Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2536








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2536
ตระกูลภัทรประสิทธิ์ในธนาคารเอเชียกับเข้ามาของเจริญ สิริวัฒนภักดี             
 

   
related stories

53 ปี ธนาคารเอเชีย Never Ending Story ของเอื้อชูเกียรติ
นอร์ธปาร์คกับแบงก์เอเชีย กรณีอัฐยายซื้อขนมยาย
เมื่อสหภาพแบงก์เอเชีย ไม่ใช่หุ่นยนต์

   
www resources

โฮมเพจ ธนาคารเอเชีย

   
search resources

ธนาคารเอเชีย, บมจ.
ภัทรประสิทธิ์
เจริญ สิริวัฒนภักดี
Banking




เป็นที่น่าสังเกตว่า รากฐานของผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารเอเชียนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่เป็นคนในวงการธุรกิจการค้าสุรา ซึ่งเป็นนักธุรกิจการเมืองที่ต้องติดเขี้ยวเล็บรอบตัว สำหรับการบริหารธุรกิจที่มีผลประโยชน์ก้อนมหาศาลให้อยู่รอด และมั่นคงในทุกสมัยผู้นำทางการเมืองแบบยุคเก่าที่เอาขวดเหล้าผูกไว้กับกระบอกปืน

จากจุดเริ่มต้นที่จรูญ เอื้อชูเกียรติได้สร้างพันธมิตรธุรกิจยุคแรก ไม่ว่าจะเป็นตระกูลเตชะไพบูลย์ที่ผูกขาดสัมปทานเหล้าแม่โขง ตระกูลคัณธามานนท์ ซึ่งเป็นพ่อค้าจีนที่มั่งคั่งจากการขายขวดให้โรงงานเบียร์สิงห์ หรือปัจจุบันตระกูล "ภัทรประสิทธิ์" ซึ่งร่ำรวยจากธุรกิจการค้าน้ำเมาภาคเหนือ

เจ้าสัว วิศาล ภัทรประสิทธิ์ หรือ "ย่งคุน แซ่ตั้ง" เป็นชาวจีนที่เกิดในไทย ที่อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร ความยากจนของครอบครัวได้สร้างประสบการณ์ชีวิตชดเชยให้แก่วิศาลแทนประกาศนียบัตร จากพ่อค้าขายปลีกเล็กๆ ในอำเภอ วิศาลได้ขยับเป็นพ่อค้าขายส่งจนกระทั่งลงทุนขอตั้งโรงกลั่นเหล้าโรงเอง

จุดเริ่มต้นที่ธุรกิจโรงเหล้าเล็กๆ นี่เอง ที่เป็นสะพานให้วิศาลได้สร้างบารมีทางธุรกิจ จนกระทั่งเป็นเจ้าพ่อโรงเหล้าโรงประจำภาคเหนือ

ความผูกพันของเหล้ากับทหารและการเมืองนั้น เป็นวงจรที่วิศาลจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับกลุ่มอิทธิพลต่างๆ

ยุคทองของเจ้าสัววิศาลหรือ เสี่ยย่งคุน เริ่มต้นขึ้นในยุครัฐบาลผสมที่มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมท เป็นนายกรัฐมนตรี และ เสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

จากจุดเริ่มต้นที่วิศาลประมูลทำโรงเหล้าโรงแรกได้ที่พิษณุโลก จากนั้นก็ขยายอาณาจักรน้ำเมาไปอีก 8 โรงที่ พะเยา เชียงราย พิจิตร ลำปาง ตาก แพร่ อุตรดิตถ์ และน่าน

เจ้าพ่อน้ำเมาภาคเหนืออย่างวิศาล ภัทรประสิทธิ์ เริ่มมีบทบาทร่วมกับตระกูลเตชะไพบูลย์ ในฐานะเอเยนต์ใหญ่แม่โขงประจำภาคเหนือทั้งหมด และขยับเข้าร่วมถือหุ้นในบริษัทสุรามหาราษฎร์ เพื่องานประมูลสัมปทานสิทธิเช่าโรงงานสุราบางยี่ขัน ผลิตแม่โขง กวางทอง ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม

ความร่ำรวยในฐานะมหาเศรษฐีใหม่ของเจ้าสัววิศาล ภัทรประสิทธิ์ เป็น Talk of the Town ของชาวกรุงยุคนั้น นอกจากเรื่องมีน้ำใจกับสตรีมากมาย วิศาลได้เนรมิตคฤหาสน์ราคาไม่ต่ำกว่าร้อยล้านบาทขึ้นบนเนื้อที่กว้างใหญ่ริมถนนวิภาวดีรังสิต ภายในบริเวณบ้านมีสนามเทนนิสสองสนาม สระว่ายน้ำ ขนาดสระโอลิมปิคใหญ่ สวนญี่ปุ่นดันโอฬาร รวมทั้งโรงหนังขนาดย่อมที่ห้องใต้ดินของคฤหาสน์

รายได้มหาศาลจากการค้าน้ำเมา ได้กลายเป็นฐานเงินทุนสำคัญที่วิศาลนำไปลงทุนในธุรกิจอื่นๆ เช่น บริษัทภัทรธุรกิจ บริษัทภัทรล้านนา บริษัทภัทรเกรียงไกร บริษัทประสบคลังสินค้า ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ กิจการโรงแรมสยามเจ้าพระยา

นอกจากนั้นยังมีโรงงานผลิตเซรามิคในนามบริษัทเอเชียพอร์ชเลนอุตสาหกรรม ประวัติของบริษัทนี้เปรียบเหมือนนางร้อยชื่อ เพราะเดิมที่ภัทรประสิทธิ์ก่อตั้งแรกเริ่มชื่อบริษัทเลดี้สุรา ในปี 2526 แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นโรแยล เซรามิค ต่อมาเป็น "เอเชียพอร์ชเลนอุตสาหกรรม" ไม่พอใจใช้ชื่อใหม่ว่า "เบญจรงค์เซรามิค" ในปี 2534 ถูกอาภรณ์ กิติพราภรณ์ ผู้เป็นญาติและถือหุ้น ฟ้องข้อหาเพิ่มทุนไปเลยแทนที่จะจดทะเบียนว่า ออกหุ้นเพิ่มทุนาขายประชาชน ในปี 2535 จึงเปลี่ยนชื่ออีกเป็น "ภัทราเซรามิค" จนกระทั่งล่าสุดเปลี่ยนมาใช้ชื่อเดิมว่า "เอเชียพอร์ชเลนอุตสาหกรรม"

การลงทุนที่สำคัญที่สุดคือ สถาบันการเงิน ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงวงจรธุรกิจ

ในปี 2514 วิศาลตั้งบริษัทเจ้าพระยาเงินทุน ใหญ่โตที่สุดในจังหวัดนครสวรรค์ แต่มีสำนักงานสาขาอยู่กรุงเทพฯ ปัจจุบัน บงล.เจ้าพระยานี้มีทุนจดทะเบียน 150 ล้านบาท สินทรัพย์ 3,287.7 ล้านบาท รายได้ปี 2534 ประมาณ 331.9 ล้านบาท และกำไร 16.3 ล้านบาท

จากธุรกิจไฟแนนซ์ วิศาลก้าวเข้ามาในยุทธจักรธนาคารโดยการชักนำของคู่เขยอย่างไมตรี กิตติพราภรณ์ หรือ "เสี่ยตั้ง" เจ้าพ่อแดนเนรมิต

ทั้งคู่ได้เข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นในธนาคารเอเชีย หลังจากที่ศึกล้างตระกูลคัณธามานนท์ได้ยุติลงแล้ว โดยวิศาลรับตำแหน่งรองประธานกรรมการธนาคาร ขณะที่พลเอกเทียนชัย ศิริสัมพันธ์เป็นประธานกรรมการ

"อดีตเป็นบทเรียนสำหรับปัจจุบันและอนาคต" สำหรับคนธนาคารยังจำได้ถึงศึกล้างตระกูลในธนาคารแห่งนี้ เพราะว่าเป็นเรื่องข้ามทศวรรษที่เกิดคดีฟ้องร้องใหญ่โตแบบสาวไส้ให้กากินระหว่างคนสองตระกูลคือ "เอื้อชูเกียรติ" กับ "คัณธามานนท์" ตั้งแต่ปี 2522

บั้นปลายสุดท้ายของคดี เอื้อชูเกียรติเป็นฝ่ายพิชิตชัยชนะหุ้นธนาคารเอเชียในมือตระกูลคัณธามานนท์ จำนวน 187,833 หุ้น ถูกเจ้าพนักงานกรมบังคับคดีทำการขายทอดตลาด พร้อมๆ กับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแถบย่านถนนเจริญกรุงเนื้อที่ 10 ไร่ ซึ่งได้ถูกศาลพิทักษ์ทรัพย์ตามคดีความแพ่ง หมายเลข 11516-11518/2526 ซึ่งเป็นการฟ้องร้องระหว่างธนาคารเอเชียในฐานะเจ้าหนี้กับบริษัทในเครือของคัณธามานนท์ในฐานะลูกหนี้ ซึ่งมีมูลค่าหนี้ประมาณ 75 ล้านบาทเศษ พร้อมดอกเบี้ยอีก 12.5% ตั้งแต่ปี 2522

โดยข้อเท็จจริง บริษัทในเครือของคัณธามานนท์เป็นหนี้ธนาคารเอเชียอยู่ไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นได้มีการชำระหนี้ไป 120 ล้านบาท ยังคงเหลือ 75 ล้านบาทเศษ ซึ่งเป็นหนี้ของบริษัทไทยผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกระดาษ 35.5 ล้านบาท บริษัทเฮ้งง่วนหลีจั่น 31.2 ล้านบาท และบริษัทคัณธามานนท์อีกกว่า 8 ล้านบาท ทั้งสามบริษัทได้ขอทำสัญญาประนีประนอมยอมความขอผ่อนชำระ โดยมี เจียม คัณธามานนท์และบุตรชายทั้งคู่คือ สุมิตรและสุวิทย์ คัณธามานนท์เป็นผู้ค้ำประกัน

แต่ทว่าหลังจากผ่อนชำระดอกเบี้ยไปได้ไม่นาน บริษัทในเครือของคัณธามานนท์ทั้งสามก็เพิกเฉยต่อหนี้สิน จนกระทั่งธนาคารเอเชีย ซึ่งมีจรูญและครอบครัวบริหารอยู่ได้ฟ้องร้องขึ้นศาลอีกระลอก ศึกล้างตระกูลตกเป็นข่าวดังในรอบปีอีกครั้ง

ที่สุดบริษัทเฮ้งง่วนหลีจั่นถูกฟ้องล้มละลาย บริษัทไทยผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกระดาษถูกคำสั่งศาลพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด คนในตระกูลคัณธามานนท์ทั้งสามในฐานะลูกหนี้ร่วม โดนเล่นงานอย่างหนักในปี 2529 และในวันที่ 27 ธันวาคม 2530 ทรัพย์สินทั้งหมดถูกขายทอดตลาด

ทรัพย์สินที่ถูดยึดครั้งนั้นประกอบด้วย หุ้นธนาคารเอเชียของบริษัทคัณธามานนท์ 150,624 หุ้น นอกจากนี้ยังมีหุ้นส่วนตัวที่ถือโดยเจียมและบุตรชายทั้งสองอีกคนละ 12,403 หุ้น

นอกจากนี้ ทรัพย์สินที่เป็นที่ดินมูลค่ามหาศาลของตระกูลคัณธามานนท์ก็ถูกยึด ได้แก่ ที่ดินของสุวิทย์ตรงข้างวัดไตรมิตร และที่ดินซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงหนังนิวโอเดียนและที่ทำการธนาคารทหารไทย สาขาตลาดน้อยอีก 1 ไร่ นอกจากนี้ยังยึดที่ดินและโรงงานของบริษัทไทยผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกระดาษ 7 ไร่เศษ ที่ดินย่านพระรามที่ 4 ข้างโรงหนังรามา และที่สามย่านอีก 3 ไร่ ซึ่งเป็นของสุวิทย์และสุมิตร

ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ทำให้เจียม คัณธามานนท์อาฆาตแค้นอย่างหนักจวบจนกระทั่งวันตาย !!

หุ้นธนาคารเอเชียที่เคยอยู่ในกำมือของตระกูลคัณธามานนท์ก็หลุดลอยไปอยู่ในมือของ "ภัทรประสิทธิ์" ของวิศาล เจ้าพ่อธุรกิจน้ำเมาในเวลาต่อมา

การเข้ามาของตระกูล "ภัทรประสิทธิ์" ในช่วงวิกฤตของธนาคารเอเชียช่วงปี 2526 นับว่ามีความหมายอย่างมาก ที่ช่วยพยุงฐานะทางการเงินของธนาคารให้มีสภาพคล่องสูงขึ้น เนื่องจากแรงอัดฉีดจากเงินฝากและรายได้สำคัญจากสินเชื่อ ที่ปล่อยให้กับบริษัทในเครือของตระกูลภัทรประสิทธิ์

ล่าสุดสินเชื่อไม่ต่ำกว่า 650 ล้านบาท ที่ธนาคารเอเชียปล่อยให้กับกิจการกลุ่มภัทรประสิทธิ์ที่สำคัญๆ เช่น บริษัทเมขลาเซรามิค จำนวนหนี้ 282.29 ล้านบาท โรงแรมสยามเจ้าพระยาซึ่งมียอดหนี้ 78.22 ล้านบาท บริษัทเอเชียพอร์ชเลนอุตสาหกรรม มีหนี้ 70 ล้านบาท โรงสีไฟภัทรพันธ์ 28.58 ล้านบาท หนี้บริษัทเอเชียแฟคทอรี่อุตสาหกรรม 48.30 ล้านบาท หนี้บริษัทภัทรเกรียงไกร 1.1 ล้านบาท และที่เหลือเป็นกิจการของกลุ่มที่ใช้ตัวบุคคลค้ำ

ชีวิตของวิศาลได้ล่วงลับไปแล้ว ทิ้งมรดกมูลค่านับพันๆ ล้านบาท ไว้ให้ศรีภรรยา "นงลักษณ์ ภัทรประสิทธิ์" ซึ่งบงการอยู่เบื้องหลังธุรกิจสำคัญๆ ของสามีตลอด โดยมีทายาทธุรกิจหลักๆ อย่างประธาน ภัทรประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บงล.เจ้าพระยา ประเสริฐ เป็นกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเอเชีย และประดิษฐ์ เป็นผู้บริหารเอเชียพอร์ชเลนอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตามบทเรียนจากอดีตศึกล้างตระกูลคัณธามานนท์ ทำให้เอื้อชูเกียรติต้องรอบคอบในการร่วมกับพันธมิตรธุรกิจใหม่ โดยโครงสร้างผู้ถือหุ้นของในโฮลดิ้ง คอมปานีของทั้งตระกูลเอื้อชูเกียรติและตระกูลภัทรประสิทธิ์ มีรูปแบบที่แยบยลมาก ทำให้ทั้งสองฝ่ายมีเงื่อนปมที่ผูกติดกันมั่นคงและยาวนานในผลประโยชน์

บริษัทโฮลดิ้งาของตระกูลภัทรประสิทธิ์ที่ถือหุ้นธนาคารเอเชีย 10.59% ของทั้งหมด ได้แก่ บริษัทภัทรกรุ๊ป (1990) บริษัทภัทรเกรียงไกร บริษัทภัทรล้านนา

แต่บริษัท "ร่วมโฮลดิ้ง" ที่เอื้อชูเกียรติและภัทรประสิทธิ์ถือหุ้นในนอัตราส่วน 50:50 เท่าๆ กันประกอบด้วย บริษัทเอื้อประสิทธิ์ บริษัทจารุสถิตและบริษัทเสถียรทรัพย์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2527 แต่ละบริษัทมีทุนจดทะเบียน 54, 30 และ 30 ล้านบาทตามลำดับ ผู้มีอำนาจลงนาม 50:50 คือฝ่ายเอื้อชูเกียรติสองคน (วิไลพรรณหรือศักดิ์) ฝ่ายภัทรประสิทธิ์สองคน

ดุลอำนาจในการถือหุ้นของทั้งสองบริษัทร่วมโฮลดิ้งจึงเป็นเงื่อนไขพันธมิตรธุรกิจที่ check & balance กันตลอดมา !

อย่างไรก็ตาม บทบาททางการบริหารธนาคารของคนในตระกูล "ภัทรประสิทธิ์" ในธนาคารเอเชียกลับไม่มีอะไรที่โดดเด่น แม้ว่าจะมีประเสริฐ ภัทรประสิทธิ์เป็นกรรมการ รองผู้จัดการใหญ่ก็ตาม

ประเสริฐเป็นบุตรชายของเจ้าสัววิศาลและนงลักษณ์ ซึ่งจบการศึกษาปริญญาตรีสาขาการเงินจากมหาวิทยาลัยนอร์ธเทอร์น โคโรลาโด สหรัฐอเมริกา ปี 2514 เคยทำงานช่วยพ่อในฐานะกรรมการรองผู้จัดการ บริษัทสุราสหไพบูลย์ จังหวัดพิษณุโลก ควบคู่ไปกับการทำงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บงล.เจ้าพระยา ระหว่างปี 2514-2518

10 ปีเต็มตั้งแต่ปี 2526 ที่ประเสริฐนั่งเก้าอี้อยู่ที่ธนาคารเอเชีย โดยไม่มีบทบาทเชิงบริหาร นอกจากในฐานะตัวแทนกรรมการผู้ถือหุ้นใหญ่ฝ่ายภัทรประสิทธิ์ ขณะที่จุลกร สิงหโกวินท์ได้เลื่อนตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ตามเงื่อนไขของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ต้องการให้เกิดภาพพจน์ professional bank

ข่าวลือความไม่พอใจของภัทรประสิทธิ์ที่มีต่อการบริหารงานของจุลกร ได้ปรากฏเป็นข่าวของหนังสือพิมพ์ "กรุงเทพธุรกิจ" ฉบับประจำวันที่ 25 มกราคม

ข่าวนี้ได้กระตุ้นความโกรธอย่างมากให้กับยศและจุลกร ถึงกับมีการเปิดแถลงข่าวตอบโต้ทันทีตอนบ่ายวันรุ่งขึ้น ที่ห้องประชุมชั้นสอง สำนักงานใหญ่ธนาคารเอเชีย คณะผู้แถลงนำโดยยศ เอื้อชูเกียรติ และจุลกร สิงหโกวินท์ โดยใส่น้ำหนักของข่าวแถลงนี้ด้วยการประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์เข้ามาร่วมปฏิเสธข่าวลือนี้ด้วย

ยศได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญสองเรื่องที่ต้องตอบโต้ คือ ประเด็นแรกยศปฏิเสธข่าวในหนังสือพิมพ์บางฉบับที่อ้างว่า กลุ่มภัทรประสิทธิ์ต้องการขายหุ้นทิ้งเพราะไม่พอใจผลงานกรรมการผู้จัดการใหญ่คนปัจจุบัน ยืนยันว่าผู้ถือหุ้นใหญ่และคณะกรรมการพอใจผลงานของจุลกร และมีจำนวนหุ้นมากพอที่จะสนับสนุนให้จุลกรบริหารต่อไป

"การที่เขาขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารเอเชียได้ ก็เท่ากับคณะกรรมการและผู้ถือหุ้นยอมรับแล้ว มิเช่นนั้นคงขึ้นมาไม่ได้ นอกจากนั้นผลงานสิ้นเดือนธันวาคม 2535 ที่ผ่านมา ก็ได้สร้างความพอใจให้ทั้งคณะกรรมการและผู้ถือหุ้น" ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์กล่าว

ประเด็นที่สองที่ยศกล่าว ถึงสาเหตุที่ต้องปฏิเสธข่าว เพราะไม่ต้อกงารให้นักลงทุนในตลาดหุ้นเสียหายกับข่าวที่ไม่มีมูลความจริง ซึ่งถือว่าเป็นการปล่อยข่าวที่ทำให้หุ้นธนาคารเอเชียเคลื่อนไหวผิดปกติในทิศทางที่สูงขึ้น สวนกับดัชนีตลาดหุ้นที่ปรับตัวลดลง

ความวิตกกังวลของเอื้อชูเกียรติยังไม่หมดไป เมื่อมีข่าวต้นปีนี้ว่า เจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าน้ำเมาคนสำคัญ และกลุ่มบริษัทได้รุกคืบเงียบๆ เข้ามาถือหุ้นใหญ่ธนาคารเอเชีย นอกจากการถือหุ้นธนาคารขนาดเล็ก เช่น ธนาคารมหานคร ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ และธนาคารนครหลวงไทย

จากการสำรวจทะเบียนผู้ถือหุ้นล่าสุดปี 2535 ของธนาคารเอเชีย พบว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ 20 อันดับแรกนั้นมีชื่อ เจริญ สิริวัฒนภักดี ถือหุ้นใหญ่อันดับที่ 10 ในสัดส่วน 2.89% สมทบกับกลุ่มบริษัทของเจริญ ได้แก่ บริษัทสมุทรนคร (0.85%) บริษัทสุวิทย์รีสอร์ท (085%) บริษัทปาล์มสากล (0.68%) รวมทั้งสิ้น 5.27%

"กลุ่มสิริวัฒนภักดี" ได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ลำดับที่ 4 ไปแล้ว รองจากอันดับหนึ่ง กลุ่มเอื้อชูเกียรติ (15.42%) อันดับสอง - กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน (14.98%) และอันดับสาม - กลุ่มภัทรประสิทธิ์ (14.88%)

ฉะนั้นกลุ่มของเจริญ สิริวัฒนภักดีจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าธนาคารเอเชีย หากเกิดกรณีความขัดแย้งระหว่างเอื้อชูเกียรติกับภัทรประสิทธิ์ สองตระกูลผู้ถือหุ้นใหญ่ แล้วแต่ว่าเจริญ สิริวัฒนภักดีจะเลือกเข้าข้างฝ่ายใด?

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย