ดินสำหรับการชลประทาน( Soils for Irrigation)

           หมายถึง วัตถุที่เป็นส่วนประกอบของสารซึ่งเกิดจากการสลายตัวและผุกร่อนของหิน อินทรีย์วัตถุ น้ำ และก๊าซ ซึ่งทำหน้าที่เป้นเครื่องยึดเหนี่ยวของลำต้น และเป็นคลังเก็บอาหาร และน้ำ ไว้ให้เพื่อใช้สำหรับการเจริญเติบโต


           คุณสมบัติของดินที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของพืช
           
1. สามารถอุ้มน้ำไว้ให้พืชใช้ได้ ปริมาณน้ำที่เก็บไว้ได้จะต้องไม่น้อยเกินไป จนต้องให้น้ำบ่อย ๆ
           2. มีการระบายน้ำและถ่ายเทอากาศได้ดี
           3. มีแร่ธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืชอยู่มากพอ
           4. ความเข้มข้นของสารเคมีหรือเกลือในดินจะต้องไม่มากจนเป็นอันตรายต่อพืช
           

           ชนิดของดิน
            1.ดินทราย (Sands) ประกอบด้วยทรายมากกว่า 85 %ดังนั้นจะมีลักษณะร่วน เมล็ดดินไม่เกาะกันแต่ละเมล็ดสามารถมองเห็นและสัมผัสได้ เมื่อกำให้แน่นในมือขณะที่ดินแห้งแล้วคลายมือออกจะแตกร่วน ถ้ากำในขณะที่เปียกชื้นจะเป็นก้อนแต่แตกออกได้ง่ายเมื่อใช้นิ้วแตะเบา ๆ
           2. ดินร่วนปนทราย (Sandy Loam) เป็นดินที่ประกอบด้วยทรายมากกว่า 50 % แต่ก็มีตะกอนทรายและอนุภาคดินเหนียว มากพอที่จะประสานให้เกาะกันเป็นก้อนได้ ทรายแต่ละเมล็ดสามารถมองเห็นและสัมผัสได้ เมื่อกำให้แน่นในมือ ขณะที่ดินแห้งจะเป็นก้อนแต่แตกออกจากกันได้ง่าย ถ้ากำในขณะที่เปียกชื้นจะเป็นก้อนและไม่แตกเมื่อใช้นิ้วแตะเบา ๆ
           3. ดินร่วน (Loam) เป็นดินซึ่งมีส่วนประกอบของทราย ตะกอนทรายและอนุภาคดินเหนียว มากเกือบพอๆ กัน เปอร์เชนต์อนุภาคดินเหนียวต่ำกว่าทราย และตะกอนทรายเล็กน้อย มีลักษณะอ่อนนุ่มเมื่อจับ เมื่อเปียกจะเหนียวเล็กน้อย ถ้ากำให้แน่นในมือ ขณะที่ดินแห้งจะเป็นก้อนและไม่แตกออกจากกันเมื่อใช้นิ้วกดเบา ๆ ถ้ากำในขณะที่เปียกชื้นจะเป็นก้อนแข็ง
           4. ดินร่วนปนตะกอนทราย (Silt Loam)เป็นดินที่ประกอบด้วยตะกอนทรายมากกว่า 50 % ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นทรายละเอียด ดินชนิดนี้เมื่อแห้งจะจับกันเป็นก้อน้อน แต่ทำให้แตกออกจากกันได้ง่าย ถ้าบี้ให้ละเอียดด้วยนิ้วจะรู้สึกรื่นเหมือนแป้ง เมื่อเปียกจะมีลักษณะเป็นโคลนและไหลไปรวมกันได้ง่าย
           5.ดินเหนียว (Clay) เป็นดินเนื้อละเอียดซึ่งจะจับตัวเป็นก้อนแข็งเมื่อแห้ง เหนียว สามารถปั้นเป็นรูปต่าง ๆ ได้

           วิธีการจัดการดินเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ
      การปรับปรุงบำรุงดินเพื่อเพิ่มผลผลิตพืช


      1. การจัดการดินอินทรียวัตถุต่ำบนคันดินรอบสระเพื่อปลูกพืช
การใช้ประโยชน์ที่ดินบนคันดินรอบสระที่มีอินทรียวัตถุต่ำนั้น จำเป็นต้องทำการปรับปรุงแก้โครงสร้างดินให้เหมาะสม โดยปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้
           - หว่านเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด เมื่ออายุเหมาะสมประมาณ 55 – 60 วัน หรือเริ่มออกดอก สับกลบลงดิน เพิ่มอินทรีวัตถุให้แก่ดิน
           - เตรียมดินให้ละเอียดสม่ำเสมอ และใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเพิ่มอินทรียวัตถุ และปลูกพืชผักอายุสั้นที่ทำรายได้ดี เช่น ผักคะน้า ถั่วฝักยาว บวบ มะระ พริกขี้หนู กระเจี๊ยบเขียว หรือดอกไม้บางชนิดที่สามารถเก็บผลผลิตขายได้ตลอดปี
           - เตรียมดินสำหรับปลูกไม้ยืนต้นบางชนิด เช่น มะม่วง กล้วย บริเวณคันดินขอบสระ โดยปรับสภาพดินบริเวณหลุมให้เหมาะสม ใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกคลุกเคล้ากับดิน ก่อนปลูกต้นไม้แล้วคลุมโคนต้นด้วยฟางข้าว


      2. การจัดการดินด้วยอินทรียวัตถุในนาข้าว
           - ไถกลบตอซังพร้อมกับใส่ปุ๋ยอินทรีน้ำ
            - ใส่ปุ๋ยคอกและแกลบในแปลงเพาะปลูก
           - ใส่ปูนขาว หรือปูนมาร์ล หรือเปลือกหอย หรือขี้เถ้าแกลบ ( ในกรณีที่เป็นดินกรด)
           - ปลูกพืชปุ๋ยสด ( โสนอัฟริกา ถั่วพุ่ม ถั่วพร้า)
           - ใส่ปุ๋ยอินทรีย์น้ำในช่วงก่อนข้าวตั้งท้อง
           - ฉีดพ่นปุ๋ยอินทรีย์น้ำจากสมุนไพรในช่วงเจริญเติบโต

      3. การจัดการดินด้วยอินทรียวัตถุในพืชไร่
           - กรณีกำจัดวัชพืชฉีดพ่นปุ๋ยอินทรีย์น้ำเข้มข้นก่อนไถเตรียมดิน 1 วัน
           - ไถกลบตอซังพร้อมกับใส่ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ
           - ใส่ปูนขาว หรือปูนมาร์ล หรือเปลือกหอย หรือขี้เถ้าแกลบ ( ในกรณีที่เป็นดินกรด)
           - ปลูกพืชปุ๋ยสด เช่น ปอเทือง ถั่วพุ่ม ถั่วพร้า โสนอัฟริกา หรือปลูกหญ้าแฝก
           - นำเศษพืชคลุมดินหรือปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมดินระหว่างแถวปลูกพืชหลัก
           - ฉีดพ่นปุ๋ยอินทรีย์น้ำในช่วงก่อนติดดอก และจากได้ผลผลิตแล้ว
           - ฉีดพ่นปุ๋ยอินทรีย์น้ำสมุนไพรในช่วงการระบาดของแมลงศัตรูพืช


     4. การจัดการดินด้วยอินทรียวัตถุในพืชผัก
           - ไถหรือสับกลบเศษตอซังพร้อมกับใส่ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ
           - ใส่ปูนขาว หรือปูนมาร์ล หรือเปลือกหอย หรือขี้เถ้าแกลบ ( ในกรณีที่เป็นดินกรด)
           - กรณีที่มีวัชพืชขึ้นมากฉีดปุ๋ยอินทรีย์น้ำเข้มข้น ก่อนไถเตรียมดิน 1 วัน
           - ใส่ปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอกพร้อมกับเชื้อราไตรโคเดอร์มา
           - ใส่พืชคลุมดินระหว่างแถวปลูกผัก หรือปลูกหญ้าแฝก
           - ฉีดปุ๋ยอินทรีย์น้ำในช่วงระหว่างการเจริญเติบโตของผัก
           - ฉีดปุ๋ยอินทรีย์น้ำสมุนไพรในช่วงที่มีการระบาดของแมลงศัตรูพืช


      5. การจัดการดินด้วยอินทรียวัตถุในผลไม้
           - ในกรณีเริ่มปลูกไม้ผลกำจัดวัชพืชโดยใส่ปุ๋ยอินทรีย์น้ำเข้มข้นก่อนไถเตรียมดิน 1 วัน
           - หรือปูนมาร์ล หรือเปลือกหอย หรือขี้เถ้าแกลบ ( ในกรณีที่เป็นดินกรด)
           - ใส่ปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอกพร้อมกับเชื้อราไตรโคเดอร์มาในหลุมปลูกไม้ผล และบริเวณรอบทรงพุ่มของไม้ผล               (ช่วงเจริญเติบโต)
           - ปลูกพืชตระกูลถั่วบำรุงดิน พืชผัก  และพืชอายุสั้นระหว่างแถวปลูกไม้ผลและปลูกหญ้าแฝกระหว่างแถวไม้ผล               เพื่อป้องกันการชะล้างของผิวหน้าดิน
           - นำวัสดุเศษพืชคลุมดินบริเวณโคนต้นไม้ผล
           - ฉีดพ่นปุ๋ยอินทรีย์น้ำในช่วงการเจริญเติบโต ก่อนติดดอก หลังติดผลแล้ว
           - ฉีดพ่นปุ๋ยอินทรีย์น้ำสมุนไพรช่วงที่มีการระบาดของแมลงศัตรูพืช


      6. การปลูกหญ้าแฝกร่วมกับพืชเศรษฐกิจเพื่อการปรับปรุงบำรุงดินและการอนุรักษ์ดินและน้ำ
การนำหญ้าแฝกไปปลูกในพื้นที่เกษตรอย่างมีระบบจะช่วยรักษาความชื้นของดิน ฟื้นฟูปรับปรุงบำรุงดิน และป้องกันชะล้างพังทลายของดิน โดยมีการจัดการดังนี้
           - การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ปลูกพืชไร่และพืชผัก โดยปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวอยู่ระหว่างแถวของพืชไร่               เพื่อช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน เพิ่มความชื้นในดิน และตัดใบหญ้าแฝกใช้เป็นวัสดุคลุมดิน
           - การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ปลูกไม้ผล โดยปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวอยู่ระหว่างแถวของไม้ผลเพื่อใช้ประโยชน์จากใบหญ้าแฝกตัดคลุมดินระหว่างแถว และปลูกหญ้าแฝกเป็นครึ่งวงกลมของไม้ผลเพื่อลดและ ป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน

           การจัดการดินเค็มก่อนการเพาะปลูกพืช
           1. ไถพรวนดินในระดับลึกซึ่งจะทำให้ดินมีการระบายน้ำสูงขึ้น
           2. เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก แกลบ ในอัตราส่วน 2-3 ตันต่อไร่                 หรือโดยการปลูกพืชปุ๋ยสดทนเค็ม เช่น โสนอัฟริกัน และปอเทือง แล้วไถกลบเมื่อออกดอก
           3. ป้องกันการเคลื่อนที่ของเกลือจากน้ำใต้ดินไม่ให้สะสมในชั้นดิน โดยการรองพื้นด้วยแผ่นพลาสติก                 หรือถุงปุ๋ยที่ระดับความลึก 20-30 เซนติเมตรจากผิวดิน
           4. คลุมหน้าดินด้วยฟางข้าว ในอัตรา 1-2 ตันต่อไร่ เพื่อลดการระเหยน้ำของดิน
           5. ใช้น้ำในปริมาณที่มากกว่าปกติเพื่อเพิ่มการชะล้างเกลือ
           6. ปลูกหญ้าทนเค็ม เช่น หญ้าดิกซี่ บนคันสระเพื่อป้องการชะล้างพังทลายของคันสระ
           7. ปลูกไม้ยืนต้นทนเค็มบนคันดินรอบ ๆ สระน้ำ เช่น ละมุด พุทรา สะเดา
           8. เลือกพืชทนเค็มมาปลูก เช่น ผักบุ้ง มะเขือเทศ เป็นต้น

           การจัดการดินเปรี้ยวจัดก่อนการเพาะปลูกพืช
           เนื่องจากดินบริเวณรอบ ๆ สระน้ำที่ขุดในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด เป็นดินที่ขุดจากดินชั้นล่าง ๆ ขึ้นมา ทำให้เกิดกรดเพิ่มขึ้นและดินมีความเป็นกรดสูงมาก การใช้ประโยชน์ที่ดินบนคันดินรอบ ๆ สระน้ำจำเป็นต้องทำการปรับปรุงแก้ไขสภาพความเป็นกรดและสภาพเนื้อดินให้เหมาะสม โดยปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้
           1. หว่านปูนทั่วพื้นที่บริเวณคันดินและพื้นที่รอบ ๆ สระ รดน้ำให้ชุ่มชื้นหรือมีฝนตก ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 20 วัน                ก่อนเตรียมดินปลูกพืช
           2. หว่านเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด เมื่ออายุประมาณ 55-60 วัน หรือเริ่มออกดอก สับกลบลงดินเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน
           3. เตรียมดินปลูกพืชผักอายุสั้น โดนการใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกคลุกเคล้ากับดินในแปลงแล้วคลุมดินด้วยฟางข้าวรักษาความชื้น ใช้น้ำในบ่อรดพืชผัก
           4. เตรียมดินสำหรับปลูกไม้ผลบางชนิด เช่น มะม่วง กล้วย ละมุด ใส่ปูนปรับสภาพดินบริเวณหลุมปลูก ใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก คลุกเคล้ากับดินก่อนปลูก แล้วคลุมโคนต้นด้วยฟางข้าว

           ดินเค็ม
            หมายถึง ดินที่มีปริมารเกลือที่ละลายอยู่ในสารละลายดินมากเกินไปจนมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและผลิตผลของพืช เนื่องจากทำให้พืชเกิดอาการขาดน้ำ และมีการสะสมไอออนที่เป็นพิษในพืชมากเกินไป นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความไม่สมดุลของธาตุอาหารพืชด้วย วิธีการแก้ไขลดระดับความเค็มดินลงให้สามารถปลูกพืชได้ ทำได้โดยการใช้น้ำชะล้างเกลือจากดินและการปรับปรุงดิน การให้น้ำสำหรับล้างดินมีทั้งแบบต่อเนื่องและแบบขังน้ำเป็นช่วงเวลา แบบต่อเนื่องใช้เวลาในการแก้ไขดินเค็มได้รวดเร็วกว่าแต่ต้องใช้ปริมาณน้ำมาก ส่วนแบบขังใช้เวลาในการแก้ไขดินเค็มช้ากว่า แต่ประหยัดน้ำ
           ระดับความเค็มของดิน
           ดินเค็มน้อย
หมายถึง ดินที่มีปริมาณเกลือในดินประมาณ 0.12-0.25 เปอร์เซ็นต์ วัดด้วยเครื่องมือวัดความเค็มได้ 2-4 เดซิซีเมนต่อเมตร พืชที่ไม่ทนเค็มจะเริ่มแสดงอาการ เช่น การเจริญเติบโตลดลง ใบสีเข้มขึ้น ใบหนาขึ้น ปลายใบไหม้ ปลายใบม้วนงอ ผลผลิตลดลง
           ดินเค็มปานกลาง
หมายถึง ดินที่มีปริมาณเกลือในดินประมาณ 0.25-0.50 เปอร์เซ็นต์ วัดด้วยเครื่องมือวัดความเค็มได้ 4-8 เดซิซีเมนต่อเมตร ก่อนการปลูกพืชจะต้องมีการปรับปรุงดินเสียก่อนด้วยการใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยพืชสด
           ดินเค็มจัด
หมายถึง ดินที่มีปริมาณเกลือในดินประมาณ 0.5-1.0 เปอร์เซ็นต์ วัดด้วยเครื่องมือวัดความเค็มได้ 8-16 เดซิซีเมนต่อเมตร มีพืชบางชนิดเท่านั้นที่สามารถเจริญเติบโต และให้ผลผลิตได้

            ความเค็มของดินที่มีผลกระทบต่อการเจริญของพืช
           1.ดินที่มีเกลือละลายในปริมาณมาก เกลือจะไปทำลายผนังเซลล์ในรากพืชทำให้พืชเหี่ยว
           2.เกิดความไม่สมดุลย์ของธาตุอาหารในดิน อาจทำให้พืชขาดธาตุอาหารตัวอื่นๆได้
           3.เกิดอนุภาคของดินขนาดเล็กเข้าไปอยู่ในช่องว่างของดิน ทำให้ดินระบายน้ำได้ไม่ดี
           4.ดินที่มีความเค็มจะมีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์และกิจกรรมของจุลินทรีย์


ตารางแสดงพืชที่ตอบสนองต่อดินเค็ม

ทนเค็มมาก ทนเค็มปานกลาง ทนเค็มเล็กน้อย ไม่ทนเค็ม
ข้าวบาเลย์ บร๊อคเคอรี่ Alfalfa แอปเปิ้ล
หญ้า Bermuda ข้าวบาเลย์สำหรับสัตว์ ข้าวโพด ลูกท้อ
หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวฟ่าง กะหล่ำปลี แบลคเบอรี่
ฝ้าย ถั่วเหลือง แตงกวา แครอท
ละมุด หญ้าซูดาน ถั่วลิสง มะนาว
พุทรา ข้าวสาลี ข้าว ส้ม
มะขาม มะม่วงหิมพานต์ มะเขือเทศ หอม
มะพร้าว มะยม มันฝรั่ง ขึ้นฉ่าย
อินทผาลัม สมอ ผักกาดหอม สัปปะรด
สน ฝรั่ง ถั่วลันเตา สาลี
มะขามเทศ กระถินณรงค์ แตงโม กุหลาบ
ป่านศรนารายณ์ ขี้เหล็ก ทานตะวัน สตรอเบอรี่