แม่น้ำอูราล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอูราลมีลักษณะยาวและเรียวคล้ายกับตีนนก

แม่น้ำอูราล เป็นแม่น้ำที่ไหลจากประเทศรัสเซียถึงประเทศคาซัคสถาน ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างทวีปเอเชีย และทวีปยุโรป โดยไหลลงมาจากทางใต้ของเทือกเขาอูราลและสิ้นสุดที่ทะเลสาบแคสเปียน โดยแม่น้ำสายนี้มีความยาวประมาณ 2428 กิโลเมตร และมีความยาวเป็นอันดับ 3 ของทวีปยุโรป รองจากแม่น้ำโวลก้า และแม่น้ำดานูบ น้ำในแม่น้ำอูราลไหลลงสู่ทะเลสาบแคสเปียนในประเทศคาซัคสถาน ซึ่ง 70% ของน้ำในแม่น้ำอูราลได้มาจากการละลายของหิมะ ส่วนที่เหลือมาจากปริมาณน้ำฝนที่ไหลลงสู่แม่น้ำ ต้นกำเนิดของแม่น้ำอูราลเกิดจากเทือกเขาอูราล ซึ่งมีความสำคัญอีกประการหนึ่งคือ เป็นเส้นแบ่งทวีประหว่างยุโรปกับเอเชีย

ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอูราล (Ural delta) มีลักษณะยาว และเรียวคล้ายกับตีนนก (bird’s foot) ซึ่งการแสดงการสะสมตัวของตะกอนในลักษณะนี้สามารถบอกได้ว่า เกิดจากอิทธิพลการไหลของแม่น้ำเป็นหลัก และได้รับอิทธิพลจากคลื่นเล็กน้อย ซึ่งบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำมิซิซิปปี้ในสหรัฐอเมริกามีลักษณะแบบนี้เช่นกัน

การสะสมของตะกอน (sediment supply) โดยปกติปริมาณตะกอนรวมประมาณ 310 g/m³ ส่วนในฤดูน้ำหลากจะมีปริมาณตะกอนเพิ่มขึ้นจนถึง 2400 g/m³ และในฤดูหนาวจะมีปริมาณตะกอนต่ำสุดประมาณ 0.5 g/m³ [1]

ลักษณะสภาพแวดล้อมในอดีต[แก้]

สภาพแวดล้อมในอดีตของดินดอนสามเหลี่ยมจะเป็นลักษณะของธารน้ำแข็ง เพราะเมื่อก่อนถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็ง ซึ่งอยู่ในยุคน้ำแข็งและยุคน้ำแข็งละลาย เมื่อน้ำแข็งละลาย ก็มีการพัฒนามาเป็นแม่น้ำต่างๆ โดยได้พาตะกอนจากพื้นดินโดยเฉพาะบริเวณที่เป็น ที่ราบธารน้ำแข็งรัสเซีย ลักษณะของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอูราลเริ่มมีการคงสภาพในช่วงไพลสโตซีน (Pleistocene)[2]

ปัจจัยของระดับน้ำทะเลที่มีผลต่อ ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอูราล

แม่น้ำอูราล เริ่มมีการเปลี่ยนตำแหน่งและทิศทางในช่วงหลังยุคที่น้ำทะเลลด โดยมีการขยายตัวไปถึง 32 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 522 ตารางกิโลเมตร และยื่นเข้าไปในคาบสมุทรเพสฮอย (Peshnoy) ในประเทศคาซัคสถาน

การพัฒนามาเป็นดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอูราล

ในแต่ละปี แม่น้ำอูราลจะมีการกัดเซาะจากคลื่นและจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล เกิดเป็นลักษณะของทางน้ำ เมื่อตะกอนมีการสะสมตัวมากขึ้นจะเกิดเป็นลักษณะของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอูราล ซึ่งจะแสดงลักษณะการกระทำที่เกิดจากแม่น้ำเป็นหลัก[3]

ซากดึกดำบรรพ์[แก้]

ลักษณะของซากดึกดำบรรพ์ที่พบ มีได้ตั้งแต่พวกแพลงก์ตอน ไปจนถึงพวกไดอะตอมขนาดเล็ก แต่ที่พบเจอในหิน ได้แก่ พวกหอยสองฝา และหอยฝาเดียว

อ้างอิง[แก้]

  1. Yarushina Margarita I., Eremkina Tatjana V. and Tockner Klement.Rivers of Europe:Ural river basin.Russian Academy of Science, Ural Division, Institute of Plant and Animal Ecology.680p.
  2. Barannik, V., Borysova, O., and Stolberg, F. 2004. The Caspian Sea region: environmental change. Ambio 33: 45–51.
  3. Kroonenberg S.B., Rusakov G.V. and Svitoch A.A..1996.The wandering of the Volga delta: a response to rapid Caspian sea-level change.Department of Soil Science and Geology, Agricultural University, Wageningen, Netherlands;Astrakhan Man and Biosphere Nature Reserve, Astrakhan, Russia;Faculty of Geography: Moscow State University, Moscow, Russia.

พิกัดภูมิศาสตร์: 46°53′N 51°37′E / 46.883°N 51.617°E / 46.883; 51.617