หน้าหลัก พจนานุกรม ศัพท์บัญญัติวิชาการ คลังความรู้ สิ่งพิมพ์ เว็บบอร์ด
 
ข้อมูลหน่วยงาน
ข่าวประชาสัมพันธ์  
ข่าวการจัดซื้อจัดจ้าง  
กฎระเบียบ
ผู้บริหาร  
ราชบัณฑิต ภาคีสมาชิก
ข้าราชการและลูกจ้าง
คณะกรรมการ
วารสารราชบัณฑิตฯ
จดหมายข่าว  
รายงานประจำปี
หนังสือเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ  
หนังสือเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ  
ประวัติศาสตร์
วัด วัง ถนน ฯลฯ  
อนุกรมวิธานพืช
ศัพท์ต่างประเทศที่ใช้คำไทยแทนได้  
สรุปผลการสัมมนา ฯลฯ  
คำถามที่ถามบ่อย (FAQ)  
ติดต่อเรา  
 
 
 
 
 
 
การทับศัพท์
การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมัน  
การอ่านตัวเลขต่าง ๆ
การอ่านเครื่องหมาย
การอ่านคำวิสามานยนาม
เครื่องหมายวรรคตอน
การเว้นวรรค  
การเขียนคำย่อ  
ชื่อจังหวัด เขต อำเภอ  
ชื่อทะเล  
ชื่อธาตุ  
ชื่อประเทศ/เมืองหลวง  
ลักษณนาม  
ราชาศัพท์  
 

 
 
ปุริมพรรษา โดย ศ.จำนงค์ ทองประเสริฐ

ปุริมพรรษา

         ตามศัพท์อ่านว่า “ปุ-ริ-มะ-พัน-สา” แต่โดยทั่ว ๆ ไปนิยมอ่านว่า ปุ-ริม-มะ-พันสา คำนี้เป็นคำที่มิได้ใช้กันทั่ว ๆ ไปนัก แต่ก็พบในหนังสือที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาอยู่บ้าง บางทีทั้งครูและนักเรียนต่างก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า คำว่า “ปุริมพรรษา” ต่างกับคำว่า “พรรษา” อย่างไร อย่างเช่น พูดว่า “เข้าพรรษา” กับ “เข้าปุริมพรรษา” ต่างกันหรือไม่ ทั้งนี้เพราะในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ เก็บไว้เฉพาะคำว่า “เข้าพรรษา” โดยเก็บเป็นลูกคำของคำว่า “เข้า ๑” และได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ “น. เรียกวันที่พระสงฆ์เริ่มเข้าจำพรรษา คือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ว่า วันเข้าพรรษา. ก. เข้าอยู่ประจำที่ ๓ เดือนในฤดูฝน (ใช้แก่พระสงฆ์).” แต่คำว่า “เข้าปุริมพรรษา” ท่านมิได้เก็บไว้ และคำว่า “ปุริมพรรษา” ท่านก็มิได้เก็บไว้เช่นกัน

          ตามปรกติเมื่อพูดถึง “วันเข้าพรรษา” ก็หมายถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ เสมอไป และก็เป็นที่ทราบกันโดยทั่ว ๆ ไป เพราะเป็นวันหยุดราชการ แต่เมื่อมีคำว่า “ปุริมพรรษา” ก็จะต้องมีคำที่คู่กันอีกคำหนึ่ง คือ “ปัจฉิมพรรษา” (ปัด-ฉิม-มะ-พัน-สา)

          คำว่า “ปุริม” (ปุ-ริ-มะ) เป็นคำภาษาบาลีแปลว่า “แรก, ครั้งแรก” ตรงข้ามกับคำว่า “ปัจฉิม” (ปัด-ฉิ-มะ) ซึ่งแปลว่า “ภายหลัง”

          คำว่า “เข้าปุริมพรรษา” หมายถึง “การเข้าพรรษาแรก” ซึ่งก็มีความหมายเหมือนคำว่า “เข้าพรรษา” เท่าที่ใช้กันทั่ว ๆ ไปนั่นเอง คือหมายถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ และไปออกพรรษาเอาวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ หลังจากออกพรรษาแล้ว พระที่อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือน ก็มีสิทธิที่จะรับกฐินซึ่งมีช่วงเวลาเพียง ๑ เดือน นับตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒

          ส่วนคำว่า “ปัจฉิมพรรษา” นั้นแปลว่า “พรรษาหลัง” หมายถึงว่าในกรณีที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ต้องเดินทางไกลหรือมีเหตุสุดวิสัยอื่น ๆ ทำให้กลับมาเข้า “พรรษาแรก” ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ไม่ทัน ก็ต้องรอไปเข้า “พรรษาหลัง” คือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ ได้ เรียกว่า เข้า “ปัจฉิมพรรษา” และจะไปออกพรรษาในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ซึ่งเป็นวันหมดเขตทอดกฐินพอดี เพราะฉะนั้นพระภิกษุที่เข้า “ปัจฉิมพรรษา” จึงไม่มีโอกาสได้รับกฐิน จึงมิได้รับอานิสงส์กฐินตามพระวินัย แต่ก็ได้ “พรรษา” เช่นเดียวกับพระที่เข้า “ปุริมพรรษา” เหมือนกัน อย่างนี้ “พรรษาไม่ขาด”

          นี่คือความต่างกันระหว่าง “ปุริมพรรษา” กับ “ปัจฉิมพรรษา”.

ผู้เขียน : .จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม
ที่มา : ภาษาไทยไขขาน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แพร่พิทยา. ๒๕๒๘. หน้า ๕๑-๕๒.

 


ย้อนกลับ
 
 
Copyright 2005 Design & Construction All rights reserved. Developed & Designed by Net-Com