล 5 แห่งจัดอยู่ในเขตเลือกตั้งตอนล่าง (เยอรมัน: Unterland) และอีก 6 แห่งอยูในเขตเลือกตั้งตอนบน (เยอรมัน: Oberland) เทศบาลทั้ง 11 แห่งมีดังนี้

ธง เทศบาล ประชากร[2]
(31 มิถุนายน 2557)
พื้นที่
(ตารางกิโลเมตร)
เขตเลือกตั้งอุนเทอร์ลันด์ (Unterland)
Ruggell รุกเกิลล์
(Ruggell)
2,108 7.38
Schellenberg เชลเลนแบร์ก
(Schellenberg)
1,050 3.59
Gamprin กัมพริน
(Gamprin)
1,635 6.12
Eschen เอสเชิน
(Eschen)
4,341 10.38
Mauren เมาเริน
(Mauren)
4,124 7.49
เขตเลือกตั้งโอเบอร์ลันด์ (Oberland)
Schaan ชาน
(Schaan)
5,964 26.92
Planken พลังเคิน
(Planken)
421 5.34
Vaduz วาดุซ
(Vaduz)
5,391 17.32
Triesenberg ทรีเซนแบร์ก
(Triesenberg)
2,620 29.69
Triesen ทรีเซิน
(Triesen)
4,966 26.48
Balzers บัลเซอส์
(Balzers)
4,595 19.73

เศรษฐกิจ[แก้]

ใจกลางเมืองวาดุซ เมืองหลวงของประเทศ

แต่ก่อนอาชีพหลักของชาวลิกเตนสไตน์คือเกษตรกรรม แต่เปลี่ยนเป็นประเทศอุตสาหกรรมเมื่อประมาณ ค.ศ. 1945 รายได้หลักของประเทศคือการท่องเที่ยวและการจำหน่ายดวงตราไปรษณียากร ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของลิกเตนสไตน์มาจากภาคอุตสาหกรรม 40% ซึ่งประกอบด้วย อิเล็กทรอนิกส์ การผลิตโลหะ สิ่งทอ เซรามิก เวชภัณฑ์ อาหาร และการท่องเที่ยว ภาคการเงินการธนาคาร 30% ภาคการบริการ การท่องเที่ยว 25% และภาคการเกษตร 5% ซึ่งผลผลิตที่ได้จากการเกษตรได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด มันฝรั่ง ปศุสัตว์ นม เนย

แรงงานส่วนใหญ่ทำงานในภาคอุตสาหกรรม การค้า และการก่อสร้าง จำนวนแรงงานที่สำรวจในปี ค.ศ. 2014 มีทั้งสิ้น 18,614 คน ในจำนวนนี้ 6,877 คน (37%) อาศัยในประเทศออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ และเยอรมนี และเดินทางไป-กลับข้ามประเทศทุกวัน[2]

สินค้าส่งออกของลิกเตนสไตน์คือ เครื่องจักรขนาดเล็กและเครื่องจักรที่สั่งทำพิเศษ เครื่องมือด้านทันตกรรม แสตมป์ เครื่องใช้โลหะ เครื่องปั้นดินเผา ส่วนสินค้านำเข้าคือ เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์โลหะ สิ่งทอ อาหาร และรถยนต์ กลุ่มประเทศคู่ค้าหลักคือสหภาพยุโรป ประเทศสมาชิกเอฟตา และสวิตเซอร์แลนด์

สวนไวน์ใกล้เมืองวาดุซ

ในประเทศลิกเตนสไตน์มีการเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำ สำหรับบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่จะมีช่วงปลอดภาษี ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ ภาษีสำหรับอสังหาริมทรัพย์ เก็บในอัตรา 0.2-0.9% ภาษีเงินได้อัตรา 4-18% สำหรับบริษัทถือหุ้น (holding company) ที่มีถิ่นที่อยู่ในลิกเตนสไตน์ได้รับสิทธิพิเศษไม่ต้องเสียภาษี ลิกเตนสไตน์จึงเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนนอกประเทศที่สำคัญของยุโรป

การทำไวน์เป็นสิ่งที่ชาวลิกเตนสไตน์ภาคภูมิใจ แม้จะมีพื้นที่เพาะปลูกน้อย (เพียง 54 เอเคอร์) แต่พื้นที่เพาะปลูกอุดมสมบูรณ์ และภูมิอากาศที่มีแสงแดดปีละ 1,500 ชั่วโมง ประกอบกับมีโรงงานผลิตไวน์ที่ทันสมัย ทำให้ไวน์ของลิกเตนสไตน์มีคุณภาพใกล้เคียงกับไวน์สวิส ปัจจุบันไวน์ของลิกเตนสไตน์ที่ผลิตได้จะจำหน่ายในประเทศเป็นหลัก ยี่ห้อที่ขึ้นชื่อคือ ซุสส์ดรุก (Sussdruck) มีสีอิฐแดง และ เบียร์ลิ (Beerli) มีสีแดงเข้ม การโฆษณาเน้นให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญด้านการเพาะปลูก การเก็บ และการกลั่น โดยสามารถหาดื่มได้ตามร้านอาหารทั่วไป

ในด้านนโยบายด้านเศรษฐกิจ ลิกเตนสไตน์มีความร่วมมือใกล้ชิดกับสวิตเซอร์แลนด์ และเป็นสมาชิกกลุ่มเอฟตา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 มีส่วนร่วมในความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างสวิตเซอร์แลนด์กับยุโรป และเป็นภาคีความตกลงเขตเศรษฐกิจยุโรป ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1995 หลังปี ค.ศ. 1945 ได้เปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจากเกษตรกรรมเป็นการท่องเที่ยว ภาคบริการทางการเงิน และอุตสาหกรรมซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก คือ อุตสาหกรรมผลิตเครี่องจักรกล สิ่งทอ เซรามิค ผลิตภัณฑ์ เคมีและยา อิเล็คโทรนิคส์ อาหารกระป๋อง

ข้อพิพาทระหว่างประเทศ ลิกเตนสไตน์อ้างสิทธิในดินแดนของสาธารณรัฐเช็ก 620 ตารางไมล์ ซึ่งเช็กริบมาจากราชวงศ์ลิกเตนสไตน์ในปี ค.ศ. 1918 แต่ฝ่ายเช็กไม่ยอมรับการอ้างสิทธิดังกล่าว โดยถือว่าการเรียกร้องสิทธิเหนือดินแดนใด ๆ จะต้องไม่ย้อนหลังเกินกว่าเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1948 เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นครองอำนาจ

ประชากร[แก้]

จำนวนผู้นับถือศาสนาในลิกเตนสไตน์
ศาสนา [5] ค.ศ. 2000 ค.ศ. 1990
คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก 78.4% 84.9%
คริสตจักรปฏิรูป 7.9% 9.4 %
คริสต์นิกายออร์โธด็อกซ์ 1.1% 0.7%
คริสต์นิกายอื่น ๆ 0.4% 0.1%
อิสลาม 4.8% 2.4%
ยูดาห์ 0.1% 0.0%
อื่น ๆ 0.3% 0.1%
ไม่นับถือศาสนาใด ๆ 7.0% 2.4%

จากการประมาณจำนวนประชากรเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2014 ลิกเตนสไตน์มีประชากร 37,215 คน และจากการสำรวจสำมะโนประชากรเมื่อ ค.ศ. 2000 มีประชากร 33,307 คน ในจำนวนนี้กว่า 68% อยู่ในวัย 15-64 ปี อัตราการเพิ่มจำนวนประชากรอยู่ที่ 0.7% ชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศมีจำนวน 12,522 คน คิดเป็น 33.6% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ในจำนวนนี้ถึง 58% มาจากสามประเทศได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย และเยอรมนี[2]

ลิกเตนสไตน์เป็นประเทศขนาดเล็กที่สุดอันดับที่ 4 ของทวีปยุโรป รองจากนครรัฐวาติกัน โมนาโก และซานมารีโน ภาษาราชการของประเทศคือภาษาเยอรมัน ประชากรส่วนใหญ่พูดภาษาตระกูลอัลเลแมนิกเยอรมัน ถึงแม้ว่าประชากรของประเทศกว่า 1 ใน 3 มาจากประเทศอื่น ได้แก่ ผู้พูดภาษาเยอรมันที่มาจากประเทศเยอรมนี ออสเตรีย และสวิตเซอร์แลนด์ ผู้พูดภาษาอิตาลี รวมไปถึงตุรกี ซึ่งภาษาอัลเลแมนิกเป็นสำเนียงท้องถิ่นที่แตกต่างกับภาษาเยอรมันมาตรฐานค่อนข้างมาก หากแต่คล้ายคลึงกับสำเนียงท้องถิ่นอื่น ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ในฟอราลแบร์ก ประเทศออสเตรีย

ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ จากการสำรวจสำมะโนประชากรในปี ค.ศ. 2000 ประชากรกว่า 87.9% นับถือศาสนาคริสต์ ในจำนวนนี้ 78.4% นับถือคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก และประมาณ 8% นับถือนิกายโปรแตสแตนท์ ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับผลการสำรวจในปี ค.ศ. 1990 ปรากฏว่าจำนวนผู้นับถือศาสนาคริสต์ลดลง ในส่วนของศาสนาอิสลามและไม่นับถือศาสนาเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว[6]

อายุขัยเฉลี่ยของชาวลิกเตนสไตน์อยู่ที่ 79.68 ปี โดยเพศชายมีอายุขัยเฉลี่ย 76.1 ปี และเพศหญิง 83.28 ปี อัตราการตายของทารกคือ 4.64 คนต่อการเกิด 1,000 คน และจากการประมาณเมื่อเร็ว ๆ นี้ อัตราการอ่านออกเขียนได้ของชาวลิกเตนสไตน์อยู่ที่ 100% (อ่านออกเขียนได้ทุกคน) ซึ่งโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (อังกฤษ: Programme for International Student Assessment) ที่ร่วมมือกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) จัดอันดับให้ระบบการศึกษาของลิกเตนสไตน์ดีเยื่ยมเป็นอันดับที่ 10 ของโลก[7]

การคมนาคม[แก้]

ลิกเตนสไตน์บัส ระบบขนส่งมวลชนของประเทศ

ถนนภายในลิกเตนสไตน์มีความยาวทั้งสิ้น 380 กิโลเมตร โดยความยาว 90 กิโลเมตรมีช่องทางสำหรับรถจักรยาน ส่วนทางรถไฟภายในประเทศมีความยาวเพียง 9.5 กิโลเมตร ซึ่งเชื่อมต่อกับประเทศออสเตรียและสวิตเซอร์แลนด์ การรถไฟได้รับการบริหารดูแลโดยสหพันธ์การรถไฟออสเตรีย (ÖBB)[8] มีสถานีรถไฟทั้งสิ้น 4 สถานี ได้แก่ สถานีชาน-วาดุซ ฟอสท์ฮิลที เนนเดลน์ และชานวัลด์ รถไฟที่ให้บริการจะมาอย่างไม่มีเวลากำหนดแน่นอน เพราะเป็นเพียงทางผ่านระหว่างเมืองเฟลด์เคียร์ชของออสเตรียกับเมืองบุคส์ของสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนรถไฟยูโรซิตี้และรถไฟที่เดินทางระยะไกลข้ามประเทศที่ผ่านเส้นทางสายนี้มักจะไม่จอดในสถานีในประเทศลิกเตนสไตน์

ระบบขนส่งมวลชนของลิกเตนสไตน์มีชื่อว่า ลิกเตนสไตน์บัส (อังกฤษ: Liechtenstein Bus) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ระบบโพสท์บัสสวิส (อังกฤษ: Swiss Postbus system) ของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเส้นทางเดินรถจะแยกกัน ลิกเตนสไตน์บัสจะวิ่งเฉพาะภายในประเทศ และจะไปเชื่อมกับระบบรถโดยสารสวิสที่เมืองบุคส์และซาร์กันส์ของสวิตเซอร์แลนด์ นอกจากนี้ลิกเตนสไตน์บัสยังวิ่งไปถึงเมืองเฟลด์เคียร์ชของออสเตรียอีกด้วย

ลิกเตนสไตน์ไม่มีสนามบินในประเทศ ซึ่งสนามบินขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้ที่สุดคือ สนามบินซูริค ในเมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ลิกเตนสไตน์มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์เพียงแห่งเดียวในเมืองบัลเซอร์ส ซึ่งสามารถใช้งานได้กับเฮลิคอปเตอร์เช่าเหมาลำ[9][10]

อ้างอิง[แก้]

  1. Raum, Umwelt und Energie, Landesverwaltung Liechtenstein. Accessed on 2 October 2011.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Bevölkerungsstatistik – 30. Juni 2014 (สถิติด้านประชากร – 30 มิถุนายน 2557), Amt für Statistik, Landesverwaltung Liechtenstein. สืบค้นวันที่ 1 มิถุนายน 2558 (เยอรมัน)
  3. "2014 Human Development Report Summary". United Nations Development Programme. 2014. pp. 21–25. สืบค้นเมื่อ 27 July 2014. 
  4. Go Genius ปีที่ 4 ฉบับที่ 42 เดือนพฤษภาคม 2539, กรุงเทพมหานคร: บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด, 2539, ISSN 0858-5946 
  5. Publikationen zur Volkszählung 2000 – Amt für Volkswirtschaft – Landesverwaltung Liechtenstein
  6. Publikationen zur Volkszählung 2000 – Amt für Volkswirtschaft (AVW) – Landesverwaltung Liechtenstein<
  7. Range of rank on the PISA 2006 science scale
  8. Verkehrsverbund Vorarlberg
  9. Heliport Balzers FL LSXB
  10. Heliports – Balzers LSXB – Heli-Website von Matthias Vogt

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

คุณสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับ ประเทศลิกเตนสไตน์ ได้โดยค้นหาจาก
โครงการพี่น้องของวิกิพีเดีย :
Wiktionary-logo-th.png หาความหมาย จากวิกิพจนานุกรม
Wikibooks-logo.svg หนังสือ จากวิกิตำรา
Wikiquote-logo.svg คำคม จากวิกิคำคม
Wikisource-logo.svg ข้อมูลต้นฉบับ จากวิกิซอร์ซ
Commons-logo.svg ภาพและสื่อ จากคอมมอนส์
Wikinews-logo.svg เนื้อหาข่าว จากวิกิข่าว
Wikiversity-logo-en.svg แหล่งเรียนรู้ จากวิกิวิทยาลัย