01119
ชวลีย์ ช่วงวิทย์ "สาริกาน้อยเสียงใส" แห่งวงดนตรีสุนทราภรณ์
ชวลีย์ ช่วงวิทย์ "สาริกาน้อยเสียงใส" แห่งวงดนตรีสุนทราภรณ์

เทพกร บวรศิลป์ เขียน

ใครที่เคยฟังเพลงขับร้องคู่ของชาวคณะสุนทราภรณ์ คงไม่พลาดเสียงหวาน สดใส ไพเราะ ของนักร้องหญิงที่ได้รับฉายาว่า "สาริกาน้อยเสียงใส" ซึ่งก็คือ "ชวลีย์ ช่วงวิทย์" ไปได้เลย

ชวลีย์เป็นนักร้องเก่าสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นนักร้องหญิงที่เข้ารับราชการในกรมโฆษณาการ เป็นคนที่ 4 ต่อจาก มัณฑนา โมรากุล, รุจี อุทัยกร และสุปาณี พุกสมบุญ โดยยืนหยัดผ่านยุคสมัยมาไม่ต่ำกว่า 40 ปี

ชวลีย์ เดิมชื่อ "ชนอ" เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2467 เป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด เธอจบการศึกษาจากโรงเรียนสายปัญญา และคิดจะเรียนต่อระดับอุดมศึกษา ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้ง ๆ ที่สอบเข้าได้แล้ว แต่ก็เปลี่ยนใจหันเหชีวิตมาสู่เส้นทางนักร้องที่ตนเองชอบ เมื่อปี พ.ศ. 2485 โดยการชักชวนของจมื่นมานิตย์นเรศวร์ หัวหน้าแผนกวิทยุกระจายเสียง กรมโฆษณาการ ซึ่งในขณะนั้นมีนายไพโรจน์ ชัยนาม เป็นอธิบดี

ชวลีย์ ได้ทดสอบโดยร้องเพลงทั้งหมด 2 เพลง คือ สาส์นรัก กับ ดวงใจ ซึ่งครูเอื้อ สุนทรสนาน ได้นำบทพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มาใส่ทำนอง ชวลีย์ฝ่านการทดสอบเสียง และได้บรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งคีตศิลปิน ขณะที่เธออายุได้เพียง 18 ปีเท่านั้น เธอรับราชการเรื่อยมาเป็นเวลาเกือบ 30 ปี จึงลาออกจากราชการในปี พ.ศ. 2513 ด้วยเหตุผลบางประการ แต่เธอก็ไม่ได้ละทิ้งการร้องเพลงไปเสียทีเดียว ยังร้องเพลงบ้างเป็นบางครั้งตามคำเชิญของญาติสนิทมิตรสหาย เช่น วงดนตรีสุนทราภรณ์, วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์, วงดนตรีสังคีตสัมพันธ์ เป็นต้น

กระแสเสียงหวานสูงที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังของชวลีย์ ส่งผลให้เธอเป็นที่นิยมของนักร้องนักฟังเพลงเรื่อยมา เพราะเสียงของเธอเป็นเสียงที่สูงอยู่แล้ว เมื่อร้องเพลงที่มีทำนองสูง ๆ ก็ไม่มีติดขัด หรือผิดเพี้ยนเสียงเลยแม้แต่น้อย ซ้ำยังส่งให้เพลงนั้น ๆ ทวีความไพเราะขึ้นไปอีกด้วย

ชวลีย์ ได้ชื่อว่า เป็นนักร้องหญิงที่ร้องเพลงคู่บันทึกแผ่นเสียงไว้มากที่สุดของวงดนตรีสุนทราภรณ์ โดยได้ร้องคู่กับครูเอื้อ สุนทรสนาน หรือ "สุนทราภรณ์" และคุณวินัย จุลละบุษปะ ไว้เป็นจำนวนมาก

ชวลีย์ เป็นนักร้องที่จำเนื้อร้องได้แม่นยำ แม้ว่าวัยจะล่วงเลยไปมากแล้วก็ตาม เธอมีวิธีการร้องที่พิเศษเป็นเอกลักษณ์ จนเป็นแบบอย่างให้นักร้องสุนทราภรณ์ยุคต่อ ๆ มา

ผลงานที่ขับร้องไว้ และสร้างชื่อเสียงมีไม่ต่ำกว่า 200 เพลง เช่น

1. เพลงพระราชนิพนธ์ อาทิ คำหวาน, ยามเย็น, ยามค่ำ, ยิ้มสู้, สายลม เป็นต้น

2. เพลงขับร้องเดี่ยว อาทิ กำสรวลรัก, กล่อมวนา, กุลสตรี, ขอให้ได้ดังใจนึก, ค่อนดึก, ความรักเหมือนฟองเบียร์, จำปีฟ้า, จากรัก, ฉันไม่ชอบเดือนหงาย, ชื่นตาฟ้างาม, ชีวามาลา, ไซซี, ดาวเคลื่อนเดือนคล้อย, ดาวเจ้าชู้, ดอกท้อริมธาร, ถูกมนต์รัก, ถ้าฉันมีคนรัก, นี่แหละกรุงเทพฯ, บัวไกลตา, บัวงาม (เกียรติศักดิ์หญิงไทย), บัวบูชาธรรม, ปัญหามีคู่, ฝันถึงคนรัก, เพลงลอยลม, พ้อรัก, เพลงจากดวงใจ, โพ้นขอบฟ้า, แม่, แม่ศรี, ยามดึก, เริงฤทัย, รักไม่ตาย, รอรัก, โรคขาดรัก, รักสลาย, รักนิรันดร์, ริมฝั่งน้ำ, รอยรักร้าว, สิรินธร, สั่งใจ, สุดหล้าฟ้าเขียว, สวรรค์บันดาล, สาวเล่นธาร, หาดสวรรค์, หัวหินสิ้นมนต์รัก, เห่หารัก, หนึ่งในดวงใจ, หนามกุหลาบ, หมั่นไส้ผู้ชายแสนงอน, ไห้หา, อุบลรัตน์ เป็นต้น

3. เพลงขับร้องคู่ (ชาย-หญิง) อาทิ กระแต, กรุงเทพฯ ราตรี, กันหันต้องลม, กุหลาบงาม, คติรัก, คูหาสวรรค์, คำรักคำขวัญ, ความดี, คนธรรพ์กับพิณทิพย์, จันทร์ลับเมฆ, เจ้าพระยา, จนนาง, จันทร์จูบฟ้า, ช่อรักซ้อน, ชะรอยบุญ, ดาวประดับฟ้า, ดอกไม้ในฝัน, เดือนประดับใจ, ดีกันนะ, ดวงเดือน, ใต้แสงเทียน, ตลาดนัด, ตัวไกลใจห่วง, ธาราธิษฐาน, ธารน้ำรัก, นกสีชมพู, บึงน้ำรัก, บางกอกลาที, บ่อโศก, ฝันหวาน, ฝากลมจูบ, พุ่มพวงดวงใจ, เพียงแค่ขอบฟ้า, พายเรือพรอดรัก, มนต์สายสวาทแห่งใจ, เมื่อฝนโปรย, ยอดเทพี, ราตรีประดับดาว, รวงทิพย์, รำฟ้อนวอนสาว, เรือเร่เรือรัก, ร่วมรัก, รักไม่เป็น, แรกพบสบรัก, ลมรัก, ลาวดวงดอกไม้, ลมเพ้อ, แว่วรัก, สวนสวรรค์, เสี่ยงเทียนเสี่ยงรัก, สุดแสนพิศวาส, ห้าแต้ม, หนาวลมห่มรัก, หน้าผา, เห็นแต่เงา, เหลือเชื่อ, เอื้องไพร, แอ่วซุ้ม เป็นต้น

4. เพลงขับร้องคู่ (หญิง), เพลงขับร้องกลุ่ม-หมู่ อาทิ เกาะสีชัง, ขวัญข้าว, จับปลาสองมือ, ตามทุย, โธ่ผู้ชาย, ปรึกษารัก, ผู้ชายนี่ร้ายนัก, ภาษารัก, เลือกคู่, สาวริมธาร, เฮฮาวาตูซี่ รวมถึงเพลงในจังหวะรำวง ตะลุง และอื่น ๆ ด้วย เป็นต้น (ซึ่งในหมวดนี้มีมากมายจนนำมาลงไม่หมด)

ชวลีย์ ช่วงวิทย์ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2534 สิริอายุ 69 ป
เทพกร บวรศิลป์ 8 กรกฎาคม 47 เวลา 22:27 น.
 
ความเห็นที่ 1
อยากได้เพลงสาวเล่นธาร หาจากที่ใดได้บ้างครับ ขอบคุณ
โรจน์ 13 มกราคม 57 เวลา 21:32 น.
 


โปรดอ่าน ก่อนแสดงความเห็น
ข้อความ
จากคุณ
โปรดหลีกเลี่ยงการใช้หลายชื่อในห้องกระทู้
เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาในการเข้าบ้านคนรักสุนทราภรณ์ครั้งต่อไป

บ้านคนรักสุนทราภรณ์ เว็บไซต์สำหรับคนรักบทเพลงสุนทราภรณ์ เปิดบริการตั้งแต่ กุมภาพันธ์ 2545
เว็บไซต์นี้ออกแบบสำหรับ Internet Explorer Version 6 ขึ้นไป หน้าจอกว้าง 800 พิกเซลขึ้นไป ขนาดตัวอักษร Medium