หน้าแรก
ข้อมูลทั่วไป
บทบาทหน้าที่
งานบริการ
ผลงานวิชาการ
อัตราค่าตรวจวิเคราะห์
กิจกรรมศูนย์ฯ
เว็บบอร์ด
ติดต่อเรา
 
 
สารพิษไรซิน (RICIN)
่ข่าวจาก CNN วันที่ 9 มค. 2003 ระบุว่าตำรวจกรุงลอนดอนได้จับกุมผู้ต้องสงสัยคนที่ 7 ที่มีสารพิษไรซินไว้ในครอบครองจำนวนเล็กน้อย ซึ่งผู้ต้องสงสัย 6 คนที่ถูกจับกุมไปแล้วเป็นชาวแอลจีเรีย โดยมีเบาะแสว่าสารเหล่านี้เชื่อมโยงกับขบวนการก่อการร้ายอัลเคดา มีการสืบค้นพบว่าสารพิษเหล่านี้ ผลิตจากกรุงคาบุล เมืองหลวงของประเทศอาฟกานิสถาน และเคยมีการเผยแพร่การจัดหลักสูตรฝึกอบรมการผลิตแก่เครือข่ายทั่วโลกมาแล้ว แต่นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้ให้นโยบายว่าควรเสนอข่าวนี้เพียงเพื่อให้ประชาชนตื่นตัวแต่ไม่ตื่นตกใจ (To be alert, but not alarm and panicked)
สารพิษไรซินมีพิษทำให้ผู้สัมผัสถึงแก่ชีวิตโดยไม่มีทางรักษา มีพิษร้ายแรงมากกว่าพิษงูเห่าถึง 2 เท่า อาการเมื่อได้รับพิษคือเป็นไข้ ปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน อวัยวะภายในถูกทำลาย และถึงแก่ความตายใน 36-48 ชั่วโมงโดยไม่มียาต้านพิษใดๆที่จะนำมาใช้รักษาได้ เนื่องมาจากระบบอวัยวะภายในต่างๆถูกทำลายหมดสิ้น อาทิเช่น จะมีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร ส่วนตับ ไต ม้าม และระบบหายใจล้มเหลว หากถูกฉีดเข้าสู่ร่างกายในรูปที่เป็นของเหลวสารนี้จะทำลายกล้ามเนื้อและต่อมน้ำเหลืองบริเวณที่ฉีดทันที แล้วจึงไปทำลายอวัยวะภายในเป็นลำดับถัดมา อย่างไรก็ดี พบว่าสารไรซินมีพิษน้อยกว่าเชื้อแอนแทรกซ์ ประมาณ 4,000 เท่า แต่ต่างกันที่ผู้ป่วยแอนแทรกซ์สามารถรักษาให้หายได้หากชันสูตรพบแต่เนิ่นๆ สารไรซินไม่สามารถแพร่กระจายโรคจากผู้ป่วยไปติดต่อผู้อื่นได้ แต่แอนแทรกซ์จัดเป็นโรคติดต่อร้ายแรง การใช้สารพิษไรซินส่วนใหญ่มุ่งเน้นการนำมาลอบฆ่ากันมากกว่านำมาใช้ทำอันตรายต่อคนหมู่มาก เหยื่อรายแรกของสารไรซินเป็นนักหยังสือพิมพ์ชาวบัลแกเรียที่อาศัยในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งเขียนข่าวต่อต้านรัฐบาลบัลกาเรีย เขาถูกทิ่มด้วยปลายร่มของชายคนหนึ่งที่ทำให้ดูเหมือนเป็นอุบัติเหตุขณะกำลังจะเดินข้ามสะพาน Waterloo เมื่อปี 1978 และเสียชีวิตในเวลาอีก 4 วันต่อมา จึงมีการเรียกชื่ออย่างไม่เป็นทางการของสารพิษนี้ว่า “ The umbrella toxin”
สารไรซินเป็นสารพิษในธรรมชาติ สกัดได้จากเมล็ดละหุ่ง โดยปกติผลผลิตละหุ่งที่สำรวจได้อย่างเป็นทางการทั่วโลกมีประมาณ 1 ล้านตันต่อปี เปลือกนอกของเมล็ดไม่มีสารพิษ การสกัดจึงต้องปอกเปลือกออกก่อน ปริมาณของสารไรซินที่ทำให้เสียชีวิตได้คือประมาณ 450 ไมโครกรัมซึ่งสามารถเคลือบอยู่บนวัสดุที่มีขนาดเพียงหัวเข็มหมุดได้ ซึ่งแพทย์ได้พบวัสดุนี้ในกล้ามเนื้อศพของนักหนังสือพิมพ์ข้างต้น แต่อย่างไรก็ดี แม้ว่าสารไรซินจะผลิตได้ง่าย มีต้นทุนต่ำ แต่การที่จะใช้ในการสงครามจะต้องใช้ในปริมาณมากถึง 4 ตัน ต่อเนื้อที่ 100 ตารางกิโลเมตร ซึ่งจะฆ่าผู้คนในบริเวณนั้นได้ร้อยละ 50 มีการคิดค้นและพัฒนาสารไรซินเพื่อนำมาเป็นอาวุธสงครามตั้งแต่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ยังไม่ได้นำมาใช้งาน ส่วนประเทศอังกฤษได้ศึกษาและพัฒนาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เมือง Wilshire จึงมีชื่อเรียกสารนี้อย่างไม่เป็นทางการว่า Compound W แต่ก็ไม่ได้ใช้งานจริงเช่นกัน ซึ่งเป็นการยืนยันว่าสารนี้ยังไม่เหมาะแก่การนำมาใช้เป็นอาวุธสงคราม ในปัจจุบันพบมีการผลิตที่กรุงคาบุล และพบแผนการของอิรักที่กำหนดสารชนิดนี้ให้เป็นอาวุธชีวภาพและน่าจะมีสารชนิดนี้เก็บรักษาไว้จำนวนหนึ่งแล้ว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญสารพิษชาวตะวันตกผู้หนึ่งระบุว่าความเป็นไปได้ของการนำสารไรซินมาเป็นอาวุธชีวภาพคือการผลิตออกมาในรูปของละอองฝอย (aerosol)เท่านั้น

สารไรซินประกอบไปด้วยโมเลกุลของโปรตีน 2 สาย ได้แก่โปรตีน A และโปรตีน B




เชื่อมต่อกันด้วย disulfide bond จะมีพิษมากเมื่อถูกตัดโดยธรรมชาติในร่างกายออกเป็นสายโปรตีนเดี่ยว มีคุณสมบัติที่ทั้งเป็นพิษต่อเซลล์ (cytotoxic)




โดยไปยับยั้งการทำงานของโปรตีนและเอนไซม์ในไรโบโซม

และยังสามารถตกตะกอนเม็ดเลือดแดงได้ด้วย ตามทฤษฎีระบุว่า สารไรซินเพียงโมเลกุลเดียวสามารถกระตุ้นให้เกิดการยับยั้งการทำงานของไรโบโซมได้ถึง 1,500 ไรโบโซมต่อนาที ซึ่งเพียงพอต่อการทำให้ผู้ได้รับสัมผัสเสียชีวิตได้ประเทศไทยอาจจะต้องเตรียมการสำหรับป้องกันการก่อการร้ายและในกรณีหากเกิดสงคราม ระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิรักขึ้น โดยการตรวจสอบเข้มงวด และเตรียมห้องปฏิบัติการฉุกเฉินไว้เพื่อตรวจสอบสารต้องสงสัยไว้ด้วย

< ละหุ่ง >

ละหุ่ง มีชื่อภาษาอังกฤษว่า castor bean ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Ricinus communis เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กทรงพุ่มเตี้ย พบมีปลูกมากในประเทศบราซิล และบริเวณประเทศในแถบเส้นศูนย์สูตรเช่นประเทศไทยขนาดความสูงของต้นละหุ่งประมาณ 3-5 เมตร มีใบเดี่ยวขนาดใหญ่คล้ายใบปาล์มขอบใบหยัก ก้านยาว ผลมีหนามโดยรอบมี 3 พู รวม 3 เมล็ด เมล็ดแบนรี ด้านนอกโค้งด้านในแบน เมล็ดมีสีชมพูเป็นลายพล้อยปนสีเทาเมล็ดที่แก่จัดจะนำไปใช้ประโยชน์มากมายทางด้านอุตสาหกรรม

ความเป็นพิษ : ความเป็นพิษของละหุ่งเกิดจาก ไรซิน (ricin) ซึ่งเป็นสารที่มีพิษสูงมากชนิดหนึ่งในบรรดาอาณาจักรของพืช เนื้อเยื่อในของเมล็ดละหุ่งประกอบด้วยไกลโคโปรตีน (glycoprotein) เป็นสารที่ก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ผิวหนังอักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ หอบหืดในหมู่คนงาน นอกจากนี้ส่วนของใบ ลำต้น เมล็ดละหุ่งประกอบด้วย โปแตสเซียม ไนเตรท (Potassium nitrate) และกรดไฮโดรไซยานิค ( Hydrocyanic acid) ขนาดของพิษ ricin ที่ทำให้คนถึงแก่ชีวิตประมาณ 1 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือประมาณละหุ่ง 8 เมล็ด การกินเมล็ดละหุ่งโดยการเคี้ยวและกลืนเข้าไปจะเป็นอันตรายมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก ซึ่งมีโอกาสที่จะแพ้สารพิษได้ง่าย แม้จะเป็นเพียงแค่เคี้ยว และกลืนเข้าไปเพียง 1 เมล็ดเท่านั้นก็อาจเสียชีวิตได้

ลักษณะอาการ : จากการกลืนกิน การแพ้พิษไรซิน (ricin) ตามปรกติจะใช้เวลานานหลายชั่วโมงจึงแสดงอาการ ปฏิกิริยาการแพ้พิษในรายที่มีความไวอาจเกิดขึ้นทันทีหลังจากได้รับสารพิษ อาการเบื้องต้นที่พบบ่อยคืออาการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร รวมทั้งเกิดแผล พุ พอง ในระบบทางเดินหายใจ ต่อมามีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง และปวดท้องจนตัวงอ (colicky abdominal pain) ในรายที่มีอาการรุนแรงกระเพาะอาหารจะอักเสบและมีเลือดไหลออกในกระเพาะอาหาร ซึ่งพิษของไรซินจะมีผลต่ออวัยวะต่าง ๆ เช่น ไต ตับ และตับอ่อน
(C) sipcn@mahidol.ac.th

เรียบเรียงจาก: Website WWW.CNN.COM/Europe


 

 
 
     
 
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ info@rmsc.cm66.com
Web Design by จักรพันธ์ กองตา สนับสนุนโดย Chiang Mai Web Design
© 2003ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เชียงใหม่
Best view : 800 x 600 Browser Ie 5.5+ font = medium