.:: ดินแดนสิบสองปันนา - คลังปัญญาไทย ::. .:: คลังปัญญาไทย : PanyaThai.or.th ::.
หน้าแรกคลังปัญญาไทย
หน้าแรกคลังปัญญาไทย
ดินแดนสิบสองปันนา
 

จาก คลังปัญญาไทย, สารานุกรมฟรี

Jump to: navigation, search

        ดินแดนสิบสองปันนา หรือสิบสองพันนานี้ อธิบายกันว่า เป็นดินแดนของชาวเผ่าที่เรียกตัวเองว่า ‘ไต’ แม้ว่าจีนจะเรียกว่า ‘เย่ว์’ บ้าง ‘จิงเหลียว’ บ้าง เป็นเผ่าใหญ่กว่าเผ่าชนส่วนน้อยอื่นๆ จึงตั้งบ้านเมืองเป็นแคว้นมั่นคงมานานช้า

สารบัญ

[แก้ไข]
ดินแดนสิบสองปันนา

        มีเมืองหลวง คือ เมืองเชียงรุ้ง อยู่เหนือเมืองเชียงตุงขึ้นไปนิดหน่อย เมืองเชียงรุ้งอยู่ชิดแม่น้ำโขง เมืองเชียงรุ้ง อยู่ติดทั้งพม่าและจีนส่วนเมืองเชียงตุงอยู่ติดชายแดนพม่า


        เมื่อต้นรัตนโกสินทร์ เชียงตุงขึ้นกับพม่าเชียงรุ้งขึ้นกับพม่าและจีน หมายความว่าส่งบรรณาการแก่ทั้งสองประเทศ

        เมืองเชียงรุ้งนั้นมีเจ้าแผ่นดินเป็นประมุขมาตั้งแต่ พ.ศ.๑๗๐๓ จนถึงเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๓๙ ช้านานประมาณ ๖๕๐ ปี

        ปลายรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.๒๓๙๐) พระราชพงศาวดารไทยจดไว้ว่า เจ้าแผ่นดินเชียงรุ้งเกิดแย่งชิงกันขึ้นครองแผ่นดิน

[แก้ไข] เรื่องราวมีอยู่ว่า

        เจ้ามหาวัน เจ้าแผ่นดิน สิ้นชมน์ มีโอรสใหญ่ชื่อ เจ้าสาระวัน เป็นเจ้าราชบุตรอยู่ แต่ เจ้ามหาขนาน อาของเจ้ามหาวันกลับขึ้นครองแผ่นดินแทน เจ้าสาระวัน จึงคบคิดกับน้าชาย ชื่อหม่อมมหาไชย หนีไปพึ่งจีน (เมืองฮุนหนำหรือหนองแส) แล้วกลับมาฆ่าเจ้ามหาขนาน (ปู่น้อยของตน) แล้วเจ้าเมืองฮุนหนำก็ตั้งเจ้าสาระวันเป็นเจ้าแผ่นดิน ให้น้องชายชื่อ ออลนาวุธ เป็นอุปราช ทีนี้ลูกชายของเจ้ามหาขนาน (ซึ่งก็เป็นอาของเจ้าสาระวันและออลนาวุธนั่นเอง) ชื่อหม่อมหน่อคำ เมื่อพ่อถูกจับฆ่าก็หนีไปพึ่งพม่า เป็นอันว่าฝ่ายหลานไปพึ่งจีน ส่วนฝ่ายอาไปพึ่งพม่า หม่อมหน่อคำ ไปติดสินบนเจ้าอังวะ ขอให้ช่วย เจ้าอังวะก็ให้นำทัพเมืองหมอกเมืองนายยกไปตีเชียงรุ้ง เจ้าเมืองที่คุมไป ชื่อ จักกายหลวง แต่ระหว่างเดินทาง มารดาของเจ้าสาระวัน กับออลนาวุธ ชื่อ นางปิ่นแก้ว รู้ข่าว ก็ให้คนสนิทนำเงิน ๕๐ ชั่ง ทอง ๑๐ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ลอบมาติดสินบนจักกายหลวง และว่าจะยอมเป็นเมียจักกายหลวงด้วยหากยอมช่วย จักกายหลวง จึงทำอุบาย พอถึงเชียงรุ้งก็ตั้งให้หม่อมหน่อคำ (อา) เป็นเจ้าแผ่นดินตามคำสั่งเจ้าอังวะให้เป็นอยู่ ๓ วัน ก็อุบายให้ เจ้าสาระวัน (หลาน) เป็นกบฏเข้าตีเมือง หม่อมหน่อคำแพ้ หนีไปเชียงตุง ส่งข่าวฟ้องเจ้าอังวะ เจ้าอังวะโกรธ จึงให้ยกทัพพม่ากับเงี้ยวเข้าตีเชียงรุ้ง จับออลนาวุธ อุปราชได้ แต่เจ้าสาระวันหนีไปอยู่แดนฮ่อเมืองฮุนหนำหรือหนองแส ส่วนหม่อมมหาไชย ผู้เป็นน้าชายนั้น พาพรรคพวกที่เมืองพง หนีไปอยู่ปลายแดนเมืองน่าน ไทลื้ออพยพครั้งนั้นถึง ๑๐,๐๐๐ คนเศษ ไทลื้อพวกนี้แหละซึ่งต่อมาส่วนหนึ่งตกอยู่ในเมืองน่าน จนกระทั่ง จอมพลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีฯ เสด็จไปตรวจราชการ และทรงแต่งพระองค์เป็นไทยลื้อ ซึ่งทรงถือว่าเป็น ‘ไทย’ เหมือนกัน ทีนี้พม่าก็ตั้งให้หม่อมหน่อคำ เป็นเจ้าแผ่นดินเชียงรุ้งอีกเป็นครั้งที่ ๒ แต่ เป็นเจ้าแผ่นดินอยู่ไม่นาน เกิดทะเลาะกันขึ้นกับขุนนางใหญ่เสียแล้ว เลยฆ่ากันตายทั้ง ๒ คน ทีนี้เมืองว่างเจ้าแผ่นดิน แต่หม่อมหน่อคำนั้น เจ้าอังวะตั้ง เจ้าสาระวันจะขึ้นครองแผ่นดินเลยก็เกรงเจ้าอังวะ จึงไปเมืองอังวะ ซึ่งน้องชายถูกคุมตัวอยู่ คบคิดกันกับพวกขุนนาง ติดสินบนเจ้าอังวะ เป็นเงินถึง ๑,๒๒๐ ชั่งไทย เจ้าอังวะก็ตั้งให้เจ้าสาระวัน ขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดิน น้องชายออลนาวุธ เป็นมหาอุปราช ที่จริงก็น่าจะอยู่กันเป็นสุขแล้ว แต่ การขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดิน เป็นใหญ่เป็นโตขึ้นมาครั้งนี้ ก็ด้วยอาศัยหว่านเงินติดสินบน จนกระทั่งเงินหมดคลังหมดแผ่นดิน จึงต้องรีดเอากับราษฎรเมื่อราษฎรทนไม่ไหว ก็เลยก่อการกบฏจลาจลขึ้น เจ้าสาระวัน ที่มีพระนามตามเกียรติยศว่า เจ้าแสนหวีฟ้า แพ้ราษฎรปราบปรามไม่ไหว ต้องหนีไปพม่า

        ส่วนออลนาวุธ มหาอุปราช พานางปิ่นแก้วมารดาและน้องสาวกับครอบครัว หนีไปหลวงพระบาง เวลานั้นเมืองหลวงพระบาง ขึ้นอยู่กับกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าหลวงพระบางจึงกราบบังคมทูลเข้ามายังกรุงเทพฯ (ปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๓) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงโปรดฯให้ส่งตัวลงมากรุงเทพฯ และโปรดฯให้นำตัวมหาไชย น้องชายนางปิ่นแก้ว ซึ่งหนีมาอยู่เมืองน่านก่อนแล้ว ให้ลงมาด้วยกัน

        ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงพระราชดำริว่า อันเมืองเชียงรุ้ง เชียงตุง เชื้อสายก็เป็นพวกเผ่าไต หรือไทย หากได้ทั้งเมืองเชียงตุง เชียงรุ้ง เข้ามารวบรวมอยู่ในอาณาเขต ก็จะเป็นการวบรวมพวกไทยทั้งไทยใหญ่ ไทลื้อ ให้อยู่ในพระราชอาณาเขต แต่การจะป้องกัน เชียงรุ้งนั้น ต้องให้ได้เชียงตุง อันมีอาณาเขตติดพม่าเสียก่อน จึงโปรดฯให้ยกทัพไปตีเมืองเชียงตุง ทว่าการมิทันสำเร็จสมพระราชประสงค์ ด้วยเจ้านายฝ่ายเหนือไม่สามัคคีกัน เกิดการกล่าวโทษกราบทูลฟ้องร้องกัน ทั้งเป็นเวลาเริ่มทรงพระประชวรหนักมิได้ทรงคิดราชการสิ่งใด การทัพจึงค้างอยู่ เพราะนอกจากจะมีเรื่องแย่งชิงกันครองแผ่นดินระหว่างราชวงศ์และเกิดจลาจล จนราชวงศ์ส่วนหนึ่งต้องหนีไปอยู่ในพระราชอาณาเขต ‘พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา’ แล้ว (สมัย ร.๑-๓ ประเทศต่างๆยังคงเรียกพระเจ้าแผ่นดินไทยว่า ‘พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา’ และเรียกกรุงรัตนโกสินทร์ว่า ‘กรุงศรีอยุธยา’ อยู่อย่างเดิม)

        ในสมัยปลายรัชกาลที่ ๕ ประมาณ พ.ศ.๒๔๕๑-๒๔๕๒ ปรากฏว่า ได้มี ‘เจ้าหญิงแสนหวี’ นำเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวาย พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ซึ่งโปรดฯให้รับอย่างเจ้าต่างประเทศฝ่ายใน ขอยกเรื่อง ‘เจ้าหญิงแสนหวี’ ไว้พูดถึงทีหลัง

[แก้ไข] ตอนนี้เล่าเรื่องเมืองเชียงรุ้งต่อจากสมัยรัชกาลที่ ๓ ต่อ

        คือเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ ๓ เสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จขึ้นครองราชย์ พ.ศ.๒๓๙๔ ถึง พ.ศ.๒๓๙๕ เจ้าแผ่นดินเชียงรุ้ง (คือเจ้าสาระวัน) ได้ขึ้นครองแผ่นดินเป็น ‘เจ้าแสนหวีฟ้า’ เรียบร้อยแล้ว (เข้าใจว่าคงจะได้รับความช่วยเหลือจากพระเจ้าอังวะ เพราะเมื่อเกิดจลาจลเจ้าแสนหวีฟ้าสาระวันหนีไปพม่า)

        เจ้าแผ่นดินสาระวัน (ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า ‘เจ้าแสนหวีฟ้า’ ตามเกียรติยศ เจ้าแผ่นดินเชียงรุ้ง) จึงให้ท้าวพระยา คุมเครื่องราชบรรณาการ ต้นไม้ทองเงินส่งเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย ขอเจ้าอุปราช (คือเจ้าออลนาวุธน้องชาย) มารดาน้องสาว และมหาไชย น้าชาย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดฯให้กลับไปอยู่เมืองหลวงพระบาง และเมืองน่าน (ขณะนั้นเป็นเมืองขึ้นของกรุงรัตนโกสินทร์ทั้งสองเมือง) อย่างเดิมนั้น พร้อมทั้งเจ้าแสนหวีฟ้ารับว่า ในปีที่ ๓ จะจัดต้นไม้ทองเงิน ลงมาทูลเกล้าฯ ถวายทุกครั้งตลอดไป

        พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ก็โปรดฯให้เจ้าอุปราช และผู้อื่น คืนกลับไปเมืองไทลื้อ ตามที่ขอพระราชทานมา

        พร้อมกันนั้น ก็ทรงพระราชดำริอย่างเดียวกันกับสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช รัชกาลที่ ๓ ว่า เมืองน้อยเข้ามาพึ่งเมืองใหญ่ สมควรต้องอนุเคราะห์ให้ตลอดไป จึงจะสมเกียรติยศของเมืองใหญ่ แต่เมืองลื้อเชียงรุ้งนั้นขึ้นอยู่กับพม่าด้วย และจีนฮ่อด้วย ทั้งสองฝ่าย ถึงแม้ว่าจะรับไว้เป็นข้าขอบขัณฑเสมา หากพม่าและจีนมาติดเมืองเชียงรุ้งก็ยากนักที่จะช่วยป้องกัน ด้วยหนทางนั้นไกลกันดารยิ่งนัก ครั้นจะไม่เอาธุระ เมื่อเขามาพึ่งพระเดชพระคุณ แล้วก็ไม่อาจทอดทิ้งได้

        เมื่อทรงปรึกษาเสนาบดีผู้ใหญ่ทั้งหลายแล้ว เห็นพร้อมกันว่า หากจะช่วยเมืองลื้อในยามมีศึกแล้ว จะต้องตีเมืองเชียงตุง เพราะเมืองพม่านั้นมีอาณาเขตกว้างขวาง มีหัวเมืองใหญ่ยึดหน่วงกันเป็นชั้นๆออกมา เมืองหมอกใหม่ เมืองนายยึดเมืองเชียงตุงไว้ เมืองเชียงตุงยึดเมืองเชียงรุ้ง หากได้เมืองเชียงตุงตัดเสียให้ขาดระยะ ก็จะได้ประโยชน์ทั้งแก่ทางเราและทางรักษาเมืองเชียงรุ้ง

        ซึ่งทั้งนี้ก็เป็นพระราชดำริมาแต่ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ นั่นเอง

        พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงโปรดฯให้ยกทัพไปตีเชียงตุง

        ทว่าการก็หาสมเร็จสมดังพระราชประสงค์ไม่ ด้วยเมืองเชียงตุง หนทางลำบากกันดาร หมดเสบียงอาหาร ยกเข้าตีถึง ๒ ครั้ง ก็ไม่สำเร็จ จึงโปรดฯให้ยกทัพกลับ

        ต่อจากนี้พงศาวดารเมืองเชียงรุ้งไม่ได้จดเรื่อง ‘เจ้าแสนหวีฟ้า’ บอกแต่ว่า ไทลื้อ (สิบสองปันนา) ว่างเจ้าแผ่นดินอยู่พักหนึ่ง จนกระทั่ง พ.ศ.๒๔๐๗ จึงมีเจ้าแผ่นดินเป็นองค์ที่ ๔๐

        ซึ่งที่จริงแล้ว ในระยะที่ว่างเจ้าแผ่นดิน ก็คือเกิดการแย่งชิงการขึ้นครองราชย์กันขึ้นอีก ระหว่างน้าชาย (มหาไชย) กับเจ้าอุปราช (ออลนาวุธ) หลังเจ้าแสนหวี (สาระวัน) สิ้นชนม์

        ในที่สุด เจ้ามหาไชยชนะ ฆ่าออลนาวุธได้ จึงได้ครองแผ่นดินเป็น เจ้าแสนหวีฟ้าที่ ๔๐

        วงศ์ของเจ้ามหาไชย เป็นเจ้าแผ่นดินครองต่อกันมาอีก ๔ องค์ องค์สุดท้ายชื่อ ‘เจ้าหม่อมคำลื้อ’ ครองแผ่นดินตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๐

        ต่อมาเมื่อจีนสถาปนาเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน ฐานันดรศักดิ์ ‘เจ้าแผ่นดิน’ ของแคว้นสิบสองปันนา ก็สิ้นสภาพไปโดยปริยาย

        สิบสองปันนา หรือสิบสองพันนา หรือสิบสองเจ้าไทย (สิบสองจุไท) ถูกกำหนดขึ้นเป็นแขวงปกครองตนเองของชนกลุ่มน้อย

        สำหรับพวกราชวงศ์นั้น โดยเหตุที่แคว้นสิบสองปันนากับศูนย์กลางอำนาจของราชวงศ์หมิงราชวงศ์ชิง มีความสัมพันธ์กันแน่นแฟ้น มาแต่ประมาณ พ.ศ.๑๙๑๐-๒๔๕๔ เจ้าแผ่นดิน จึงได้รับ พระราชทานชื่อเป็นจีนว่า ‘ตาวจินเป่า’ และเจ้าแผ่นดินต่อมาพระนามจีนก็ขึ้นต้นว่า ‘ตาว’ มี ๒ พระนาม ควบกับพระนามภาษาไตลื้อ

        เมื่อราชวงศ์สลายแล้ว จีนจึงถือว่า แซ่ ‘ตาว’ เป็นแซ่ของราชตระกูลไตลื้อ หรือไทยลื้อแห่งแคว้นสิบสองปันนา

        เมื่อปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ ปรากฏว่ามี ‘เจ้าหญิงแสนหวี’ องค์หนึ่ง เชิญเครื่องราชบรรณาการเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เวลานั้นชาววังทั้งหลายเรียกกันว่า ‘เจ้าหญิงแสนหวี’

        โปรดเกล้าฯให้รับอย่างเจ้าหญิงต่างประเทศเป็นการฝ่ายใน

        ธรรมดาการรับเจ้าหญิง หรือสุภาพสตรีผู้เป็น ‘ฝ่ายใน’ ของประมุขต่างประเทศ มักโปรดฯให้สมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จออกรับ

        แต่ครั้งนี้ เนื่องจากเป็นเจ้าหญิงแสนหวีของสถานถิ่นทางเหนือ จึงโปรดฯให้พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ผู้เป็นเจ้าหญิงฝ่ายเหนือเสด็จออกรับ

        ตามคำบอกเล่าของเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ซึ่งเป็น ๑ ในพระสนม ๒๐ ท่าน ที่โปรดฯให้ออกมานั่งประดับพระเกียรติยศอยู่ด้วยนั้น เล่าว่า

        พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เสด็จออกประทับพระราชอาสน์ (เก้าอี้) ณ ท้องพระโรงพระที่นั่งจักรีฯ

        สองข้างพระราชอาสน์เจ้าจอมพระสนมนั่งเรียงรายซ้ายขวาข้างละ ๑๐ คน

        เบื้องหน้าพระราชอาสน์ เยื้องขวาพระองค์เล็กน้อย เป็นที่ประทับพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ประทับบนพื้น

        เจ้าหญิงแสนหวีคลานเข้มมาเฝ้าฯหน้าที่ประทับตรงกับพระเก้าอี้ และเบื้องหน้าพระราชชายาฯ ซึ่งประทับเยื้องไปทางซ้ายของผู้เข้าเฝ้าฯ การที่สมัยนั้นเรียกกันว่า ‘เจ้าหญิงแสนหวี’ ก็คงหมายถึงเจ้าหญิงเมืองเชียงรุ้งนั่นเอง เพราะเวลานั้น (พ.ศ.๒๔๕๑) แม้สิบสองปันนาจะใกล้ชิดกับจีน ก็ยังมิได้เป็นของจีนเต็มที่ เจ้าแผ่นดินเชียงรุ้งยังมีสัมพันธไมตรีนับถือพระเจ้าแผ่นดินไทยอยู่ แต่ก็นับว่าเจ้าหญิงเป็น ‘เจ้าต่างประเทศ’ มิใช่ เจ้าเมืองขึ้น

        ได้เล่าแล้วว่า ‘เจ้าแผ่นดิน’ เชียงรุ้ง นั้น เรียกกันว่า ‘เจ้าแสนหวีฟ้า’ เมื่อเจ้าหญิงเชียงรุ้งเข้ามาเฝ้า อาจพลอยเรียกเจ้าหญิงว่า ‘เจ้าหญิงแสนหวี’ ไปด้วยก็เป็นได้

[แก้ไข] อีกเรื่องหนึ่งอันเกี่ยวกับ ‘เจ้าหญิงแสนหวี’ นั้น

        คนที่มีอายุพอจำความได้ ในสมัย พ.ศ.๒๔๘๓-๒๔๘๔ ราวๆนั้น คงจำเพลงจากละครเรื่อง ‘เจ้าหญิงแสนหวี’ บทละครของหลวงวิจิตรวาทการได้ที่ว่า

         “พวกชาวแสนหวี เราแสนยินดีรับรองเจ้าชายมาจากเขมรัฐ เราพากันจัดงานถวาย สมโภชเจ้าชายจากบ้านเมืองมา...ฯลฯ...”

และเจ้าชายร้องตอบว่า

         “พวกชาวเขมรัฐ นี้ล้วนแต่พลัดบ้านเมืองเข้ามาบุกป่าฝ่าดงมุ่งตรงมานี่ เพื่อเห็นแสนหวีเมืองศรีสง่า...ฯลฯ...”


[แก้ไข] ประเพณีลอยโคม

        ในดินแดนสิบสองปันนาตอนเหนือของประเทศไทย ประชาชนนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ผสมผสานกับการนับถือผีบรรพบุรุษ ลัทธิถือผีฟ้า ผีดิน ที่เรียกว่า ปู่แกน ย่าแกน มีการประดิษฐ์โคม และพิธีลอยโคม เพื่อเป็นการบูชาตามลัทธิประเพณีนี้มีการสืบทอดกันมา เมื่อมีการอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน

        การลอยโคมขึ้นสู่ท้องฟ้าของชาวไทยในแคว้นแสนหวีถือว่าเป็นการบูชาบรรพบุรุษแสดงความกตัญญู กตเวที ได้สืบทอดมาเป็นประเพณีของชาวล้านนา รวมถึงชาวแม่สอด


         รูปร่างลักษณะของโคมที่นิยมประดิษฐ์กันมากที่สุดคือ โคมลอยรูปทรงผลมะละกอ เพราะเป็นรูปทรงที่สวยงาม ลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าได้เร็ว และสูงกว่าโคมลอยรูปทรงอื่น


         โคมลอยที่นิยมทำในอำเภอแม่สอด มีรูปทรงสามแบบคือ โคมลอยรูปทรงกลมได้แก่ รูปทรงมะละกอ และรูปทรงฟักทอง โคมลอยรูปทรงสี่เหลี่ยม และโคมลอยรูปทรงกระบอก


        การประดิษฐ์โคมลอยมีอยู่สามขั้นตอนด้วยกันคือขั้นที่หนึ่ง การติดกระดาษสี สำหรับตัวโคมลอย ขั้นที่สอง การประดิษฐ์ส่วนหัวของโคม และขั้นที่สาม การประดิษฐ์ปากของโคมลอย


        การบรรจุควัน เมื่อแขวนโคมไว้แล้ว จะใช้พัดหรือพัดลมเป่าลมให้ตัวโคมพองขึ้น แล้วจึงจุดคบไฟ ซึ่งชุ่มด้วยนำมันยาง หรือน้ำมันสน (ซึ่งมีคุณสมบัติที่ติดไฟได้นานและมีควันมาก ช่วยให้โคมพองตัวลอยได้สูง และไปได้ไกล) ใส่เข้าไปในปิ๊บที่มีท่อต่อเข้าไปในตัวโคม เมื่อโคมบรรจุควันเต็มที่แล้ว ก็จะลอยหลุดจากไม้ซ่าว ที่เกี่ยวไว้

        เดิมประเพณีนี้ เจ้าผู้ครองนครจะจัดขึ้นเพื่อสังเวยเทพยดาอารักษ์ บูชากุมภัณฑ์ และมีพิธีเข้าทรงผีเจ้านาย เพื่อสอบถามว่า ฝนฟ้าจะอุดมสมบูรณ์ และชะตาบ้านเมืองจะดีหรือไม่ หากชะตาของบ้านเมืองไม่ดี ก็จะจัดพิธีสืบชะตาเมืองเพิ่มขึ้นด้วย และปัจจุบันได้เพิ่มการทำพิธีทางพุทธศาสนาเข้ามาอีกอย่างหนึ่ง โดยการแห่พระพุทธรูปคันธารราษฎร์ (พระเจ้าฝนแสนห่า) รอบเมือง และจะนำมาประดิษฐาน ณ วัดเจดีย์หลวง เพื่อให้ชาวเมืองสรงน้ำ จากนั้นพระสงฆ์ 9 รูป จะเจริญพระพุทธมนต์บูชาเสา อินทขีล ซึ่งฝังอยู่ใต้ดิน การประกอบพิธีนี้ เพื่อมุ่งเสริมสร้างขวัญและกำลังใจของชาวเมืองก่อนที่จะเริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูก


ภาพ:ลอยโคม.jpg


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

 
 
 
   Hosted by kapook.com