ข้อมูลท่องเที่ยว จังหวัดน่าน
สถานที่ท่องเที่ยว  อ.เมือง : อ.ภูเพียง : จ.น่าน

อำเภอเมือง
     ท่องเที่ยวอำเภอเมืองน่าน เมืองน่ารักที่รวยด้วยวัฒนธรรมและเงียบสงบ ด้วยผังเมืองที่มีลักษณะที่ดีมาตั้งแต่ครั้งในอดีต ทำให้ในตัวเมืองน่าน มีวัดวาอารามที่สำคัญๆ ตั้งอยู่ในตัวเมืองน่านทั้งหมดและมีระยะทางที่ไม่ห่างกันมากนัก อีกทั้งยังมีพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงอดีตความเป็นมาของเมืองน่านและคนพื้นเมืองน่านตั้งแต่ในอดีต การเที่ยวในตัวเมืองน่านนั้น สามารถเที่ยวได้ในหนึ่งวัน...

วัดภูมินทร์ เป็นวัดหลวง ตั้งอยู่ในเขตพระนครดังปรากฏชื่อตำบลในเวียง ในปัจจุบัน อยู่ใกล้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดน่าน ตามพงศาวดารของเมืองน่าน พระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์เจ้าผู้ครองนครน่านได้สร้างวัดภูมินทร์ขึ้นหลังจากที่ครองนครน่านได้ ๖ ปี เมื่อ พ.ศ.๒๑๓๙ มีปรากฏในคัมภีร์เมืองเหนือว่าเดิมชื่อ “วัดพรหมมินทร์” แต่ตอนหลังชื่อวัดได้เพี้ยนไปจากเดิมเป็นวัดภูมินทร์ สามร้อยปีต่อมา วัดภูมินทร์ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่สมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๐ (ปลายสมัยรัชกาลที่ ๔) ใช้เวลาซ่อมนานถึง ๗ ปี จิตรกรรมฝาผนังในวิหารหลวงก็เขียนขึ้นในช่วงนี้ ภาพจิตรกรรมหรือ “ฮูบแต้ม” ในวัดภูมินทร์เป็นชาดกในพุทธศาสนาแต่ถ้าพิจารณารายละเอียดของวิถีชีวิตของคนเมืองในสมัยนั้น มีภาพที่น่าสนใจอยู่หลายภาพเช่น ภาพธรรมเนียมการอยู่ข่วง ของชาวไทลื้อ พ่อแม่ จะอนุญาตให้หนุ่มสาวพบปะกันที่ชานบ้านในเวลาค่ำ ขณะหญิงสาวกำลังปั่นฝ้าย หรือ “อยู่ข่วง” หากสาวเจ้าตกลงปลงใจด้วยก็จะจัดพิธีแต่งงาน หรือที่เรียกว่า “เอาคำ ไปป่องกั๋น” หรือเป็นทองแผ่นเดียวกัน การค้าขายแลกเปลี่ยนในชุมชน ภาพชาวพื้นเมือง ซึ่งอาจเป็นชาวเขา “เป๊อะ” ของป่าบนศรีษะ เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนกับคนเมือง ภาพปู่ม่าน ย่าม่าน ภาพนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพที่งามเป็นเยี่ยมของวัดภูมินทร์ มีการใช้สีแดง ฟ้าดำ น้ำตาลเข้มเป็นปื้นใหญ่ ๆ คล้ายภาพสมัยใหม่ ชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมืองน่าน หญิงสาวกำลังทอผ้าด้วยกี่พื้นเมือง นอกเรือนมีชานเล็ก ๆ ตั้งหม้อน้ำดินเผาที่เรียกว่า “ร้านน้ำ” ชายหนุ่มไว้ผมทรงหลักแจวหรือทรงมหาดไทย แสดงให้เห็นอิทธิพลตะวันตกที่เข้ามาผสมผสานในวิถีพื้นเมืองน่าน ภาพชาวต่างประเทศ ที่เข้ามาเมืองน่านช่วงรัชกาลที่ ๕ ทรงผม และเครื่องแต่งกายของผู้หญิงเป็นรูปแบบเดียวกับที่กำลังเป็นที่นิยมในยุโรปขณะนั้น จุดเด่นของวัดนี้คือเป็นวัดที่สร้างทรงจตุรมุขหนึ่งเดียวในประเทศไทยที่ดูคล้ายตั้งอยู่บนหลังพญานาค ๒ ตัว อาคารนี้เป็นทั้งพระอุโบสถ พระวิหารและพระเจดีย์ประธาน โดยใช้อาคารในแนวตะวันออก-ตะวันตกเป็นพระวิหาร และอาคารแนวเหนือ-ใต้ เป็นพระอุโบสถ รัฐบาลไทยเคยพิมพ์รูปวัดภูมินทร์ในธนบัตรใบละ ๑ บาท ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ และเมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ สร้างพระวิหารหลังนี้จำลองไว้ด้วย

วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ถนนสุริยพงษ์ ตรงข้ามสำนักงานเทศบาลเมืองน่าน เดิมเรียก “วัดหลวง” หรือ “วัดหลวงกลางเวียง” สร้างขึ้นในสมัยเจ้าปู่แข็ง พ.ศ. ๑๙๔๙ เป็นวัดหลวงในเขตนครน่าน สำหรับเจ้าผู้ครองนครใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสำคัญทางพุทธศาสนาและพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาตามศิลาจารึกหลักที่ ๗๔ ซึ่งถูกค้นพบภายในวัดกล่าวว่า พญาพลเทพฤาชัย เจ้าเมืองน่านได้ปฏิสังขรณ์บูรณะวิหารหลวงเมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๑ ลักษณะสถาปัตยกรรมของวัดพระธาตุช้างค้ำนี้สะท้อนให้เห็นอิทธิพลของศิลปะสุโขทัย อาทิ เจดีย์ทรงลังกา (ทรงระฆัง) รอบฐานองค์พระเจดีย์ก่ออิฐถือปูนและปั้นเป็นรูปช้างครึ่งตัว ด้านละ ๕ เชือก และที่มุมทั้งสี่อีก ๔ เชือก ดูคล้ายจะเอาหลังหนุน หรือ “ค้ำ” องค์เจดีย์ไว้ ลักษณะคล้ายวัดช้างล้อม จังหวัดสุโขทัย และภายในวิหารประดิษฐาน พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี พระพุทธรูปสำริดปางประทานอภัย สูง ๑๔๕ เซนติเมตร อายุราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ตรงกับสมัยสุโขทัยตอนปลาย ส่วนผสมของทองคำ ๖๕ % พระประธานเป็นปูนปั้นขนาดใหญ่ศิลปะเชียงแสน ฝีมือสกุลช่างน่านที่มีพุทธลักษณะงดงามยิ่ง

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ถนนผากอง ตรงข้ามกับวัดพระธาตุช้างค้ำ ใกล้กับวัดภูมินทร์ เป็นอาคารแบบยุโรปซึ่งเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองน่าน เดิมเป็น “หอคำ” ซึ่งเป็นที่ประทับและที่ว่าราชการของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ใช้เป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดแห่งแรกของจังหวัดน่าน ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๑๗ อาคารแห่งนี้ได้รับการปรับปรุงอีกครั้งให้เป็นสถานที่ตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ลักษณะการจัดพิพิธภัณฑ์จะใช้แสงธรรมชาติเข้าช่วย ตัวอาคารโปร่งมีหน้าต่างโดยรอบ ผู้มาเที่ยวจะรู้สึกเหมือนเดินอยู่ในบ้านมากกว่าพิพิธภัณฑ์ ทำให้เพลิดเพลินในการเดินชมสิ่งของที่จัดแสดง ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งเป็น ๒ ชั้น ชั้นล่างจัดแสดงชีวิตความเป็นอยู่ของชนเผ่าต่าง ๆ ในจังหวัดน่าน รวมทั้งเทศกาลงานประเพณีที่สำคัญของจังหวัด เช่น การสืบชะตา การแข่งเรือ ส่วนชั้นบนจัดแสดงโบราณวัตถุสมัยต่าง ๆ ที่พบในจังหวัดน่าน ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงยุคเจ้าผู้ครองนครน่าน ชิ้นที่สำคัญ ได้แก่ งาช้างดำ วัตถุมงคลคู่บ้านคู่เมืองน่าน เป็นงาช้างข้างซ้าย ยาว ๙๔ เซนติเมตร วัดโดยรอบส่วนที่ใหญ่สุดได้ ๔๗ เซนติเมตร มีน้ำหนัก ๑๘ กิโลกรัม ได้มาในสมัยพระยาการเมืองเจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ ๕ เครื่องปั้นดินเผาเคลือบ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ จากเตาเผาบ่อสวก ตำบลสวก อำเภอเมือง น่าน พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา อิทธิพลศิลปะพม่า พุทธศตวรรษที่ ๒๕ พานพระศรีเครื่องเงินลงยา ซึ่งเป็นเครื่องประกอบอิสริยยศของเจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้าย พิพิธภัณฑ์เปิดทุกวัน เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. ค่าเข้าชม ชาวไทย ๑๐ บาท ชาวต่างประเทศ ๓๐ บาท รายละเอียดติดต่อ โทร ๐ ๕๔๗๑ ๐๕๖๑, ๐ ๕๔๗๗ ๒๗๗๗ หรือwww.thailandmuseum.com

คุ้มเจ้าราชบุตร (หมอกฟ้า ณ น่าน) สร้างขึ้นใน ปีพ.ศ. ๒๔๐๙ เป็นเรือนไม้สักทองสองชั้น ในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้รื้ออาคารเดิมและก่อสร้างใหม่ ย่อขนาดให้เล็กลง ปลูกสร้างในตำแหน่งเดิม ปัจจุบันเป็นที่พักของเจ้าสมปรารถนา ณ น่าน ยังคงเก็บรักษาของเก่าแก่ประจำตระกูล เช่น ดาบ งาช้างศึก อาวุธโบราณ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์รัชกาลที่ ๕ นักท่องเที่ยวที่สนใจเข้าชม ควรติดต่อล่วงหน้ากับเจ้าบ้าน โทร. 054-710-605

วัดน้อย (วัดเล็กที่สุดในประเทศไทย) สร้างโดยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ หลังปี พ.ศ. ๒๔๑๖ เนื่องจาก พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ กราบบังคมทูลถึงจำนวนวัดในเขตเมืองน่านต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.๕ เกินไป ๑ วัด จึงได้สร้างวัดน้อยแห่งนี้ึขึ้นมาเพื่อให้ครบตามจำนวนที่กราบบังคมทูล ปัจจุบันอยู่ในเขตพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติน่าน

วัดพญาภู ตั้งอยู่บ้านพญาภู สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าภูเข่ง ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ อายุกว่า ๕๙๔ ปี นอกจากจะมีพระเจดีย์ขนาดใหญ่ที่สร้างไว้ด้านหลังพระวิหารแล้ว ในวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลา ๒ องค์ ซึ่งสร้างในสมัยพระเจ้งั่วฬารผาสุม ราวปี พ.ศ.๑๘๖๙นอกจากนี้ยังมีภาพไม้จำหลักทวารบาลรูปยักษ์ที่บานประตู

ัวัดสวนตาล ตั้งอยู่บน ถ.มหายศ สร้างขึ้นโดยพระนางปทุมมาวดี เมื่อปี พ.ศ.๑๗๗๐ ภายในวิหาร ประดิษฐานพระพุทธรูปที่สำัคัญคือ พระเจ้าทองทิพย์ ซึ่งพระเจ้าติโลกราชแห่งนครเชียงใหม่ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๑๙๙๓ เป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ องค์ใหญ่ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๑๐ ฟุต สูง ๑๔ ฟุต ๔ นิ้ว จะมีงานนมัสการ สรงน้ำพระ และการเฉลิมฉลองเป็นประจำทุกปี ในช่วงเทศกาลสงกรานต์

วัดหัวข่วง มีลักษณะศิลปกรรมแบบท้องถิ่นล้านนา สกุลช่างเืมืองน่าน ไม่ปรากฎปี พ.ศ.ที่สร้าง ในวัดมีหอไตรเก่าลักษณะน่าชม เจดีย์ทรงปราสาทหรือทรงเรือนธาตุ อิทธิพลศิลปะล้านนา ฐานล่างทำเป็นหน้ากระดานสี่เหลี่ยมรับฐานบัวลูกแก้วสองชั้น มีชั้นหน้ากระดานคั่นกลางฐานบัวลูกแก้ว ชั้นบนย่อเก็จรับเรือนธาตุไปจดชั้นบัวถลาใต้องค์ระฆัง ส่วนเรือนธาตุมีซุ้มจระเข้นำด้านละซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ที่มุมผนังทั้งสองข้าง ปั้นเป็นรูปเทวดทรงเครื่องยืนพนมมือ

วัดมิ่งเมือง ถนนสุริยพงศ์ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ ลักษณะเด่นคือ ลายปูนปั้นที่ผนังด้านนอกของพระอุโบสถ เป็นฝีมือตระกูลช่างเชียงแสน มีความวิจิตรงดงามมาก ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงให้เห็นวิถีชีวิตของชาวเมืองน่าน ฝีมือช่างท้องถิ่นยุคปัจจุบัน และบริเวณวัดยังเป็นที่ประดิษฐาน เสาหลักเมือง ซึ่งอยู่ในศาลาจตุรมุขด้านหน้าพระอุโบสถ เสาหลักเมืองสูงประมาณ ๓ เมตร ฐานประดับด้วยไม้แกะลวดลายลงรักปิดทอง ยอดเสาแกะสลักเป็นรูปพรหมพักตร์มีชื่อ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

วัดพญาวัด บ้านพญาวัด ตำบลดู่ใต้ ตามทางหลวงหมายเลข ๑๐๑ ก่อนข้ามสะพานเข้าเมืองน่าน มีทางแยกซ้ายมือเข้าทางหลวงหมายเลข ๑๐๒๕ เข้าไปประมาณ ๓๐๐ เมตร แต่เดิมบริเวณที่ตั้งวัดเป็นเขตศูนย์กลางเมืองน่านในสมัยที่ย้ายเมืองจากพระบรมธาตุแช่แห้งมาตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน เจดีย์สร้างด้วยศิลาแลงในสมัยพระนางจามเทวี ลักษณะคล้ายเจดีย์กู่กุด จังหวัดลำพูน เป็นทรงซุ้มสี่เหลี่ยมซ้อนกัน ๕ ชั้น แต่ละชั้นประดิษฐานพระพุทธรูปยืนซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัยดังพบที่สถูปเจดีย์วัดมหาธาตุจังหวัดสุโขทัย ยอดซุ้มก่ออิฐวงโค้งเป็นรูปแบบการก่อสร้างสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งนครเชียงใหม่แสดงให้เห็นว่ามีการบูรณะในสมัยนั้น ซึ่งเป็นสมัยที่อิทธิพลของศิลปะเชียงใหม่ได้เข้ามาแทนที่ศิลปะสุโขทัยแล้ว ในพระอุโบสถประดิษฐาน “พระเจ้าฝนแสนห่า” หรือ “พระเจ้าสายฝน” ซึ่งชาวเมืองน่านเคยนำมาแห่ขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล นอกจากนั้นยังมีธรรมาสน์แกะสลัก ฝีมือช่างพื้นเมืองน่านที่เก่าที่สุดเท่าที่เคยพบ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยเจ้าอัตถวรปัญโญ ราวครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๒๔

ัวัดพระธาตุเขาน้อย ตำบลไชยสถาน องค์พระธาตุตั้งอยู่บนยอดดอยเขาน้อย ซึ่งอยู่ด้านตะวันตกของตัวเมืองน่าน อยู่ในเส้นทางเดียวกันกับวัดพญาวัด ตรงหลักกิโลเมตรที่ ๒ สร้างในสมัยเจ้าปู่แข็ง เมื่อ พ.ศ.๒๐๓๐ องค์พระธาตุเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์ ศิลปะพม่าผสมล้านนา ภายในบรรจุพระเกศาธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดชฯ ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๔๙-๒๔๕๔ โดยช่างชาวพม่า และวิหารสร้างในสมัยนี้เช่นกัน จากวัดพระธาตุเขาน้อยสามารถมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบของตัวเมืองน่าน ปัจจุบันบริเวณลานชมทิวทัศน์ประดิษฐาน “พระพุทธมหาอุดมมงคลนันทบุรีศรีน่าน” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางประทาน-พร บนฐานดอกบัวสูง ๙ เมตร บนยอดพระเกศาทำจากทองคำหนัก ๒๗ บาท สร้างขึ้นเนื่องในมหามงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ฯ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒
จุดเด่น : บนวัดพระธาตุเขาน้อย เป็นจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นตัวเมืองน่านได้ทั้งเมือง
ช่วงเวลาที่สวยที่สุด : ช่วงเย็น เป็นจุดพระอาทิตย์ตกดินที่สวยที่สุด

กำแพงเมืองน่าน เป็นแนวกำแพงที่ปรากฎให้เห็นในปัจจุบันถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๓๙๘ สมัยเจ้าอนันตวรฤิทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน ได้สร้างขึ้นแทนกำแพงเมืองเก่า ที่สร้างด้วยท่อนซุงซึ่งถูกน้ำพัดพังทลาย สมัยพญาสุมนเทวราช ในคราวน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๐

ตลาดเช้าเมืองน่าน ตลาดสดตั้งจิตนุสรณ์อยู่ถนนตรงข้ามกับโรงแรมเทวราชและโรงแรมน่านฟ้า ตลาดเช้าเมืองน่านเป็นตลาดสดที่มีพ่อค้าแม่้ค้า วางของขายที่สามารถมองเห็นได้แต่ไกล มีทั้งพืชผักสดๆ จากสวน ผลไม้ หรือแม้แต่มีกับข้าวสำเร็จ ที่มีข้าวเหนียวร้อน จิ้นปิ้ง(หมูปิ้ง) ตับปิ้ง น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกตาแดง หรือโจ๊กร้อนๆพร้อมปาท่องโก๋ ตลาดเช้าเืมืองน่านเริ่มตั้งแต่เวลา 04.00 - 07.00 น.
กิจกรรม : ทำบุญใส่บาตรยามเช้า เดินชมตลาดเช้าของพื้นเมืองน่าน
ชิมอาหารพื้นบ้านมื้อเช้าของคนเมืองน่าน

แหล่งเตาเผาและเครื่องเคลือบบ้านบ่อสวก บ้านบ่อสวก ในอดีตเคยเป็นแหล่งผลิตเครื่องเคลือบภาชนะดินเผาที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองน่าน มีรูปแบบและกรรมวิธีการผลิตเป็นลักษณะเฉพาะของตัวเอง คาดว่าเครื่องเคลือบภาชนะดินเผาจากบ้านบ่อสวกเคยได้รับความนิยมอย่างสูง เพราะได้ขุดพบตามแหล่งฝังศพของคนในสมัยก่อน โดยเฉพาะแถบเทือกเขาในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ต่อเนื่องไปจนถึงจังหวัดตาก และกำแพงเพชร สันนิษฐานว่าการผลิตเครื่องเคลือบที่บ้านบ่อสวกเริ่มขึ้นและพัฒนาในสมัยเจ้าพระยาพลเทพฤาชัย (พ.ศ.๒๐๗๑-๒๑๐๒) ซึ่งเป็นยุคสมัยแห่งความรุ่งเรืองของเมืองน่าน วิทยาการเตาเผาและเครื่องเคลือบเมืองน่านได้รับจากล้านนา เช่น จากกลุ่มสันกำแพง กลุ่มกาหลง ซึ่งเป็นกลุ่มเตาใกล้นครเชียงใหม่ เตาเผาแห่งนี้ได้รับการสำรวจและศึกษาเบื้องต้น โดยกองโบราณคดี กรมศิลปากร มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นแหล่งโบราณคดีชุมชนอยู่ที่บ้านบ่อสวกพัฒนา หมู่ ๑๐ ตำบลบ่อสวก ห่างจากตัวเมือง ๑๗ กิโลเมตร แหล่งที่มีการค้นพบเตาเผาเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ ตั้งอยู่ในเขตบ้านพักของ จ.ส.ต.มนัส และคุณสุนัน ติคำ บริเวณที่พบเตาอยู่ริมแม่น้ำ ลักษณะของเตาหันหน้าเข้าหาแม่น้ำเพื่อสะดวกในการขนส่ง ภายในเป็นโพรงใหญ่เพื่อให้คนเข้าไปข้างในได้ เตามีความลาดเอียงและมีปล่องระบายอากาศอยู่ด้านบน เตาโบราณจำนวน ๒ เตาได้รับการบูรณะ และก่อสร้างอาคารถาวรคลุม ส่วนบริเวณใต้ถุนบ้าน จ่ามนัสจัดเป็นนิทรรศการแสดงโบราณวัตถุจากแหล่งเตาเผา การขุดค้นศึกษาแหล่งเตาเมืองน่านบ้านบ่อสวก ถือเป็นการเปิดมิติใหม่ในการทำงานวิจัยทาง “โบราณคดีชุมชน” โดยการร่วมมือระหว่างชาวบ้าน องค์กรเอกชน ส่วนราชการในท้องถิ่น และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดความงอกงามทางความรู้และความเข้มแข็งของชุมชนไปพร้อมกัน ในอนาคตจะมีการจัดตั้งกองทุนโบราณคดีชุมชนบ้านบ่อสวก และนำเงินจากกองทุนเพื่อจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชน เช่น การฟื้นฟูอาชีพเครื่องปั้นดินเผา การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์หมู่บ้าน และการอบรมมัคคุเทศก์ชุมชน

หอศิลป์ริมน่าน ตั้งอยู่บนถนนสาย น่าน-ท่าวังผา ตรงหลักกิโลเมตรที่ ๒๐ ก่อตั้งโดย วินัย ปราบริปู ศิลปินชาวเมืองน่าน มีพื้นที่ประมาณ ๑๓ ไร่ ติดริมน้ำน่าน อาคารชั้นล่างจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนของศิลปินรับเชิญ ชั้นสองจัดแสดงผลงานของวินัย ปราบริปู เป็นหอศิลป์ร่วมสมัยของเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค
เปิดให้เข้าชม : วันพุธ-วันอาทิตย์
ตั้งแต่เวลา : ๑๐.๐๐ น. - ๑๗.๐๐ น.
ค่าเช้าชม : คนละ ๒๐ บาท

วนอุทยานถ้ำผาตูบ ตำบลผาสิงห์ ห่างจากตัวจังหวัด ๑๒ กิโลเมตร บนทางหลวงหมายเลข ๑๐๘๐ น่าน-ปัว-ทุ่งช้าง ตรงหลักกิโลเมตรที่ ๙-๑๐ สามารถเข้าถึงได้ทุกฤดูกาล
สถานที่น่าสนใจในวนอุทยานถ้ำผาตูบ
เส้นทางศึกษาธรรมชาติ มีพรรณไม้ที่ควรศึกษาและหาดูได้ยาก เช่น ต้นจันทน์ผาและเอื้องผึ้งซึ่งจะผลิดอกประมาณปลายฤดูฝน ทางเดินศึกษาธรรมชาติมีอยู่หลายเส้นทางด้วยกัน คือ จะเริ่มจากเส้นทางเดินเท้าถึงถ้ำบ่อน้ำทิพย์ เส้นทางจากหน้าที่ทำการฯ ถึงจุดชมวิว และเส้นทางเดินรอบที่ทำการฯ
ถ้ำพระ เป็นถ้ำใหญ่ ลานพื้นกว้าง เนื้อที่ราว ๕๐ ตารางวา มีปล่องเพดานด้านหนึ่งซึ่งปล่อยให้ลมพัดเข้ามา และให้แสงสว่าง มีหินงอกหินย้อยงดงาม ห่างจากที่ทำการประมาณ ๒๐๐ เมตร
ถ้ำบ่อน้ำทิพย์ ภายในถ้ำเป็นห้องโถงกว้างประมาณ ๓๐ ตารางวา มีปล่องเพดานให้แสงสว่างลอดเข้ามาได้ มีหินย้อยรอบผนังถ้ำด้านหนึ่ง มีซอกเว้าลึกเป็นโพรงมีแอ่งน้ำรูปไข่ น้ำขังตลอดปี ถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นสัญลักษณ์ของถ้ำนี้ ทางขึ้นถ้ำบ่อน้ำทิพย์ต้องปีนตามหน้าผาหินตลอด อยู่ห่างจากที่ทำการประมาณ ๑,๒๐๐ เมตร หน้าฝนมีน้ำในถ้ำ จะเข้าไม่ได้
ถ้ำขอน เป็นถ้ำที่มีรูปลักษณะยาวคล้ายกับท่อนซุง ด้านในมีหินงอกหินย้อยงดงาม และด้านหน้าบริเวณปากทางขึ้นถ้ำมีหน้าผาเหมาะสำหรับพักผ่อน และมองเห็นทิวทัศน์บริเวณหนองน่าน
ถ้ำเจดีย์แก้ว เป็นถ้ำขนาดเล็ก ด้านหน้าของถ้ำจะมีหินรูปร่างคล้ายเจดีย์ตั้งอยู่
จุดชมวิว ตั้งอยู่บนป่าซางติดกับเขาบ่อน้ำทิพย์ ทางด้านทิศใต้สามารถมองเห็นทิวทัศน์รอบ ๆ และมองเห็นอำเภอเมืองน่านได้ถนัด อยู่ห่างจากที่ทำการวนอุทยานฯ ประมาณ ๑ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินไป-กลับ ประมาณ ๒ ชั่วโมง
กิจกรรม ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๕ (เหนือ) ราษฎรชาวบ้านผาตูบจัดงานประเพณีปิดทองพระเขาถ้ำพระ เรียกงานนี้ว่า “งานถ้ำผาตูบ” ตอนเช้ามีการทำบุญตักบาตร กลางวันมีดนตรี และการแสดงของนักเรียนโรงเรียนบ้านผาตูบ มีการจัดงานขึ้นที่ถ้ำผาตูบเป็นประจำทุกปี
การเดินทาง จากอำเภอเมืองน่านใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๐๘๐ ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร มีทางแยกเข้าไปในเขตวนอุทยานถ้ำผาตูบประมาณ ๒๐๐ เมตร หรือนั่งรถโดยสารประจำทาง สายน่าน-ปัว หรือ น่าน-ทุ่งช้าง ซึ่งผ่านวนอุทยานถ้ำผาตูบ

สถานที่ท่องเที่ยว  กิ่ง อ.ภูเพียง จ.น่าน

กิ่ง อ.ภูเพียง

วัดพระธาตุแช่แห้ง : พระธาตุประจำปีเกิดปีเถาะ อยู่ที่ ตำบล ม่วงติ๊ด กิ่งอำเภอ ภูเพียง ห่างจากตัวเมืองน่าน 2 กิโลเมตร ซึ่งเป็นบริเวณที่เป็นศูนย์กลางของเมืองน่านเดิม พระธาตุแช่แห้ง เป็นปูชนียสถานที่สำคัญมีอายุกว่า 600 ปี พญาการเมืองโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1891 หลังจากที่ย้ายมาจากเมืองปัว เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระมหาชินธาตุเจ้า 7 พระองค์ พระพิมพ์เงินและพระพิมพ์ทอง ที่ได้รับพระราชทานจาก พระมหาธรรมราชาลิไท กรุงสุโขทัย

องค์พระธาตุเป็นเจดีย์ทรงระฆัง รูปแบบของพระธาตุแช่แห้งสันนิษฐานว่า ได้รับอิทธิพลจากเจดีย์ทรงหริภุญชัย องค์พระธาตุมีความสูง 55.5 เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างด้านละ22.5 เมตร โดยรอบองค์บุด้วยทองจังโก (ทองดอกบวบ ทองเหลืองผสมทองแดง) ทางขึ้นองค์พระธาตุเป็นตัวพญานาค หน้าบันเหนือประตูทางเข้าพระวิหารเป็นปูนปั้นลายนาคเกี้ยว ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของศิลปกรรมเืมืองน่าน

พระบรมธาตุแช่แห้ง เป็นพระธาตุประจำปีกระต่าย ชาวล้านนาเชื่อว่า หากได้เดินทางไป "ชุธาตุ" หรือนมัสการพระธาตุประจำปีเกิดจะได้รับอานิสงส์อย่างยิ่ง

การเดินทาง วัดพระบรมธาตุแช่แห้ง ตั้งอยู่ที่ตำบลม่วงตึ๊ด จากตัวเมือง ข้ามสะพานมิตรภาพ สะพานข้ามแม่น้ำน่านไปตามเส้นทางสายน่าน-แม่จริม หรือ ทางหลวงหมายเลข 1168 ประมาณ 2 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเข้าวัดชมวัดพระธาตุแช่แห้งได้ทุกวัน ระหว่างเวลา 06.00-18.00 น. โทร 0 5475 1846
การแต่งกาย : ผู้หญิงไม่ควรนุ่งกระโปรงหรือกางเกงขาสั้น (ทางวัดได้เตรียมผ้าถุงสำหรับนักท่องเที่ยวผู้หญิงไว้ด้านหน้าด้วยค่ะ)

แผนที่ท่องเที่ยวอำเภอเมืองน่าน