ชีวิตและผลงาน
 
ท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2450 ที่จังหวัดธนบุรี บิดาชื่อ มหาอำมาตย์ตรี พระยาธรรมสารเวทย์วิเศษภักดี ศรีสัตยวัตตา พิริยพาหะ (ทองดี ธรรมศักดิ์) มารดาชื่อ คุณหญิงชื้น ธรรมสารเวทย์ฯ สมรสกับ ท่านผู้หญิงพงา ธรรมศักดิ์ (เพ็ญชาติ) เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2477 มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นายชาติศักดิ์ ธรรมศักดิ์ และนายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์
 
การศึกษา

  ท่านอาจารย์เข้าศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญ เมื่อ พ.ศ. 2457 และสำเร็จชั้น 6 อังกฤษ (มัธยมบริบูรณ์)

พ.ศ. 2468
ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรมเป็นเวลา 3 ปี และสำเร็จเป็นเนติบัณฑิต เมื่อ พ.ศ. 2471
พ.ศ. 2472
สอบแข่งขันได้คะแนนสูงสุด และได้รับทุนเล่าเรียน “รพีบุญนิธิ”
ไปศึกษาวิชากฎหมายต่อในประเทศอังกฤษ ที่สำนักมิดเดิ้ลเทมเปิ้ล (THE MIDDLE TEMPLE)
ศึกษาอยู่เป็นเวลา 3 ปี ก็สอบไล่ได้สำเร็จตามหลักสูตรเป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ (BARRISTER-AT-LAW) เมื่อ
พ.ศ. 2475
 
พ.ศ. 2470
ขณะอุปสมบทที่วัดเบญจมบพิตร ได้ศึกษาพระธรรมวินัยที่สำนักเรียนวัดเบญจมบพิตรและสามารถสอบไล่นักธรรมชั้นตรีได้เป็นที่ 1
 
 
พ.ศ. 2498
เข้ารับการศึกษาในวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรเป็นรุ่นที่ 1
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้มอบปริญญานิติศาสตร์ดดุษฎีกิตติมศักดิ์ให้ในปี พ.ศ. 2506 พ.ศ. 2517
และพ.ศ. 2524 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังได้รับปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์สาขาต่างๆ จากมหาวิทยาลัยอื่นๆ
อีกหลายแห่ง
   

 

การทำงาน

 
1 ส.ค. 2468
ได้เข้ารับราชการครั้งแรก ในขณะที่มีอายุ 18 ปี 3 เดือน 27 วัน
ในตำแหน่งนักเรียนล่ามกรมบัญชาการ
(กองล่าม) กระทรวงยุติธรรม เงินเดือน 30 บาท
 
1 ธ.ค. 2470
ได้รับราชการในตำแหน่งล่าม เงินเดือน 50 บาท
ท่านอาจารย์มีความตั้งใจที่จะเป็นตุลาการตั้งแต่ครั้งที่ยังเยาว์
เพราะได้เห็นแบบอย่างการเป็นตุลาการที่ดีของบิดา
 
1 ส.ค. 2476
ดังนั้นเมื่อเจริญวัยขึ้นหลังจากที่ได้เข้ารับราชการแล้ว ได้มีโอกาสที่จะเจริญรอยตามบิดา
 
10 ก.ค. 2477
เป็นผู้พิพากษาฝึกหัด เงินเดือน 200 บาท
 
7 ก.พ. 2478
ได้เข้ารับราชการในตำแหน่งผู้พิพากษาในกระทรวงยุติธรรม เงินเดือน 200 บาท
 
5 ก.ค. 2478
ไปช่วยราชการที่ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา เงินเดือน 260 บาท
 
1 พ.ค. 2491
เป็นผู้พิพากษาอุทธรณ์ เงินเดือน 500 บาท
 
30 ส.ค. 2493
เป็นผู้พิพากษาหัวหน้ากองในศาลอุทธรณ์
 
2 เม.ษ. 2494
เป็นข้าหลวงยุติธรรมภาค 4 (อธิบดีผู้พิพากษา ภาค 5 ในปัจจุบัน) เงินเดือน 700 บาท
และได้ทำหน้าที่ผู้พากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเชียงใหม่ด้วย
 
23 มี.ค. 2496
เป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม เงินเดือน 800 บาท
 
1 ต.ค. 2501
เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา
 
1 เม.ษ. 2502
เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เงินเดือน 1,400 บาท
 
15 ต.ค. 2505
เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ เงินเดือน 8,600 บาท
 
1 ต.ค. 2506
เป็นประธานศาลฎีกา เงินเดือน 9,000 บาท
 
1 ต.ค. 2510
ครบเกษียณอายุราชการ
 
18 มิ.ย. 2511
ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรี
 
14 ต.ค. 2516
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี
บริหารประเทศชาติในยามคับขัน (เมื่อเกิดเหตุการณ์มหาวิปโยค)
ท่านอาจารย์ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกัน 2 สมัย
 
26 มี.ค 2518
ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรี
 
5 ธ.ค. 2518
ได้รับพระกรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี
เป็นกรรมการตุลาการหลายครั้ง เริ่มแรกเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2489 ได้ทำหน้าที่เป็นเลขานุการก.ต.
และเมื่อมีประกาศใช้พระราชบัญญติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ พ.ศ. 2497
เป็นผู้ริเริ่มวางรูปงาน และควบคุมดูแลการเลือกตั้งกรรมการตุลาการผู้ทรงคุณวุฒิครั้งแรกเมื่อ
17 มกราคม 2501 สำเร็จเป็นผลเรียบร้อยดียิ่ง
จนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมสมัยนั้นได้บันทึกความดีความชอบไว้ในสมุดประวัติ
เมื่ออาจารย์ได้ย้ายมารับราชการในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฏีกา
ท่านอาจารย์ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการตุลาการผู้ทรงคุณวุฒิรวม 3 ครั้ง
ครั้งแรก เมื่อ 29 มิถุนายน 2502
ครั้งที่สอง เมื่อ 22 มกราคม 2503
ครั้งที่สาม เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2505
หลังจากที่ครบเกษียณอายุราชการแล้ว
ท่านอาจารย์ก็ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการตุลาการผู้ทรงคุณวุฒิประเภทข้าราชการบำนาญอีก 3 ครั้ง
เมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2511, 14 มกราคม 2513 และ 19 มกราคม 2515 ตามลำดับ
และพ้นจากตำแหน่งกรรมการตุลาการครั้งหลังสุดเมื่อได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ
ให้เป็นนายกรัฐมนตรี
ท่านอาจารย์ยังเป็นผู้มีความรอบรู้ในเรื่องของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง
ท่านได้เขียนบทความและบรรยายปาฐกถา
เกี่ยวกับธรรมะไว้หลายเรื่องและหลายแห่งจนถึงปัจจุบันตลอดมา
ด้วยความสนใจในพระพุทธศาสนา หลังจากกลับจากการศึกษาที่ประเทศอังกฤษ
จึงได้ริเริ่มก่อตั้งพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย (เดิมชื่อว่า “พุทธธรรมสมาคม”) ขึ้นในปี พ.ศ. 2477
และเป็นเลขานุการของสมาคมฯ นานหลายปี
ต่อมาได้สับเปลี่ยนทำหน้าที่อื่นอีกหลายตำแหน่งในสมาคมฯ
จนในที่สุดก็ได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกสมาคมฯ ซึ่งได้ทำหน้าที่ตำแหน่งนี้เป็นเวลาถึง 10 ปี
กระทั่งท่านอาจารย์มีอายุได้ 48 ปี จึงได้สละตำแหน่งนี้
ต่อมา ท่านอาจารย์ได้รับเลือกจากนานาชาติ ให้เป็นรองประธานฯ
ทำหน้าที่แทนประธานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก
   
พ.ศ. 2527
ได้รับเลือกให้เป็น ประธานองค์การพุทธศสนิกสัมพันธ์แห่งโลก
         ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2545 ขณะดำรงตำแหน่งองคมนตรี นับว่าท่านเป็นปูชนียบุคคลที่ได้ประกอบคุณงามความดีแก่สังคมไทย ไว้เป็นอเนกประการ เป็นผู้ทรงคุณธรรมในเรื่องเมตตาและความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และเป็นอาจารย์ผู้ทรงความรู้ในทางวิชาการ และผู้ที่นำวิชาความรู้ไปประยุกต์ใช้จนเป็นที่ยอมรับจากสถาบันการศึกษาชั้นสูง ดังจะเห็นได้จากที่ท่านได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีมติเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2537 ยกย่องให้ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ ดำรงตำแหน่ง "ธรรมศาสตราจารย์"
         นอกจากเป็นนักกฎหมายที่ทำงานทั้งทางปฏิบัติจนเป็นถึงประธานศาลฎีกา และได้บริหารงานในสถาบันการศึกษาด้วยการดำรงตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ ยังได้ทำงานการเมืองที่สำคัญยิ่งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศ โดยเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหารเป็นนายกรัฐมนตรีพระราชทานในยุคที่สังคมกำลังตื่นตัวกับการเรียกร้องให้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ซึ่งท่านก็ได้ใช้ความรู้ความสามารถแก้ไขปัญหาของสังคมไทยในขณะนี้นได้เป็นอย่างดี จนเมื่อท่านพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวแล้ว ก็ยังได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรีเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี คือตั้งแต่ พ.ศ.2518 จนถึง พ.ศ.2541
 
          ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ยังเป็นผู้ที่ได้รับการเคารพนับถือจากบุคคลทั่วไปในวัตรปฏิบัติของท่าน เพราะการที่ท่านได้นำหลักธรรมของพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติราชการและการดำรงชีวิตได้อย่ายดียิ่ง เป็นผู้ฝักไฝ่และมีศรัทธาในพุทธศาสนาโดยตลอด เป็นผู้เริ่มก่อตั้งพุทธสมาคม และภายหลังได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกให้ดำรงตำแหน่งประธานองค์การฯ เป็นเวลานานถึง 14 ปี
 
    จากคุณูปการที่ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ ได้กระทำไว้แก่สังคมไทย ย่อมเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับอนุชนรุ่นหลังที่จะศึกษาและถือเอาเป็นแบบอย่างในการดำเนินรอยตาม จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะยกย่องเชิดชูเกียรติคุณของ ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ ให้เป็นที่ปรากฎสืบไป
 
 
          หน้าแรก  >>  Hall of Fame  >>  ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์
 
Copyright © 2004 by Faculty of Law Thammasat University
All rights reserved.
เลขที่ 2 ถนนพระจันทร์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทรศัพท์ : (66-2) 613-2100   โทรสาร : (66-2) 224-9421