วันอังคารที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2561
บริการข่าวไทยรัฐ

ข่าว

วิดีโอ


ทายาทราชสกุล จิตรพงศ์ สืบทอดงานศิลป์นายช่างใหญ่แห่งสยาม

โดย

ทายาทรุ่นหลาน ม.ร.ว.หญิงกัลยา - ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์

วันที่ 28 เมษายนของทุกปี ประตูรั้ว "ตำหนักปลายเนิน" ที่พำนักของราชสกุล  "จิตรพงศ์"  บนถนนพระราม  4  จะเปิดต้อนรับผู้มาร่วมงาน "วันนริศ" เพื่อรำลึกถึง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นธรรมเนียมปฏิบัติมายาวนาน 40 ปี

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีผลงานที่ฝากไว้บนแผ่นดินมากมาย   ทั้งทางด้านการเมืองการปกครองทรงเป็นเสนาบดีหลายกระทรวง ทรงได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินต่างประเทศ  นอกจากนี้ยังทรงมีพระอัจฉริยภาพในด้านศิลปะมากมาย ทั้งงานสถาปัตยกรรมโบราณ ซึ่งผลงานที่โดดเด่นเช่น ทรงออกแบบก่อสร้างพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร ทรงออกแบบพระบรมรูปหล่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เป็นอาทิ



ในด้านจิตรกรรม ทรงเขียนภาพสีน้ำมันประกอบพระราชพงศาวดารที่พระที่นั่งบรมพิมาน ด้านวรรณกรรม ทรงประพันธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองมากมาย และด้านดุริยางคศิลป์และนาฏศิลป์ ทรงนิพนธ์เพลงสรรเสริญพระบารมี, เพลงเขมรไทรโยคและเพลงตับ และทรงนิพนธ์ บทละครดึกดำบรรพ์ อาทิ สังข์ทอง, คาวี, อิเหนาและรามเกียรติ์ ด้วยผลงานที่ประจักษ์เหล่านี้ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้จารึกพระนามเป็นบุคคลสำคัญระดับโลก ปี 2506

เหล่านี้เป็นความภาคภูมิใจของทายาทใน "ราชสกุลจิตรพงศ์" ที่สืบเนื่องมาถึงรุ่นลูกหลานและเหลน ในปัจจุบัน ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ ทายาทรุ่นหลาน กล่าวถึง "สมเด็จปู่" ว่า

"พูดแล้วเหมือนยกย่องปู่ตัวเอง พระองค์ท่านเป็นคนที่หายาก มีความสามารถมากมาย   ทั้งที่ท่านไม่เคยไปเรียนไปฝึกที่ไหน   ท่านเป็นคนสอนตัวเอง ทำโน่นทำนี่เอง เป็นคนใฝ่รู้อยากรู้ ท่านสิ้นพระชนม์ตอนผมอายุ 2 ขวบ ยังเด็กมาก แต่พอจำท่านได้ฝังลึก ในวันที่ผู้ใหญ่ให้เข้าเฝ้าท่านบนเตียง ท่านผอมเกือบหนังหุ้มกระดูก นั่นคือเข้าไปกราบทูลลา พอโตขึ้นมาผู้ใหญ่ก็เล่าโน่นเล่านี่ถึงพระองค์ท่าน ผมก็นั่งอ้าปากฟังผู้ใหญ่เล่า ทำให้เข้าใจว่าท่านเป็นคนอย่างไร"



สำหรับพระประวัติของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นที่ทราบกันว่า ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และพระสัมพันธ-วงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย ประสูติเมื่อวันที่ 28 เมษายน ปี 2406 มีพระนามเดิมว่า "พระองค์เจ้าจิตรเจริญ" พระองค์ทรงมีพระโอรสธิดาหลายองค์ ปัจจุบันเหลือเพียงพระธิดาองค์เล็ก "ม.จ.กรณิกา จิตรพงศ์" ซึ่งทายาทจิตรพงศ์ ต่างพำนักอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันภายในรั้ว   "ตำหนักปลายเนิน"

ม.ร.ว.จักรรถเล่าว่า ตำหนักแห่งนี้เป็นเหมือนฮอลิเดย์ โฮม หรือบ้านพักตากอากาศ ในสมัยก่อนบริเวณแถวพระราม 4 คลองเตยนี้เป็นชนบทห่างไกล ถ้าออกมาจากบริเวณพระบรมมหาราชวัง ต้องมาด้วยรถม้า ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ส่วนที่พระองค์ท่านทรงมาสร้างตำหนักที่นี่เพราะทรงประชวร เจ้าพระยาเทเวศน์วงศ์วิวัฒน์ทรงชวนออกมาพำนักเพื่อตากอากาศแถวนี้ จากนั้นสมเด็จปู่ทรงซื้อที่ดินจนมีพื้นที่กว่า 10 ไร่ เพื่อสร้างบ้าน ซึ่งตัวบ้าน พระองค์ท่านซื้อเรือนไทยหลังเก่ามาปลูกสร้าง และทรงออกแบบบริเวณชั้นล่างและเรือนอื่นเป็นแนวยาว แทนที่จะทำเป็นหมู่เรือนไทยตามประเพณี ทั้งนี้ทรงอยากให้เรือนทุกหลังรับลมอย่างดี



แล้วชื่อตำหนักปลายเนินมีความเป็นมาอย่างไรคะ

"มีเรื่องราวน่ารักคือ เดิมบ้านหลังนี้ไม่มีชื่ออะไร เวลาพูดถึงก็จะเรียกบ้านที่คลองเตยบ้าง วังคลองเตยบ้าง แต่ที่นี้ในสมัยก่อนถนนบริเวณแถบนี้รถสวนกันได้ 2 เลน ออกมาจากทางหัวลำโพง เขาสร้างทางรถไฟสูงมากทำให้ถนนพระราม 4 เหมือนมีเนินทางรถไฟ แล้วบ้านผมอยู่ทางปลายเนิน เวลาใครจะไปจะมาก็พูดกันว่า ทางเข้าวังอยู่ปลายเนินข้ามทางรถไฟ จนติดปากเรียกกันว่าวังปลายเนินกัน"

บ้านเรือนไทยทรงสวยงามที่มีอายุกว่า 100 ปี ได้รับการดูแลอย่างดีและมีสภาพเหมือนเมื่อครั้งที่เจ้าของบ้านมีพระชนม์อยู่ โดยจะเห็นห้องทรงงานและผลงานของพระ องค์ท่าน ที่สนพระทัยทั้งด้านการออกแบบศิลปะไทยโบราณ, นาฏศิลป์ และด้านวรรณกรรม ซึ่งทายาทรุ่นหลาน อย่าง ม.ร.ว.จักรรถบอกว่า

"พระองค์ท่านทรงงานตลอด 24 ชั่วโมง งานราชการใดที่ทรงได้รับการไหว้วานจะโปรดทำเอง และน่าอัศจรรย์ที่ท่านทรงแบ่งเวลาได้อย่างไรที่ทรงสามารถผลิตผลงานศิลปะมาก มาย เดากันว่าท่านมีสมาธิสูงมาก พอมีงานเฉพาะหน้าท่านจะทำมันตั้งแต่ต้นจนจบ ในขณะเดียวกันพระองค์ท่านก็เป็นพ่อที่ประเสริฐมากสำหรับลูกๆ  ทั้งที่อาจจะไม่ค่อยมีเวลาด้วยกันมากนัก"



คุณชายได้เรียนรู้จากการทรงงานของสมเด็จปู่อย่างไรบ้างคะ

"พระองค์ท่านเคยรับสั่งว่าจะทำอะไรให้คิดให้ดี ทำงานแล้วต้องทำให้ดี ถ้างานออกไปไม่ดีจะเป็นอนุสาวรีย์แห่งความอาย งานแต่ละชิ้นต้องดี เข้าใจว่าพระองค์ท่านทรงรักษามาตรฐานตรงนี้มาโดยตลอดพระ ชนม์ชีพ โดยดูจากการทรงงานแต่ละชิ้น อย่างตาลปัตรที่ทรงออกแบบถวายรัชกาลที่ 5 พระองค์ท่านจะทรงคิดแบบหลายแนว ไม่ได้ออกแบบ แบบเดียว จะทรงออกแบบถึง 8 แบบสำหรับ 1 งาน เพื่อให้พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเลือก ซึ่งเวลาที่พระองค์ท่านทำอะไรจะทรงคิดลึกมาก อย่างออกแบบตาลปัตรให้ใครก็จะศึกษาชีวิตนิสัยคนนั้นเข้ามาสู่งานศิลปะ หรืออย่างทรงออกแบบพระพุทธรูป ทรงถือคติต้องเหมือนจริงตามธรรมชาติและเป็นไปได้ ผนวกรวมกับศิลปะแบบไทย"

ม.ร.ว.จักรรถเล่าให้เห็นภาพอีกว่า อย่างภาพเขียนเทวดา พระองค์จะทรงเขียนสรีระร่างกายให้เหมือนมนุษย์จริงๆ  และนำศาสตร์ชาวตะวันตกของการเสริมมิติเข้ามาใช้กับศิลปะไทย   นอกจากนี้ยังได้ยินผู้ใหญ่เล่ากันว่า เวลาพระองค์ท่านจะทรงเขียนสิ่งใดก็จะมีหุ่นสิ่งนั้นเป็นตัวแบบ อย่างเช่นจะทรงเขียนรูปวัวหรือม้า ก็จะทรงให้นำวัวหรือม้ามาผูกเป็นแบบ

"ว่ากันว่าตอนที่สมเด็จปู่ทรงวาดรูปพระมหาชนก ตอนที่พระมหาชนกว่ายน้ำนั้น คนเป็นแบบคือ คุณพ่อของผม (ม.จ.เพลารถ จิตรพงศ์) ซึ่งพระองค์ท่านไล่ให้ไปว่ายน้ำในคลองแถวบ้าน แล้วก็ทรงวาด นอกจากเรื่องการทำงานที่ทรงตั้งพระทัยทำอย่างที่สุดแล้ว พระองค์ท่านยังทรงละเอียดที่สุด และยังเป็นคนที่ช่างสังเกต ดูจากสมุดประจำวันที่ทรงเขียนทุกวัน พระองค์ท่านจะทรงบันทึกสภาพดินฟ้าอากาศ ในเรื่องส่วนพระองค์ก็จะทรงบันทึกว่ามีไข้ บันทึกเป็นรายชั่วโมง หรือมีใครมาเยี่ยม และเวลาที่เสด็จไปตรวจราชการที่ไหน ทรงได้ยินเสียงนกร้องก็ทรงเขียนเป็นโน้ตเพลงว่าร้องอย่างนี้ บันทึกนี้เป็นเสมือนจดหมายเหตุพระราชกิจได้เลย ซึ่งเคยคิดจะนำไปตีพิมพ์ แต่ไม่สำเร็จ เพราะพาดพิงคนมากมาย"



คุณชายมีความประทับใจสมเด็จปู่อย่างไรบ้างคะ

"มีมาก และทำให้ผมสนใจทางด้านศิลปวัฒนธรรม ตั้งแต่เล็กผมได้ไปเรียนอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่อายุ 13 ปี ในช่วงที่เรียนอยู่ก็เกิดความประทับใจที่เขามีความสนใจศิลปวัฒนธรรม  พอกลับมาเมืองไทยเลยอยากเข้าถึงศิลปะของไทย  เริ่มศึกษาจนเกิดความประทับใจในช่างไทย เลยศึกษาจากผลงานของสมเด็จปู่ แล้วก็นึกเสียดายที่ตัวเองไม่ได้เป็นศิลปินไทยในการสืบสานงานทางด้านนี้ เพราะยิ่งศึกษายิ่งประทับใจ ยิ่งค้นหาก็จะเจอผลงานใหม่ๆของพระองค์ท่าน"

ด้วยที่ทรงสนพระทัยทางด้านศิลปวัฒนธรรม ม.ร.ว.จักรรถบอกว่า บรรดาทายาทจึงสืบทอดเจตนารมณ์สานต่องานศิลปะไทยในรูปแบบของ "ทุนนริศฯ" ขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงพระองค์ท่าน และเป็นทุนการศึกษาทางศิลปะให้แก่นักเรียนโรงเรียนนาฏศิลป์และนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร  ซึ่งเน้นให้เฉพาะผู้ที่แสดงความปรารถนาจะประกอบอาชีพทำงานด้านศิลปะไทย เป็นพวกช้างเผือกทางศิลปะไทยที่มีฝีมือเป็นเลิศ นอกจากการมอบทุนเพื่อส่งเสริมด้านศิลปะไทยแล้ว "ตำหนักปลายเนิน" ยังเป็นสถานที่เรียนรู้ทางด้านดนตรีและนาฏศิลป์ไทยอีกด้วย ซึ่ง ม.ร.ว.จักรรถเล่าว่า ไม่เปิดสอนอย่างเป็นทางการ แต่เป็นลักษณะคนรู้จักกันมาเรียนตั้งแต่รุ่นแม่จนถึงรุ่นลูกมากกว่า เลยกลายมาเป็นคณะละครสมัครเล่นแห่งบ้านปลายเนินที่จะแสดงกันในงานวันนริศ พร้อมกันนี้ก็เปิดบ้านปลายเนินให้ผู้สนใจเข้าชมกันปีละครั้งโดยไม่เก็บค่าเข้าชม  ก็มีคนจำนวนมากเข้ามาชมทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทั้งนี้เพราะเรือนไทยงดงามหาดูยาก และเฉพาะชื่อสมเด็จปู่ก็เลยมีคนมาขอดูเยอะ มาค้นคว้าหาข้อมูลบ้าง



ในส่วนของทายาทมีใครสานงานต่อจากพระองค์ท่านบ้างไหมคะ

"คงจะลำบาก เพราะถ้าสายตรงทางผม ผมก็มีลูกชายคนเดียว เรียนทางด้านออกแบบอุตสาหกรรมที่จุฬาฯ คนรุ่นใหม่คิดเรื่องความชอบและความอยู่รอดทางสายอาชีพ เราก็เคยคุยกันกับทายาทคนอื่นๆว่าจะทำอย่างไรต่อ ซึ่งคงจะพัฒนาวังปลายเนินเป็นศูนย์การศึกษาประวัติและผลงานของสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์"

หากการทำงานเป็นอนุสรณ์ที่ทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลัง   สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสร้างอนุสรณ์ที่งดงามให้แก่คนรุ่นหลังได้ชื่นชมและสรรเสริญ สมดังพระสมัญญานามที่ทรงได้รับว่า "นายช่างใหญ่แห่งสยาม" อย่างแท้จริง.



ทีมข่าวหน้าสตรี

วันที่ 28 เมษายนของทุกปี ประตูรั้ว "ตำหนักปลายเนิน" ที่พำนักของราชสกุล "จิตรพงศ์" บนถนนพระราม 4 จะเปิดต้อนรับผู้มาร่วมงาน "วันนริศ"... 9 พ.ค. 2552 21:35 10 พ.ค. 2552 05:53 ไทยรัฐ