spacer
กระทู้ ในส่วน: วิชาการ.คอม>vCafe>เรือนไทย>ศิลปะวัฒนธรรม ชม:5,152 ตอบ: 44 โหวต: 43
เรารักในหลวง 
"เยาวราช" คือใคร
 
ขอความรู้ครับ
มีกระทู้ถามถึงย่านเยาวราช ไชน่าทาวน์ของกรุงเทพฯ ในสโมสรมองอดีต อ่านแล้วผมเลยสงสัยขึ้นมาว่า ถนนชื่อ เยาวราช ที่ต่อมาเป็นชื่อเรียกย่านนี้ด้วยนั้น ทำไมจึงชื่อ "เยาวราช"

ตามศัพท์ เยาวราช แปลว่าเจ้านายที่ทรงพระเยาว์ หรือว่า ยุพราช ก็ได้ ผมเดาว่าน่าจะมุ่งถึงเจ้านายที่มีพระองค์จริงองค์ใดองค์หนึ่ง และเดาต่อว่า น่าจะเป็นเจ้านายในรัชสมัยพระพุทธเจ้าหลวง ผมไม่ทราบว่าถนนเยาวราชตัดเสร็จเมื่อไหร่ แต่เดาว่าในสมัย ร.5 ซึ่งเมืองไทยและกรุงเทพฯ กำลังพัฒนาตัดถนนกันหลายสาย
ถนนสายแรกในกรุงเทพฯ ที่เป็นถนนทางรถวิ่ง ไม่ใช่ทางเดินหรือทางเกวียนนั้น คือถนนเจริญกรุง ตัดในปลายรัชสมัย ร.4 ฝรั่งสมัยนั้นเรียกว่า New Road ต่อมาก็มีถนนบำรุงเมือง และถนนเฟื่องนคร ตามมาเป็นชุด เจริญกรุง -บำรุงเมือง-เฟื่องนคร แต่ถนนเยาวราชผมไม่ทราบว่าตัดกันครั้งไหน และทำไมจึงได้ชื่อนี้

ยังมีท่าน้ำราชวงศ์อยู่แถวๆ นั้นด้วย น่าจะมีประวัติของชื่อเกี่ยวเนื่องกันกับเยาวราช มีใครทราบบ้างครับ ขอบคุณครับ
นิลกังขา [IP: hidden] วันที่ 8 ก.ค. 2545 - 22:17:17
(คุณ นิลกังขา ช่วยร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ ผ่านวิชาการ.คอมแล้ว รวมทั้งสิ้น 936 ครั้ง)

กำลังแสดง ความเห็นเพิ่มเติม หน้าที่ | -1-
ความเห็นเพิ่มเติมที่ 1

ประวัติไม่ทราบครับ แต่มีภาพเยาวราชมาฝาก ... แหะๆๆ
http://thaispecial.com/yolwaraj/

โดย: จ้อ [IP: 194.82.103.74,129.234.55.145, 129.234.4.1,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 10 ก.ค. 2545 - 04:57:32

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 2

ค้นไปค้นมาไปเจอที่เอ็มเว็ป ของคุณ โกตี่ เขาบอกว่าถนนเยาวราชสร้างขึ้นมาก่อนถนนเจริญกรุง
อันนี้ผมไม่ค่อยแน่ใจ ... หุๆๆๆ
http://leisure.mweb.co.th/walk/China_Town_473.html
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
คำว่า เยาวราช เป็นชื่อของถนนสายหลักที่เก่าแก่สายหนึ่งของกรุงเทพมหานคร
สร้างขึ้นมาก่อน ถนนเจริญกรุง อันเป็นถนน สายหลักอีกสายหนึ่ง ถนนสองสายนี้
จะทอดยาวขนานกันไป ต่อมาระยะหลังถนนเจริญกรุงได้ตัดใหม่ยาวไปถึง ถนนตก
ส่วนความยาวของถนนเยาวราชนั้นยังคงเดิม ระยะทางเริ่มต้นถึงปลายสุดยาวประมาณ 1กิโลเมตร

สองฝากฝั่ง ของถนนเยาวราช ในสมัยก่อนนั้น นับได้ว่าเป็นพื้นที่เศรษฐกิจอันดับหนึ่ง ของ ยุคนั้น
ถนนสีลม ยังไม่มี ย่านบางลำภูยังไม่เกิด และ ย่านประตูน้ำยังเขียวขจี เป็นทุ่งนาอยู่เลย
เท่าที่ โกตี่” จำได้ยินมา ถนนเยาวราช สร้างขึ้นมา ในสมัยรัชกาลที่ 5 ตอนสร้างเสร็จใหม่ๆ ใครๆ
เห็นก็ตกใจ ร้องว่า ถนนทำไมกว้างอย่างนี้” ตอนโกตี่”ยังเด็ก ราวพ.ศ.2500 ถนนเยาวราชรถยังวิ่งสวนทางกัน (two
way) มีรถเมล์ สาย 23 หรือที่เรียกกัน ในสมัยนั้นว่า เมล์แดง และรถเมล์ สาย 24 ที่เรียกกันว่า ไทยประดิษฐ์”
วิ่งสวนทางกัน และมีรถรางวิ่งอยู่อีกเลนหนึ่ง

จุดเริ่มต้น ของถนน เยาวราช โกตี่ขอเริ่มต้น ตรงวงเวียนโอเดียน ก็แล้วกัน ชื่อของวงเวียนนี้
เป็นชื่อของโรงหนัง ซึ่งปัจจุบันรื้อไปแล้ว เดิมทีวงเวียนนี้ เป็นวงเวียนน้ำพุ สร้างขึ้น และทำพิธีเปิด โดย พล.อ.ประภาส
จารุเสถียร พอน้ำพุพุ่ง ทุกคนต่างปรบมือ ในความสวยงาม แต่พอกลับ ถึงบ้านทุกๆคน ในย่านเยาวราช ต่างพากันบ่นอุบ
เพราะน้ำประปาตามบ้านไม่ไหล เนื่องจากถูกดึงไปใช้ ในพิธีเปิดน้ำพุหมด ปัจจุบันนี้วงเวียนน้ำพุถูกเปลี่ยนเป็น
ซุ้มประตูวัฒนธรรมจีนแทน
อันเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า เยาวราชเป็นแหล่งที่คนจีน ทำมาหากินกันมาเป็นเวลานาน ฉะนั้น”โกตี่
”จึงเห็นด้วยกับประตู วัฒนธรรมจีน ซึ่งแสดงออก ได้หลายอย่าง อาจจะหมายถึงประตู เข้าเมืองเยาวราช
หรือไชน่าทาวน์ ก็ได้ อาจจะหมายถึง ที่รวมจิตใจ วัฒนธรรมจีน ของคนจีนโพ้นทะเล และลูกหลานชาวจีน
ที่ถือกำเนิดขึ้นมา ในถิ่นเยาวราช และที่สำคัญที่สุดชาวจีน และลูกหลานจีนทุกๆคน รำลึกถึงประตูวัฒนธรรมแห่งนี้
ว่าสร้างขึ้นมาถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระชนมายุ ครบ 72 พรรษา
ถนนเยาวราช แม้จะมีความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร แต่ก็มีชื่อเรียกย่านต่างๆ ที่ตั้งอยู่บนถนนสายนี้ถี่ๆกัน
หลายชื่อ ถ้าใครนานๆ มีโอกาสผ่านมาที หากเอ่ยชื่อย่านต่างๆ ขึ้นมาให้ฟัง คงงงพอสมควร ว่าย่านไหน อยู่ตรงไหน
เริ่มตั้งแต่ โอเดียน, วัดไตรมิตร, เฉลิมบุรี,เจ็ดชั้น, เมืองทอง, เท็กซัส, เทียนกัวเทียน, แปลงนาม, เล่าตะลัก, เล่งป้วงเอี๊ย,
ซิงตะลัก, คาเธ่ย์, โต๊ะกังราชวงศ์, แมวดำ, ม้าเก็งเอ๋า, ทรงสมัย, วัดตึก, เวิ้งนาครเขษม, ตลาดปีระกา, สะพานเหล็ก,
วังบูรพา, ต่อไป”โกตี่” พาไปชิมอาหารแถวเยาวราช ก็จะขอเรียกชื่อย่านตามนี้ เพื่ออนุรักษ์ชื่อเดิมไว้ ขอบเขตพื้นที่
แนะนำร้านอร่อยของ”โกตี่”คงขยายกว้างออกไป ถึงย่านถนนเจริญกรุง อันเป็นถนนสายหลัก ที่วิ่งขนานกับ ถนนเยาวราช
นอกจากนั้น ก็จะขยายขอบเขต กับย่านที่ต่อเนื่อง กับถนนเยาวราช อาทิ ถนนทรงวาด ถนนราชวงศ์ ถนนพลับพลาไชย
ฯลฯ เป็นต้น แต่ทั้งนี้จะมีแผนที่ กำหนดจุดให้ทุกครั้ง เพื่อความสะดวก ของนักชิมทั้งหลาย

โดย: จ้อ [IP: 194.82.103.148,129.234.55.145, 129.234.4.1,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 10 ก.ค. 2545 - 05:15:57

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 3

สงสัยคุณโกตี่จะจำผิด
ถนนเยาวราช ตัดเมื่อพ.ศ. ๒๔๓๕ ในรัชกาลที่ ๕ ค่ะ ส่วนถนนเจริญกรุงมีมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ แล้ว เช่นเดียวกับบำรุงเมืองและเฟื่องนคร
ดิฉันไม่แน่ใจนะคะ แค่สงสัยว่าชื่อถนนเยาวราชอาจจะมาจากการเฉลิมพระยศสยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกในรัชกาลที่ ๕ คือสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ

โดย: เทาชมพู [IP: 203.151.123.52,,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 10 ก.ค. 2545 - 08:28:18

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 4

ขอบคุณทุกท่านครับ

ผมจำได้จริงๆ เช่นกัน ว่า ถนนเจริญกรุงนั้นเป็นถนนสมัยใหม่สายแรกของกรุงเทพฯ ก่อนหน้านั้นไม่มีถนนที่หน้าตาเป็นทางรถเดินในกรุงเทพฯ เลย (ทางเกวียนทางคนเดิน ไม่นับ) ดังนั้นถนนเยาวราชจะตัดก่อนถนนเจริญกรุงนั้นเป็นไปไม่ได้ เว้นแต่คุณโกตี่จะหมายถึงถนนเจริญกรุงส่วนที่ตัดใหม่ต่อออกไปจากถนนเจริญกรุงเดิม ซึ่งอาจจะตัดทีหลังตัดถนนเยาวราชแล้วได้

ถ้าเป็นไปตามที่คุณเทาชมพูกรุณาค้นมาให้ ว่าถนนเยาวราชตัดสมัยต้น ร. 5 ก็น่าเชื่อครับว่าชื่อ "เยาวราช" นั้นเป็นการตั้งชื่อเฉลิมพระเกียรติยศพระยุพราชหรือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชองค์แรกของกรุงเทพฯ คือสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ จริงๆ

"ราชวงศ์" ล่ะครับ ใครพอทราบบ้างว่ามายังไง

อ่านกระทู้นี้แล้วหิว ใครอยู่กรุงเทพฯ ช่วยไปกินของอร่อยแถวเยาวราช ราชวงศ์ แทนผมทีเถิด

โดย: นิลกังขา [IP: 156.106.223.98,,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 10 ก.ค. 2545 - 19:35:34

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 5

ผมมีข้อสังเกตบางอย่างในชื่อย่านที่คุณโกตี่จำได้ ว่า เล่าตะลัก น่าจะแปลว่า ตลาดเก่า ซิงตะลัก น่าจะแปลว่า ตลาดใหม่ เล่า กับ ซิง เป็นภาษาจีน (แต้จิ๋ว) แต่ตะลัก หรือตั๊กลัก นั้นเป็นภาษาไทยที่คนจีนในไทยยืมเอาไปใช้เรียกตลาด (คำจีนแท้ๆ เรียกตลาด มีเป็นอีกคำหนึ่ง) ตะลักคำนี้ เอาไปพูดให้คนจีนนอกเมืองไทยฟังเขาก็จะไม่รู้เรื่อง เพราะที่จริงแล้วมันเป็นภาษาไทยนี่ครับ

โดย: นิลกังขา [IP: 156.106.223.98,,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 10 ก.ค. 2545 - 19:41:39

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 6

ตอนที่เขาปิดถนนเยาวราช ฉลองตรุษจีนกันก็ไปลุยมาเหมือนกันค่ะ
มีของกินสองข้างทางกินกันไม่หวัดไม่ไหว ชนิดที่ว่าถ้าแวะทุกเจ้า ชิมเจ้าละคำ ก็คงจะติดอยู่ที่เยาวราชทั้งคืน ไม่ถึงปลายถนน
หลังจากกินอาหารหลักแล้วก็ไปตบท้ายที่กาแฟเจ้าเก่าแก่ มีขนมปังสังขยาให้กินกับกาแฟ อร่อยมาก ร้านเขาทำคลาสสิก มีภาพวาดบนผนังสะท้อนชีวิตกรุงเทพในอดีตเสียด้วย

ที่มาของคำว่าราชวงศ์ ยังไม่เจอค่ะ แต่พอนึกถึงที่นี่แล้วนึกถึงบะหมี่ราชวงศ์ ตอนนี้ย้ายขึ้นห้างไปเสียแล้ว
คุณนกข.จะฟังประวัติถนนสายอื่นแก้ขัดไปก่อนไหมล่ะคะ อย่างถนนดินสอ พอจะเล่าให้ฟังได้

โดย: เทาชมพู [IP: 203.151.123.26,,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 11 ก.ค. 2545 - 09:42:56

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 7

เคยได้ยินมาแต่ว่าริมฝั่งเจ้าพระยาด้านฝั่งธนฯ มีวังเจ้านายตั้งอยู่ตรงข้ามท่าน้ำราชวงศ์ เวลาไปจะข้ามมาฝั่งพระนครจึงบอกว่าไปท่าราชวงศ์ แต่ก็เล่ากันมาอีกว่าในการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ การขยายตัวของเมือง โดยเฉพาะชุมชนชาวจีนย้ายออกมาตั้งในบริเวณสำเพ็ง เยาวราช ก็ด้วยหลายเหตุผลด้วยกัน อาจจะด้วยต้องการพื้นที่เดิมไปสร้างเมือง ทางด้านทำเลริมน้ำ ก็สะดวกกับการขนส่งสินค้าทางน้ำก็เป็นเหตุผลหนึ่ง จะเห็นว่าถนนทรงวาดที่เชื่อมต่อถนนราชวงศ์ เป็นต้นกำเนิดธุรกิจ ค้าข้าวที่สำคัญ

ในสมัยก่อน (ไม่น่าจะเกิน 50 ปี) สินค้าเกษตรจากลุ่มเจ้าพระยาขนมาขายที่นี่ทั้งนั้น ถ้าย้อนไปอีกหน่อย เขาก็เล่ากันอีกว่า ในสมัยโน้น ทางการห้ามเรือขนาดใหญ่ จอดเลยเข้ามาเกินแถบวัดเลียบ( การไฟฟ้าวัดเลียบ ใกล้สะพานพุทธในปัจจุบัน) เพราะจะไม่ปลอดภัยต่อวังหลวง ย่านการค้า เลยไปเจริญ เอาแถบที่เป็นที่ดอนเลยไปแถบก่อนถึงทางปากแม่น้ำ (แถบ บางรัก สีลม โรงแรมริมน้ำอย่างโอเรียลเต็ล ) แต่แถบปากแม่น้ำเลยก็ไม่เหมาะ เพราเป็นดินตะกอนใหม่ (ช่วงที่ปัจจุบันกลายเป็นคอนโดสวยๆริมน้ำ แต่ยังมีสภาพความเป็นโกดังสินค้าเก่าเหลืออยู่บ้าง ในแถบค่อนไปทางสะพานแขวน ถ้าผ่านไปจะยังพอเห็น ) ซึ่งมีทั้งย่านฝรั่งและย่านคนจีน ต่อเนื่องกันมาตามริมน้ำเจ้าพระยา แถวๆสีลมนั้นก็เนื่องจากฝรั่งมาตั้งโรงสีลม จึงเรียกว่าถนนสีลม

ในปัจจุบันจะเห็นคานเรือยังเหลืออยู่ แต่เทคโนโลยีก็พัฒนาไปไกล สามารถซ่อมเรือในน้ำได้โดยไม่ต้องยกขึ้นบกหรือขึ้นคานแล้ว เรียกว่า ดำน้ำลงไปเชื่อมรอยรั่วกันเลย หรือไม่ก็ใช้วิธีสูบน้ำออกชั่วคราว

แล้วก็ได้ยินเขาเล่ากันอีกว่าในสมัยก่อนโน้น ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ครั้งเริ่มสร้างถนน นั้นใช้เงินพระคลังข้างที่ส่วนหนึ่งกับเงินปี้จีนที่ชาวจีนต้องเสียภาษี ดังเช่น " ประกาศเงินปี้จีนปีชวดทำถนน"
เมื่อไม่นานมานี้เพิ่ง ได้อ่านหนังสือ ของกรมศิลปาการ แปลมาจากฝรั่งที่เข้ามาเที่ยวเมืองไทยสมัย รัชกาลที่ 5 อ่านแล้ว ได้เห็นมุมมองอื่นๆ ที่แปลกออกไป

โดย: ฝอยฝน [IP: 203.144.143.254,202.133.169.140,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 11 ก.ค. 2545 - 09:49:59

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 8

แถมซะหน่อย สะพานพุทธฯนั้น คนจีนแต้จิ๋วจะเรียกว่าซิงเกี๊ย(จริงๆแล้วออกเสียงว่า กี-อ๊อ แบบอ่านติดกันเร็วๆน่ะครับ) แปลว่าสะพานใหม่ จนเดี๋ยวนี้ก็ยังเรียกอย่างนี้อยู่ครับ ถึงแม้ว่าจะกลายเป็นสะพานเก่ามากๆๆๆไปแล้ว

โดย: CrazyHOrse [IP: 210.203.184.222,,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 11 ก.ค. 2545 - 10:18:49

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 9

ถ้าเอ่ยถึงเยาวราช สำหรับแม่หญิง คือ แหล่งของกินอร่อย ๆ
และ ถ้าจับไปปล่อยไว้กลางเยาวราช แม่หญิงจะกลับบ้านไม่ถูกเลยค่ะ

โดย: เรไร [IP: 203.170.232.68,172.29.68.183,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 12 ก.ค. 2545 - 08:41:30

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 10

ทราบแต่ว่าชุมชนชาวจีนแห่งแรกอยู่ที่บริเวณพระบรมมหาราชวังในปัจจุบัน เพราะเป็นบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาสะดวกกับการติดต่อค้าขายทางเรือสำเภา คนจีนก็เลยอยู่กันริมฝั่งทางฟากกรุงเทพ
ส่วนขุนนางไทยอยู่ทางฝั่งธนบุรีซึ่งเป็นเมืองหลวง ก่อนบางส่วนจะย้ายมาอยู่ทางฝั่งกรุงเทพ โดยเฉพาะขุนนางวังหน้า แต่ส่วนใหญ่จะยังอยู่ทางฝั่งธนตลอดรัชกาลที่ ๑

พอสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงย้ายเมืองมาทางฝั่งกรุงเทพ ก็โปรดฯให้ย้ายชุมชนชาวจีนไปอยู่ที่สำเพ็ง แถววัดสามปลื้ม มีคลองขุดจากแม่น้ำเป็นทางคมนาคมได้สะดวก แต่ไม่มีการพูดถึงบริเวณแถวเยาวราช เพราะยังไม่เกิดค่ะ

ในรัชกาลที่ ๑-๓ ไม่มีถนน คนไทยใช้คลองแทนถนน
ในรัชกาลที่ ๔ เริ่มมีถนนขึ้นมา ๓ สาย
ในรัชกาลที่ ๕ ถึงมีการตัดถนนตามแบบยุโรป แทนที่จะขุดคลองอย่างเมื่อก่อน
ถนนอย่างที่เรารู้จักส่วนใหญ่จะตัดในรัชกาลที่ ๕ ขอให้นับจากพระบรมมหาราชวังเป็นหลัก เพราะศูนย์รวมของเมืองอยู่ตรงนั้น
ถนนสายเก่าๆของไทยจะเริ่มตัดจากบริเวณนั้นแล้วค่อยๆขยายเพิ่มไปสู่รอบนอกขึ้นทุกทีค่ะ

มาเล่าถึงถนนดินสอดีกว่า ไหนๆก็ไปค้นมาแล้ว
ใครที่รู้จักร.ร.สตรีวิทยา คงรู้จักถนนดินสอ เพราะถนนสายนี้ผ่านหน้าโรงเรียนพอดี
แล้วตัดข้ามถนนราชดำเนิน มุ่งไปสู่เสาชิงช้า หมดแค่นั้น

ถนนดินสอมีขึ้นในรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๔๒ เข้าใจว่ามีไล่เลี่ยกับถนนราชดำเนิน

ชื่อถนนดินสอ สันนิษฐานว่าย่านนี้เดิมเป็นตรอกมาก่อน พอตัดเป็นถนน เลยได้ชื่อถนนตามนั้น
เพราะตอนแรกๆถนนชื่อว่า ถนนตรอกดินสอ

ดินสอที่ว่านี้ไม่ใช่ดินสอชนิดแท่งๆ สีสวยๆ เขียนก.ไก่ ข.ไข่ อย่างสมัยนี้ แต่เป็นดินชนิดหนึ่ง ทำจากดินดานผสมดินสอพอง และขมิ้นผง นวดจนเข้ากันดีแล้วคลึงเป็นแท่ง ตากแห้งจนแข็ง ใช้เขียนตัวหนังสือบนสมุดไทยสีดำ

ดินพวกนี้กินกับหมากก็ได้ค่ะ ไม่มีอันตราย แม่พลอยตอนแพ้ท้องแรก ก็อยากกิน"ดินสอ" คือดินชนิดนี้ละ ซื้อมาก็นั่งกินทั้งวันทั้งคืนอย่างเอร็ดอร่อย

เสฐียรโกเศศเล่าไว้ใน"ฟื้นความหลัง" ว่า แถวนี้มีร้านขายดินสออยู่หลายร้าน สันนิษฐานว่าพอตัดถนนก็เลยได้ชื่อถนนตามสินค้าที่มีมาแต่เดิม

โดย: เทาชมพู [IP: 202.183.182.86,,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 12 ก.ค. 2545 - 11:26:04

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 11

ขอบคุณครับ
ทำให้นึกถึงถนนตีทอง แถวนั้นแต่ก่อนคงจะมีช่างทองตีทองใบอยู่แยะ หรือตำบลบ้านบาตร บ้านดอกไม้ก็คงเหมือนกัน

โดย: นิลกังขา [IP: 156.106.223.98,,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 12 ก.ค. 2545 - 17:33:54

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 12

วันไหนไปเยาวราชด้วยกันสักวันไหมครับ แม่หญิง?

ถ้าไปแล้วกลับบ้านไม่ถูกเราก็ไปเที่ยวกันต่อที่อื่นสิครับ ง่ายออก ผมว่าถ้าผมมีวาสนาได้ไปเที่ยวที่ไหนกับแม่หญิง วันนั้นผมก็คงสติลอย ใจลอยออกนอกอก กลับบ้านตัวเองหรือกลับบ้านแม่หญิงไม่ถูกเหมือนกัน

...คุณว่าที่พ่อตาอาจจะต้องเตือนสติด้วยไม้ตะพดก็ได้ แฮ่ะๆ ถ้าโดนเข้ายังงั้นละก็รับรองความจำแม่น สติกลับมาอยู่กะตัว เอาแม่หญิงมาส่งบ้านได้ตรงเวลาแน่ครับ

โดย: นิลกังขา [IP: 156.106.223.98,,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 13 ก.ค. 2545 - 02:54:01

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 13

อืม มาอ่านตำนานถนน อยู่ดี ๆ เอ๊ะตอนท้ายมันยังไง ผมชักงง ๆ แต่ว่าแม่หญิงดูสิครับ บอกว่าดีใจได้ไปเที่ยวกับแม่หญิง แต่ใจลอยไปไหนไม่รู้ มันยังไงกันเนี่ย
ผมล่ะเสียดายที่กรุงเทพฯ เราถม คลองซะเกือบหมด
จริง ๆ ผมว่านั่งเรือเนี่ยสบายกว่านั่งรถพอควรนะครับ
สมัยเรียนหนังสือ ผมนั่งเรือหางยาวจากคลองแถวบ้าง (คลองบางหลวง) ไปขึ้นที่ท่าสะพานพุทธแล้วก็เดินไปโรงเรียน เรียกว่าสบายดีมากเลยตอนนั้น

โดย: คุณพระนาย [IP: 129.138.15.216,,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 13 ก.ค. 2545 - 05:39:54

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 14

อุ๊ย ..เพิ่งจำได้ว่าแถวเยาราชมี " ขนมจีบ ซาละเปา "อร่อยหลายเจ้า
ว่าจะชวนไปกิน แต่มาเจอหาบขนมจีบเจ้าเก่าเด็ดกว่าเยอะ

งั้นหักพวงมาลัยเลี้ยวไปราชเทวีดีกว่าค่ะ สี่แยกราชเทวีในปัจจุบัน 40-50 ปีก่อน ท่านว่าเป็นสะพานข้ามคลอง ชื่อ สะพานพระราชเทวี ไม่ใช่สะพานข้ามสี่แยกแบบวันนี้นะคะ

ชื่อสะพานมีที่มาเป็นอนุสรณ์แห่ง พระนางเจ้าสุขุมาลย์มารศรี พระราชเทวี

โดย: ฝอยฝน [IP: 203.144.143.254,202.133.169.229,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 13 ก.ค. 2545 - 07:33:32

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 15

สะพานราชเทวีนี่ใกล้ๆซอยกิ่งเพชรกับโรงแรมเอเชียใช่หรือปล่าวครับ
จำได้ว่าแถวนั้นอาหารอร่อยสุดๆเหมือนกัน

โดย: จ้อ [IP: 194.82.103.154,129.234.55.145, 129.234.4.10,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 13 ก.ค. 2545 - 07:39:21

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 16

คุณจ้อมีเมนูอาหารร้านอร่อยๆจะแนะนำไหมคะ
หรือคุณจ้อกลับมาเมื่อไหร่ ให้คุณจ้อพาไปดีมั๊ยคะ

โดย: ฝอยฝน [IP: 203.144.143.254,202.133.169.229,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 13 ก.ค. 2545 - 07:59:24

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 17

อุ๊ย ลืมตอบค่ะ ใช่ค่ะ สะพานนั้นแหละค่ะ

โดย: ฝอยฝน [IP: 203.144.143.254,202.133.169.229,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 13 ก.ค. 2545 - 08:09:05

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 18

คำว่าบ้าน ประกอบตำบลที่อยู่ มีความหมายว่า แหล่ง หรือย่านที่มีอาชีพ หรือสินค้านั้นๆอยู่ค่ะ
อย่างบ้านบาตร เคยเป็นแหล่งช่างทำบาตรพระ ภาษาช่างเรียกว่าตีบาตร เพราะวิธีทำต้องตีเหล็กเพื่อทำเป็นรูปบาตร

มีหลายแห่งในกรุงเทพ ที่มีชื่อแปลกๆ ชวนให้ค้นหาที่มาของชื่อ
อย่างสะพานหัน ติดกับสำเพ็ง
ที่ชื่ออย่างนี้เพราะในสมัยรัชกาลที่ ๑ มีสะพานข้ามคลองแบบหันได้จริงๆ เพื่อให้เรือผ่านได้สะดวก แต่หักพังไปในรัชกาลที่ ๒ สะพานสร้างใหม่เป็นสะพานข้ามธรรมดา แต่คนยังเรียกว่าสะพานหันเหมือนชื่อเดิม
ว่ากันว่าสะพานหันมีอีก ๒ แห่งในอิตาลี คือเวนิศกับฟลอเรนซ์ ใครเคยเห็นบ้างคะ

โดย: เทาชมพู [IP: 203.151.123.10,,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 13 ก.ค. 2545 - 09:53:51

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 19

ขอข้ามจากถนนสายเก่าแก่ในกรุงเทพมาถึงริมคลองแสนแสบ
เคยได้ยินชื่อชุมชนบ้านครัวไหมคะ จะเล่าถึงที่มาของชื่อนี้

ตอนเช้าตรู่ ถ้าดิฉันเปิดประตูด้านระเบียง จะได้ยินเสียงสวดทำพิธีกรรมทางศาสนาของชาวบ้านครัวอีกฟากหนึ่งของคลองแสนแสบ ลอยลมเข้ามาในห้อง

หลายปีก่อนมีข่าวว่าทางด่วนจะตัดผ่านบ้านครัว ชาวบ้านชุมนุมประท้วง ให้สัมภาษณ์ว่าพวกเขาอยู่มาตั้งแต่รัชกาลที่ ๓
ต่อมาทางการก็ไม่ได้ตัดทางด่วน ชาวบ้านครัวก็อยู่กันอย่างสงบตามเดิม

คำว่า บ้านครัวไม่เกี่ยวอะไรกับห้องครัว อย่างที่หนูมะหมี่นั่งขูดมะพร้าวจนโด่งดังในเรื่องแม่เบี้ย
แต่มาจากคำว่าแขกครัว หมายถึงแขกจาม
ที่มีถิ่นฐานอยู่ในเขมร นับถือศาสนาอิสลาม
ถูกกวาดต้อนมาตั้งถิ่นฐานในไทยตอนเราไปรบกับเขมร พอชนะก็กวาดต้อนชาวเขมรมา รวมพวกจามด้วย

ในรัชกาลที่ ๑ เมื่อทำศึกกับพม่า ไทยเรามีทหารจามเป็นกำลังรบอยู่ในกองทัพไทย เรียกว่า ทหารอาสาจาม พวกนี้มีความดีความชอบได้พระราชทานที่ดินนอกเมืองริมคลองมหานาคไปจนถึงวัดบรมนิวาส ให้อยู่อาศัยกัน
พอพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงให้ขุดคลองแสนแสบต่อจากคลองมหานาค ชาวจามก็ขยายถิ่นที่อยู่ มาถึงริมคลองแสนแสบ
แล้วอยู่มาจนทุกวันนี้

โดย: เทาชมพู [IP: 203.151.123.49,,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 14 ก.ค. 2545 - 10:04:58

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 20

ชุมชนชาวจามในสยามนั้น มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาครับ กวาดต้อนมาตั้งแต่ครั้งไทยตีเขมร ชาวจามในอยุธยาตั้งเป็นกองอาสาช่วยรบมาตลอด จนคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 ก็ยังช่วยรบ จนเมื่อกรุงแตก พระเจ้าตากทรงสถาปนากรุงธนบุรีฯชาวจามก็ตามมาสวามิภักดิ์ และยังจัดตั้งเป็นกองอาสาต่อเนื่องมาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ ชาวจามที่มาเติมในบ้านครัวนั้นมีทั้งชาวจามจากกรุงเก่าและที่อพยพมาจากเขมรเพิ่มเติมเมื่อครั้งตีเขมรในช่วงกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ด้วยครับ ทุกวันนี้ยังมีคนพูดภาษาจามอยู่ในชุมชนบ้านครัวเหมือนบรรพบุรุษของเขา แต่ก็คงเหลือน้อยมากแล้ว เช่นเดียวกับสิ่งดีๆที่พวกเขาเคยทำไว้ในการร่วมก่อร่างสร้างเมือง และคนกำลังลืมไป จนมองเขาเป็นแค่ส่วนเกินนั่นแหละครับ

โดย: CrazyHOrse [IP: 210.203.183.47,,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 15 ก.ค. 2545 - 11:14:58

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 21

ขอบคุณทุกท่านครับ

สะพานหันนั้น แต่ก่อนหันได้จริงๆ แต่ตอนนี้ติดตรึงตายกับฝั่งคลองสองข้างแล้ว ไม่หันแล้ว คล้ายกับอีกสะพาน คือ สะพานหก ไม่ได้แปลว่า 6 แต่แปลว่า หกเหียนหัน ทำนองหกคะเมนตีลังกา สะพานหก เป็นสะพานข้ามคลอง อยู่แถวหลังที่ทำงานเก่าผมที่วังสราญรมย์ แต่ก่อนก็ชักขึ้นหมุนได้จริงเหมือนกัน (ดูเหมือนเห็นประวัติอว่าเอาแบบมาจากฮอลแลนด์) ต่อมากลายเป็นสะพานธรรมดา แต่หลังสุดสมัยฉลองกรุงเทพฯ 200 ปี หรือยังไงนี่ มีการรื้อสร้างสะพานหกใหม่ กลับไปคงรูปเป็นแบบสะพานหกได้อย่างเดิม และมีประวัติเขียนจารึกไว้ด้วย แต่จะหกได้จริงหรือไม่ก็ไม่ทราบครับ

กลับเข้าเรื่องกระทู้ เป็นอันว่าได้ต้นตอชื่อ "เยาวราช" แล้ว ราชวงศ์ล่ะครับ มาแต่ไหน แถวนั้นทั้งหมดขึ้นอยู่ในเขตสัมพันธวงศ์ ซึ่งฟังแต่เสียงชื่อ เหมือนกับว่าจะไปเกี่ยวกับชื่อสามัญ คือ สำเพ็ง -สัมพันธวงศ์ แต่ถ้าฟังเอาความหมายก็แปลได้อีก ถ้าเราจะแปล ว่าพระญาติพระเจ้าแผ่นดิน ก็พอได้ (มีเจ้านายดำรงพระยศเป็น พระสัมพันธวงศ์เธอพระองค์โน้นพระองค์นี้หลายพระองค์ในสมัย ร.5) น่าแปลกดีเหมือนกันครับว่ามีชื่อเยาวราช มีราชวงศ์ แล้วยังมีสัมพันธวงศ์อีกด้วย ถ้าจะว่าเคยมีวังเจ้านายแถวนั้น เท่าที่ความรู้เท่าหางของหางอึ่งหางด้วนของผมจะรู้ก็นึกออกแค่วังเดียว คือวังบูรพา ซึ่งออกจะเลยออกไปริมย่านเยาวราชแล้ว

ไม่ทราบว่าสำเพ็ง แปลว่าอะไรในภาษาจีนครับ 3....อะไรสักอย่าง?

นอกจากบ้าน (แขก) ครัว เรายังมีตำบลชื่อบ้านแขกด้วย

โดย: นิลกังขา [IP: 156.106.223.98,,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 15 ก.ค. 2545 - 19:00:34

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 22

เมื่อวันหยุดที่ผ่านมา มีงานต้องไปเก็บข้อมูลแถบฝั่งธนฯ มีโอกาสผ่านไปแถบ ท่าดินแดง ฝั่งตรงข้ามท่าน้ำราชวงศ์ เดี๋ยวนี้คงจะเปลี่ยนไปหมดแล้ว แต่คุยกับเพื่อนร่วมงาน ได้ความว่าในสมัยหนึ่งคนจีนที่ทำงานแถวราชวงศ์จะข้ามมานอนแถวท่าดินแดงนี่ และได้อ่านหนังสือพบว่าทางฝั่งนี้ก็จะมีย่านที่เรียกว่า กงสี หมายถึง คนจีนที่เพิ่งมาอพยพมาจากเมืองจีน จะมาอยู่รวมกันพักที่นี่ กินอยู่ร่วมกันแบบญาติ พอทำงานไถ่ค่าตัวค่าเรือแล้วถึงจะย้ายไปอยู่ที่อื่น

แต่ที่แน่ๆแถวนี้ของกินอร่อยมากค่ะ มีก๋วยเตี่ยวลูกชิ้นปลา ที่มีลูกชิ้นกุ้งทอดแสนอร่อยกับหนังปลากรอบเพิ่มมาด้วย แถมยังมีหมูสะเต๊ะอีกด้วย เพื่อนร่วมทางบอกว่าถ้ามาเช้ากว่านี้ จะมีโจ๊กเจ้าเด็ด พร้อมปาทั่งโก๋

ทีนี้ข้ามวกกลับไป ฝั่งกรุงเทพฯ ก็ได้ค่ะ ....
ท่านพระยาอนุมานราชธน ท่านเล่าไว้ว่า วัดเกาะ มีชื่อทางราชการว่า วัดสัมพันธ์วงศ์ เดิมชื่อวัดเกาะแก้วลังการาม กรมหลวงพิทักษ์มนตรี เป็นผู้ปฎิสังขรณ์ ในรัชกาลที่ 4 พระราชทานนามใหม่ เป็น วัดสัมพันธวงศาราม กรมหลวงพิทักษ์มนตรี เป็นโอรสของ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระศรีสุดารักษ์ มีคำนำหน้าเฉลิมพระอิสริยยศ เมื่อภายหลังว่า สมเด็จพระสัมพันธ์วงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี เหตุนี้วัดเกาะจึง ได้นามว่า วัดสัมพันธ์วงศ์
เขตสัมพันธวงส์ก็คงมาจากพระนามนี้

โดย: ฝอยฝน [IP: 203.144.143.254,202.133.169.70,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 15 ก.ค. 2545 - 21:07:38

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 23

สำเพ็งคนจีนแต้จิ๋วเรียกซำเผ่ง
น่าแปลกที่ผมสงสัยว่ามันไม่ใช่ภาษาจีนนะ ถึงจะฟังคล้ายก็เถอะ
ไม่รู้ภาษาอะไร เจอญาติผู้ใหญ่ต้องลองถามดู

โดย: CrazyHOrse [IP: 210.203.182.101,,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 16 ก.ค. 2545 - 11:04:35

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 24

มายืนยันคำตอบของคุณฝอยฝนค่ะ

ส่วน "สำเพ็ง" ถือเป็นคำหนึ่งที่ช่วยให้นักภาษาไทยและนักประวัติศาสตร์มีงานทำมา ๒๐๐ ปีแล้ว
คือตั้งแต่เริ่มตั้งกรุงเทพ มาจนบัดนี้ก็ยังไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร ต้องค้นคว้ากันไปเรื่อยๆ
บางคนบอกว่าเพี้ยนมาจาก "สามแพร่ง"
ขุนวิจิตรมาตราหรือกาญจนาคพันธุ์บอกว่ามาจาก "สามปลื้ม" ที่คนจีนออกเสียงเป็นสำเพ็ง
อาจารย์สมบัติ พลายน้อย หยิบเอานิราศเมืองแกลงของสุนทรภู่มาวิเคราะห์ว่า
" ถึงสำเพ็งเก๋งตั้งริมฝั่งน้ำ
แพประจำจอดเรียงเคียงขนาน"
สำเพ็งเก๋ง น่าจะเป็นชื่อเก๋งประเภทหนึ่ง

แต่ดิฉันไม่แน่ใจ เพราะอาจแยกออกมาได้ความว่า
ถึงสำเพ็ง...ก็คือละแวกสำเพ็ง
เก๋งตั้งริมฝั่งน้ำ....เป็นอีกความหนึ่ง
หมายความเพียงว่าถึงย่านสำเพ็งก็เห็นเก๋งจีนตั้งอยู่ริมแม่น้ำ
ใครรู้ภาษาจีนช่วยบอกหน่อยค่ะว่าเก๋งสำเพ็งมีหรือเปล่า

โดย: เทาชมพู [IP: 203.151.123.42,,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 16 ก.ค. 2545 - 12:02:22

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 25

ขออภัยที่พักนี้ผมจะอ้างเจ้าคุณอนุมานราชธน หรือเสฐียรโกเศศ บ่อยหน่อย เพราะตอนนี้ที่นี่เผอิญมีหนังสืออยู่

ท่านเจ้าคุณมีจดหมายกราบทูลสมเด็จฯ ครู คือสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ว่า เคยถามคนจีนเรื่องสำเพ็ง คนจีนบอกว่าคือ สันติ 3 ประการ สำ- 3 ส่วน -เพ็ง นั้นแต้จิ๋วเป็นเผ่ง และว่าแปลว่าสันติ แต่ไล่ถามต่อว่าแล้วสันติสามประการมีอะไรบ้างก็ตอบไม่ได้ ท่านเจ้าคุณสงสัยว่าเดิมจะไม่ได้แปลว่ายังงั้นจริงแต่เป็นเสียงคำอื่น

ถ้าสำเพ็งคือซำเผ่ง จีนกลางก็คือ ซานผิง และผมนึกว่าผิง ผิงอัน เหอผิง ในภาษาจีนแปลว่าสันติก็ได้อย่างที่มีคนเรียนท่านเจ้าคุณอนุมานฯ ชื่อเมืองหลวงจีนเดิมว่าเป่ยผิงสมัยก่อนสงครามโลกครั้งแรก (ไทยสมัยนั้นเรียกว่า กรุงไปปิง) ก็แปลว่าสันติภาพทางเหนือ ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็นเป่ยจิงหรือมหานครทางเหนือ อันเป็นชื่อกรุงปักกิ่งเดี๋ยวนี้ แต่ผิงดูเหมือนจะแปลว่าสงบราบเรียบ ราบคาบ ก็ได้ ความหมายยังไม่ไกลจากสันติภาพนัก แล้วก็ดูเหมือนผิงจะแปล ในทางภูมิศาสตร์ ว่าที่ราบก็ได้ด้วย
ถ้ายังงั้นซานผิงจะเป็นทุ่งราบสามทุ่ง ไหวไหมครับ?

แต่ทั้งหมดนี้เป็นเดา บางทีสำเพ็งอาจจะเป็นภาษาไทยก็ได้ (เช่นคำว่า สามแพร่ง) ที่คนจีนพยายามถอดเสียงเป็นภาษาเขา แล้วไทยถอดกลับมาอีกที เป็นสำเพ็ง เลยความหมายเดิมเลยหายไป

วัดเกาะ ใช่วัดเดียวกับที่เคยมีโรงพิมพ์หนังสือ จักรๆ วงศ์ๆ ขายสมัยสัก 100 ปีมาแล้วหรือเปล่าครับ "เล่มสลึงพึงรู้ท่านผู้ซื้อ แบบหนังสือวัดเกาะเพราะนักหนา ราษฎร์เจริญโรงพิมพ์ริมมรคา เชิญท่านมาเลือกซื้อดูคงรู้ดี..."

โดย: นิลกังขา [IP: 156.106.223.98,,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 16 ก.ค. 2545 - 17:49:10

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 26

ในหนังสือ องค์ประกอบทางกายภาพของกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำขึ้น แบ่งการศึกษาออกเป็นหลายสมัย

ได้กล่าวถึงถนนสามเพ็ง ว่ามีขึ้นตั้งแต่ ช่วงสมัย รัชกาลที่ 1-3 แต่ถนในสมัยนั้นเป็นแค่แนวทางเดินเล็กๆ
และได้กล่าวว่า ถนนเยาวราช หรือถนน ยุพราช สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นถนนที่สร้างเคียงมากับถนนสามเพ็งเดิม แต่ถนนเดิมขยายลำบาก ถนนยุพราชช่วงแรก เริ่มต้รที่ถนนมหาไชยหน้าวังบูรพา ไปสิ้นสุดที่ถนนราชวงศ์
และยังเล่าถึง สะพานแบบใหม่ที่สร้างตามรูปแบบตะวันตก ในสมัย รัชกาลที่ 4-5 มี สะพานหก สะพานหัน และสะพานโครงเหล็กรูปโค้ง
สะพานหก มีดังนี้
สะพานหกหน้ากระทรวงมหาดไทย ข้ามคูเมืองเดิม
สะพานหกหลังกระทรวงกลาโหม ข้ามคูเมืองเดิม
สะพานหก ริมวังพระองค์เจ้าสายปัญญา
สะพานหกข้ามคลองบางกอกใหญ่
สะพานข้ามคลองมอญ

ขอกลับไปท่าน้ำราชวงศ์ หน่อยค่ะ คิดถึงในหนังสือสมัยก่อน เวลาเดินางไปหัวเมืองชายทะเล เป็นต้องไปขึ้นเรือที่ท่าราชวงศ์ นึกถึงปริศนา ของท่านชายพจน์ ตอนไปรับ-ส่งแม่และพี่สาวที่ท่าน้ำราชวงศ์นะคะ


โดย: ฝอยฝน [IP: 203.144.143.254,202.133.169.18,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 16 ก.ค. 2545 - 18:50:46

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 27

สะพานหกใกล้ที่ทำงานเก่าผม ที่ว่าสร้างใหม่เป็นรูปสะพานหกตามเดิม นั้น น่าจะเป็นสะพานหกหน้ากระทรวงมหาดไทยข้ามคลองคูเมืองเดิมครับ ส่วนสะพานข้ามคูเมืองหลังกระทรวงกลาโหม เข้าใจว่า ตอนนี้กลายเป็นสะพานคนเดินธรรมดาไปแล้วครับ หกไม่ได้แล้ว

นึกเล่นๆ สำเพ็ง - 3 ผิง ถ้าคือ สามราบ จริง ก็จะไปใกล้กับเสียมราบ เสียมเรียบ (ไทยเขียนเสียมราฐ) อีกชื่อหนึ่ง นี่นึกเล่นสนุกๆ นะครับ อย่าฟังเอาเป็นหลักฐาน

นึกเล่นต่ออีก คำว่าเพื่อน แต้จิ๋วว่าเผ่งอิ้ว จีนกลางว่าเผิงโหย่ว (เผิง หนังสือคนละตัวกับผิงที่แปลว่าสงบสันติ) เพื่อนสามคนหรือสามสหาย เรียก ซำเผ่งอิ้วได้ไหม? เพราะว่าตรงแถวนั้นมีวัดเก่าชื่อเดิมชื่อ วัดสามจีน อยู่ และเดี๋ยวนี้ได้ชื่อว่า วัดไตรมิตร... แต่ข้อที่คิดเล่นข้อนี้คงจะตกไป เพราะผมเข้าใจว่าภาษาจีนเรียกสำเพ็งว่าซำเผ่ง เป็นเผ่ง สันติ ไม่ใช่เผ่งอิ้วหรือสหาย

โดย: นิลกังขา [IP: 156.106.223.98,,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 16 ก.ค. 2545 - 19:41:25

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 28

งานนี้ท่าจะยุ่งแล้วสิครับ

ตัวผิงที่แปลว่าสันตินั้น คนแต้จิ๋วออกเสียงว่าเพ้งครับ ไม่ใช่เผ่ง ถ้าจะออกเป็นเผ่งก็เป็นเพราะการผันเสียงตามตัวอื่น เช่นกับคำ อัง (อัน ในสำเนียงจีนกลาง) เพ้ง+อัง ออกเสียงว่า เผ่งอัง
กรณีซำเผ่งนั้น ไม่ใช่ตัวผิงตัวนี้แน่ๆ เพราะถ้าใช่ก็คงเรียกเป็น ซำเพ้ง ไปแล้ว

กรณีซำเผ่งอิ้ว ดูเป็นไอเดียพิสดารดีครับ แต่ก็คงไม่ใช่อีก เพราะคนจีนไม่นิยมเรียกย่อลักษณะนี้

ยิ่งไปเป็นสามปลื้มนั้น ผมยิ่งว่าไม่น่าใช่ไปกันใหญ่ เพราะลิ้น+หูคนจีนไม่น่าเพี้ยนมาออกแนวนี้ น่าจะออกไปทาง ซำป๋อลิ้ม อะไรเทือกนั้น

จนแล้วจนรอดผมก็ยังนึกไม่ออก เพราะดูแล้วคำนี้คนจีนน่าจะเรียกทับศัพท์คำว่าสำเพ็งในภาษาไทย(???)มากกว่านะครับ

จะถามแม่ดู

โดย: CrazyHOrse [IP: 210.203.182.101,,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 16 ก.ค. 2545 - 20:07:12

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 29

สะพานหันได้ที่เวนิซนี่คุ้นๆว่าจะเคยเห็น แต่ไม่แน่ใจว่าจะเป็นอันเดียวกับที่คุณเทาชมพูพูดถึงหรือเปล่า
คิดว่าอาจจะเป็นสะพานที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ทหารเรือหรืออะไรซักอย่างที่เกี่ยวกับกองทัพเรือของเวนิซ (ต้องขอไปค้นก่อน)
ส่วนที่ฟอเรนส์นี่ไม่เห็นครับ

แต่สะพานที่ทั้งเวนิซและฟอเรนส์มีเหมือนกันแน่ๆ คือสะพานที่มีร้านขายของอยู่ข้างบน
ที่เวนิซมี Rialto ส่วนที่ฟอเรนส์มีสะพาน Ponte Vecchio มีชื่อเสียงทั้งสองแห่งครับ เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว
Rialto ลองดูภาพที่เว็ปนี้ครับ
http://www.danheller.com/venice-rialto.html
ส่วน Ponte Vecchio ดูที่นี่
http://www.florence.ala.it/ing/foto/htm/pt_vecc.htm
เห็นคุณฝอยฝนบอกว่าให้ผมแน่นำร้านอาหารแถวกิ่งเพชร แนะนำพอได้ครับ แต่ผมถ้ามีคนเลี้ยงข้าวนี่ จะแนะนำได้สะดวกขึ้นครับ ฮี่ๆๆๆ

โดย: จ้อ [IP: 194.82.103.139,129.234.55.145, 129.234.4.1,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 17 ก.ค. 2545 - 05:01:37

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 30

ยินดีค่ะ ดร.จ้อ
ฝนจะพาดร. จ้อไปเลี้ยงฉลองความสำเร็จทันทีที่สะดวกนะคะ ส่วนเรื่องสะพานพรุ่งนี้ค่อยคุยนะคะ วันนี้ขอไปทำงานต่อก่อน

โดย: ฝอยฝน [IP: 203.144.143.254,202.133.169.19,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 17 ก.ค. 2545 - 05:17:57

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 31

ตืิ่นไปทำงานตั้งแต่ตีห้าเลยหรือครับ ผมอยู่ที่นี่ไม่เคยไปทำงานก่อนสิบโมงเช้าเลย
เนื่องจากว่ากว่าจะตื่นก็เที่ยงแล้ว แหะๆๆ ไม่ทราบเหมือนกันว่าเรียนจบได้ยังไง ยังงงอยู่ หึๆๆๆ

โดย: จ้อ [IP: 194.82.103.139,129.234.55.145, 129.234.4.1,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 17 ก.ค. 2545 - 05:24:17

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 32

อิ อิ ...งานไม่เสร็จ ต้องเร่งทำให้ทันวันศุกร์ แบบพอกหางหมูไงคะ นอนไม่หลับ ตื่นมาตั้งแต่ก่อน ตี 4 แล้วค่ะ

โดย: ฝอยฝน [IP: 203.144.143.254,202.133.169.19,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 17 ก.ค. 2545 - 05:31:40

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 33

ขอเข้าคลาสวิชาเดาชั่นอีกคนครับ
สำเพ็ง มีวัดชื่อวัดสำเพ็งอยู่ที่ถนนสำเพ็งใต้ ไม่รู้ว่ามีมาก่อนสร้างเมืองหลวงหรือเปล่า ในพงศาวดารบอกว่าตอนสร้างพระบรมมหาราชวัง ร.๑ โปรดให้ชาวจีนย้ายไปอยู่ท้องที่วัดสำเพ็ง
ถ้าวัดมีมาก่อน สำเพ็งก็น่าจะเป็นชื่อเฉพาะของวัด แต่จะมาจากชื่อ สามเพ็ง คือนายหรือนางเพ็งสามคนช่วยกันสร้างวัด ก็ไม่มีหลักฐาน
ผมมาคิดเอาว่าเมื่อท่านทั้งหลายที่รู้ภาษาจีนยังงงๆว่าไม่น่าจะเป็นจีน ก็อาจจะไม่ใช่จีน เรื่องเป็นภาษาแขกตัดไปได้ เสียงมันไม่น่าจะบวชมาจากบาลี ภาษาอังกฤษยิ่งอิมพอสสิเบิ้ล
งั้นผมเดาเอาดื้อๆว่าเหลือภาษาไทย สำเพ็ง อาจจะมาจาก สามเพ็ง ภาษาไทยดีๆนี่แหละ เพราะเมื่อใครสร้างวัดเขาก็มักจะตั้งชื่อไว้เป็นอนุสรณ์ คนไทยชื่อเพ็งกันถมไป แล้วชื่อกันทั้งชายหญิง ถ้าจะมีมิสเตอร์และมิสซิสเพ็ง หรือมิสเพ็งอีกซักคนช่วยกันสร้างวัด เลยชื่อสามเพ็ง นานๆหดเป็นสำเพ็งก็น่าจะเดาได้ไม่ถูกตีมือนะครับ

แถวนั้นมีวัดชื่อสามอยู่อีก ๒ คือวัดสามปลื้ม วัดสามจีนที่ต่อมาคือวัดไตรมิตร ตั้งข้อสังเกตเฉยๆครับ อาจเป็นความนิยม

ย้อนมาถึงวัดเกาะ ชื่อเดิมของวัดสัมพันธวงศ์คือวัดเกาะแก้วลังกา เรียกกันสั้นๆว่าวัดเกาะครับ มาเปลี่ยนชื่อสมัยร. ๔
เรื่องจักรๆวงศ์ๆ พิมพ์ขายในโรงพิมพ์หน้าวัดเกาะ เล่มละสลึง เมื่อ๑๐๐ปีก่อนคงแพงเหมือนกันนะ

วัดเกาะมีชื่ออยู่ในประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ว่าเป็นแหล่งที่มิชชันนารีฝรั่งสมัยรัชกาลที่ ๓ ลงจากเรือมาเผยแพร่ศาสนา ที่บ้านใกล้วัดเกาะก่อนอื่น พ.ศ. ๒๓๗๑

วัดเกาะเนี่ยอีกเหมือนกัน ไม่กี่ปีต่อมา ฝรั่งซ่าชื่อกัปตันเวลเลอร์เข้าไปยิงนกพิราบ จะยิงเล่นหรือยิงไปกินก็ไม่รู้ แต่นกตาย ผลคือถูกพระสงฆ์ไทยเข้ามารุมสกรัมซะสะบักสะบอม
และผลข้างเคียงคือมิชชันนารีซึ่งเป็นฝรั่งเหมือนกันถูกไล่ที่ จนต้องย้ายไปอยู่แถวกุฎีจีน ฝั่งธนบุรี ใกล้ร.ร.ซานตาครูสในปัจจุบัน

เผลอเล่าเรื่องวัดอีกแล้ว ทั้งที่ไม่ได้ตั้งใจเลย คุณเรไรจะหาว่าผมเป็นสมีอีกมะล่ะเนี่ย

โดย: bookaholic [IP: 202.183.182.96,,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 17 ก.ค. 2545 - 14:17:44

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 34

ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ครูBookครับ จ้องจะทักตั้งแต่เรื่องมิลินทปัญหาแล้ว ติดขัดแต่ยังไม่ได้สมัครสมาชิก กว่าจะสมัครได้ก็ไม่มีใครเข้าไปต่อความอยู่หลายเพลาแล้ว เลยยังไม่ได้ทักจนบัดนี้

พูดถึงเยาวราชระยะนี้ผมนึกได้แต่ของบำรุงพุง เพราะมีมิตรท่านหนึ่งคอยฉุดกระชากลากถูไปนั่งหม่ำตอนดึกๆสัปดาห์ละ2-3ครั้ง จนชักจะเหมือนแป๊ะยิ้มเข้าไปทุกทีแล้ว มีหวังตรุษจีนหน้า หาพัดมาควงก็คงเข้าขบวนเต้นสิงโตได้โดยไม่ต้องสวมหัว

โดย: ถาวภักดิ์ [IP: 203.144.184.9,,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 18 ก.ค. 2545 - 12:00:14

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 35

ยังหาที่มาของ "สำเพ็ง" ลงตัวไม่ได้จนแล้วจนรอด

เลยขอย้อนกลับไปริมฝั่งเจ้าพระยา ข้ามสะพานพระราม ๘ ที่เพิ่งเสร็จหมาดๆ เส้นทางเลียบผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบ๊งค์ชาติ
มองเห็นวังบางขุนพรหมเด่นอยู่ตรงนั้น

ย้อนหลังก่อนที่จะมีวังบางขุนพรหมในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต สร้างเมื่อรัชกาลที่ ๕
ละแวกนี้เรียกว่า "บางขุนพรหม"
น่าเสียดายที่ไม่รู้ว่าท่านขุนพรหมที่ว่านี้นามสกุลอะไร รู้แต่ว่าท่านเป็นหนึ่งในขุนนางที่ได้รับพระบรมราชโองการในรัชกาลที่ ๑ ไปเป็นนายช่างสร้างพระพุทธบาทที่สระบุรี
แล้วท่านก็ป่วยเป็นไข้ป่า ถึงแก่กรรม
พี่ชายของท่านจึงสร้างวัดในบริเวณบ้านเดิมที่อยู่อาศัยให้เป็นที่ระลึกเรียกว่าวัดบางขุนพรหม
ละแวกนั้นชาวบ้านก็เรียกกันว่าบางขุนพรหม แทนชื่อเดิมว่าบ้านลาน

ต่อมาวัดได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่โดยหลานชายของขุนพรหม ๓ คน เป็นพระยาทั้งสามคน
วัดจึงถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดสามพระยา"

โดย: เทาชมพู [IP: 203.151.123.21,,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 19 ก.ค. 2545 - 09:08:40

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 36

กลับมาใหม่กับสำเพ็ง
เป็นอันแน่นอนแล้วว่าชื่อสำเพ็งนั้นไม่ใช่ชื่อจีน คำ"เผ่ง" ใน "ซำเผ่ง" นั้น เป็นตัวเดียวกับคำว่า "เผี่ย" (เสียงออกจมูก) ที่แปลว่า หมั้น แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้ใช้ในความหมายอย่างนั้นแต่อย่างใด

แต่คำว่าสำเพ็งนั้น ก็ยังเป็นคำที่ไม่รู้ที่มาอยู่ดี แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ผมได้สอบถาม ก็ให้ข้อมูลที่แตกต่างกันจากที่เคยเสนอกันไว้ที่นี้อีก 2 อย่างคือ
1.คำสำเพ็งมาจากชื่อวัดที่ชื่อ สามเพ็ง แล้วกร่อนเสียงเป็นสำเพ็ง
2.แต่เดิมบริเวณนั้นเป็นสามแพร่ง คนจีนเรียกไม่ชัดว่าซำเผ่ง คนไทยมาเรียกตามคนจีน(ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในละแวกนั้น) ว่าสำเพ็ง ในภายหลังครับ

ก็ยังไม่รู้อยู่ดีว่าสำเพ็งมาจากไหน

โดย: CrazyHOrse [IP: 210.203.182.158,,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 22 ก.ค. 2545 - 09:56:34

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 37

ชักจะคล้อยตามว่าน่าจะมาจากวัดสามเพ็ง
ส่วนสามแพร่ง คงเป็นคำไทยที่คิดว่าคล้ายสำเพ็งมากที่สุด
แต่ยังไม่เคยเจอหลักฐานว่าแถวนั้นเป็นทางสามแพร่งมาก่อน
การติดต่อกันในกรุงเทพและธนบุรีใช้ทางน้ำไม่ใช่ทางบก ทางสามแพร่งถ้ามีก็เป็นทางเดินแคบๆ ไม่ค่อยมีบ้านคนอยู่อาศัยกัน
บ้านจะอยู่ริมน้ำมากกว่า
ทางสามแพร่งถือว่าเป็นที่ไม่เป็นมงคล ตุ๊กตาเสียกบาลก็ไปทิ้งไว้ที่ทางสามแพร่ง
บางแห่งว่านักโทษก็ประหาร หรือเสียบกระจานไว้ที่ทางสามแพร่ง
ถ้าสำเพ็งมีทางสามแพร่งจริง น่าจะมีบันทึกไว้บ้างนะคะ

โดย: เทาชมพู [IP: 203.151.123.28,,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 22 ก.ค. 2545 - 11:06:00

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 38

ค่อนข้างเชื่อครู Book ด้วยคนว่าเป็นชื่อวัดสำเพ็ง หรือสามเพ็งมาก่อน ก่อนจะเป็นชื่อย่านครับ โดยเฉพาะถ้าวัดมีมาก่อนที่คนจีนจะย้ายมาอยู่แถวนี้

แต่ก่อน สำเพ็งเป็นคำด่ากันด้วยครับ ใครถูกด่าว่าเป็นผู้หญิงสำเพ็งก็คือว่าว่าเป็นโสเภณี เดี๋ยวนี้ความหมายนี้หายไปแล้วมั้ง เพราะเป็นที่น่าเศร้าใจว่าธุรกิจขายกามแพร่สะพัดไปทั่วกรุงเทพฯ ไปหมดแล้ว

โดย: นิลกังขา [IP: 156.106.223.98,,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 22 ก.ค. 2545 - 21:08:07

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 39

เสฐียรโกเศศ ท่านเล่าไว้ว่า ในสมัยพระพุทธเจ้าหลวง พระองค์ท่านเสด็จไปทรงทอดผ้ากฐินหลวง ณ.วัด ประทุมคงคา เสด็จพระราชดำเนินเป็นขบวนพยุหยาตราน้อยทางสถลมารคไปตามถนนในท้องสำเพ็ง เริ่มตั้งแต่สะพานหัน ไปสุดทางที่วัด ซึ่งถือว่าเป็นงานใหญ่เพราะไม่มีบ่อยๆ ว่ากันว่า 3 ปีมีครั้ง โดยเฉพาะในขบวนพยุหยาตรา จะมีวอพระประเทีบยหลายวอ ซึ่งคนทั่วไปไม่ค่อยจะได้เห็นกัน เด็กๆก็จะตื่นเต้น

สมัยก่อนลูกสาวชาวไทย ชาวจีน ที่มีอันจะกินต้องเก็บเนื้อเก็บตัว จะออกมาหน้าบ้าน ก็เวลามีงานพระกฐินหลวงนี่แหละ ชาวสำเพ็งจะตื่นเต้น ดีใจออกมาตั้งโตะบูชาประกวดประชันกัน หนุ่มๆก็จะได้ยลโฉมสาวๆสวยๆ

โดย: ฝอยฝน [IP: 203.144.143.254,202.133.169.37,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 23 ก.ค. 2545 - 01:32:20

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 40

คุณหลวงนิลฯ พูดได้ตรงใจ
คนโบราณท่านตายาวนัก ท่านเห็นความสำคัญของการขนส่งมวลชนมาตั้งแต่ร้อยปีก่อน อุตส่าห์วางแผนกันที่ดินเอาไว้เป็นเครือข่ายใยแมงมุมทั้งกรุงเทพฯ พอมาถึงยุคตาสั้น เอาออกมาหาผลประโยชน์กันหมด ที่น่ากุดหัวพวกตาสั้นมากที่ีสุดก็ตรงที่ปล่อยมาให้เป็นอัครสถานค้ากาม

ซึ่งไม่ใช่แต่เท่านี้นะครับ แม้อาคารสำนักงานใหญ่ของบริษัทที่รัฐบาลสั่งปิด ก็เอามาให้เป็นแหล่งอบาย ดูเอาเถิด คนที่รับผิดชอบปล่อยออกมาเป็นสถานที่แบบนั้น เขาไม่นึกบ้างเลยหรือว่านี่เท่ากับบอกกับประชาชนและคนทั้งโลกว่า รัฐบาลประเทศนี้ไม่รังเกียจอบายเลย สักแต่ขอให้ได้เงินมาเถิด

โดย: ถาวภักดิ์ [IP: 203.144.184.9,,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 23 ก.ค. 2545 - 10:23:15

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 41

กรุณาอย่าเรียกผมว่าครูเลยครับคุณถาวภักดิ์และคุณหลวงนิล
ผมเขิลลล
ผมพวกครูพักลักจำ ใครชมก็หมดภูมิพอดีทุกทีหละครับ

โดย: bookaholic [IP: 203.151.123.33,,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 23 ก.ค. 2545 - 17:58:50

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 42

รึจะให้เรียกสมีก็ได้นะครับ

ครูBook ยังดีต้องรอให้มีคนชมถึงจะหมดภูมิ ผมหมดตั้งแต่ปีมะโว้แล้ว สงสัยต้องไปหากินกับไสยศาสตร์

ว่าแล้วก็ใช้ซะเลย ที่ว่าว่าสำเพ็งเป็นถิ่นที่เคยมีทางสามแพร่งนั้น หมอผีขอค้านครับท่านประธาน ด้วยเหตุว่าทางสามแพร่งนั้นเป็นแดนอาถรรพณ์ เป็นที่สิงสถิย์ของสัมภเวสี วิญญาณเร่ร่อน ดวงจิตที่ดำมืดด้วยวิบาก และมิจฉาทิฐิ เป็นจำนวนมาก เป็นดังซ่องโจร หรือ ืืno man\'s land ในโลกทิพย์ จึงเป็นที่ที่ไม่อาจเจริญรุ่งเรืองเป็นถิ่นทำมาค้าขายได้ สำเพ็งเป็นที่อันสมบูรณ์ด้วยฮวงจุ้ยอันเกื้อต่อการค้าขายอย่างยิ่ง ว่ากันว่าแม้ห้องแถวเล็กๆคูหาเดียวจะขอซื้อสักห้าสิบล้าน เจ้าของก็ไม่ยอมขาย ด้วยเป็นดังปากประตูเงินประตูทอง สามารถดึงดูดการค้าให้สะพัดสร้างรายได้นับล้านต่อวัน จึงเป็นไปไม่ได้ว่าสำเพ็งเคยเป็นถิ่นทางสามแพร่งมาก่อนด้วยประการฉะนี้

โดย: ถาวภักดิ์ [IP: 203.144.184.9,,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 24 ก.ค. 2545 - 10:36:09

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 43

เข้ามาจะค้นกระทู้เก่าว่าด้วย ยุพราช มาเจอกระทู้เรื่องถนนเยาวราช เลยขออนุญาตร่วมสนุกขุดกรุของเก่ามาเล่าต่อ

ชื่อภนนเยาวราชนั้น คิดว่าในหลวงรัชกาลที่ ๕ คงจะทรงตั้งให้หมายถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

ที่ผมว่าเช่นนั้น ก๋เพราะในรัชกาลที่ ๕ นั้น ได้โปรดพระราชทานพระนามพระราชโอรสชั้นเจ้าฟ้ามาตั้งเป็นชื่อถนนหรือสถานที่สำคัญเกือบทุกพระองค์ ลองลำดับดูเท่าที่จำได้นะครับ

ถนนพาหุรัด - สมเด็จฯ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์
ถนนบริพัตร - สมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
ถนนจักรพงษ์ - สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประนาถ
ถนนอัษฎางค์ - สมเด็จฯ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา
ถนนยุคล - สมเด็จฯ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์

พระนามชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ที่นึกออกคงมีเท่านี้ แต่แปลกไม่ยักมีชื่อ ถนนวชิรุณหิศ หรือถนนวชิราวุธ หรือจะเป็นเพราะได้พระราชทานาม ถนนเยาวราช และราชวงศ์ไว้แล้ว

ถนนเยาวราช นั้นตรงกับพระอิสริยยศ พระเยาวราช คือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร นามนี้คงชัดเจน ส่วนถนนราชวงศ์นั้น ในความคิดของผมไม่ทราบจะถูกผิดประการใด น่าจะมาจกคำว่า Prince Royal ในภาษาอังกฤษ ซึ่งจะแปลว่า พระยุพราชก็ดี หรือพระเยาวราชน้อยซึ่งเทียบได้กับกรมพระราชวังหลังก็ได้ และน่าจะหมายถึงสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี ซึ่งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นลำดับที่ ๒ รองจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ

โดย: V_Mee [IP: 58.8.153.199,,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 10 ก.ค. 2549 - 12:13:41

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 44

มาต่อเรื่องพระนามเจ้านายที่เป็นชื่อถนนอีกนะครับ

ในรัชกาลที่ ๖ ได้ทรงดำเนินตามพระบรมราชวิเทโศบายในสมเด็จพระบรมชนกนาถ ได้โปรดพระราชทานพระนามกรมในพระราชโอรส พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๕ มาขนานนามถนนอีกหลายสาย เช่น
ถนนศรีอยุธยา - สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนเทพทวาราวดี (กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา)
ถนนพิษณุโลก - สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
ถนนราชสีมา - สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครราชสีมา
ถนนนครสวรรค์ - สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
ถนนอู่ทอง - สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนอู่ทองเขตรขัตติยนารี
ถนนเพชรบุรี - สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร
ถนนนครไชยศรี - กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช

โดย: V_Mee [IP: 58.8.153.199,,] เพิ่มชื่อนี้เข้า Contact List ของฉัน ส่ง vSMS ให้สมาชิกท่านนี้
วันที่ 10 ก.ค. 2549 - 12:20:09




หากจะโพสต์คำตอบสำหรับกระทู้ในห้องนี้ ล๊อกอินก่อนนะคะ

หากคุณชอบ วิชาการ.คอม และอยากให้เราอยู่ด้วยกันไปนานๆ ช่วยแนะนำเรากับเพื่อนของคุณนะคะ ขอบคุณค่ะ



วิชาการ.คอม
         
วิชาการ.คอม - คลังความรู้ และ แหล่งข้อมูลปฐมภูมิของเมืองไทย เพื่อ การศึกษาของไทย
วิชาการ.คอม คือ ใคร? || กฏ กติกา มารยาท || ติดต่อลงโฆษณา
บัว 02 2015735, ปุ๊กกี้ 081 7347680    อีเมล์:
Copyright© 2000-2006, Vcharkarn.Com. All rights reserved.

คลิ๊กเพื่อดูสถิติ


รับรองและสนับสนุนโดย

สสวท.

มูลนิธิพสวท.

พสวท.