ชุมชนคนศึกษาอี้จิงแห่งประเทศไทย

A+ A A-

ลำดับอนุกรมของเหวินหวัง

หลังจากที่กษัตริย์เหวินแห่งราชวงค์โจวหรือโจวเหวินหวัง(หวังแปลว่ากษัตริย์) ได้สร้างฉักลักษณ์ขึ้นมาจากตรีลักษณ์ทั้งแปด(อัฏฐลักษณ์)ของฝูซีแล้ว ก็ได้ทำการกำหนดชื่อ ความหมาย และลำดับให้แก่ฉักลักษณ์ทั้ง 64 ด้วย ซึ่งแสดงว่านอกจากความสำคัญของชื่อและความหมายของฉักลักษณ์แล้ว ลำดับทั้ง 64 ของฉักลักษณ์ก็ยังมีความสำคัญไม่ด้อยไปกว่ากัน

ว่ากันว่ากษัตริย์เหวินหรือเหวินหวังนั้นได้กำหนดลำดับฉักลักษณ์ตามลำดับวัฏจักรของธรรมชาติโดยใช้เหตุการณ์ทางการเมืองการปกครองในช่วงเวลานั้นมาเป็นตัวอย่างอธิบาย ซึ่งนั่นแสดงว่าลำดับฉักลักษณ์ทั้ง 64 นั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาแบบสุ่ม แต่เป็นการกำหนดขึ้นโดยมีการพิจารณาแล้วอย่างดี

ในคัมภีร์สิบปีกหรือ "อี้จ้วน" ของขงจื้อ ได้มีบทอธิบายลำดับฉักลักษณ์ทั้ง 64 ชื่อว่า "ซู่กว้า" ซึ่งเป็นบทที่อธิบายความหมายที่แฝงอยู่ในลำดับของฉักลักษณ์ มีเนื้อความดังเช่น

"หลังจากมีฉักลักษณ์ที่ 1 เฉียน(ฟ้า) และฉักลักษณ์ที่ 2 คุน(ดิน) สรรพสิ่งจึงบังเกิด จึงตามด้วยความยากลำบากในช่วงกำเนิดหรือฉักลักษณ์ที่ 3 ปฐมวิบาก เมื่อแรกกำเนิดย่อมไร้เดียงสา จึงตามด้วยฉักลักษณ์ที่ 4 เยาว์ความ เมื่อเยาว์ความจึงต้องบ่มเพราะเลี้ยงดูซึ่งเป็นช่วงเวลาของการรอคอย จึงตามด้วยฉักลักษณ์ที่ 5 รอ การบ่มเพาะต้องอาศัยปัจจัย เมื่อมีปัจจัยย่อมต้องมีการแก่งแย่ง จึงตามด้วยฉักลักษณ์ที่ 6 ขัดแย้ง เมื่อมีการขัดแย้งย่อมมีการรวมมวลชน นี่จึงตามด้วยฉักลักษณ์ที่ 7 กองทัพ เมื่อมีมวลชนรวมกันก็ย่อมมีซึ่งความใกล้ชิดสมัครสมาน จึงตามด้วยฉักลักษณ์ที่ 8 สามัคคี..."(ผมเขียนสรุปโดยย่อนะครับ แต่ต้นฉบับก็ไม่ได้ยาวกว่าที่ผมเขียนซักกี่ตัวอักษรหรอก)

ดังนั้นนี่จึงหมายความว่า ลำดับฉักลักษณ์ทั้ง 64 นั้นได้เรียงลำดับโดยแสดงวัฏจักรนับจากการกำเนิดขึ้นจนถึงการเสื่อมสลายลง

แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าวัฏจักรที่เหวินหวังกำหนดไว้จะไม่ใช่แค่การเรียงลำดับเหตุการณ์จากการกำเนิดในฉักลักษณ์ต้นๆจนถึงการดับในฉักลักษณ์สุดท้ายแต่อย่างใด แต่ความจริงแล้วในฉักลักษณ์ทั้ง 64 นั้นมีหลายรอบวัฏจักร ซึ่งยังไม่ขอกล่าวในที่นี้ครับ เดี๋ยวยาว...

เข้าเรื่องดีกว่า...

ต่อมา...ได้มีการนำลำดับฉักลักษณ์ทั้ง 64 นี้มาเรียงเป็นแผนภาพแบบจตุรัส โดยมี 8 แถวและ 8 สดมภ์(ตรูจะใช้คำนี้จริงเรอะ!!!) เรียกว่าแผนภาพลำดับอนุกรมของฉักลักษณ์แบบเหวินหวัง (ที่ผมเลือกใช้คำว่า "อนุกรม" ก็เพราะคิดว่าลำดับเหล่านี้มีความนัยทางคณิตศาสตร์ด้วย) ซึ่งแสดงดังรูปล่าง

king-wen-arrangement
แผนภาพลำดับอนุกรมของกษัตริย์เหวิน

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าลำดับอนุกรมนี้จะมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกัน(เอ๊ะ!!!)มากกว่าแค่เรียงลำดับกันในแบบแนวเส้นตรงดังที่กล่าวมาก่อนหน้าเท่านั้น...
อย่างแรกเลยคือ เราพบว่าในลำดับทั้ง 64 นั้น ไม่เพียงเรียงลำดับความหมายตามแบบเส้นตรงเท่านั้น แต่ยังเรียงโดยจัดรูปฉักลักษณ์เป็นแบบคู่ตรงข้ามอีกด้วย ซึ่งนั่นทำให้ฉักลักษณ์ทั้ง 64 นั้นมีความสัมพันธ์เชิงซ้อนเข้ามาอีก ทำให้วัฏจักรของฉักลักษณ์มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น...
อีกอย่างคือเมื่อนำเอารูปฉักลักษณ์ไปแปลงเป็นเลขฐานสอง โดยเส้นหยางหรือเส้นเต็มคือ 1 และเส้นหยินหรือเส้นขาดคือ 0 แล้ว จะสามารถหาความสัมพันธ์ในเชิงคณิตศาสตร์ได้อีกด้วย ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจว่าความสัมพันธ์ในแบบคณิตศาสตร์เลขฐานสองนี้ถูกนำมาซ่อนไว้ในแผนภูมิอนุกรมนี้โดยคนในยุคโบราณได้อย่างไร?...ซึ่งนี่แสดงถึงความสัมพันธ์แบบแฝงเร้นที่มีอยู่ในลำดับอนุกรมนี้ได้อีกด้วย

สำหรับความสัมพันธ์แบบคู่ตรงข้ามนั้น เราพบว่าจะเกิดขึ้นโดยฉักลักษณ์ที่เรียงติดกัน เช่น 1-2 หรือ 3-4 เป็นต้น ทำให้สามารถแบ่งแผนภาพลำดับอนุกรมฉักลักษณ์โดยการจับคู่ฉักลักษณ์เป็น 32 คู่ ซึ่งมี 4 สดมภ์ และ 8 แถว ได้ดังนี้

wen-wang-pair
แผนภาพลำดับอนุกรมของกษัตริย์เหวินแบบคู่
เลขบน: เลขลำดับอนุกรมของเหวินหวัง
เลขล่าง: เลขฉักลักษณ์ที่เป็นคู่ตรงข้ามหยิน-หยาง

คู่ตรงข้ามในที่นี้ส่วนใหญ่จะเป็นคู่ตรงข้ามในแบบกลับหัว(คือเอารูปฉักลักษณ์กลับหัวลง) ซึ่งแสดงในรูปด้วยสีดำ แต่จะมีอีกส่วนที่ไม่มีคู่ตรงข้ามในลักษณะดังกล่าว โดยแบ่งเป็นสี่คู่เป็นคู่ตรงข้ามแบบสลับหยิน-หยางทั้งหกเส้นโดยในรูปเป็นสีแดง และมีอีกสี่คู่ที่เป็นทั้งแบบกลับหัวและแบบสลับหยินหยาง

การแบ่งแบบนี้จะได้ความสัมพันธ์แบบ "คู่สี่" คือมีสดมภ์อยู่ 4 คู่ ด้วยกัน...

ซึ่งทั้งหมดนี้จะเห็นว่ามีความสัมพันธ์ซ้อนกันหลายชั้นมาก ทั้งเชิงความหมาย เชิงรูปแบบฉักลักษณ์ และเชิงคณิตศาสตร์ซึ่งได้มีนักคณิตศาสตร์ผู้รู้หลายท่านได้ทำการค้นคว้าจนได้ความสัมพันธ์ที่น่าพิศวงออกมา

ความสัมพันธ์ที่ลึกกว่านี้คงต้องขอไว้แสดงในคราวหน้าครับ สำหรับครั้งนี้คงเป็นการแนะนำทั่วไปให้รู้จักกับแผนภูมิภาพลำดับอนุกรมของฉักลักษณ์แบบเหวิงหวังก่อน เพื่อเป็นการปูทางสำหรับเนื้อหาบทต่อๆไปครับ

 

เขียนข้อความของคุณ

กรุณาตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณได้กรอกข้อมูลลงไปในช่องที่มีเครื่องหมายดอกจัน (*) เรียบร้อยแล้ว
ไม่อนุญาติให้ใช้โค้ด HTML

บทความในเว็บนี้สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ปี 2537