หน้าแรกผู้จัดการ Online | หน้าแรกท่องเที่ยว | ลุยกรุง
 
ยลโลหะปราสาทหนึ่งเดียวในโลก ที่ "วัดราชนัดดาฯ"
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 6 มีนาคม 2550 16:02 น.
       โดย : หนุ่มลูกทุ่ง

โลหะปราสาทหนึ่งเดียวในโลก ที่วัดราชนัดดา
       ในยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 นั้น นอกจากจะเป็นยุคที่เศรษฐกิจของประเทศสยามจะรุ่งเรืองสุดๆ แล้ว ก็ยังถือว่าเป็นยุคทองของการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอีกต่างหาก เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นผู้ที่มีศรัทธาในศาสนาพุทธเป็นอย่างมาก ในสมัยนั้นจึงได้มีการโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขึ้นหลายแห่ง รวมทั้งบูรณปฏิสังขรณ์วัดเก่าอีกหลายวัดเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นวัดราชโอรสาราม วัดเทพธิดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และอีกมากมายหลายวัดซึ่งก็ล้วนแล้วแต่สวยงามต่างกันไป
       
       สำหรับ "วัดราชนัดดาราม ราชวรวิหาร" ที่ฉันจะพามาชมในวันนี้ก็เป็นอีกวัดหนึ่งที่รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2389 ในปลายรัชกาลของพระองค์

พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บริเวณลานมหาเจษฎาบดินทร์
       ส่วนเหตุที่วัดแห่งนี้มีชื่อว่าวัดราชนัดดา หรือแปลว่า หลานของพระมหากษัตริย์นั้นก็เนื่องจากว่าพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดแห่งนี้ขึ้นเพื่อพระราชทานเป็นเกียรติแก่พระราชนัดดา คือ พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี (ภายหลังทรงเป็นพระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4)
       
       บางคนคงจะทราบถึงพระราชนิยมของรัชกาลที่ 3 ว่า โปรดการสร้างวัดด้วยศิลปะแบบจีน คือมีจุดเด่นตรงที่หลังคาของโบสถ์หรือวิหารในส่วนที่เป็นหน้าบันนั้นจะเป็นแบบเรียบๆ ตัดส่วนที่เป็นช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ออกทั้งหมด แต่สำหรับสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ในวัดราชนัดดารามนี้ก็ยังเป็นแบบไทย พระอุโบสถเป็นมีช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันลงรักปิดทอง ประดับด้วยกระจกงดงาม ภายในประดิษฐานพระประธานพระนามว่า "พระเสฏฐตมมุนี" ส่วนพระวิหารก็เป็นศิลปะแบบไทยเช่นกัน ภายในมีพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรเป็นประธาน พระนามว่า "พระพุทธชุติธรรมนราสพ"
       
       แต่สิ่งที่โดดเด่นของวัดราชนัดดารามที่ฉันตั้งใจจะพามาชมอย่างที่จั่วหัวเรื่องไว้ก็คือ "โลหะปราสาท" หนึ่งเดียวในประเทศไทย และหนึ่งเดียวของโลกด้วย

อุโบสถวัดราชนัดดา
       แม้จะเป็นโลหะปราสาทหนึ่งเดียวของโลก แต่โลหะปราสาทนี้ก็ไม่ได้เป็นหลังแรก เพราะก่อนหน้านี้ในประวัติศาสตร์ก็เคยมีการสร้างโลหะปราสาทมาแล้ว 2 หลังด้วยกัน หลังแรกก็คือปราสาทของนางวิสาขา บุตรีของธนัญชัยเศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถี ประเทศอินเดีย โดยได้สร้างโลหะปราสาทที่มีชื่อว่า "มิคารมาตุปราสาท" เพื่อถวายเป็นที่อยู่ให้แก่พระสงฆ์ มีลักษณะเป็นปราสาท 2 ชั้น มี 1,000 ห้อง ปัจจุบันโลหะปราสาทหลังนี้หักพังจนไม่เหลือร่องรอยให้เห็นแล้ว
       
       ส่วนโลหะปราสาทหลังที่ 2 ผู้สร้างคือพระเจ้าทุฏฐคามณี กษัตริย์แห่งกรุงอนุราชปุระ ประเทศลังกา ทรงสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ.382 โลหะปราสาทหลังนี้มี 9 ชั้น 1,000 ห้อง หลังคามุงด้วยแผ่นทองแดง ผนังเป็นไม้ประดับด้วยหินมีค่าและงาช้าง สร้างให้พระภิกษุสงฆ์อยู่อาศัยเช่นกัน ภายหลังโลหะปราสาทนี้ได้ถูกไฟไหม้และถูกทำลาย จนตอนนี้เหลือเพียงซากปราสาท แต่ก็ยังเห็นความยิ่งใหญ่ของเสาหินถึงประมาณ 1,600 ต้นด้วยกัน
       
       จนมาถึงในสมัยรัชกาลที่ 3 พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโลหะปราสาทหลังที่ 3 นี้ขึ้นโดยมีพระราชประสงค์ ให้สร้างโลหะปราสาทขึ้นแทนการสร้างธรรมเจดีย์ อีกทั้งพระองค์ยังโปรดฯ ให้ช่างเดินทางไปดูแบบถึงยังประเทศลังกา และนำเค้าเดิมนั้นมาเป็นแบบสร้าง แล้วปรับปรุงให้เป็นศิลปกรรมแบบไทยเรา
       
       ว่าเรื่องประวัติมาเสียยาว ฉันว่าเดินขึ้นไปดูด้านบนโลหะปราสาทพร้อมๆ กันเลยดีกว่า ก่อนหน้านี้โลหะปราสาทปิดซ่อมมานาน ก่อนจะเสร็จลงเมื่อเร็วๆ นี้ แต่ก็ยังไม่เรียบร้อยดีนักเพราะฉันก็ยังเห็นช่างกำลังเคาะก๊อกๆ แก๊กๆ อยู่ด้านล่างกันอยู่เลย แต่ถ้าจะว่ากันจริงๆ แล้วการสร้างโลหะปราสาทนี้ก็เพิ่งมาสำเร็จสมบูรณ์ในรัชกาลปัจจุบันนี่เอง โดยการก่อสร้างนั้นเริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่พระองค์ได้เสด็จสวรรคตไปเสียก่อน โลหะปราสาทในตอนนั้นจึงมีเพียงโครงสร้างเท่านั้น

พระบรมสารีริกธาตุ ประดิษฐานอยู่บนโลหะปราสาท
       และต่อมาในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 จึงได้มีการก่อสร้างต่อ จนมาเสร็จสิ้นจริงๆ จังๆ ในรัชกาลที่ 9 เป็นโลหะปราสาท 7 ชั้น (มองจากด้านนอกจะเห็นเป็น 3 ชั้น) มียอดปราสาท 37 ยอดด้วยกัน โดยที่ยอดปราสาทชั้นบนสุดนั้นเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุให้ประชาชนขึ้นไปกราบไหว้
       
       ยอดปราสาททั้ง 37 ยอดนั้นแทนความหมายถึงโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ อันเป็นปัจจัยให้ดำเนินไปสู่ความหลุดพ้นเข้าสู่นิพพาน ฉันขอขยายความหน่อยว่า โพธิปักขิยธรรม 37 ประการนั้นก็แยกได้เป็น สติปัฏฐาน 4 สัมมัปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 และ มรรค 8
       
       ตามความคิดของฉันในตอนแรกนั้น คิดว่าโลหะปราสาทคงจะต้องสร้างด้วยโลหะทั้งหลัง แต่เมื่อมาเห็นใกล้ๆ ก็ได้รู้ว่าส่วนที่เป็นโลหะนั้นก็คือส่วนของหลังคายอดปราสาททั้ง 37 ยอดนั่นเอง ซึ่งการที่มีส่วนประกอบหลักเป็นโลหะเช่นนี้ก็ทำให้ดูมีความขึงขัง แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ขาดความอ่อนช้อยของศิลปะไทยไป

พระพุทธรูปปางต่างๆ ภายในโลหะปราสาท
       พูดไปพูดมาก็ยังไม่ได้ขึ้นไปด้านบนกันเสียที ว่าแล้วก็เดินขึ้นบันไดเวียนไปข้างบนเลยดีกว่า โดยด้านบนปราสาทจะมีจุดให้แวะพักแวะชมตามชั้นต่างๆ เช่นมีระเบียงที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ ไว้รอบทั้ง 4 ด้าน ฉันแวะกราบพระที่นี่ก่อนจะขึ้นบันไดต่อไปด้านบน เพื่อไปชมวิวทิวทัศน์ของกรุงเทพมหานครในมุมสูง แม้จะไม่สูงมากนักแต่ก็สามารถมองไปเห็นลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ริมถนนราชดำเนิน มองไปเห็นภูเขาทองสีเหลืองอร่าม และมองไปเห็นวัดสุทัศนเทพวราราม และเสาชิงช้าสีแดงเด่น
       
       และเมื่อไต่บันไดขึ้นไปจนถึงชั้นบนสุด ก็จะได้พบกับพระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานอยู่ในบุษบก โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จมาประกอบพระราชพิธีประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ณ โลหะปราสาท เมื่อปี พ.ศ.2538 นี่เอง
       
       ฉันกราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุและยืนชมวิวรับลมอยู่สักพักจึงไต่บันไดเวียนลงมาด้านล่าง เพื่อจะมายังอีกจุดหนึ่งใกล้ๆ วัดราชนัดดา นั่นก็คือ "ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์" ที่มองเห็นจากด้านบนเมื่อครู่

ทิวทัศน์มุมสูงเมื่อมองจากบนโลหะปราสาท
       บริเวณลานพลับพลาฯ นี้มีพระบรมรูปของสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานอยู่ มีพลับพลาที่ประทับงดงามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงออกรับแขกบ้านแขกเมือง และบริเวณลานยังตกแต่งด้วยดอกไม้ใบไม้ดูสดชื่น อีกทั้งด้านหลังพระบรมราชานุสาวรีย์ก็เป็นวัดราชนัดดา มีโลหะปราสาทตั้งเด่นอยู่ทางด้านขวา ทำให้ทัศนียภาพบริเวณลานพลับพลาฯ ที่มองจากด้านริมถนนราชดำเนินนั้นดูสวยงามเป็นอย่างมาก
       
       แต่หลายคนที่ผ่านไปผ่านมาบริเวณนี้มาเป็นเวลานานคงจะยังจำกันได้ว่า เมื่อก่อนไม่มีภาพแบบนี้ให้เห็นเหมือนในปัจจุบัน เนื่องจากถูกบดบังด้วยตึกรามบ้านช่อง รวมทั้ง "โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย" โรงภาพยนตร์ที่เป็นที่นิยมมากในสมัยก่อน แต่เพื่อเป็นการเปิดมุมมองอันสวยงามของโลหะปราสาทและวัดราชนัดดา จึงได้มีการรื้อตึกรวมทั้งโรงหนังแห่งนี้ออกไป เรียกว่าได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง
       
       แต่สิ่งที่ได้มานี้ฉันถือว่าคุ้มค่า เพราะช่วยให้วัดราชนัดดาและโลหะปราสาทได้เป็นจุดสนใจของผู้ที่ผ่านไปมา รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติด้วย ซึ่งจะทำให้โลหะปราสาทซึ่งเป็นหนึ่งเดียวของไทย และหนึ่งเดียวในโลกนี้ เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น
       
       *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 
       

       วัดราชนัดดารามวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ ถนนมหาไชย แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ตรงข้ามป้อมมหากาฬ ด้านหลังลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ สามารถเดินขึ้นไปสักการะพระบรมสารีริกธาตุบนโลหะปราสาทได้ในเวลา 09.00-17.00 น. สอบถามรายละเอียดโทร.0-2224-8807, 0-2225-5769
       

       การเดินทาง มีรถประจำทางสาย 2, 5, 12, 15, 35, 39, 42, 44, 47, 56, 59, 70, 503, 511, 512 ฯลฯ ผ่าน อีกทั้งยังสามารถนั่งเรือโดยสาร (คลองแสนแสบ) มาลงที่ท่าเรือผ่านฟ้าลีลาศได้


ข่าวอื่นๆ ในหมวด
เที่ยว"บ้านตุ๊กกะตุ่นฯ" รู้จักหุ่นกระบอกไทย
เที่ยวถนนมีชีวิต ชมสีสันแห่งท่าช้าง
เที่ยว"ท่าพระจันทร์" ชมสีสันถนนวัตถุมงคล
ชมวัดงาม เที่ยวย่านถิ่นเก่าที่ "ตลาดพลู"
สงกรานต์วิสุทธิ์กษัตริย์ ตำนานที่ยังมีลมหายใจ
เครื่องมือจัดการเว็บ
ส่งบทความนี้ต่อ
พิมพ์หน้านี้
ข่าวที่มีผู้ส่งมากที่สุด
แสดงความคิดเห็นผ่านเว็บบอร์ด
จำนวนคนอ่าน 11775 คน จำนวนคนโหวต 37 คน
คุณคิดอย่างไรกับการนำเสนอข่าว/บทความนี้
ควรปรับปรุง ดีมาก
  1 2 3 4 5  
1 2 3 4 5
ความคิดเห็นที่ 20 คลิกที่นี่หากท่านเห็นว่าความคิดเห็นนี้ขัดต่อกฎ กติกา มารยาท
เพิ่งพาเพื่อนญี่ปุ่นไปเมื่อวานนี้เองค่ะ เพื่อนถามเยอะมาก ตอบไม่ได้ เสียดายเพิ่งมาเห็นบทความนี้
เสี่ยวหลิน
ความคิดเห็นที่ 19 คลิกที่นี่หากท่านเห็นว่าความคิดเห็นนี้ขัดต่อกฎ กติกา มารยาท
อายตนทั้ง6เป็นสื่อสัมผัสโดยมีเวทนาเป็นอารมณ์เมื่อเราเห็นคนสัตว์สิ่งของกลิ่นหรือแสงเราก็จะเกิดเวทนาขึ้นในทันทีเมื่อเวทนาเกิดขึ้นอารมณ์รักชอบเกลียดชังหอมเหม็นร้อนหนาวอุ่นก็เกิดขึ้นมาแทบจะพร้อมๆกันเวทนาเกิดขึ้นได้ก็เพราะมีสัญญาคือจำได้หมายรู้ตามเหตุในอดีต
เมื่อเรารู้เท่าทันเวทนาแล้วความทุกข์จะเกิดขึ้นได้ยากหรือเกิดขึ้นได้เพียงช่วงเวลาอันสั้น
ชายเล
ความคิดเห็นที่ 18 คลิกที่นี่หากท่านเห็นว่าความคิดเห็นนี้ขัดต่อกฎ กติกา มารยาท
อ้อ โลหปราสาท ควรจะเขียนยังงี้ครับ ไม่มีสระ อะ เพราะเป็นคำสมาส แปลว่า ปราสาทที่มีโลหะเป็นส่วนประกอบ (แปลจากหลังไปหน้า)
ถ้าเขียนว่า ปราสาทโลหะ จึงจะมีสระ อะ
พจนานุกรมไม่มีอีกแหละ แต่ใช้แนวเทียบกับคำอื่นๆ
เก้
ความคิดเห็นที่ 17 คลิกที่นี่หากท่านเห็นว่าความคิดเห็นนี้ขัดต่อกฎ กติกา มารยาท
ที่ว่าเป็นโลหะปราสาทเอาเหล็กทำเหรอคับ.
ไม่รู้จิงๆ..ขอโทษคับ
ความคิดเห็นที่ 16 คลิกที่นี่หากท่านเห็นว่าความคิดเห็นนี้ขัดต่อกฎ กติกา มารยาท
คำว่า จั่วหัว เนี่ย ยืนยันได้ว่าได้ยินมาตั้งแต่ปี 2519 (ได้จดบันทึกไว้) แต่เป็นภาษาปาก ไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรม (และแม้จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้เก็บ ไม่ทราบว่าทำไม)
ก็คงจะเพี้ยนมาจาก จ่าหน้า นั่นแหละ มี จ่าหน้า แล้วก็มี จ่าหัว แล้วก็เพี้ยนเสียงกลายเป็น จั่วหัว จั่วหน้า ไปเรื่อยๆ ตามประสาภาษาที่ยังไม่ตาย
ช่วงที่กำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ได้ยินทั้ง 4 คำเลย แต่ปัจจุบันรู้สึกว่า จั่วหัว จะเป็นที่นิยมมากที่สุด โดยใช้ในความหมายที่แตกต่างไปจาก จ่าหน้าซองจดหมาย
ยกตัวอย่างได้อีกคำ คือคำว่า ภาคส่วน เมื่อก่อนนี้เราใช้ภาค หรือไม่ก็ ส่วน แต่ปัจจุบัน (1-2 ปีมานี้) มีการใช้คำซ้อนว่า ภาคส่วน ในความหมายที่แตกต่างไปจาก ภาค และ ส่วน (คิดว่าแปลมาจาก sector)
ธรรมชาติของภาษาคือมีการเปลี่ยนแปลงครับ
เห็นด้วยกับ คห. 12
เก้
ความคิดเห็นที่ 15 คลิกที่นี่หากท่านเห็นว่าความคิดเห็นนี้ขัดต่อกฎ กติกา มารยาท
ถ้าโง่ขนาดอ่านแล้วไม่รู้ว่า โลหะปราสาทคืออะไร ก็อย่าเสร่อเขียนไทยปนอังกฤษเลยวะ
ไอ้ถึก
ความคิดเห็นที่ 14 คลิกที่นี่หากท่านเห็นว่าความคิดเห็นนี้ขัดต่อกฎ กติกา มารยาท
What is โลหะปราสาท? I couldn't find its definition from this story.
Add
ความคิดเห็นที่ 13 คลิกที่นี่หากท่านเห็นว่าความคิดเห็นนี้ขัดต่อกฎ กติกา มารยาท
นอกจากแมวยังมีคนจรจัดแอบนอนตามซุ้มประตู น่ากลัวมาก หรือไม่ก็มีสุนัขขี้เรื้อน นอนอยู่ น่าเกลียดมาก
เลยไม่ไปอีกเลยวัดนี้
สมาชิก
ความคิดเห็นที่ 12 คลิกที่นี่หากท่านเห็นว่าความคิดเห็นนี้ขัดต่อกฎ กติกา มารยาท
ความเห็นที่เจ็ดครับ ผมมีความเห็นต่างไปเล็กน้อยว่า ภาษาไทยที่เราใช้ทุกวันนี้ เป็นภาษาที่ยังไม่ตาย ดังนั้น จึงมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ผมคิดว่า ภาษาเป็นเครื่องมือของเรา ให้เราไว้สื่อสาร ไม่ใช่ไว้ให้ยึดติดเป็นที่ตั้งแห่งอัตตา ผมสนับสนุนการใช้ภาษาที่ถูก แต่ไม่ปิดกั้นการที่จะเกิดคำใหม่ๆ ขึ้นมา มิเช่นนั้น เราคงยังเรียก ผู้หญิงว่า อำแดง คำว่า "เป็น" ก็พูดว่า "เปน" และ คงกลายเป็น "แล" ฯลฯ เหมือนสมัยก่อน
คิดต่างไป
ความคิดเห็นที่ 11 คลิกที่นี่หากท่านเห็นว่าความคิดเห็นนี้ขัดต่อกฎ กติกา มารยาท
เห็นไหมล่ะทุบโรงหนังเฉลิมไทยทิ้งแล้วเห็นความงามจับตา
อึ้งละซิก่อนหน้านีคัดค้านชักดิ้นชักงอจะเป็นจะตายอนุรักษ์
โรงหนังอนุสรณ์โรงละครร้องคณะแม่เลื่อนเก่าไม่เข้าท่า
ป้อมพระกาฬ
ความคิดเห็นที่ 10 คลิกที่นี่หากท่านเห็นว่าความคิดเห็นนี้ขัดต่อกฎ กติกา มารยาท
เห็นไหมล่ะทุบโรงหนังเฉลิมไทยทิ้งแล้วเห็นความงามจับตา
อึ้งละซิก่อนหน้านีคัดค้านชักดิ้นชักงอจะเป็นจะตายอนุรักษ์
โรงหนังอนุสรณ์โรงละครร้องคณะแม่เลื่อนเก่าไม่เข้าท่า
ป้อมพระกาฬ
ความคิดเห็นที่ 9 คลิกที่นี่หากท่านเห็นว่าความคิดเห็นนี้ขัดต่อกฎ กติกา มารยาท
เหลือที่เดียวแล้วครับ ที่อื่นพังทลายไปตามกาลเวลาหมดแล้ว
จ้ะ
ความคิดเห็นที่ 8 คลิกที่นี่หากท่านเห็นว่าความคิดเห็นนี้ขัดต่อกฎ กติกา มารยาท
ของเดิมในสมัยรัชกาลที่3สร้างด้วยไม้ครับ เริ่มบูรณะปีก่อน พศ.2515 ขอให้ผู้รู้คาดว่าอยู่คณะ4,5หรือคณะ6ช่วยเล่าประวัติเพื่อเป็นวิทยาทานแก่คนรุ่นหลังด้วย
ขอบคุณ
อดีตเด็กวัดคณะ6
suvarsara@hotmail.com
ความคิดเห็นที่ 7 คลิกที่นี่หากท่านเห็นว่าความคิดเห็นนี้ขัดต่อกฎ กติกา มารยาท
จั่วหัว อะไร ๆ ก็จั่วหัว ไอ้คำนี้มีด้วยเหรอ ในพจนานุกรมไม่เห็นจะมี

ขอร้องละถ้าอยากจะใช้คำให้ถูกลองเปิดพจนานุกรมดูซะก่อนได้มั๊ย ไม่ใช่นึกเอาเลย สร้างคำขึ้นมาใหม่ซะเลย ทั้งที่คำเดิม ๆ ก็ยังมีอยู่ใช้ได้ดีกว่าด้วยซ้ำ

จ่า [จ่า]
ก. บอก, เขียนบอก.
ก. ถูกปรับ (ในการเล่นโยนหลุม เป็นต้น).

จ่าหน้า [จ่า-น่า]
ก. เขียนบอกไว้ข้างหน้า เช่น จ่าหน้าซอง, เขียนบอกไว้ที่ต้นเรื่อง เช่น จ่าหน้าเรื่อง

คัม ออน พีเพิล เล็ดส์ จัสท์ บี อะ โปรเฟสชั่นนอล
เบื่อนักข่าวนักข่าวทุกวันนี้
ความคิดเห็นที่ 6 คลิกที่นี่หากท่านเห็นว่าความคิดเห็นนี้ขัดต่อกฎ กติกา มารยาท
สวยจริงๆครับ น่าแวะไปชมสักครั้ง
คนปทุมวัน
ความคิดเห็นที่ 5 คลิกที่นี่หากท่านเห็นว่าความคิดเห็นนี้ขัดต่อกฎ กติกา มารยาท
เหลือแห่งเดียวในโลกแล้วเหรอจำได้เมื่อนานมาแล้ว นานมากๆ ดูทีวี เค้าบอกเหลือ 3 หรือ 5 แห่ง ในโลกไม่รุ้รวมในไทยด้วย
ขอทีมงานช่วยตรวจสอบหน่อย มาบอกที่เดียว เริ่มมึน -*-
n a t
ความคิดเห็นที่ 4 คลิกที่นี่หากท่านเห็นว่าความคิดเห็นนี้ขัดต่อกฎ กติกา มารยาท
เห็นอยู่บ่อยๆ แต่ไม่เคยเข้าไป ไปเมืองไทยคราวหน้าจะต้องแวะไปเข้าไปสักหน่อย
คนไทยต่างแดน
ความคิดเห็นที่ 3 คลิกที่นี่หากท่านเห็นว่าความคิดเห็นนี้ขัดต่อกฎ กติกา มารยาท
อยากให้ช่วยรื้อ โรงเรียนวัดเบญจะด้วย สร้างไปในสนามหญ้าเก่า ไม่สวยงามเหมือนสมัยก่อน ข้างหลังโบสถ์หินอ่อน ก็มีดเต๊นท์ มีสิ่งก่อสร้าง ทำลายภาพเก่าที่สวยงามไปหมด
นักเรียนเก่าวัดเบญจะ
ความคิดเห็นที่ 2 คลิกที่นี่หากท่านเห็นว่าความคิดเห็นนี้ขัดต่อกฎ กติกา มารยาท
ไม่มีรูปคนเขียนแบบถ่ายใกล้ๆเลย ต้องรู้นะว่าคนอ่านเขาก็อยากดูหน้าคนเขียนด้วยนะ
ปม
ความคิดเห็นที่ 1 คลิกที่นี่หากท่านเห็นว่าความคิดเห็นนี้ขัดต่อกฎ กติกา มารยาท
เคยไปเกือบ 2 ปีมาแล้ว ทางขึ้นโลหะปราสาทสกปรกจัง แมวเยอะมาก แมวเยอะน่ะไม่เท่าไหร่ แต่คนเอาอาหารไปกองให้แมวน่ะสิเลยทำให้สกปรก ไม่รู้ว่าหลังการบูรณะ ตรงนี้จะเปลี่ยนแปลงด้วยรึป่าว
คนไทย
โปรดอ่านกฎกติกาก่อนแสดงความคิดเห็น
1. โปรดงดเว้น การใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
2. ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้
3. ทีมงานเว็บมาสเตอร์ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
4. เพื่อให้การแสดงความคิดเห็นเป็นไปตามกฎกติกาที่วางไว้ ทางผู้จัดการออนไลน์ได้ปรับปรุงระบบการกรองคำให้เข้มงวดยิ่งขึ้น กรุณารอสักครู่ ก่อนที่ความคิดเห็นของท่านจะถูกนำขึ้นแสดง
เพื่อให้การแสดงความคิดเห็นเป็นไปตามกฎกติกาที่วางไว้ ทางผู้จัดการออนไลน์ได้ปรับปรุงระบบการกรองคำให้เข้มงวดยิ่งขึ้น กรุณารอสักครู่ ก่อนที่ความคิดเห็นของท่านจะถูกนำขึ้นแสดง
แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
ชื่อ/e-mail ของคุณ : *
ความคิดเห็น :
 *
 
หนังสือพิมพ์: ผู้จัดการออนไลน์ | ผู้จัดการรายวัน | ผู้จัดการรายสัปดาห์ | นิตยสารผู้จัดการ | Positioning | ASTV News1
มุม: การเมือง | อาชญากรรม | คุณภาพชีวิต | ภูมิภาค | ต่างประเทศ | มุมจีน | ธุรกิจ | หุ้น | SMEs | โลกยานยนต์ | Manager Auction
CyberBiz | วิทยาศาสตร์ | เกม | กีฬา | บันเทิง | Life on Campus | Metro Life | ท่องเที่ยว | ธรรมะกับชีวิต
Multimedia |เว็บ: Asia Times | บุรพัฒน์ คอมมิคส์ | Public Law | Mars Magazine | Mast Online | Dajiahao | ThaidayEvent | ทะเลไทย | คุยกับเว็บมาสเตอร์ | โฆษณาบนเว็บ
All site contents copyright ©1999-2007 Thaiday Dot Com Co., Ltd.