ประวัติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์
          โดย อาจารย์ทวี กสิยพงศ์

          พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 14 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติ ณ วันพุธที่ 21 ตุลาคม 2417 ต่อมาได้ทรงศึกษาที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบในพระบรมมหาราชวังโดยมีมหาปั้น (เจ้าพระยายมราช) เป็นพระอาจารย์ผู้สอน ครั้นโสกันต์แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ เสด็จในกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงมีพระสติปัญญาเฉลียวฉลาดมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงแสดงพระปรีชาสามารถสอบผ่านเข้าเรียน ณ สำนักไครส์เซิซ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดได้ แต่ทางมหาวิทยาลัยไม่ยอมรับเข้าศึกษา เพราะอายุยังไม่ถึง 18 ปี กรมหลวงราชบุรีฯ ต้องเสด็จไปขอความกรุณาเป็นพิเศษว่าคนไทยเกิดง่ายตายเร็ว ทางมหาวิทยาลัยจึงยอมผ่อนผันโดยให้ทรงสอบไล่อีกครั้งหนึ่งก็ทรงสอบได้ จึงเข้ามหาวิทยาลัยนี้ได้ ได้ทรงศึกษาวิชากฎหมาย ณ สำนักไครส์เซิซแห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดสอบไล่ได้ปริญญาตรีชั้นเกียรตินิยมภายในเวลา 3 ปี เมื่อพระชันษาได้เพียง 20 พรรษา ซึ่งคนธรรมดาต้องเรียนถึง 4 ปี เมื่อเสด็จกลับมาแล้วได้โปรดเกล้าให้ทรงฝึกหัดราชการในกรมราชเลขานุการ ด้วยพระปรีชาสามารถฉลาดเฉียบแหลมยากจะหาตัวจับ ทั้งทรงมีพระอุตสาหะขันแข็งในการทำงานเป็นอย่างยิ่งในไม่ช้าก็ทรงสามารถทำงานในกรมนั้นได้ทุกตำแหน่งตลอดถึงร่างพระราชหัตถเลขาถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงซึ่งเป็นที่พอพระราชหฤทัยเป็นยิ่งนัก ถึงกับทรงเรียกเสด็จในกรมว่า "เฉลียวฉลาดรพี" จึงทรงรับสั่งว่าเมื่อมีเวลาว่างให้ไปติดต่อกับเจ้าพระยาอภัยราชา (ดร. โรแลง ยัคแมงส์) ซึ่งเป็นนักกฎหมายชาวเบลเยี่ยมมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินในสมัยนั้น เจ้าพระยาอภัยราชาได้ขอให้เสด็จในกรมฯ ทรงศึกษากฎหมายไทยทั้งหมดแล้วทำสารบัญรายละเอียดให้ดู ทรงศึกษาอยู่ไม่กี่เดือนก็ทำสำเร็จ เจ้าพระยาอภัยราชาแปลกใจขอซักถามก็ได้ความว่ามีความทรงจำดีมากถ้าได้ทรงอ่านเพียงครั้งเดียวก็สามารถจำความสำคัญในกฎหมายได้หมด

          
ต่อมาในปี พ.ศ. 2439 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้กรมหลวงราชบุรีฯ ทรงรับตำแหน่งสภานายกพิเศษ จัดตั้งศาลมณฑลและศาลเมือง (ศาลจังหวัด) ขึ้นในท้องที่ต่าง ๆ ตลอดจนรวบรวมตุลาการในหัวเมืองซึ่งสังกัดกระทรวงมหาดไทยเป็นส่วนใหญ่เข้ามาอยู่ในกระทรวงยุติธรรม กรมหลวงราชบุรีฯ ทรงจัดตั้งศาลหัวเมืองในมณฑลอยุธยาเป็นเริ่มแรก คดีความคั่งค้างเป็นอันมาก ก็ทรงสามารถพิจารณาพิพากษาให้สำเร็จได้ในเวลาอันรวดเร็วสมตามพระราชประสงค์ และเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ตกลงพระทัยประกาศตั้งกรมหลวงราชบุรีฯ เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ซึ่งขณะนั้นเสด็จในกรมฯ ทรงพระชนมายุเพียง 22 พรรษา นับเป็นเสนาบดีที่หนุ่มที่สุดในโลก

          
กรมหลวงราชบุรีฯ ได้ทรงแก้ไขระเบียบราชการในกระทรวงยุติธรรมทั้งแผนกธุรการและตุลาการ ทรงวางระเบียบปฏิบัติของศาลเพื่อให้มีความสะดวกในการพิจารณาพิพากษาคดี ซึ่งได้ออกเป็นกฎเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมไว้หลายสิบฉบับ กฎเสนาบดีดังกล่าวนี้ได้ใช้ตลอดมา จนประกาศใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2478 นอกจากนี้ยังได้ทรงเป็นประธานกรรมการร่างกฎหมายที่สำคัญให้พอกับความต้องการของประเทศ คือ พระธรรมนูญศาลยุติธรรม กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายลักษณะอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งฯ กรรมการร่างกฎหมายนี้ ต่อมาได้ตั้งเป็นกรมร่างกฎหมายแล้วเปลี่ยนชื่อเรียกว่า คณะกรรมการกฤษฎีกามาจนทุกวันนี้ นอกจากนี้ยังให้ยกกองมหัตโทษและกองลหุโทษจากระทรวงนครบาลมาสังกัดกระทรวงยุติธรรม ตั้งแต่ ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) เพื่อจัดวางข้อบังคับเรือนจำให้ดีขึ้น ให้ผู้พิพากษามีอำนาจตรวจเรือนจำ และตั้งกองพิมพ์ลายนิ้วมือขึ้นที่กองลหุโทษ ในปี ร.ศ. 119 (พ.ศ. 2443) ส่วนเรือนจำหัวเมืองคงขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย และทรงจัดวางระเบียบงานกรมอัยการซึ่งได้ตั้งขึ้นตั้งแต่ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) โดยมีหน้าที่ปฏิบัติการเฉพาะกรุงเทพฯ และสังกัดอยู่ในกระทรวงยุติธรรม ส่วนอัยการหัวเมืองสังกัดกระทรวงมหาดไทย

          
งานปรับปรุงในสมัยนั้นเป็นภาระหนักมาก เพราะไม่มีคนที่มีความรู้กฎหมายเพียงพอที่จะรับราชการ และวิชาทางกฎหมายก็จะต้องเปลี่ยนรูปให้เข้าแบบสากล ต้องทรงเลือกคนที่จะศึกษากฎหมายโดยพระองค์เอง ทรงสอนเอง ด้วยความเหน็ดเหนื่อย ในปี พ.ศ. 2440 ได้มีการสอบไล่กฎหมายครั้งแรก ได้เนติบัณฑิตรุ่นแรก 9 คน ออกมารับราชการแบ่งเบาพระภาระไปได้บ้าง ทางด้านการศึกษาวิชากฎหมายได้พยายามพิมพ์ฎีกาบางเรื่องออกจำหน่ายเพื่อให้คนเห็นแนวทางของกฎหมายที่จะดำเนินต่อไป ออกมากก็ไม่ได้เพราะผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ศาลของเรายังไม่พร้อมที่จะรับได้ในสมัยนั้น ได้ทรงทำคำอธิบายกฎหมายลักษณะอาญา และตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ออกมาเพื่อให้นักศึกษาใช้ศึกษา

          
ในเวลานั้น มีศาลกงสุลอยู่ในประเทศไทยตามสัญญาทางพระราชไมตรี เนื่องจากฝรั่งเขาอ้างว่ากฎหมายของเรายังไม่ทันสมัย และเขายังไม่ไว้ใจศาลไทย กรมหลวงราชบุรีฯ ได้ทรงแก้ไขโดยจ้างนักกฎหมายชาวญี่ปุ่น และเบลเยี่ยมมาเป็นผู้พิพากษาต่อมาก็จ้างคนอังกฤษและฝรั่งเศษมาร่วมด้วย ซึ่งล้วนเป็นนักกฎหมายชั้นเยี่ยมทั้งสิ้น เป็นเหตุให้ผู้พิพากษาในศาลไทยกระตือรือล้น ศึกษาวิชากฎหมายไทย และต่างประเทศ การงานดำเนินไปด้วยดีและรุดหน้า ความเชื่อถือในศาลไทยจึงมีมากขึ้นตามลำดับ ถึงกับต่างประเทศยอมเลิกศาลกงสุลยอมให้คนของเขามาขึ้นศาลไทยซึ่งเรียกว่า ศาลต่างประเทศ มีฝรั่งนั่งเป็นผู้พิพากษากำกับอยู่คนหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันนี้ศาลต่างประเทศก็หมดสิ้นไปจากเมืองไทยแล้ว

          
พระภาระกิจของกรมหลวงราชบุรีฯ มีความหนักอึ้งสุดจะพรรณนา นอกจากหน้าที่เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมและอาจารย์โรงเรียนกฎหมายที่กล่าวแล้ว ยังทรงรับหน้าที่กรรมการศาลฎีกาอีกตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งในเวลานั้นคดีใหญ่ ๆ ที่สำคัญผู้พิพากษาทั้งหลายก็มักจะนำคดีมาหารือ หรือบางทีก็ถวายให้ทรงร่างคำพิพากษาให้เลยก็มี อันนับว่าเป็นภาระที่หนักยิ่งเพราะหาคนช่วยได้ไม่มากนักในเวลานั้น เป็นการเหนื่อยยากลำบากที่สุด แต่พระองค์ก็ทรงพอพระทัย และตั้งพระทัยเด็ดเดี่ยวที่จะสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจนสุดแรง ช่วยคนให้มีความรู้ในวิชากฎหมาย และอบรมจิตใจให้มีความซื่อสัตย์จงรักภักดีเพื่อจะได้รับใช้ประเทศชาติ ทรงเสียสละทุกอย่างโดยไม่ทรงคิดถึงพระองค์เองเลย ทรงคิดถึงแต่งานเป็นใหญ่ เสด็จในกรมฯ ทรงมีพระทัยเมตตาต่อคนทั่ว ๆ ไปไม่ทรงเลือกที่รักมักที่ชัง ทรงยึดหลักที่ว่า "คนทุกคนต้องเคารพเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน จะทำอะไรต้องคิดถึงคนอื่น" ทรงยึดหลักความยุติธรรมประจำพระทัย พอพระทัยในการทำงานมิได้ย่อท้อ ทรงยึดหลักที่ว่า "My life is service" คือ "ชีวิตของข้าพเจ้าเกิดมาเพื่อรับใช้ประเทศชาติ" กรมหลวงราชบุรีฯ ทรงมีความคิดและความประสงค์มานานที่จะให้ผู้พิพากษาเป็นอิสระ ซึ่งแปลว่าศาลเป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากรัฐบาล ซึ่งแท้จริงก็เป็นความคิดตามครรลองประชาธิปไตยดังที่เป็นอยู่ทั่วไปในโลกเวลานี้นี่เอง แต่ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่ายังไม่ถึงเวลา จึงเป็นที่ผิดหวังของกรมหลวงราชบุรีฯ อยู่มาก สำหรับข้าราชการในกระทรวงยุติธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนกฎหมายซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพระองค์ท่านนั้นต่างเทิดทูนกรมหลวงราชบุรีฯ เป็นศาสดา ไม่ว่าจะรับสั่งว่าอะไร หรือให้ทำอะไร ก็ดูเหมือนจะเห็นตามหรือทำตามทั้งสิ้น

          
ในราววันที่ 20 เมษายน ร.ศ. 129 (พ.ศ. 2453) กรมหลวงราชบุรีฯ ทรงทำหนังสือกราบบังคมทูลว่าประชวรมีอาการปวดพระเศียรเป็นกำลังรู้สึกว่าในสมองเผ็ดร้อนเหมือนหนึ่งโรยพริกไทยระหว่างมันสมองกับกระดูก คิดและจำอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น ทำงานแม้แต่นิดหน่อยก็เหนื่อย หมอไรเตอร์ตรวจพระอาการแล้วว่าต้องหยุดการทำงานพักรักษาพระองค์ เมื่อเป็นเช่นนี้รู้สึกว่าจะทำงานสนองพระเดชพระคุณไม่ได้ จึงขอกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีเพื่อเปิดโอกาสให้ทรงเลือกสรรผู้อื่นเข้ารับหน้าที่ต่อไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2462 กรมหลวงราชบุรีฯ ซึ่งย้ายไปดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ร.ศ. 131 (พ.ศ. 2455) ได้ประชวรด้วยโรควัณโรคที่พระวักกะ จึงเสด็จไปที่กรุงปารีสเพื่อรักษาพระองค์ แต่พระอาการก็ไม่ทุเลา ครั้นวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2463 ก็สิ้นพระชนม์ที่กรุงปารีสนั่นเอง พระชนมายุเรียงปีได้ 47 พรรษา อันนำความโศกเศร้าเสียใจมาสู่วงการนักกฎหมายไทยยิ่งนัก

          
ด้วยเหตุที่เสด็จในกรมหลวงราชบุรีฯ ทรงมุ่งพระทัยที่จะทำงานให้แก่ประเทศชาติบ้านเมืองมากกว่าที่จะสนพระทัยในเรื่องส่วนพระองค์ ทรงมีพระทัยเมตตาแก่บุคคลทั่ว ๆ ไป ทรงยึดหลักความยุติธรรมเป็นธรรมประจำพระทัย ไม่ทรงเลือกที่รักมักที่ชังทรงละความโลภ ความโกรธ ความหลง สิ่งเหล่านี้ไม่อยู่ในพระทัยของพระองค์เลย ทรงมีพระคุณต่อประเทศชาติและต่อนักกฎหมายทั้งปวงเป็นเอนกประการ ด้วยพระเกียรติคุณอันสุดจะพรรณนาทำให้ประชาชนทั่วไปขนานนามพระองค์ท่านว่า "พระบิดาและปฐมาจารย์แห่งนักกฎหมายไทย" ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีเสนาบดีคนใดจะได้รับเกียรติอันเกิดจากน้ำใจคนถึงเช่นนี้

ยินดีต้อนรับสู่ ... พิพิธภัณฑ์ศาลไทย (Court Museum of Thailand)
กลับหน้าแรก