สะพานชุดเฉลิมในรัชกาลที่ 5

เริ่มต้นด้วยสะพานเฉลิม 42 จนถึงสะพานเฉลิม 56 รวมทั้งสิ้น 15 สะพาน

 

ภูมิบ้านภูมิเมือง

บูรพา โชติช่วง

 

 

 

 

สะพานชุดเฉลิม รัชกาลที่ 5

 

     นำเกร็ดความรู้ “สะพานชุดเฉลิม” ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มานำเสนอ มีหนังสือ “ตำนานงานโยธา” ของสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร เป็นไกด์บุ๊ก

     สะพานชุดเฉลิม สร้างขึ้นเนื่องจากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการตัดถนนในกรุงเทพฯ จำนวนมาก ซึ่งต้องผ่านลำคลองหลายสาย จึงทรงอุทิศพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ สร้างสะพานเพื่อเป็นสาธารณะประโยชน์ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา จนกลายเป็นประเพณี นับจาก พ.ศ. 2438 เป็นต้นมา จึงเรียกว่าสะพานที่สร้างขึ้นนี้ว่า สะพานเฉลิม และต่อท้ายด้วยตัวเลขพระชนมพรรษา โดยเริ่มต้นด้วยสะพานเฉลิม 42 จนถึงสะพานเฉลิม 56 รวมทั้งสิ้น 15 สะพาน

     ทั้งนี้มีพระราชปรารภว่า ชื่อสะพานที่มีแต่ตัวเลขกำกับยากต่อการเรียกและการจดจำ จึงได้พระราชทานชื่อพร้อมกัน 15 สะพาน ทั้งยังได้พระราชทานทรัพย์ให้สำหรับสร้างสะพานในอีก 2 ปีข้างหน้า แต่ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน สะพานที่ 16 และ 17 มาสำเร็จในสมัยรัชกาลที่ 6

     สำหรับการสร้างสะพานชุดเฉลิม อยู่ภายใต้การดำเนินงานของกรมโยธาธิการ กระทรวงโยธิการ ในเวลานั้นมีนาย อัลเลกรี เป็นวิศวกรผู้ออกแบบ

     ในที่นี้พูดถึง สะพานเฉลิมหล้า 56 หรือที่เรียกกันว่า สะพานหัวช้าง เป็นหลักก่อน ส่วนสะพานอื่นๆ กล่าวไว้ท้ายเรื่อง

     สะพานเฉลิมหล้า 56 (อยู่ติดกับวังสระปทุม) เป็นสะพานที่ 15 สร้างขึ้นเพื่อข้ามคลองบางกะปิหรือคลองแสนแสบ บริเวณถนนพญาไท เพื่อเชื่อมทางระหว่างพระนครให้ต่อกันทั้งตอนเหนือและตอนใต้ คู่กับสะพานเฉลิมโลก 55 ซึ่งสะพานเฉลิมหล้า 56 สร้างขึ้นในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาปีที่ 56

     โครงสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก คานเป็นรูปโค้ง มีรายละเอียดงดงาม หัวสะพานทั้งสี่มุมประดับเป็นเศียรช้าง 4 ด้าน ลูกกรงหล่อแบบลูกมะหวดฝรั่ง กลางสะพานมีพระปรมาภิไธยย่อ จปร.

     พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดสะพานเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452 ซึ่งในปีนี้ พระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษาเท่ากับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมอัยกาธิราช จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระราชพิธีพระชนมายุสมายุมงคลเสมอรัชกาลที่ 2 และฉลองวัดอรุณราชวรารามด้วย และเนื่องจากรัชกาลที่ 2 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีช้างเผือกในแผ่นดิน 4 ช้าง จึงพระราชทานนามว่า สะพานเฉลิมหล้า ซึ่งมาจากพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และหัวเสาของสะพานออกแบบเป็นหัวช้างเผือก 4 หัว

     ปัจจุบันสะพานเฉลิมหล้า 56 นิยมเรียกกันว่า สะพานหัวช้าง ยังคงปรากฏอยู่ โดยกรุงเทพมหานครดูแลรักษาลักษณะเดิมของสะพาน แม้จะมีการขยายถนนและสะพานเพื่อให้รับกับความเจริญของบ้านเมืองและการคมนาคมที่คับคั่ง

     สำหรับสะพานชุดเฉลิม มีดังนี้

     สะพานเฉลิมศรี 42 เป็นสะพานแรกของชุดเฉลิม บริเวณถนนสามเสน ข้ามคลองบางขุนพรหม (เปิดสะพาน 22 ก.ย. 2438) ต่อมาได้ถูกรื้อเพื่อวางท่อระบายน้ำใต้ถนน และถมคลองเป็นทางเดินในวัดเอี่ยมวรนุช

     สะพานเฉลิมศักดิ์ 43 บริเวณถนนหัวลำโพงนอก ข้ามคลองริมถนนสนามม้า (เปิด 22 ก.ย. 2439)

     สะพานเฉลิมเกียรติ์ 44 ข้ามคลองหัวลำโพง เชื่อมปลายถนนสาทร (ปัจจุบันคือถนนพระราม 4)

     สะพานเฉลิมยศ 45 สร้างข้ามคลองวัดพระพิเรนทร์ ที่ถนนวรจักร (เปิด 15 พ.ย. 2440) ต่อมาได้ถูกรื้อออกเพื่อถมคลองเป็นถนนเจ้าคำรพ

     สะพานเฉลิมเวียง 46 ข้ามคลองตรอกเต๊าหรือคลองยาใจ หรือคลองถม ที่ถนนเยาวราช (เปิด 15 พ.ย. 2442) ต่อมาได้ถูกรื้อเพื่อถมคลอง สร้างถนนมังกร

     สะพานเฉลิมวัง 47 สร้างข้ามคลองวัดราชบพิธ หรือคลองสะพานถ่านที่ถนนอุณากรรณ (เปิด 15 พ.ย. 2443) ได้ถูกรื้อถอนไปแล้ว

     สะพานเฉลิมกรุง 48 สร้างข้ามคลองจักรวรรดิบริเวณถนนเจริญกรุง (เปิด 15 พ.ย. 2444)

     สะพานเฉลิมเมือง 49 สร้างขึ้นแทนที่สะพานไม้เก่าข้ามคลองสาทรข้างบ้านราชทูตเยอรมัน ที่ถนนเจ้าพระยาสุรศักดิ์ (เปิด 15 พ.ย. 2445) ถูกรื้อถอนไปแล้ว

     สะพานเฉลิมภพ 50 สร้างข้ามคลองหัวลำโพงถนนสุรวงศ์เชื่อมกับถนนพระราม 4 (เปิด 15 พ.ย. 2446) ต่อมาได้ถูกรื้อออกเพื่อขยายถนนพระราม 4 ส่วนคลองถูกถมเป็นช่องระบายน้ำ

     สะพานเฉลิมพงษ์ 51 สร้างขึ้นแทนสะพานไม้เก่าข้ามคลองสะพานถ่าน หรือคลองหลังวัดราชบพิธบนถนนเฟื่องนคร (เปิด 15 พ.ย. 2447) ปัจจุบันไม่ปรากฏแล้ว เพราะมีการปรับระดับลดพื้นสะพานให้เสมอกับระดับถนน

     สะพานเฉลิมเผ่า 52 สร้างขึ้นแทนสะพานไม้ซึ่งเก่าชำรุดและสูงเกินกว่ารถม้าจะข้ามไปมาได้โดยสะดวก ข้ามคลองริมถนนสนามม้าหรือคลองอรชร ข้างวัดปทุมวนาราม ที่ถนนปทุมวัน (เปิด 15 พ.ย. 2448) ปัจจุบันสะพานนี้ยังปรากฏเพียงส่วนของราวสะพาน มีชื่อสะพานจารึกอยู่ หลังจากบูรณะเมื่อ 2506

     สะพานเฉลิมพันธ์ 53 สร้างขึ้นแทนสะพานไม้เก่าข้ามคลองวัดสามจีน หรือวัดไตรมิตรวิทยาราม ตอนปลายถนนเยาวราช (เปิด 15 พ.ย. 2449) ต่อมาได้มีการย้ายชิ้นส่วนของสะพาน มาประกอบขึ้นใหม่เป็นสะพานข้ามคลองสาทรที่ถนนเจริญกรุง

     สะพานเฉลิมภาคย์ 54 สร้างขึ้นแทนที่สะพานเก่าข้ามคลองสีลม ตำบลบางรัก (เปิด 15 พ.ย. 2450) ปัจจุบันได้ถูกรื้อออกเพื่อทำท่อระบายน้ำ

     สะพานเฉลิมโลก 55 สร้างข้ามคลองบางกะปิหรือคลองแสนแสบ ปัจจุบันคือประตูน้ำ เป็นสะพานสำคัญที่เชื่อมพระนครตอนเหนือและตอนใต้ให้สัญจรไปมาได้สะดวก (เปิด 12 พ.ย. 2451) ปัจจุบันยังคงปรากฏอยู่ แม้มีการขยายดัดแปลงไปบ้าง

     สะพานเฉลิมหล้า 56 ได้กล่าวข้างต้นไปแล้ว

     สะพานเฉลิมเดช 57 สร้างขึ้นแทนสะพานไม้เก่าข้ามคลองหัวลำโพง ปลายถนนสี่พระยา (เปิด 15 พ.ย. 2453) ปัจจุบันได้ถูกรื้อออกเพื่อขยายถนนพระราม 4 และถมเป็นช่องระบายน้ำ

     สะพานเฉลิมสวรรค์ 58 เป็นสะพานสุดท้ายในสะพานชุดเฉลิม โดยทรงเลือกสถานที่จะก่อสร้างสะพานไว้ตั้งแต่ก่อนเสด็จสวรรคต คือสะพานข้ามคลองโรงไหม เป็นปากคลองหลอดด้านเหนือในปัจจุบันบริเวณถนนพระอาทิตย์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จพิธีเปิดสะพาน 23 ต.ค. 2455 ต่อมาได้ถูกรื้อออกไปกลายเป็นถนนลอดใต้เชิงสะพานพระปิ่นเกล้าในปัจจุบัน

      ทั้งหมดนี้ สะพานชุดเฉลิมในรัชกาลที่ 5