หน้าต่างศาสนา

วัดเครือวัลย์ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ ๓๖ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร

      ที่ตั้งวัด          โฉนดเลขที่ ๓๕๗๕ เนื้อที่ ๑๕ ไร่ ๒ งาน ๔๔ ตารางวา
      ที่ตั้งธรณีสงฆ์  โฉนดเลขที่ ๓๕๗๔ เนื้อที่ ๓ ไร่ ๔ ตารางวา

ต่อมาประมาณ พ.ศ. ๒๕๒๔ กรุงเทพมหานคร ได้ขยายถนนอรุณอัมรินทร์ จึงต้องใช้ที่ดินบางส่วนของวัดในการนี้ด้วย

วัดเครือวัลย์เดิมมีพื้นที่ ๑๘ ไร่ ๒ งาน ๔๘ ตารางวา ปัจจุบันวัดเครือวัลย์เหลือพื้นที่ตั้งวัดทั้งหมด ๑๕ ไร่ ๒ งาน ๔ ตารางวา

วัดเครือวัลย์ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ประมาณ ปีพุทธศักราช ๒๓๖๗ – ๒๓๗๑

เขตวัด

      ทิศเหนือ         จด   คลองมอญ
      ทิศใต้             จด   กรมพันสารวัตรทหารเรือ
      ทิศตะวันออก   จด   กรมพันสารวัตรทหารเรือ
      ทิศตะวันตก     จด   ถนนอรุณอัมรินทร์ และวัดนาคกลาง
   
ลักษณะพื้นที่บริเวณวัด ไม่ลุ่มไม่ดอนนัก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔ วัดที่ได้มอบที่ดินทางทิศเหนือใกล้คลองมอญ ให้กองทัพเรือจัดสร้างฌาปนกิจสถาน และสุสานบริเวณทิศตะวันออกของพระวิหาร (บัดนี้ได้รื้อไปแล้ว)

ความเป็นมาของวัด

วัดเครือวัลย์ สร้างขึ้นเมื่อปีใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด มีข้อความกล่าวถึงวัดนี้ในหนังสือ “ตำนานพระอารามหลวงและทำเนียบสมณศักดิ์” ซึ่งเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว. คลี่ สุทัศน์) เรียบเรียงขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า “วัดเครือวัลย์วรวิหาร อยู่ในคลองมอญฝั่งใต้ เจ้าพระยาอภัยภูธร สร้างในรัชกาลที่ ๓ แล้วถวายเป็นพระอารามหลวง พระราชทานนามว่า วัดเครือวัลย์วรวิหาร และวัดนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปฏิสังขรณ์ด้วย แล้วเจ้าพระยาภูธราภัย ปฏิสังขรณ์ต่อมา ถึงรัชกาลที่ ๕ ทรงปฏิสังขรณ์ด้วย”

หลักฐานเกี่ยวกับผู้สร้างวัดเครือวัลย์และปีที่สร้างยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ บ้างก็ว่าขณะที่สร้างนั้น เจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย บุณยรัตพันธุ์) ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว และเจ้าจอมเครือวัลย์ในรัชกาลที่ ๓ ซึ่งเป็นธิดาของเจ้าพระยาอภัยภูธรเป็นผู้สร้าง ดังปรากฏข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่า “ในคลองมอญวัด ๑ เจ้าจอมเครือวัลย์บุตรีเจ้าพระยาอภัยภูธรสร้างใหม่ การยังไม่แล้ว ก็ถึงแก่กรรมเสีย จึงโปรดให้ทำต่อไปวัดนั้น แล้วพระราชทานชื่อ วัดเครือวัลย์วรวิหาร”

จึงกล่าวได้ว่า ชื่อของวัดเครือวัลย์ มาจากชื่อของเจ้าจอมเครือวัลย์ ซึ่งเป็นบุคคลในสกุลบุณยรัตพันธุ์ และเป็นวัดของสกุลบุณยรัตพันธุ์

วัดเครือวัลย์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ปฏิสังขรณ์เป็นครั้งคราว และได้เสด็จพระราชดำเนินทรงทอดผ้ากฐินเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๙๓ (กรมการศาสนา , ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๑ หน้า ๒๓๓)

ต่อมาเจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธุ์) ได้ปฏิสังขรณ์วัดและสร้างเจดีย์ ๒ องค์ สำหรับบรรจุอัฐิคนในตระกูลบุณยรัตพันธุ์ หรือผู้เกี่ยวเนื่องทางตระกูล

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปฏิสังขรณ์และทรงสร้างเจดีย์องค์เดี่ยว (กรมการศาสนา , ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๑ หน้า ๒๓๕)

วัดเครือวัลย์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จพระราชดำเนินทรงทอดผ้าพระกฐินอยู่เสมอ หรือบางครั้งพระราชทานให้พระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จแทนพระองค์ ดังหลักฐานที่ปรากฏว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร นำผ้าพระกฐินหลวงมาทอด ณ วัดเครือวัลย์วรวิหาร เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๒ (ร.ศ.๑๑๘ ราชกิจจานุเบกษา , เล่ม ๑๖ , วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๑๑๘ , หน้า ๔๔๓)

ถาวรวัตถุและสิ่งสำคัญภายในวัดเครือวัลย์

๑. พระอุโบสถ
พระอุโบสถของวัดเครือวัลย์ เป็นพระอุโบสถทรงไทย กว้าง ๗.๗๐ เมตร ยาว ๑๖.๒๕เมตร หลังคาลด ๒ ชั้น ประดับช่อฟ้าใบระกา หน้าบันตกแต่งด้วยปูนปั้นเป็นลายดอกไม้ ระเบียงและมุขปูด้วยหินอ่อน ซุ้มประตูหน้าต่างทำด้วยปูนปั้นเป็นลายดอกไม้ ลงรักปิดทอง บานประตูด้านนอกสลักรูปต้นไม้ ดอกไม้ และรูปนก ลงรักปิดทอง ด้านในเป็นรูปฉัตร ๗ ชั้น สอดสีมีทหารแบก ส่วนบานหน้าต่างด้านนอกลวดลายเช่นเดียวกับบานประตูแต่ทำด้วยปูนปั้น

กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนพระอุโบสถหลังนี้ไว้เป็นโบราณสถาน เนื่องจากผนังภายในพระอุโบสถมีภาพเขียนสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นภาพชาดกเรื่องพระเจ้า ๕๐๐ ชาติ ที่งดงามมากซึ่งไม่มีที่อื่นอีก

๒. พระประธานในพระอุโบสถ
พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทะรูปปางห้ามญาติ หล่อด้วยโลหะลงรักปิดทอง สูงประมาณ ๔ วา ประดิษฐานบนฐานชุกชีรูปบัวหงายนูนเด่น มีพระอัครสาวก คือ พระสารีบุตร และ พระโมคคัลลานะ ยืนอยู่ด้านขวาและซ้าย

๓. ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ
ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถทั้ง ๔ ด้าน เป็นภาพชาดกเรื่องพระเจ้า ๕๐๐ ชาติ ใช้ลายกั้นเป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด ๘๓ – ๘๔ เซนติเมตร กรอบเขียนลายเนื่องเป็นลายก้านต่อดอกใบเทศ แต่ละช่องเขียนเรื่องพระชาติของพระพุทธเจ้าไว้ ๑ พระชาติ ภาพเขียนเหล่านี้เป็นฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ ๓ มีความวิจิตรงดงาม เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของวัดนี้ ซึ่งหาที่อื่นเสมอเหมือนไม่ได้ ดังปรากฏในคำกลอนว่า

        “วัดทั้งหลายคล้ายกันเป็นอันมาก
         ไม่หนีจากอย่างเก่าเป็นเอาวสาน
         แต่วัดเครือวัลย์ใหม่อำไพพาน
         หนีบุราณแปลกเพื่อนไม่เหมือนใคร
         เขียนชาดกยกเรื่องโพธิสัตว์
         ทอดประทัดตีตารางสว่างไสว
         เป็นห้องห้องช่องละชาติออกดาษไป
         นับชาติได้ห้าร้ายสิบชาติตรา
         ด้วยทรงพระศรัทธาเมตตาช่าง
         ให้สินจ้างช่องละบาทดังปรารถนา”

(นายมี มหาดเล็ก ประพันธ์ , กลอนเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า ๔๓ – ๔๔ รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช จัดพิมพ์ ทูลเกล้า ฯ ถวาย สนองพระมหากรุณาธิคุณ ในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ในมหามงคลเฉลิมพระเกียรติวันพระบรมราชสมภพ ครบ ๒๐๐ ปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วันอังคารที่ ๓๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐)

อนึ่ง ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดเครือวัลย์นี้ (จิตรกรรมฝาผนัง : นิทานชาดก พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ) กรมวิชาการได้จัดทำขึ้นเป็นหนังสืออ่านเพิ่มเติม กลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต และกลุ่มสร้างเสริมลักษณะนิสัย ระดับประถมศึกษา และกลุ่มวิชาสังคมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา ในคราวงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทานของกรมวิชาการ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ณ วัดเครือวัลย์วรวิหาร ในวันเสาร์ที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๐
 
๔. พระวิหาร
พระวิหารมีรูปทรงและขนาดเดียวกับพระอุโบสถ ตั้งอยู่ด้านขวาพระอุโบสถ ภายในไม่มีภาพเขียนใดๆ พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้างประมาณ ๒ วา

๕. พระเจดีย์
พระเจดีย์ตั้งเรียงรายกันอยู่ระหว่างพระอุโบสถกับพระวิการ มีจำนวน ๓ องค์ เป็นพระเจดีย์ทรงลังกา สูงประมาณ ๑๐ วา องค์หน้ามีฐานก่อแยกไว้ต่างหาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างภายในมีพระบรมธาตุบรรจุอยู่ ตามข้างฐานเจาะเป็นช่องสำหรับบรรจุอัฐิของคนทั่วไป พระเจดีย์อีก ๒ องค์ อยู่ต่อมาทางใต้ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมเดียวกัน สร้างขึ้นมาพร้อมๆ กับวัด โดยเจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุญยรัตพันธุ์) เป็นผู้สร้างเป็นที่บรรจุอัฐิของตระกูลบุญยรัตพันธุ์ ในบรรดาชื่อเจ้าของอัฐิที่บรรจุไว้นั้น มีชื่อ “เจ้าจอมสวน” กับ “เจ้าจอมใบ” (ในรัชกาลที่ ๕ ทั้ง ๒ ท่าน) รวมอยู่ด้วย  

๖. พัทธสีมา
รายรอบพระอุโบสถ มีซุ้มพัทธสีมา จำนวน ๘ ซุ้ม เครื่องบนทำเป็นทรงยอดเกี้ยว ซึ่งเป็นทรงแบบพระราชนิยม ในสมัยรัชกาลที่ ๓

๗. ศาลาการเปรียญ
ศาลาการเปรียญ สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ พร้อมๆ กับการสร้างวัด เป็นทรงไทยมุงกระเบื้อง ก่ออิฐถือปูน กว้างประมาณ ๑๑ เมตร ยาวประมาณ ๑๙ เมตร ปัจจุบันกองทัพเรือได้ซ่อมแซมเปลี่ยนแปลงใช้เป็นส่วนหนึ่งแห่งฌาปนกิจสถาน ของกองทัพเรือ

๘. หอระฆัง
หอระฆัง ตั้งอยู่ใกล้กับพระอุโบสถด้านทิศใต้ มีลักษณะก่ออิฐถือปูนแบบโบราณ บนยอดติดนาฬิกา ๔ ด้าน เดินด้วยกระแสไฟฟ้า เพื่อให้ระฆังตีได้โดยอัตโนมัติ (ปัจจุบันนี้ใช้งานไม่ได้แล้ว) นาฬิกานี้ คุณประสิทธิ์ วินิจฉัยกุ เป็นผู้สร้างถวาย

๙. หอประชุมวีระนาวิน
หอประชุมวีระนาวิน เป็นอาคาร ๒ ชั้น แบบจัตุรมุข นางเจียม วีระนาวิน สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ เดิมใช้เป็นอาคารโรงเรียนพระปริยัติธรรม แต่ปัจจุบันใช้เป็นอาคารหอสมุดของวัด
 
การปกครองคณะสงฆ์

เดิมวัดเครือวัลย์ เป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ต่อมาในสมัยของพระเทพโมลี (เอี่ยม ธมฺมสิริ) เจ้าอาวาสองค์ที่ ๒ได้เปลี่ยนมาเป็นสังกัดคณะธรรมยุติกนิกาย มีเจ้าอาวาสปกครองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งหมด ๑๒ รูป ดังนี้

       ๑. พระธรรมไตรโลกาจารย์ (จันทร์)
       ๒. พระเทพโมลี (เอี่ยม ธมฺมสิริ)
       ๓. พระอริยกวี (พุ่ม)
       ๔. พระเทพกวี ( นิ่ม สุจิณฺโณ ป.ธ.๔)
       ๕. พระสมุทมุนี (เนตร์) พ.ศ. ๒๔๓๔-๑๔๓๙
       ๖. พระศิริธรรมมุนี (จาบ เขมโก ป.ธ.๗) พ.ศ. ๒๔๔๐-๒๔๕๑
       ๗. พระธรรมฐิติญาณ (แจ่ม ทานโท)
       ๘. พระครูธรรมสารโสภณ (เขียว สุจิตฺโต)
       ๙. พระครูธรรมสารโสภณ (ห่วง จิตฺตเลโข ป.ธ.๓)
      ๑๐. พระราชธรรมโสภณ (เผื่อน สุมโน ป.ธ.๕) พ.ศ. ๒๔๙๒-๒๕๑๘
      ๑๑. พระธรรมดิลก (สุบิน เขมิโย ป.ธ.๙) พ.ศ. ๒๕๑๙-๑๐ มกราคม ๒๕๔๘
      ๑๒.พระธรรมวราภรณ์ (มนตรี คณิสฺสโร ป.ธ.๕) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน 

กรมสาธารณะสงเคราะห์

วัดเครือวัลย์ เป็นสถานที่ตั้งของฌาปนสถานของกองทัพเรือ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ นอกจากจะทำการฌาปนกิจสงเคราะห์แก่สมาชิกของกองทัพเรือแล้ว ยังทำการฌาปนกิจสงเคราะห์แก่ประชาชนทั่วไปอีกด้วย

ความสำคัญของวัดเครือวัลย์

วัดเครือวัลย์ ไม่เพียงแต่มีความสำคัญในฐานะเป็นศูนย์รวมจิตใจ เป็นสถานที่ทำบุญบำเพ็ญกุศลของพุทธศาสนิกชนเท่านั้น ยังมีความสำคัญในฐานะที่เป็นแหล่งอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมด้านจิตรกรรมฝาผนัง อันเป็นสมบัติที่สำคัญของชาติไว้แก่อนุชนรุ่นหลัง ภาพจิตรกรรมฝาผนังมีมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นภาพที่มีความงดงามและรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับนิทานชาดกจากพระไตรปิฎกไว้อย่างสมบูรณ์ที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปัจจุบันมีหลงเหลืออยู่แห่งเดียวในประเทศไทย

และเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๔ คณะสงฆ์วัดเครือวัลย์ โดยการนำของพระธรรมวราภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเครือวัลย์ กรรมการมหาเถรสมาคม พร้อมด้วยอุบาสกอุบาสิกา วัดเครือวัลย์วรวิหาร ได้จัดงานบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายอดีตเจ้าอาวาสวัดเครือวัลย์วรวิหาร ทั้ง ๑๑ รูป เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่ออดีตเจ้าอาวาสผู้ปกครองวัดมาโดยลำดับ  ซึ่งได้จัดงานบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายอดีตเจ้าอาวาสวัดเครือวัลย์วรวิหาร ณ พระอุโบสถวัดเครือวัลย์วรวิหาร เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร โดยมีสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ และสมเด็จพระวันรัต เป็นประธานในพิธีพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ แสดงพระธรรมเทศนา กัณฑ์ ๑๐ พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ๑๐ รูป สวดพระพุทธมนต์ พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ๑๐๐ รูป รับทักษิณานุปทา ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนา เป็นเสร็จพิธี