ปลาปักเป้า หรือ Puffer fish เป็นปลาที่หาได้ในน้ำจืดและ น้ำเค็ม พบได้ทั่วไปในประเทศที่มีอากาศร้อนและอบอุ่น ในประเทศไทย พบปลาปักเป้าน้ำจืดได้ตามแหล่งน้ำต่าง ๆ เช่นตามหนอง คลอง บึงและตามแม่น้ำ สายต่าง ๆ ที่พบเห็นคือ ปลาปักเป้าเขียว ปลาปักเป้าเหลืองปลาปักเป้าทอง ส่วนปลาปักเป้าหนามทุเรียน ปลาปักเป้าหลังแดง ปลาปักเป้าหลังแก้ว ปลาปักเป้าดาว ฯลฯ เป็นปลาปักเป้าทะเล พบได้ในอ่าวไทย

ที่มาของปลาปักเป้า
        ตามปรกติปลาปักเป้าจะมีสภาพ เหมือนปลา ทั่วไป มีหนามสั้น หรือยาวแล้วแต่ชนิด หากถูกรบกวนจะพองตัวโตขึ้น มีรูปร่างคล้ายลูกโป่ง หรือลูกบอลลูน หรือคล้ายผลทุเรียนลูกกลม ๆมีหนามแหลม ๆ สั้นหรือยาวได้อย่างชัดเจน ทางด้านวิชาการได้จัดแบ่งปลาปักเป้าไว้ 2 วงศ์ ได้แก่Tetraodontidae ลักษณะปลาปักเป้า ในวงศ์นี้ จะมีฟัน 4 ซี่ มีผิวตัวค่อนข้างเกลี้ยง อีกวงศ์หนึ่งเรียกว่า Diodontidae ในวงศ์นี้ มีฟัน 2 ซี่ คล้ายจงอยปากนกแก้ว และมีหนามรอบตัว เห็นได้ชัดเจนกว่าชนิดแรก ในประเทศไทย มีปลาปักเป้าทั้งชนิดที่อาศัยอยู่ในน้ำจืดและน้ำเค็ม รวมกันประมาณราว 20 ชนิด ปลาปักเป้าทะเล (marine puffer fish) มีชื่อเรียกต่างกันไป ได้แก่toad fish, globe fish, toado , swell fish, porcupine fish และ balloon fish เป็นต้น ปลาปักเป้าทะเลเป็นที่รู้จักดี และคุ้นเคยของชาวประมง ถ้าพบเห็นบนเรือลากอวน เขามักจะทำลายมันทิ้งหรือโยน มันกลับลง ไปในทะเล ในประเทศญี่ปุ่นเรียกปลาชนิดนี้ว่า " fugu " เนื้อปลาปักเป้าสดตามภัตตาคารใหญ่ ๆ มีราคาสูงมากเนื่องจากชาวญี่ปุ่นนิยมรับประทานกันมาก เนื้อปลาปักเป้าสดที่จำหน่ายจะต้อง เตรียมโดยผู้ที่มีความชำนาญเฉพาะเป็นอย่างดีเพื่อลดอันตรายจากพิษของปลาให้มากที่สุด โดยชาวญี่ปุ่นนิยมบริโภคปลาปักเป้าโดยทำเป็นปลาดิบ (Sushi) จนเป็นอาหารประจำชาติญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อเป็นที่รู้จัก แม้กระนั้นในช่วง 20 ปี ระหว่างปี ค.ศ. 1955-1975 มีผู้บริโภคเนื้อปลาปักเป้าเป็นพิษรวม 3,000 ราย ในจำนวนนี้ มีผู้เสียชีวิตถึงร้อยละ 51 เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ เนื้อปลาปักเป้าเป็นที่นิยมของชาว ญี่ปุ่นก็คือเนื้อปลามีรสชาติที่วิเศษ หวาน กรุบ และอร่อยดี สำหรับประเทศไทย มีผู้ได้รับพิษ จากการ บริโภคปลาปักเป้าทั้งชนิดน้ำจืด และชนิดน้ำเค็ม ซึ่งมีรายงานทางการแพทย์บ้างเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะรายงานผู้ป่วยในภาคอีสาน ชาวบ้านจะนำปลาปักเป้าที่จับได้จาก หนองน้ำ ลำธาร มาต้มหรือย่าง และแบ่งรับประทานกัน

ปลาปักเป้าในทะเลอ่าวไทย

ปลาปักเป้าสี่เหลี่ยม (ปลากระดูก)
       ชื่ออังกฤษ : Small-Nosed Boxfish ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rhynchostracion nasus (Bloch) วงศ์ : OSTRACONTIDAE ไฟลั่ม : CHORDATA ลำตัวเป็นรูปสี่เหลี่ยม ไม่สามารถพองตัวได้ โดยมีกระดองหุ้มลำตัวอยู่ใต้ผิวหนัง ตากลม ปากเล็ก ครีบหูขนาดใหญ่ ครีบหลังมีเพียงอันเดียวและไม่มีก้านแข็ง ครีบท้องไม่ปรากฎ ครีบหางบางใสเป็นรูปโค้ง ขนาดความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร พื้นผิวลำตัวสีเทาแต้มด้วยจุดสีดำเป็นดอกกระจัดกระจายทั่วไป ปักเป้าชนิดนี้อาศัยอยู่ใกล้พื้นทะเลริมชายฝั่งทั่วไป




ปลาปักเป้าหนามทุเรียน
        ชื่ออังกฤษ : Porcupine Fish ชื่อวิทยาศาสตร์ : Diodon liturosus Shaw วงศ์ : DIODONTIDAE ไฟลั่ม : CHORDATA ลำตัวค่อนข้างกลม และแบนทางด้านบนเล็กน้อย หัวขนาดใหญ่เรียวเล็กลงไปทางหาง ตากลมโตกลอกไปมาได้และมีหนังตายื่นลงมาเป็นติ่ง ปากหนามีฟันเชื่อมต่อกัน ครีบหูขนาดใหญ่คลี่ออกคล้ายพัด ครีบหลังมีอันเดียวอยู่เยื้องไปทางหาง ครีบท้องไม่ปรากฎ ครีบทวารอยู่ตรงกับครีบหลัง ครีบหางโค้งกลม ขนาดความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ผิวลำตัวเป็นหนังย่นและมีหนามแข็งพับลู่ไปทางหาง แต่จะตั้งขึ้นเมื่อตกใจหรือถูกรบกวนและพองตัวได้ พื้นลำตัวมีสีเทา มีลายด่างสีดำเป็นปื้นใต้ตา ใต้คาง บนหัว ข้างแก้มและบนหลัง ปลาปักเป้าชนิดนี้พบอาศัยอยู่ใกล้พื้นทะเลริมชายฝั่งทั่วไปในอ่าวไทย เนื้อของปลาชนิดนี้รับประทานไม่ได้




ปลาปักเป้าลายดำ
        ชื่ออังกฤษ : Black-Lined Blowfish ชื่อวิทยาศาสตร์ : Arothron aerostaticus (Jenyns) วงศ์ : TETRAODONTIDAE ไฟลั่ม : CHORDATA ลำตัวอ้วนกลมและเรียวเล็กน้อย ปากเล็ก ฟันเหมือนนกแก้ว ตากลมโต ครีบหลังมีขนาดเล็กอยู่ค่อน ไปทางหาง ครีบหูเล็ก ครีบทวารอยู่เยื้องไปทางด้านซ้ายของครีบหลัง ครีบหางโค้งกลมเป็นรูปพัด ขนาดความยาวประมาณ 40-50 เซนติเมตร พื้นผิวลำตัวสีขาว แต้มด้วยจุดดำปะปนอยู่ทั่วไป ครีบหลังและครีบหูมีสีเหลืองอ่อน ปลาปักเป้าชนิดนี้อาศัยอยู่ใกล้พื้นทะเลบริเวณที่เป็นดินทรายปนโคลน สามารถพองตัวออกได้เมื่อตกใจ พบทั่วไปในบริเวณอ่าวไทย ปลาชนิดนี้สามารถนำมารับประทานได้ แต่ขณะทำต้องระวังไม่ให้ถุงน้ำดีแตก พบมากในทะเลเขตร้อนรอบโลกและบริเวณปากแม่น้ำ ชนิดที่พบในน้ำจืดมีน้อย มีทั้งหมดทั้งสิ้น 28 สกุล (Genus) สำหรับในประเทศไทย ปักเป้าที่พบในน้ำจืดทั้ง 12 ชนิด (Species) ต่างเป็นปลาในวงศ์นี้ทั้งสิ้น ชนิดที่อยู่ในน้ำจืดที่พบบ่อยในประเทศไทยได้แก่ ปลาปักเป้าดำ (Monotrete leiurus) เป็นต้น

ปลาปักเป้าน้ำจืดในประเทศไทย
        ปักเป้าน้ำจืดที่พบในเมืองไทยมี 3 สกุล 12 ชนิดดังนี้ สกุล Carinotetraodon ปักเป้าสกุลนี้มีลักษณะที่เด่นกว่ากลุ่มอื่น โดยเพศผู้และเพศเมียมีความแตกต่างกันมาก ทั้งในเรื่องรูปร่างและสีสัน ปลาเพศผู้จะมีลำตัวใหญ่กว่า แบนข้างมากกว่า และมีสีสวยงามมาก นอกจากนี้ในการแสดงความก้าวร้าวปลาปักเป้ากลุ่มนี้เพศผู้สามารถกางส่วนของผิวหนังบนส่วนหัวและท้องได้ ปักเป้าสกุลนี้มีขนาดค่อนข้างเล็กกว่าปักเป้าสกุลอื่น และยังมีสมาชิกเป็นปักเป้า ที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลกได้แก่ เจ้าปักเป้าสีเหลืองตัวจ้อย Yellow Puffer (C. tarvancoricus)



ปักเป้าสมพงษ์ (ปลาสวยงาม), ปักเป้าตาแดง(ฝั่งธนบุรี) Carinotetraodon lorteti (Tirant, 1885)
        ปลาสกุลนี้น่าจะพบในประเทศไทย 2 ชนิด โดยทั่วไปจะรู้จักเพียงชนิดเดียวที่เรียกกันว่า “ปักเป้าสมพงษ์ “ แต่อย่างไรก็ดี จากการสำรวจผมเคยได้พบตัวอย่างปักเป้าสกุลนี้จากแม่น้ำตาปี และแม่น้ำโกลกซึ่งน่าจะเป็นอีกชนิดหนึ่งที่มีการกระจายพันธุ์อยู่ในคาบสมุทรมาเลย์ เจ้าปักเป้าตัวน้อยนี้ผู้เขียนมีประสบการณ์ตรง โดยในวัยเด็กเนื่องจากบ้านของผมอยู่ ติดแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตคลองสานฝั่งธนบุรี แต่ก่อนเจ้านี่ชุกชุมมากผมไม่เคยเห็นปักเป้าชนิด อื่นเลยนอกจากชนิดนี้ แถวบ้านผมนอกจากจะมีการเลี้ยงปลากัด ปลาเข็ม และปลาหัวตะกั่วไว้ กัดกันแล้ว ปักเป้าชนิดนี้ก็เป็นอีกชนิดหนึ่งที่มีการเลี้ยงไว้ในไหเล็กๆ เพื่อนำมากัดกันตามภาษา เด็ก เราจะไปหาช้อนตามกอผักตบชวาที่เราเรียกกันว่าสวะ โดยปลาจะแอบอยู่บริเวณรากใต้กอ สวะ เราสามารถเห็นแถบสีที่คล้ายอึ่งอ่างได้อย่างชัดเจน ปลาชนิดนี้จับง่ายเนื่องจากเคลื่อนที่ช้า ในการช้อนครั้งหนึ่งๆ ได้ประมาณ 3-4 ตัว/กอสวะหนึ่งกอ ปลาชนิดนี้ชอบกินกุ้งขนาดเล็กที่อยู่ตามกอสวะ ในที่เลี้ยงจะชอบหนอนแดงและไรทะเล ควรเลี้ยงระบบฮาเร็มประกอบด้วยตัวผู้หนึ่งตัว/เพศเมีย 3-4 ตัว เนื่องจากตัวผู้มักกัดกันรุนแรง มากกว่า ปลาชนิดนี้สามารถพบได้ในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำโขงตอนล่างในเขต กัมพูชาและเวียดนาม

ปักเป้า Carinotetraodon cf. salivator
        เป็นปลาปักเป้าสกุลนี้ที่พบในเขตภาคใต้ในแม่น้ำโกลก และ แม่น้ำตาปี แต่ผมไม่ได้เก็บ ตัวอย่างไว้เปรียบเทียบ อย่างไรก็ดีปลาชนิดนี้มีรายงานการกระจายพันธุ์ในคาบสมุทรมาเลย์และ ตอนเหนือของกาลิมันตัน สกุล Chonerhinus ปักเป้าสกุลนี้มีลักษณะที่เด่นกว่ากลุ่มอื่น ตรงที่มีลำตัวค่อนข้างแบนข้าง มีครีบหลังและ ครีบก้นค่อนข้างใหญ่ ว่ายได้รวดเร็วกว่าปักเป้าน้ำจืดกลุ่มอื่น พองได้น้อยกว่าปักเป้ากลุ่มอื่น เป็น ปักเป้าที่มีความอันตรายต่อความเป็นชายมากกว่ากลุ่มอื่น ในไทยพบสองชนิด



ปักเป้าทอง Chonerhinus modestus Bleeker, 1850
        เป็นปลาในสกุลนี้ที่มีขายอยู่ในท้องตลาด ส่วนใหญ่ถูกรวบรวมมาจากแม่น้ำบางปะกง ในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา ปลาชนิดนี้พบในแม่น้ำในพื้นที่ซึ่งมีอิทธิพลของน้ำขึ้นลง เป็นปลาที่มัก พบรวมกันเป็นฝูงใหญ่ เป็นปลาที่ก้าวร้าวพอสมควรในตู้เลี้ยงถึงแม้จะเป็นพวกเดียวกันเอง ขนาด โตเต็มที่พบมีความยาวประมาณ 14 เซนติเมตร ปลาชนิดนี้มีรายงานการพบในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำบางปะกงด้วย
ปักเป้าทอง Chonerhinus nefastus Roberts, 1982
        เป็นปักเป้าทองที่พบบ่อยในแม่น้ำโขง และลำน้ำสาขา มีขนาดโตเต็มที่ค่อนข้างเล็ก มีลำ ตัวที่เพรียวยาวกว่า C. modestus อย่างเห็นได้ชัด นอกจากแม่น้ำโขงแล้วผมยังได้ตัวอย่างจาก แม่น้ำปัตตานี อีกที่หนึ่งด้วย
        ปักเป้าทองสกุล Tetraodon  เป็นตัวแทนของวงศ์ Tetraodontidae ที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุดทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม ส่วนมากปลาปักเป้าในสกุลนี้มักมีนิสัยชอบซุ่มโจมตีเหยื่อ มากกว่าที่จะออกแรงว่ายน้ำไล่ โดย ส่วนมากปักเป้าในสกุลนี้ในขณะที่พองจะสามารถขยายขนาดได้มากกว่าสองสกุลแรกข้างต้น




ปักเป้าหางวงเดือน Tetraodon cutcutia Hamilton, 1822
        ปลาปักเป้าชนิดนี้มีการกระจายพันธุ์กว้างจากอินเดีย พม่า มาจนถึงประเทศไทยใน บริเวณ ชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน เจ้านี่ชอบอยู่ตามห้วยที่มีน้ำค่อนข้างไหลถ่ายเทพอสมควร เป็นปักเป้าที่มีผิวบางที่สุดในบรรดาปักเป้าที่พบในบ้านเราและที่สำคัญมันไม่มีหนามขนาดเล็กๆ ที่ผิวลำตัว (เป็นเกล็ดแบบพิเศษประเภทหนึ่ง) ปลาปักเป้าชนิดนี้ค่อนข้างก้าวร้าว กัดกันรุนแรง อาจจะเนื่องจากมีผิวบาง อย่างไรก็ดีเนื่องจากลักษณะหนังที่บางและไม่มีหนามเล็กๆ ทำให้ผิวมัน วาวสวยงาม นอกจากนี้ครีบหางของปลาปักเป้าชนิดนี้จะมีขอบสีแดงลักษณะเดียวกับปลากัดทุ่ง ภาคใต้ Betta imbellis




ปักเป้าขน Tetraodon baileyi Sontirat, 1985
        เจ้านี่เป็นสุดยอดของการพรางตัวของปลาปักเป้าและน่าจะเป็นปลาปักเป้าเพียงชนิด เดียวที่มีการแปลงกายที่น่าตื่นตาเช่นนี้ ปลาชนิดนี้ไม่มีหนาม ผิวลำตัวจะมีติ่งเนื้อซึ่งจำนวนมาก น้อยแตกต่างกันและจากประสบการณ์ของผมพบว่าบางตัวจะไม่มีติ่งเนื้อนี้เลย สภาพแวดล้อมที่ ปักเป้าขนอาศัยมีลักษณะเป็นพลาญหิน (แผ่นหินที่แผ่กว้าง มีหลุมหรือร่องกระจายทั่วไป) ปักเป้า ขนเป็นปักเป้าที่ก้าวร้าวอีกชนิดหนึ่งและเป็นปลาที่พบในระบบแม่น้ำโขงเท่านั้น




ปักเป้าควาย, ปักเป้าสุวัติ Tetraodon suvatti Sontirat&Soonthornsatit, 1985
        เป็นปักเป้าอีกชนิดหนึ่งที่มีความโดดเด่น ปักเป้าชนิดนี้มีปากเรียวยาวปากงอนขึ้นด้าน บน และยังมีลายลักษณะคล้ายหัวลูกศรที่บริเวณด้านบนระหว่างตาทั้งสองข้าง ปักเป้าควาย บางตัวอาจมีสีส้มแดง อย่างไรก็ดีเมื่อนำมาเลี้ยงจะเปลี่ยนเป็นสีปกติ ปักเป้าชนิดนี้เป็นปักเป้าที่ พบเฉพาะแม่น้ำโขงอีกเช่นกัน ในที่เลี้ยงปลาชนิดนี้ไม่ค่อยก้าวร้าวเท่าปลาปักเป้าชนิดอื่น ถ้าพื้น เป็นทรายหรือกรวดขนาดเล็กปลาจะฝังตัวโผล่แต่ตาและริมฝีปากล่างที่มีลักษณะคล้ายติ่งเนื้อยื่นออกมา





ปักเป้าจุดส้ม Tetraodon abei Roberts, 1999
        เป็นปลาปักเป้าที่พบทั้งในภาคกลางและลุ่มน้ำโขง มีปากค่อนข้างใหญ่ และมีจุดส้ม กระจายทั่วตัว นอกจากนี้บริเวณข้างลำตัวในแนวระหว่างครีบหลังและครีบก้นจะไม่มีจุดกลมแดง ขนาดใหญ่





ปักเป้าตาแดง Tetraodon leiurus Bleeker, 1851
        เป็นดาราเอกของเหล่าสมัชชาปลาปักเป้าน้ำจืด ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปลาชนิดนี้มี การกระจายพันธุ์กว้างที่สุด จะงอยปากค่อนข้างสั้น และมีจุดแดงในแนวระหว่างครีบหลังและครีบ ก้นเด่นชัด เราสามารถพบปักเป้าชนิดนี้ได้ตามริมน้ำ หนอง บึง เขื่อน เกือบทั่วประเทศ ในเรื่องชื่อ วิทยาศาสตร์ Tetraodon leiurus มีชื่อพ้องหลายชื่อเช่น T. cochinchinensis, T. cambodgiensis, T. fangi

ปักเป้าปากยาว Tetraodon cambogensis Chabanaud, 1923
        ลักษณะโดยทั่วไปจะคล้ายกับ T. leiurus มาก แต่จะมีจงอยปากยาวกว่าอย่างเห็นได้ ชัดนอกจากนี้แต้มสีที่บริเวณข้างลำตัวยังเป็นแต้มสีแดงขนาดใหญ่มากและมีวงสีขาว และแต้ม สีคล้ำกระจายรอบ ปักเป้าชนิดนี้ก้าวร้าวมาก พบทั้งบในภาคกลางและภาคใต้

ปักเป้าปากยาวโขง Tetraodon barbatura Roberts, 1999
        เจ้านี่ก็ปากยาวเหมือนกันแต่มีลักษณะเด่นที่ริมฝีปากล่างจะมีแต้มสีดำ และส่วนท้องจะ ขาวไม่มีลายปลาชนิดนี้พบในแม่น้ำโขง




ปักเป้าท้องตาข่าย Tetraodon palembangensis Bleeker, 1852
        เป็นปลาที่พบเฉพาะทางใต้ โดยมีรายงานจากทะเลสาบสงขลา เป็นปักเป้าที่พบชุกชุมใน บางฤดูกาลบริเวณลำคลองรอบๆ พรุโต๊ะแดง ที่นราธิวาส ปักเป้าชนิดนี้มีลักษณะเด่นที่หนังหนา หนามค่อนข้างใหญ่ และมีตาโตมาก นอกจากนี้เวลาพองจะพองได้กลมเหมือนลูกบอลเลยทีเดียว ปลาปักเป้าชนิดนี้ก็เป็นอีกชนิดหนึ่งที่ค่อนข้างเรียบร้อย