ธงชาติอินโดนีเซีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ธงชาติอินโดนีเซีย
Flag of Indonesia.svg
ชื่อธง Sang Merah Putih
การใช้ 111111
สัดส่วนธง 2:3
ประกาศใช้ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1945
ลักษณะ ธงสองแถบแบ่งครึ่งตามแนวนอน ครึ่งบนสีแดง ครึ่งล่างสีขาว
Naval Jack of Indonesia.svg
ธงชาติอินโดนีเซียในรูปแบบต่าง ๆ
ชื่อธง Ular-ular Perang
การใช้ 000001
สัดส่วนธง 2:3
ลักษณะ ธงลายแถบแดงและขาว9แถบ

ธงชาติอินโดนีเซีย หรือ ซังเมราห์ปูติห์ (อินโดนีเซีย: Sang Merah Putih, สีแดง-ขาว)[1] เป็นธงที่มีต้นแบบมาจากธงประจำอาณาจักรมัชปาหิตในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน พื้นธงแบ่งเป็นสองส่วนตามแนวนอน ครึ่งบนสีแดง หมายถึงความกล้าหาญและอิสรภาพ ครึ่งล่างสีขาว หมายถึงความบริสุทธิ์ยุติธรรม

ธงนี้มึความคล้ายคลึงกับธงชาติโปแลนด์และธงชาติสิงคโปร์ และเหมือนกับธงชาติโมนาโกเกือบทุกประการ แต่ต่างกันที่สัดส่วนธงเท่านั้น

ธงฉานอินโดนีเซียซึ่งธงผืนนี้ใช้โดยกองทัพเรืออินโดนีเซีย จากภาพธงนี้ชักขึ้นที่เสาธงฉานหน้าหัวเรือรบ[2] ธงผืนนี้มีลักษณะเป็นธงลายแถบแดงและขาว9แถบ. ธงนี้มีชื่อว่า Ular-ular Perang (ธงผู้บังคับการเรือ หรือ litterally "ธงหางจระเข้"), มีลักษณะเป็นธงแถบสองแถบ ซึ่งความยาวของธงนี้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการประจำการของเรือลำนั้นๆ ธงฉานอินโดนีเซียมีต้นกำเนิดจากอาณาจักรมัชปาหิต โดยธงใช้เป็นธงเรืออันยิ่งใหญ่ของอาณาจักรมัชปาหิต, ปัจจุบันนี้ใช้เป็นธงฉาน ชักขึ้นที่หน้าหัวเรือรบ[3]

ความหมาย[แก้]

สัญลักษณ์ในธงชาติอินโดนีเซียมีความหมายดังนี้

  • สีแดง หมายถึงความกล้าหาญและอิสรภาพของมนุษย์
  • สีขาว หมายถึงความบริสุทธิ์ หรือจิตวิญญาณของมนุษย์ [4]

ประวัติ[แก้]

การเชิญธงชาติอินโดนีเซียขึ้นสู่ยอดเสาครั้งแรกในพิธีประกาศเอกราช วันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1945

สีแดงและสีขาวของธงชาติอินโดนีเซียมีที่มาจากสีธงของอาณาจักรมัชปาหิต ซึ่งเป็นอาณาจักรชวาโบราณในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 13 ต่อมาในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ขบวนการชาตินิยมในอินโดนีเซียได้ฟื้นฟูธงนี้ขึ้นใช้เป็นสัญลักษณ์ต่อต้านการกดขี่ของเนเธอร์แลนด์ในอาณานิคมอินเดียตะวันออกของดัตช์ โดยธงสีแดง-ขาวได้โบกสะบัดครั้งแรกบนเกาชวาในปี ค.ศ. 1928 ภายใต้การปกครองของเนเธอร์แลนด์ในระยะนั้นทำให้ธงนี้มีสถานะเป็นธงต้องห้าม ต่อมาเมื่ออินโดนีเซียได้ประกาศเอกราชในวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1945 ธงสีแดง-ขาว จึงได้ถูกชักขึ้นในฐานะสัญลักษณ์ของประเทศอินโดนีเซียครั้งแรก และมีฐานะเป็นธงชาติอย่างแท้จริงนับแต่นั้นเป็นต้นมา[4]

นอกจากนี้ยังมีประวัติของธงชาติอินโดนีเซียอีกทางหนึ่ง ซึ่งมีความเกี่ยวข้องอย่างสำคัญต่อธงชาติเนเธอร์แลนด์ ประวัติศาสตร์สายนี้กล่าวว่า ในสมัยภายใต้การปกครองของเนเธอร์แลนด์นั้นทุกพื้นที่การปกครองของอินเดียตะวันออกของดัตช์จะต้องชักธงสามสีของเนเธอร์แลนด์เป็นเครื่องหมายสำคัญ ธงใดๆ ก็ตามที่หมายถึงอินโดนีเซียจะเป็นธงต้องห้ามทั้งหมด เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความต้องการขับไล่ชาวดัตช์ นักชาตินิยมและขบวนการเรียกร้องเอกราชของอินโดนีเซียกลุ่มต่างๆ จึงทำลายธงชาติเนเธอร์แลนด์โดยการฉีกเอาส่วนล่างสุดที่เป็นสีน้ำเงินออก คงไว้แต่เฉพาะสีแดงกับสีขาวเท่านั้น เหตุผลสำคัญคือสีน้ำเงินของธงชาติเนเธอร์แลนด์ในความคิดของพวกชาตินิยมคือเครื่องหมายของ "พวกอภิชนเลือดน้ำเงิน" ผู้กดขี่คนพื้นเมือง ในทางกลับกัน สีแดงได้กลายเป็นสัญลักษณ์เลือดในการต่อสู้เรียกร้องเอกราช ส่วนสีขาวนั้นอาจมีความหมายถึงความบริสุทธิ์ของชาวอินโดนีเซีย[4]

ชื่อธง[แก้]

ธงชาติอินโดนีเซียมีชื่อเรียกต่างๆ ดังนี้

  • "ซังเมราห์ปูติห์" ("Sang Merah Putih", สีแดง-ขาว) - ชื่ออย่างเป็นทางการตามที่บัญญัติในมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ค.ศ. 1945
  • "ซังดวีวาร์นา" ("Sang Dwiwarna", สองสี), "เบนเดราเมราห์ปูติห์" ("Bendera Merah Putih", ธงแดง-ขาว) - ชื่อเรียกโดยทั่วไป
  • "ซังซากาเมราปูติห์" ("Sang Saka Merah Putih", สีแดง-ขาวอันสูงส่ง) - ชื่อที่ใช้อ้างอิงถึงธงในประวัติศาสตร์ที่มีชื่อว่า "เบนเดราปุซากา" ("Bendera Pusaka", อาจแปลความว่า "ธงอันเป็นมรดกตกทอด") และผืนธงที่ทำจำลองขึ้นจากธงนี้ ธงเบนเดราปุซากาเป็นธงที่ได้ปลิวสะบัดอยู่ที่หน้าบ้านพักของนายซูการ์โนในเวลาไม่นานหลังจากที่เขาได้กล่าวคำประกาศเอกราชของประเทศ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ผืนธงตัวต้นแบบนั้นเย็บโดยนางฟัตมาวาตี ซูการ์โน (ภริยาคนที่ 3 ของซูการ์โน และเป็นมารดาของนางเมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี) และจะมีการอัญเชิญขึ้นสู่ยอดเสาธงที่หน้าทำเนียบประธานาธิบดีในพิธีฉลองวันประกาศเอกราชของทุกปี ธงนี้ได้ถูกชักขึ้นครั้งสุดท้ายในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2511 หลังจากนั้นจึงได้มีการผ่านกระบวนการอนุรักษ์และจัดทำธงจำลองขึ้นใช้แทน เพราะตัวธงของเดิมมีสภาพที่บอบบาง เสี่ยงต่อการชำรุดเสียหายมาก[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "National Flag, Coat of Arms, Anthem". Embassy of Indonesia, Oslo, Norway. 2007-05-01. Archived from the original on 2007-10-19. สืบค้นเมื่อ 2009-06-22. 
  2. "(Indonesian) KRI Karang Unarang-985 Akhiri Pengabdian". Pikiran Rakyat. 2010-10-22. สืบค้นเมื่อ 2010-12-21. 
  3. "(Indonesian) TNI : terima kasih ku terdalam padamu". Connie Rahakundini on Multiply.com. สืบค้นเมื่อ 2010-12-21. 
  4. 4.0 4.1 4.2 "Indonesia". Flags of the World. 2006-09-06. สืบค้นเมื่อ 2007-12-26. 

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]