แหล่งท่องเที่ยวในอำเภอเมือง

               

     

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ

            วัดนี้มีชื่อเต็มๆว่า วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ชาวบ้านส่วนใหญ่คุ้นเคยและมักเรียกขานกันว่า “วัดพระศรี” หรือ “วัดใหญ่” จนติดปาก แม้นพระประธานองค์ใหญ่ที่ประดิษฐานในวิหารคือ “พระพุทธชินราช” ชาวเมืองพิษณุโลกนิยมเรียกกันอย่างสนิทคุ้นเคยว่า “หลวงพ่อใหญ่” ตามไปด้วย วัดใหญ่นับว่าเป็นพระอารามหลวงที่สำคัญของจังหวัดพิษณุโลก เพราะเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวพิษณุโลกและชาวไทยทั้งประเทศ วัดพระศรี หรือวัดใหญ่ ตั้งอยู่ริมฝั่งมาน้ำน่านทางทิศตะวันออก ตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก ปัจจุบันนี้วัดพระศรีหรือวัดใหญ่เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิด “วรมหาวิหาร” สร้างขึ้นในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท แห่งกรุงสุโขทัยหรือพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก มาสร้างเมืองสองแควในปี พ.ศ.1900 พร้อมกับสร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุในปีเดียวกัน ในวัดพระศรี รัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ยังมีโบราณวัตถุล้ำค่าอีกมากมาย

 

                 

พระพุทธชินราช 

                    เป็นพระพุทธรูปองค์ประธานปางมารวิชัย ขนาดใหญ่หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตักกว้าง 5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว สูง 7 ศอก พระพุทธลักษณะงดงามมากที่สุดในประเทศ เส้นรอบนอกพระวรกายอ่อนช้อย พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง พระเกตุมาลาเป็นรูปเปลวเพลิงมีลักษณะพิเศษที่เรียกว่า ทีฒงคุลีคือที่ปลายนิ้วทั้งสี่ยาวเสมอกัน ซุ้มเรือนแก้วทำด้วยไม้แกะสลักสร้างในสมัยอยุธยา แกะสลักเป็นรูปตัวมกร (ลำตัวคล้ายมังกรและมีงวงคล้ายช้าง) อยู่ตรงปลายซุ้ม และตัวเหลา (คล้ายจรเข้) อยู่ตรงกลางซุ้ม และมีเทพอสุราคอยปกป้ององค์พระอยู่ 2 องค์ คือท้าวเวสสุวัณ และอารวกยักษ์ ตำนานการสร้างพระพุทธชนราชกล่าวว่า สร้างในสมัยพระศรีธรรมไตรปิฏก (พระยาลิไท) ในครั้งนั้น โปรดให้สร้างพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ขึ้น 3 องค์ คือ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา การทำพิธีเททองสัมฤทธิ์ปรากฏว่าหล่อได้สำเร็จ เพียง 2 องค์ คือ พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดาเท่านั้น ส่วนองค์พระพุทธ ชินราชปรากฏว่า ทองแล่นไม่ตลอดจึงชำรุดต้องทำพิมพ์หล่อใหม่ถึง 3 ครั้ง ครั้งสุดท้ายพระอินทร์ต้องแปลงองค์เป็นชีปะขาวมาช่วย ได้เททองหล่อพระพุทธรูปเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง นพศก จุลศักราช 319 จึงสำเร็จบริบูรณ์ พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารวัดพระศรี รัตนมหาธาตุ จวบจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3)แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้โปรดอัญเชิญพระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ไปประดิษฐาน ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ(รัชกาลที่ 5) ทรงสนพระทัยในความวิจิตรตระการตาแห่งองค์พระ พุทธชินราช จึงทรงให้จำลองพระพุทธรูปแทนพระพุทธชินราชขึ้นองค์หนึ่งเมื่อปีพ.ศ.2444 แล้วอันเชิญพระพุทธรูปจำลองลงไปกรุงเทพฯเป็นประธานในพระวิหาร ในวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

      

        

บานประตูประดับมุก

                       พระวิหารอันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช หรือหลวงพ่อใหญ่ ทางเข้าพระวิหารด้านหน้ามีบานประตูขนาดใหญ่สวนงามประดับด้วยมุก สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2299 เป็นฝีมือช่างหลวงสมัยอยุธยาตอนปลายในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมโกศตรงกลางประตูมีสันอกเลาประดับลวดลาย “พุ่มข้าวบิณฑ์”สองข้างเป็นลายกนก ก้านแย่งในช่วงกลางของอกเลามีรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนเรียกว่า “นมอกเลา” ประดิษฐ์เป็นรูปบุษบกมีรูปพระอนุโลมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์ประดิษฐานบนบัลลังก์อยู่ในบุษบก สองข้างเป็น ชุมสายซึ่งเป็นเครื่องสูงชนิดหนึ่ง เป็นรูปฉัตร 3 ชั้น ใต้ฐานบุษบก มีรูปหนุมานแบกฐานไว้ ส่วนเชิงล่างของอกเลาทำเป็นรูปกุมภัณฑ์ ยืนถือกระบองท่าสำแดงฤทธิ์ ส่วนลวดลายบานประตูประดับมุกบานนี้เป็นลายกนกที่มีภาพสัตว์หิมพานต์ เช่น ราชสีห์ คชสีห์ เหมราช ครุฑ กินรีรำและภาพสัตว์อื่นๆ นอกจากลายกนกแล้วยังมีลวดลาย “อีแปะ” ด้านละ 9 วงมัดนกหูช้างประกอบช่องไฟระหว่างวงกลม หรือวงกลมเป็นรายกรุยเชิง มีลายประจำก้ามปู ประดับขอบรอบบานประตู เดิมบานประตูวิหารพระพุทธชินราช ทำด้วยไม้สักสลักงดงาม เมื่อทำบานประตูประดับมุกเสร็จ บานประตูเก่านำไปประดับประตูวิหารพระแท่นศิลาอาสน์ จังหวัดอุตรดิตถ์

 

   

พระเหลือ

                     หลังจากสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดาแล้ว พระยาลิไทรับสั่งให้ช่างนำเศษทองสัมฤทธิ์ที่เหลือนำมารวมกันหล่อพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดเล็ก หน้าตัก กว้าง 1 ศอกเศษ เรียกชื่อพระพุทธรูปนี้ว่า “พระเหลือ”เศษทองยังเหลืออยู่อีกจึงได้หล่อพระสาวกยืนอยู่ 2 องค์ ส่วนอิฐที่ก่อเตาสำหรับหลอมทองในการหล่อพระพุทธรูป นำมารวมกันบนชุกชี (ฐานชุกชี) พร้อมกับปลูกต้นมหาโพธิ์ 3 ต้นลงบนชุกชี เรียกว่า โพธิ์สามเส้า ระหว่างต้นโพธิ์ได้สร้างวิหารน้อยขึ้นมา 1 หลัง อัญเชิญพระเหลือกับสาวกเข้าไปประดิษฐานอยู่ เรียกว่า พระเหลือ ปัจจุบันนี้ยังอยู่

 

    

วัดนางพญ

                      ตั้งอยู่ถัดจากวัดราชบูรณะไปทางทิศตะวันออกและอยู่บริเวณเดียวกับวัดราชบูรณะ วัดนี้มีชื่อเสียงในด้านพระเครื่อง มีชื่อเรียกว่า "พระนางพญา " ซึ่งมีการพบกรุกันครั้งแรกในราวปี พ.ศ.2444 และ ในครั้งหลังเมื่อ พ.ศ. 2497การพบกรุครั้งนี้ เนื่องจากวัด ดำริจะปลูกศาลเล็กๆ ขึ้น เมื่อขุดลงไปแล้วก็พบกรุพระจมฝังดินอยู่มากมาย ผู้ที่ได้พระนางพญาไปบูชาต่างก็เล่าลือกันถึงความศักดิ์สิทธิ์ พระนางพญาจึงเป็นที่นิยมของนักเลงพระเครื่อง ปัจจุบันนี้หาได้ยากมาก มีก็แต่ที่สร้างจำลองขึ้นมาภายหลัง

 

  

วัดราชบูรณะ

                     ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออกทางใต้ของวัดพระศรีมหาธาตุ เล็กน้อย อยู่บริเวณตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมือง บริเวณ ใกล้เคียง มีวัดนางพญา มีพื้นที่ทั้งหมด 14 ไร่ 9 งาน 17 ตารางวา จากหลักฐานที่ได้พบชี้ให้เห็นว่าเป็นวัดที่มีอายุนานมากกว่า 100 ปี พระมหาธรรมราชาลิไทพบเข้า จึงได้มีการบูรณะวัดนี้ขึ้นมาอีกครั้ง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจึงได้เรียกชื่อว่า วัดราชบูรณะจนถึงปัจจุบัน วัดแห่งนี้ขึ้นทะเบียนกรมศิลปากรเป็นโบราณสถานได้ประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมา สถาปัตยกรรมที่สำคัญต่าง ๆ ของวัดแห่งนี้ มีอยู่หลายแห่ง อาทิ ตัวพระอุโบสถมีลักษณะพิเศษคือ เศียรนาคที่ชายคาเป็นนาค 3 เศียร มีลักษณะอ่อนช้อยงดงาม วิหารน้อย เป็นวิหารคลุมเฉพาะองค์พระพุทธรูปปูนปั้นปรางค์มารวิชัย ศิลปะแบบสมัยสุโขทัย และกำแพงโดยรอบภายในของวิหารมีจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนด้วยสีฝุ่นบนผนังปูน คาดว่าเป็นงานเขียนในสมัยรัชกาลที่ 4 ถัดไปอีกนิด เป็นโบสถ์เก่าที่มีลักษณะแปลกคือมีเสมาคู่ตั้งอยู่โดยรอบ ในตัวโบสถ์มีจิตรกรรมฝาผนังเช่นกัน แต่เป็นฝีมือช่างรุ่นก่อนวิหารน้อย ส่วนบนจะเขียนเรื่องราวชาดกและส่วนล่างเป็นเรื่องราวของสัตว์ต่างๆ ในป่าหิมพานต์แทรกคำพูดเข้าไปด้วยและยังมีหอระฆัง หอไตร ที่งดงามด้วยศิลปะและการก่อสร้าง

 

                

วัดจุฬามณี

                      อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 5 กม. ใกล้กับ ตชด. 31 วัดนี้เป็นโบราณสถานที่มีมาก่อนสุโขทัย ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้สร้างพระวิหาร และเสด็จออกผนวชที่วัดนี้เมื่อ พ.ศ.2007 สิ่งสำคัญในวัดซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่าสูงทางศิลปะ และสร้างปัญหาแก่นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีเป็นอย่างมาก คือปรางค์แบบขอม
วัดอรัญญิก    
                      ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน อยู่ห่างจากกำแพงเมืองประมาณ 1 กิโลเมตร บนถนนพญาเสือ ซึ่งแยกออกจากถนนเอกาทศรถ เป็นวัดที่สร้างในสมัยสุโขทัย สำหรับสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสี วัดนี้มีคูน้ำล้อมรอบตามคติสมัยสุโขทัย ถมเป็นเนินสำหรับวิหาร ด้านหลังมีเจดีย์ใหญ่ทรงลังกา เป็นเจดีย์ประธานและมีเจดีย์บริวารสี่องค์

สระสองห้อง

                     อยู่ทางด้านตะวันตกของพระราชวังจันทน์นอกกำแพง ปัจจุบันอยู่นอกรั้วโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม เดิมชาวบ้านเรียกว่า “หนองสองห้อง” เป็นที่ประทับสำราญพระทัยของพระมหากษัตริย์ที่มาประทับ ณ พระราชวังจันทน

 

 

  

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าสิบเอกทวี บูรณเขตต

                      พิพิธภัณฑ์นี้ตั้งอยู่บนถนนวิสุทธิกษัตริย์ ตรงข้ามโรงหล่อพระบูรณะไทยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นสถานที่เก็บรวบรวมศิลปะพื้นบ้านที่เป็นข้าวของเครื่องใช้ซึ่งเป็นเครื่องมือหากินของชาวบ้านตั้งแต่ชิ้นเล็กๆจนถึงชิ้นใหญ่ๆ เช่น เครื่องจักรสาน เครื่องปั้นดินเผา เครื่องใช้ในครัวเรือน และเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น เครื่องวิดน้ำด้วยมือ เครื่องสีข้าว เครื่องมือดกจับสัตว์ชนิดต่างๆ สิ่งของที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีนับหมื่นๆชิ้น ควรค่าแก่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง พิพิธภัณฑ์เปิดให้ชมทุกวันโดยไม่เสียค่าเข้าชมแต่ประการใด
                       จ่าสิบเอก ดร.ทวี บูรณเขตต์ ได้รับยกย่องว่าเป็น”คนดี ศรีเมืองพิษณุโลก”คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติยกย่องให้เป็น”บุคคลดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขาช่างฝีมือ”ประจำปี พ.ศ.2526 และสภามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีกิตติมศักดิ์ สาขาศิลปะ เมื่อปี พ.ศ.2527 เนื่องจากเป็นผู้มีฝีมือในทางประติมากรรมและเป็นผู้อนุรักษ์ศิลปะล้านนาไทยไว้มากที่สุด

 

เจดีย์ยอดทอง

                      เป็นวัดที่ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองพิษณุโลก โดยมีถนนพญาเสือผ่านไปทางเดียวกับวัดอรัญญิก วัดเจดีย์ยอดทองในปัจจุบันเหลือแต่เจดีย์ทรงดอกบัวตูมเพียงองค์เดียวที่เป็นศิลปะสุโขทัย ฐานกว้างประมาณ 9 เมตร สูง 20 เมตร เฉพาะยอดทรงดอกบัวตูมนั้นได้เห็นรอยกะเทาะของปูนทำให้แลเห็นการเสริมยอดโดยการพอกปูนเพิ่มที่ยอดแหลมของดอกบัวตูมที่น่าสังเกตุว่าลักษณะเจดีย์ทรงดอกบัวตูม ซึ่งเป็นศิลปะของสมัยสุโขทัยนี้ยังคงมีปรากฏอยู่ในจังหวัดพิษณุโลกเพียงองค์เดียวเท่านั้น ส่วนองค์พระปรางค์ (พระศรีรัตนมหาธาตุ)ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ท่านผู้รู้ยืนยันว่าทรงเดิมเป็นแบบดอกบัวตูม แต่ดัดแปลงเป็นแบบปรางค์ในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ฉะนั้นวัดเจดีย์ยอดทองจะต้องเป็นวัดโบราณที่สร้างขึ้นในสมัยเดียวกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ นับว่าเป็นวัดเก่าแก่ที่ควรจะอนุรักษ์ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ชมกันต่อไป

 

วัดวิหารทอง

                      วัดนี้เป็นวัดใหญ่อยู่ติดกับสำนักงานที่ดินจังหวัดพิษณุโลก ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน เยื้องกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเล็กน้อย ปัจจุบันเป็นวัดร้าง เหลืออยู่แต่เนินฐานเจดีย์ ซึ่งมีขนาดใหญ่มาก และเสาศิลาแลงขนาดใหญ่ ประมาณ 7 ต้น ซึ่งเดิมเป็นวิหารประดิษฐานพระอัฏฐารส ที่พิษณุโลกมีการสร้างพระอัฏฐารส 2 องค์ องค์หนึ่งเป็นปูน อยู่ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ส่วนอีกองค์หนึ่งเป็นโลหะอยู่ที่วัดวิหารทอง ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดสระเกศ คติการสร้างพระอัฏฐารสนี้ท่านผู้รู้กล่าวว่าเป็นคติของสุโขทัย ดังนั้น วัดวิหารทองในอดีตน่าจะมีความสำคัญยิ่งวัดหนึ่งของเมืองพิษณุโลก

ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

                      ตั้งอยู่ในโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ซึ่งเป็นพระราชวังจันทน์มาก่อนในอดีต เนื่องจากเห็นว่าที่ตั้งของโรงเรียนนี้เคยเป็นที่ประทับของพระองค์ท่าน ทางจังหวัดร่วมด้วยประชาชนทั่วประเทศจึงช่วยกันบริจาคเงินสร้างตัวศาลาเป็นรูปทรงไทยโบราณตรีมุข พระรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชปั้นเท่าองค์จริง ประทับนั่ง พระหัตถ์ทรงพระสุวรรณภิงคารหลั่งน้ำในพระอิริยาบถประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง กรมศิลปากรดำเนินการสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.2504 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จฯมาทรงเปิดศาลานี้เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2504 และทางจังหวัดพิษณุโลกถือเอาวันที่ 25 มกราคมของทุกปี เป็นวันจัดงานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อชาวพิษณุโลกทุกคนจะได้ระลึกถึงอดีตมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ของไทยเราตลอดกาล

 

พระราชวังจันทน์

                       พระราชวังจันทน์เป็นสถานที่พระราชสมภพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม โดยเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2535 กรมศิลปากรได้ขุดค้นพบแนวเขตพระราชฐานพระราชวังจันทน์ในบริเวณโรงเรียน ซึ่งนับว่าเป็นการขุดค้นทางโบราณคดีและทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของจังหวัดพิษณุโลก แต่ในปัจจุบันนี้ กรมศิลปากรได้กลบหลุมขุดดังกล่าว เพื่อเป็นการอนุรักษ์โบราณสถานไว้ จนกว่าจะได้มีการขุดค้นอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง

 

ปรางค์ประธานและพระอัฏฐารส

                     พระปรางค์องค์นี้สร้างแบบสมัยอยุธยาตอนต้น ตั้งอยู่บนฐานย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ สันนิษฐานว่า แต่เดิมคงจะเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์(ดอกบัวตูม)ซึ่งถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัยแท้และต่อมาเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ถูกแปลงให้เป็นพระปรางค์ในสมัยอยุธยา ทรงด้านหน้าพระปรางค์มีพระปูนปั้น เรียกว่า พระอัฏฐารส สูง 18 ศอก ปางประทับยืนยกพระหัตถ์ขวาขึ้นอยู่บนบริเวณเนินพระอัฏฐารส หรือที่เรียกกันว่า เนินวิหารเก้าห้อง
กำแพงเมืองคูเมือง
                     เมืองโบราณทั้งหลายย่อมมีกำแพงเมืองและคูเมืองเพื่อไว้ป้องกันมิให้ข้าศึกเข้าจู่โจมได้โดยง่าย โดยกำแพงนั้นทำด้วยดิน ถ้าไม่สูงมากนักมักจะเรียกว่า “คันดิน” ดังนั้นนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีจึงเรียกว่า “คูน้ำคันดิน” กำแพงเมืองพิษณุโลกแต่เดิมเป็นกำแพงดินเช่นเดียวกับกำแพงเมืองสุโขทัย คงจะสร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถเพื่อเตรียมรับศึก พระเจ้าติโลกราชแห่งราชอาณาจักรล้านนา และต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้โปรดให้ซ่อมแซมกำแพงเมืองอีกครั้งเพื่อเตรียมรับศึกพม่า พอถึงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้โปรดให้ชาวฝรั่งเศสสร้างกำแพงใหม่โดยก่อด้วยอิฐให้แข็งแรงยิ่งขึ้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้รื้อกำแพงเมืองและป้อมต่างๆเพื่อมิให้พม่าซึ่งรุกรานไทยอยู่เสมอยึดเป็นที่มั่น ฉะนั้น กำแพงดินเมืองพิษณุโลกในปัจจุบันจึงมีอยู่เพียงบางจุดซึ่งเป็นจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับเมืองโบราณอื่นๆที่ร่วมสมัย เช่น สุโขทัย และกำแพงเพชร เป็นต้น
                      กำแพงเมืองที่เห็นได้ชัดเจนขณะนี้คือ บริเวณวัดโพธิญาณ ซึ่งอยู่ทางเหนือใกล้ๆค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช บริเวณวัดน้อย ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกใกล้ทางรถไฟและบริเวณสถานีตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลก ส่วนทางฝั่งตะวันตกนั้นได้สร้างเป็นถนนแล้ว คือ ถนนพระร่วง(หลังสถาบันราชภัฎพิบูลสงคราม) สำหรับคูเมืองที่มีเห็นได้ชัดเจนคือ แนวที่ขนานไปกับถนนพระร่วงนั้นเอง ขนาดกว้างประมาณ 12 เมตร โดยเฉพาะคูเมืองทางด้านทิศใต้ของสถาบันราชภัฎพิบูลสงคราม ซึ่งโค้งไปบรรจบกับแม่น้ำน่านถูกไถกลบสร้างเป็นอาคารไปหมดแล้วคงเหลือเฉพาะทางด้านตะวันตกริมถนนพระร่วง

สวนชมน่านเฉลิมพระเกียรติ
                      สวนชมน่านฯสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2543 เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนในจังหวัด มีลู่วิ่งและเลนขี่จักยาน สนามเด็กเล่นพร้อมเครื่องเล่นต่าง เช่น กระดานรื่น ชิงช้า ฯลฯ ทุกวันชาวพิษณุโลกจะมาออกกำลังกาย เช่น เต้นแอโรบิก รำมวยไทเก็ก กันที่นี่
                      เรือนแพเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของจังหวัดพิษณุโลกบริเวณสองฝั่งแม่น้ำน่านในเขตอำเภอเมืองพิษณุโลก มีเรือนแพตั้งเรียงรายไปตามลำน้ำจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ ชีวิตชาวแพเป็นชีวิตที่เรียบง่าย นักท่องเที่ยวนิยมถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึกเพราะเป็นภาพที่หาดูได้ไม่ง่ายนัก

หอศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร
                      ตั้งอยู่ในบริเวณศูนย์วิทยบริการ มหาวิทยาลัยนเรศวร(ส่วนสนามบิน) ถนนสนามบิน อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก จัดตั้งขึ้นเพื่อเผยแพร่และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติ ภายในจัดแสดงผลงานศิลปะกว่า 100 ชิ้น ของศิลปินที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย อาทิเช่น นายชวน หลีกภัย(นายกรัฐมนตรี) อ.สวัสดิ์ ตันติสุข (ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์) อ.พูน เกษจำรัส (ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์) อ.ประยูร อุลุชาฎะ (ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์) ประเทือง เอมเจริญ ชวลิต เสริมปรุงสุข เป็นต้น
                       นอกจากนี้ยังมีส่วนของพิพิธภัณฑ์ “วิถีชุมชนภาคเหนือตอนล่าง” จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องมือทำมาหากิน ใบลาน เป็นต้น และยังเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูล “โครงการท้องถิ่นศึกษาต้อนล่าง”อีกด้วย