ประเทศลาว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไปยังการนำทาง ไปยังการค้นหา
"ลาว" เปลี่ยนทางมาที่นี่ สำหรับความหมายอื่น ดูที่ ลาว (แก้ความกำกวม)
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ສາທາລະນະລັດ ປະຊາທິປະໄຕ ປະຊາຊົນລາວ (ลาว)
คำขวัญ"ສັນຕິພາບ ເອກະລາດ ປະຊາທິປະໄຕ ເອກະພາບ ວັດທະນະຖາວອນ"
("สันติภาพ เอกราช ประชาธิปไตย เอกภาพ วัฒนาถาวร")
ที่ตั้งของ ประเทศลาว  (สีเขียว) ในอาเซียน  (สีเทาเข้ม)  —  [คำอธิบายสัญลักษณ์]
ที่ตั้งของ ประเทศลาว  (สีเขียว)

ในอาเซียน  (สีเทาเข้ม)  —  [คำอธิบายสัญลักษณ์]

เมืองหลวง
และ ใหญ่สุด
เวียงจันทน์
17°58′N 102°36′E / 17.967°N 102.600°E / 17.967; 102.600
ภาษาราชการภาษาลาว
ภาษาฝรั่งเศส[1]
ภาษาพูด
กลุ่มชาติพันธุ์
(2015[2])
ศาสนา
พุทธ 66.0%
พื้นบ้าน 30.7%
คริสต์ 1.5%
อิสลาม 0.1%
อื่นๆ 1.7%[3]
เดมะนิมลาว
การปกครองรัฐเดี่ยว ลัทธิมากซ์-เลนิน พรรคเดียว สาธารณรัฐสังคมนิยม
• เลขาธิการใหญ่พรรคฯ และ ประธานประเทศ
ทองลุน สีสุลิด
พันคำ วิพาวัน
ปานี ยาท่อตู้
บุนทอง จิดมะนี (ผู้ประจำการคณะเลขาธิการพรรค)
• ประธานสภาแห่งชาติ
ไซสมพอน พมวิหาน
สภานิติบัญญัติสภาแห่งชาติลาว
ประวัติศาสตร์
ค.ศ. 1354–1707
ค.ศ. 1707–1778
• รัฐบรรณาการของ สยาม
ค.ศ. 1778–1893
ค.ศ. 1893–1953
• เอกราชจากฝรั่งเศส
11 พฤษภาคม ค.ศ. 1947
22 ตุลาคม ค.ศ. 1953
2 ธันวาคม ค.ศ. 1975
14 สิงหาคม ค.ศ. 1991
พื้นที่
• รวม
237,955 ตารางกิโลเมตร (91,875 ตารางไมล์) (82)
2
ประชากร
• 2019 ประมาณ
7,123,205 (105)
• สำมะโนประชากร 2015
6,492,228[4]
26.7 ต่อตารางกิโลเมตร (69.2 ต่อตารางไมล์) (151st)
จีดีพี (อำนาจซื้อ)2019 (ประมาณ)
• รวม
US$58.329 พันล้าน[5]
US$8,458[5]
จีดีพี (ราคาตลาด)2019 (ประมาณ)
• รวม
US$20.153 พันล้าน[5]
US$2,670[5] (131st)
จีนี (2012)36.4[6]
ปานกลาง
HDI (2018)เพิ่มขึ้น 0.604[7]
ปานกลาง · 140
สกุลเงินกีบ (₭) (LAK)
เขตเวลาUTC+7 (ICT (UTC +7))
รูปแบบวันที่dmy
ขับรถด้านขวามือ
รหัสโทรศัพท์+856
รหัส ISO 3166LA
โดเมนบนสุด.la
a = รวมถึงกว่า 100 กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีขนาดเล็ก

ลาว (ลาว: ລາວ) หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ลาว: ສາທາລະນະລັດ ປະຊາທິປະໄຕ ປະຊາຊົນລາວ, อักษรย่อ: ສປປ.ລາວ) เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่ 236,800 ตารางกิโลเมตร มีพรมแดนติดต่อกับจีน ทางทิศเหนือ ติดต่อกับพม่าทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ติดต่อกับเวียดนามทางทิศตะวันออก ติดต่อกับกัมพูชาทางทิศใต้ และติดต่อกับประเทศไทยทางทิศตะวันตก กั้นด้วยแม่น้ำโขงเป็นบางช่วง

ชื่อประเทศและเชื้อชาติ[แก้]

ในภาษาอังกฤษ คำว่าลาวที่หมายถึงชื่อประเทศลาว สะกดว่า "Laos" ส่วนลาวที่หมายถึงคนลาวและภาษาลาวใช้ "Lao" ในบางครั้งจะเห็นมีการใช้คำว่า "Laotian" แทนเนื่องจากป้องกันการสับสนกับชาติลาวที่สะกดว่า Ethnic Lao

ประวัติศาสตร์[แก้]

ดูบทความหลักที่: ประวัติศาสตร์ลาว

ยุคอาณาจักร[แก้]

พระบรมราชานุเสาวรีย์ พระเจ้าฟ้างุ้ม ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้าง

ประวัติศาสตร์ยุคแรกๆ ของลาว เชื่อว่าอยู่ภายใต้การครอบครองของอาณาจักรน่านเจ้ามีตำนานโดยขุนบรม และขุนลอ มีลูกสืบหลานต่อๆ กันมา จนถึงรัชสมัยพระเจ้าฟ้างุ้มผู้รวบรวมอาณาจักรล้านช้างได้เป็นผลสำเร็จในช่วงสมัยศตวรรษที่ 8 และมีกษัตริย์ปกครองสืบทอดต่อกันมาหลายพระองค์ ที่สำคัญ เช่น

ภายหลังเมื่อพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชเสด็จสวรรคตแล้ว เชื้อพระวงศ์ลาวต่างก็แก่งแย่งราชสมบัติกัน จนอาณาจักรล้านช้างแตกแยกเป็น 3 ส่วนคือ อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ และอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ ต่างเป็นอิสระไม่ขึ้นแก่กัน และเพื่อชิงความเป็นใหญ่ต่างก็ขอสวามิภักดิ์ต่ออาณาจักรเพื่อนบ้าน เช่น ไทย พม่า เพื่อขอกำลังมาสยบอาณาจักรลาวด้วยกันในลักษณะนี้ ในที่สุดอาณาจักรลาวทั้ง 3 แห่งนี้จะตกเป็นประเทศราชของอาณาจักรสยาม ในปี ค.ศ. 1778

สยามได้ปกครองดินแดนลาวทั้งสามส่วนในฐานะประเทศราชรวม 114 ปี ในระยะเวลาดังกล่าวอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ได้ล่มสลายลงในปี ค.ศ. 1828 เนื่องจากในปี ค.ศ. 1826 เจ้าอนุวงศ์ กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ได้พยายามทำสงครามเพื่อตั้งตนเป็นอิสระจากสยาม ทว่าหลังการปราบปรามของกองทัพไทยอย่างหนัก พระองค์เห็นว่าจะทำการไม่สำเร็จจึงตัดสินพระทัยหลบหนีไปพึ่งจักรวรรดิเวียดนามจนถึง ค.ศ. 1828 พระองค์จึงได้กลับมายังกรุงเวียงจันทน์พร้อมกับขบวนราชทูตเวียดนาม เพื่อขอสวามิภักดิ์สยามอีกครั้ง แต่พอสบโอกาสพระองค์จึงนำทหารของตนฆ่าทหารไทยที่รักษาเมืองจนเกือบหมดและยึดกรุงเวียงจันทน์คืน กองทัพสยามรวบรวมกำลังพลและยกทัพมาปราบปรามเจ้าอนุวงศ์อีกครั้งจนราบคาบ จนเจ้าอนุวงศ์ต้องหลบหนีไปยังเวียดนามและในคราวนี้เองที่พระองค์ทรงถูกเจ้าเมืองพวนจับกุมตัวและส่งลงมากรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระพิโรธเจ้าอนุวงศ์มากจึงทรงให้คุมขังเจ้าอนุวงศ์ประจานกลางพระนครจนสิ้นพระชนม์ ส่วนกรุงเวียงจันทน์ก็มีพระบรมราชโองการให้เผาทำลายจนไม่เหลือสภาพความเป็นเมือง และตั้งศูนย์กลางการปกครองฝ่ายไทยเพื่อดูแลอาณาเขตของอาณาจักรเวียงจันทน์ที่เมืองหนองคายแทน

พรรคประชาชนสมัยอาณานิคม การประกาศเอกราช และสงครามกลางเมือง[แก้]

สมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวัฒนากับนายพลฝรั่งเศสที่นครหลวงพระบาง วันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1953

ในปี ค.ศ. 1893 สยามได้เกิดข้อขัดแย้งกับฝรั่งเศสในเรื่องอำนาจเหนือดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงจนเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 จากการใช้เล่ห์เหลี่ยมของโอกุสต์ ปาวีกงสุลฝรั่งเศส โดยการใช้เรือรบมาปิดอ่าวไทยเพื่อบังคับให้ยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง รวมทั้งดินแดนอื่น ๆ ดินแดนลาวเกือบทั้งหมดก็เปลี่ยนไปตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของประเทศฝรั่งเศสในปีนั้นและถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของอินโดจีนฝรั่งเศส ต่อมาภายหลังดินแดนลาวส่วนอื่นที่อยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขงก็ตกเป็นของฝรั่งเศสอีกในปี ค.ศ. 1907

ราชอาณาจักรลาว[แก้]

ดูบทความหลักที่: ราชอาณาจักรลาว
ซากปรักหักพังที่เมืองคูณ, อดีตเมืองหลวงของแขวงเชียงขวาง ถูกทิ้งระเบิดทำลายโดยกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาใน ปฏิบัติการทิ้งระเบิดในลาว ปี ค.ศ. 1960 โดยความยินยอมของรัฐบาลราชอาณาจักรลาวที่มีนโยบายนิยมอเมริกา

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นได้รุกเข้ามาในลาวและดินแดนอินโดจีนฝรั่งเศสอื่นๆ เมื่อญี่ปุ่นใกล้แพ้สงคราม ขบวนการลาวอิสระซึ่งเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อกู้เอกราชลาวในเวลานั้นประกาศเอกราชให้ประเทศลาวเป็นประเทศ ราชอาณาจักรลาว หลังญี่ปุ่นแพ้สงคราม ฝรั่งเศสก็กลับเข้ามามีอำนาจในอินโดจีนอีกครั้งหนึ่ง แต่เนื่องจากการที่ เวียดมินห์ปลดปล่อยเวียดนามได้ จึงเป็นการสั่นคลอนอำนาจฝรั่งเศสจนยอมให้ลาวประกาศเอกราชบางส่วนในปี ค.ศ. 1949 และได้เอกราชสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1953 ภายหลังฝรั่งเศสรบแพ้เวียดนามที่เดียนเบียนฟู ผู้ที่มีบทบาทในการประกาศเอกราชคือ เจ้าสุวรรณภูมา เจ้าเพชรราช และ เจ้าสุภานุวงศ์ โดยมี เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้ามหาชีวิต (พระมหากษัตริย์) จากอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางเดิม และได้รวมทั้ง 3 อาณาจักรคือ ล้านช้างหลวงพระบาง ล้านช้างเวียงจันทน์ และ ล้านช้างจำปาศักดิ์ เข้าด้วยกันเป็นราชอาณาจักรลาว

ค.ศ. 1959 เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์เสด็จสวรรคต เจ้าสว่างวัฒนาจึงขึ้นครองราชย์เป็นเจ้ามหาชีวิตแทน เหตุการณ์ในลาวยุ่งยากมาก เจ้าสุภานุวงศ์ 1 ในคณะลาวอิสระประกาศตนว่าเป็นพวกฝ่ายซ้ายนิยมคอมมิวนิสต์ และเป็นหัวหน้าขบวนการประเทศลาว ได้ออกไปเคลื่อนไหวทางการเมืองในป่า เนื่องจากถูกฝ่ายขวาในลาวคุกคามอย่างหนัก ถึงปี ค.ศ. 1961 ร้อยเอกกองแลทำการรัฐประหารรัฐบาลเจ้าสุวรรณภูมา แต่ถูกกองทัพฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายรุมจนพ่ายแพ้ กองแลต้องลี้ภัยไปสหรัฐจนถึงปัจจุบัน

เหตุการณ์ทางการเมืองในระยะเวลาไม่นานหลังจากนั้นบังคับให้ลาวต้องกลายเป็นสมรภูมิลับของสงครามเวียดนาม และเป็นปัจจัยก่อให้เกิดการรัฐประหารและสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อ ภายใต้การแทรกแซงของชาติต่างๆ ทั้งฝ่ายคอมมิวนิสต์และฝ่ายโลกเสรี จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1975 พรรคประชาชนปฏิวัติลาว ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตและเวียดนามเหนือ โดยการนำของเจ้าสุภานุวงศ์ ก็ยึดอำนาจรัฐจากรัฐบาลประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของ เจ้าสุวรรณภูมา พระเชษฐา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกาสำเร็จ และได้เรียกร้องให้เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนาทรงยินยอมสละราชสมบัติ เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนาจึงทรงยินยอมสละราชสมบัติ คณะปฏิวัติลาวจึงประกาศสถาปนาประเทศลาวเป็น "สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว" อย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1975 โดยยังคงแต่ตั้งให้อดีตเจ้ามหาชีวิตเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลระบอบใหม่

สมัยสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว[แก้]

กองทัพขบวนการปะเทดลาว (ต่อมาเป็นกองทัพประชาชนลาว) เข้าปลดปล่อยนครหลวงเวียงจันทร์ ปี ค.ศ. 1972

ในวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1975 กองประชุมผู้แทนทั่วประเทศที่นครหลวงเวียงจันทน์ มีผู้แทนเข้าร่วม 264 คน พิจารณารับรองประกาศยุบรัฐบาลชั่วคราวแห่งชาติ และพิจารณาเรื่องต่างๆ กองประชุมมีมติเอาธงดวงเดือนเป็นธงชาติลาว เอาเนื้อร้องเพลงชาติใหม่ เอาภาษาลาวเป็นภาษาทางการ ยกเลิกระบอบราชาธิปไตยและสถาปนาเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แต่งตั้งเจ้าสุภานุวงศ์เป็นประธานประเทศ, ท่านไกสอน พมวิหาน เป็นนายกรัฐมนตรี, เจ้าศรีสว่างวัฒนา เป็นที่ปรึกษาสูงสุดของประธานประเทศ, เจ้าสุวรรณภูมา เป็นที่ปรึกษาสูงสุดของรัฐบาล และมีมติอื่นๆ ในวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1975 และปิดกองประชุมด้วยผลสำเร็จ แต่ภายหลังพรรคประชาชนปฏิวัติลาวก็ได้กุมตัวอดีตเจ้ามหาชีวิต,พระมเหสีและอดีตพระบรมวงศานุวงศ์ราชวงศ์ล้านช้าง ไปคุมขังในค่ายกักกัน เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมือง และต่อมาทุกพระองค์ต่างสิ้นพระชนม์ด้วยโรคมาลาเรีย และยังมีการจับกุมนักการเมือง ข้าราชการในระบอบเก่า รวมทั้งประชาชนลาวจำนวนมากเข้าค่ายกักกัน ส่วนใหญ่เสียชีวิตด้วยโรคขาดสารอาหารและถูกยิงทิ้ง ระหว่างสงครามกลางเมืองมีผู้เสียชีวิตระหว่าง 20,000 ถึง 62,000 คน[8][9] ฝ่ายนิยมเจ้าตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในสหรัฐ แต่ไม่มีประเทศใดรับรอง

ประเทศลาวลงนามความตกลงยกสิทธิประจำกองทัพและแต่งตั้งที่ปรึกษาเพื่อสนับสนุนในการบริหารประเทศแก่เวียดนาม ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดนี้มีการลงนามเป็นสนธิสัญญาอย่างเป็นทางการใน ค.ศ. 1977 ซึ่งเวียดนามไม่เพียงแต่ชี้นำนโยบายต่างประเทศของลาวเท่านั้น แต่ยังให้เวียดนามเข้ามาข้องแวะในชีวิตการเมืองและเศรษฐกิจทุกส่วนของลาว[8][10] ใน ค.ศ. 1979 เวียดนามขอให้ทางการลาวยุติความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้ถูกโดดเดี่ยวทางการค้าทั้งจากจีน สหรัฐและประเทศอื่น[11] ในปีนั้น เวียดนามีทหารประจำการในลาว 50,000 นาย และมีข้าราชการพลเรือนเวียดนาม 6,000 คน[12][13]

ความขัดแย้งระหว่างกบฏม้งและ สปป.ลาว ดำเนินไปในพื้นที่สำคัญของลาว รวมทั้งเขตทหารปิด Saysaboune, เขตทหารปิด Xaisamboune และแขวงเชียงขวาง ระหว่าง ค.ศ. 1975 ถึง 1996 สหรัฐย้ายถิ่นผู้ลี้ภัยชาวลาวประมาณ 250,000 คน และม้ง 130,000 คนในประเทศไทย[14]

ภูมิศาสตร์[แก้]

ดูบทความหลักที่: ภูมิศาสตร์ลาว
แผนที่ประเทศลาว

ที่ตั้งและอาณาเขต[แก้]

ประเทศลาวเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งตั้งอยู่บนใจกลางของคาบสมุทรอินโดจีน ระหว่างละติจูดที่ 14 - 23 องศาเหนือ ลองจิจูดที่ 100 - 108 องศาตะวันออก มีพื้นที่โดยรวมประมาณ 236,800 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็นภาคพื้นดิน 230,800 ตารางกิโลเมตร ภาคพื้นน้ำ 6,000 ตารางกิโลเมตร โดยลาวเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล เนื่องด้วยตลอดแนวชายแดนของประเทศลาว ซึ่งมีความยาวรวม 5,083 กิโลเมตร ล้อมรอบด้วยชายแดนของประเทศเพื่อนบ้าน 5 ประเทศ เรียงตามเข็มนาฬิกา ดังนี้

ความยาวพื้นที่ประเทศลาวตั้งแต่เหนือจรดใต้ยาวประมาณ 1,700 กิโลเมตร ส่วนที่กว้างที่สุดกว้าง 500 กิโลเมตร และที่แคบที่สุด 140 กิโลเมตร เนื้อที่ทั้งหมด 236,800 ตารางกิโลเมตร

ลักษณะภูมิประเทศ[แก้]

ภูมิประเทศของลาวอาจแบ่งได้เป็น 3 เขต คือ

  1. เขตภูเขาสูง เป็นพื้นที่ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ย 1,500 เมตรขึ้นไป พื้นที่นี้อยู่ในเขตภาคเหนือของประเทศ
  2. เขตที่ราบสูง คือพื้นที่ซึ่งสูงกว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 1,000 เมตร ปรากฏตั้งแต่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของที่ราบสูงเมืองพวนไปจนถึงชายแดนกัมพูชา เขตที่ราบสูงนี้มีที่ราบสูงขนาดใหญ่อยู่ 3 แห่ง ได้แก่ ที่ราบสูงเมืองพวน (แขวงเชียงขวาง), ที่ราบสูงนากาย (แขวงคำม่วน) และที่ราบสูงบริเวณ (ภาคใต้)
  3. เขตที่ราบลุ่ม เป็นเขตที่ราบตามแนวฝั่งแม่น้ำโขงและแม่น้ำต่าง ๆ เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดในเขตพื้นที่ทั้ง 3 เขต นับเป็นพื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของประเทศ แนวที่ราบลุ่มเหล่านี้เริ่มปรากฏตั้งแต่บริเวณตอนใต้ของแม่น้ำงึม เรียกว่า ที่ราบลุ่มเวียงจันทน์ ผ่านที่ราบลุ่มสุวรรณเขต ซึ่งอยู่ตอนใต้เซบั้งไฟและเซบั้งเหียง และที่ราบจำปาศักดิ์ทางภาคใต้ของลาว ซึ่งปรากฏตามแนวแม่น้ำโขงเรื่อยไปจนจดชายแดนประเทศกัมพูชา

ทั้งนี้ เมื่อนำเอาพื้นที่ของเขตภูเขาสูงและเขตที่ราบสูงมารวมกันแล้ว จะมากถึง 3 ใน 4 ของพื้นที่ประเทศลาวทั้งหมด โดยจุดที่สูงที่สุดของประเทศลาวอยู่ที่ภูเบี้ย ในแขวงเชียงขวาง วัดความสูงได้ 2,817 เมตร (9,242 ฟุต)

ประเทศลาวมีแม่น้ำสายสำคัญอยู่หลายสาย โดยแม่น้ำซึ่งเป็นสายหัวใจหลักของประเทศ คือ แม่น้ำโขง ซึ่งไหลผ่านประเทศลาวเป็นระยะทาง 1,835 กิโลเมตร แม่น้ำสายนี้เป็นแม่น้ำสำคัญทั้งในด้านเกษตรกรรม การประมง การผลิตพลังงานไฟฟ้า การคมนาคมจากลาวเหนือไปจนถึงลาวใต้ และการใช้เป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างประเทศลาวกับประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ แม่น้ำสายสำคัญของลาวแห่งอื่น ๆ ยังได้แก่

  • แม่น้ำอู (พงสาลี-หลวงพระบาง) ยาว 448 กิโลเมตร
  • แม่น้ำงึม (เชียงขวาง-เวียงจันทน์) ยาว 353 กิโลเมตร
  • แม่น้ำเซบั้งเหียง (สุวรรณเขต) ยาว 338 กิโลเมตร
  • แม่น้ำทา (หลวงน้ำทา-บ่อแก้ว) ยาว 523กิโลเมตร
  • แม่น้ำเซกอง (สาละวัน-เซกอง-อัตตะปือ) ยาว 320 กิโลเมตร
  • แม่น้ำเซบั้งไฟ (คำม่วน-สุวรรณเขต) ยาว 239 กิโลเมตร
  • แม่น้ำแบ่ง (อุดมไซ) ยาว 215 กิโลเมตร
  • แม่น้ำเซโดน (สาละวัน-จำปาศักดิ์) ยาว 192 กิโลเมตร
  • แม่น้ำเซละนอง (สุวรรณเขต) ยาว 115 กิโลเมตร
  • แม่น้ำกะดิ่ง (บอลิคำไซ) ยาว 103 กิโลเมตร
  • แม่น้ำคาน (หัวพัน-หลวงพระบาง) ยาว 90 กิโลเมตร

ลักษณะภูมิอากาศ[แก้]

ประเทศลาวอยู่ในภูมิอากาศเขตร้อน มีลมมรสุมแต่ไม่มีลมพายุ สำหรับเขตภูเขาภาคเหนือและเขตเทือกเขา อากาศมีลักษณะกึ่งร้อนกึ่งหนาว อุณหภูมิสะสมเฉลี่ยประจำปีสูงถึง 15-30 องศาเซลเซียส และความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างกลางวันกับกลางคืนมีประมาณ 10 องศาเซลเซียส จำนวนชั่วโมงที่มีแสงแดดต่อปีประมาณ 2,300-2,400 ชั่วโมง (ประมาณ 6.3-6.5 ชั่วโมงต่อวัน) ความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศมีประมาณร้อยละ 70-85 ปริมาณน้ำฝนในฤดูฝน (ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม) มีร้อยละ 75 - 90 ส่วนในฤดูแล้ง (ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงเมษายน) ปริมาณน้ำฝนมีเพียงร้อยละ 10-25 และปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีของแต่เขตก็แตกต่างกันอย่างมากมาย เช่น เขตเทือกเขาบริเวณทางใต้ได้รับน้ำฝนเฉลี่ยปีละ 300 เซนติเมตร ขณะที่บริเวณแขวงเชียงขวาง แขวงหลวงพระบาง แขวงไชยบุรี ได้รับเพียงแค่ 100-150 เซนติเมตร ส่วนแขวงเวียงจันทน์และแขวงสุวรรณเขตในช่วง 150-200 เซนติเมตร เช่นเดียวกับแขวงพงสาลี แขวงหลวงน้ำทา และแขวงบ่อแก้ว

การเมืองการปกครอง[แก้]

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมีระบบการปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ (ทางการลาวใช้คำว่า ระบอบประชาธิปไตยประชาชน) โดยมีพรรคประชาชนปฏิวัติลาวเป็นองค์กรชี้นำประเทศ ซึ่งพรรคนี้เริ่มมีอำนาจสูงสุดตั้งแต่ลาวเริ่มปกครองในระบอบสังคมนิยมเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1975 ประธานประเทศ (ประธานาธิบดี) ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวคนปัจจุบัน ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี คือ ทองลุน สีสุลิด (ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่คณะบริหารงานศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาวอีกตำแหน่งหนึ่ง) ส่วนนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือนาย พันคำ วิพาวัน

บริหาร[แก้]

ดูบทความหลักที่: สภารัฐมนตรี

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ซึ่งนายกรัฐมนตรีมาจากการแต่งตั้งของประธานประเทศโดยผ่านการอนุมัติจากสภาแห่งชาติ

นิติบัญญัติ[แก้]

สภาแห่งชาติลาว เป็นองค์กรนิติบัญญัติสูงสุดของลาว มีอำนาจในการเห็นชอบตำแหน่งสำคัญต่างๆ อาทิ ประธานประเทศ นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี และยังถือเป็นองค์กรตัวแทนของประชาชน เป็นองค์การตัวแทนแห่งสิทธิ อำนาจ และ ผลประโยชน์ของประชาชน เป็นองค์การอำนาจแห่งรัฐ และเป็นองค์การนิติบัญญัติที่มี สิทธิพิจารณาข้อตัดสินใจหรือปัญหาสำคัญของชาติ รวมทั้ง ติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของคณะรัฐบาล ศาลประชาชน และ องค์การอัยการประชาชน

ตุลาการ[แก้]

ศาลประชาชนของลาวเป็นองค์กรตุลาการ ที่ได้รับการแต่งตั้งและเห็นชอบจากสภาแห่งชาติลาว

สถาบันการเมืองที่สำคัญ[แก้]

  1. แนวลาวสร้างชาติ
  2. องค์กรจัดตั้ง เช่น สหพันธ์วัยหนุ่มลาว (สหพันธ์เยาวชน) สหพันธ์แม่หญิงลาว (สมาคมสตรี) กรรมบาลลาว (สหพันธ์กรรมกร) ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยพรรคประชาชนปฏิวัติลาว

การจัดตั้งและการบริหาร[แก้]

  • หลายหมู่บ้านรวมกันเป็น เมือง (ก่อนหน้านี้จัดให้หลายหมู่บ้านรวมกันเป็น ตาแสง มีตาแสงเป็นผู้ปกครอง หลายตาแสงรวมกันจึงเรียกว่า เมือง)
  • หลายเมืองรวมกันเป็น แขวง
  • "คณะกรรมการปกครองหมู่บ้าน" มี นายบ้าน เป็นหัวหน้า เป็นผู้บริหารของหมู่บ้าน
  • "คณะกรรมการปกครองเมือง" มี เจ้าเมือง เป็นหัวหน้า เป็นผู้บริหารเมือง
  • "คณะกรรมการปกครองแขวง" มี เจ้าแขวง เป็นหัวหน้า เป็นผู้บริหารแขวง
  • "คณะกรรมการปกครองนครหลวง" มี เจ้าครองนครหลวง เป็นหัวหน้า เป็นผู้บริหารนครหลวง

กระทรวง[แก้]

ดูบทความหลักที่: กระทรวงในประเทศลาว

ประเทศลาวมีทั้งหมด 17 กระทรวง และ 4 องค์กรเทียบเท่า ได้แก่

ลำดับ กระทรวง ชื่อภาษาลาว ชื่อภาษาอังกฤษ
1 ห้องว่าการประธานประเทศ ຫ້ອງວ່າການປະທານປະເທດ Presidential Office
2 ห้องว่าการรัฐบาล ຫ້ອງວ່າການລັດຖະບານ Government's Office
3 กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ ກະຊວງກະສິກຳແລະປ່າໄມ້ Ministry of Agricultural and Forestry
4 กระทรวงศึกษาธิการและกีฬา ກະຊວງສຶກສາທິການ ແລະ ກິລາ Ministry of Education and Sports
5 กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ກະຊວງພະລັງງານແລະບໍ່ແຮ່ Ministry of Energy and Mine
6 กระทรวงการเงิน ກະຊວງການເງິນ Ministry of Finance
7 กระทรวงการต่างประเทศ ກະຊວງການຕ່າງປະເທດ Ministry of Foreign Affairs
8 กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ກະຊວງອຸດສະຫະກຳແລະການຄ້າ Ministry of Industry and Commerce
9 กระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยว ກະຊວງຖະແຫລງຂ່າວ ວັດທະນະທຳ ແລະ ທ່ອງທ່ຽວ Ministry of Information, Culture and Tourism
10 กระทรวงยุติธรรม ກະຊວງຍຸຕິທຳ Ministry of Justice
11 กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ກະຊວງແຮງງານແລະສະຫວັດດີການສັງຄົມ Ministry of Labour and Social Welfare
12 กระทรวงป้องกันประเทศ ກະຊວງປ້ອງກັນປະເທດ Ministry of Defence
13 กระทรวงแผนการและการลงทุน ກະຊວງແຜນການແລະການລົງທຶນ Ministry of Planning and Investment
14 กระทรวงสาธารณสุข ກະຊວງສາທາລະນະສຸກ Ministry of Health
15 กระทรวงป้องกันความสงบ ກະຊວງປ້ອງກັນຄວາມສະຫງົບ Ministry of Public Security
16 กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ກະຊວງໂຍທາທິການແລະຂົນສົ່ງ Ministry of Public Work and Transportation
17 กระทรวงภายใน ກະຊວງພາຍໃນ Ministry of Home Affaire
18 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ກະຊວງຊັບພະຍາກອນທໍາມະຊາດ ແລະ ສິ່ງແວດລ້ອມ Ministry of Natural Resource and Environment
19 กระทรวงไปรษณีย์ โทรคมนาคม และการสื่อสาร ກະຊວງໄປສະນີ, ໂທລະຄົມ ແລະ ການສື່ສານ Ministry of Post, Telecom and Communication
20 องค์การตรวจตรารัฐบาล ອົງການກວດກາລັດຖະບານ Government Inspection Authority
21 ธนาคารแห่ง สปป.ลาว ທະນາຄານແຫ່ງ ສປປ.ລາວ Bank of Lao PDR

การแบ่งเขตการปกครอง[แก้]

ประเทศลาวแบ่งเป็น 17 แขวง และ 1 นครหลวง (ได้แก่ นครหลวงเวียงจันทน์) แขวงแต่ละแขวงจะแบ่งเป็นเมือง ซึ่งจะมีหนึ่งเมืองเป็นเมืองหลวงของแขวงเรียกว่า เมืองเอก[15]

ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1995 ได้มีการยุบเขตพิเศษไชยสมบูรณ์อย่างเป็นทางการตามดำรัสนายกรัฐมนตรี (คำสั่งนายกรัฐมนตรี) เลขที่ 10/ນຍ. ลงวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1995 โดยเมืองท่าโทมถูกรวมกับแขวงเชียงขวาง และเมืองไชยสมบูรณ์ถูกรวมกับแขวงเวียงจันทน์

ต่อมาในวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2013 ทางการลาวได้จัดตั้งแขวงใหม่ในบริเวณที่เคยเป็นเขตพิเศษไชยสมบูรณ์เดิมกับ 2 หมู่บ้านจากเมืองวังเวียงในแขวงเวียงจันทน์ โดยใช้ชื่อว่า "แขวงไชยสมบูรณ์" แบ่งเขตปกครองย่อยออกเป็น 5 เมือง ได้แก่ เมืองอะนุวง (เดิมชื่อเมืองไชยสมบูรณ์) เมืองห่ม เมืองท่าทูม เมืองล่องสาน และเมืองล่องแจ้ง[16][17]

ชื่อไทย ชื่อลาว เมืองเอก พื้นที่
(ตารางกิโลเมตร)
ประชากร
1. แขวงคำม่วน ແຂວງຄໍາມ່ວນ ท่าแขก 16,315 358,800
2. แขวงจำปาศักดิ์ ແຂວງຈໍາປາສັກ ปากเซ 15,415 575,600
3. แขวงเชียงขวาง ແຂວງຊຽງຂວາງ โพนสะหวัน 15,880 229,521
4. แขวงไชยบุรี ແຂວງໄຊຍະບູລີ ไชยบุรี 16,389 382,200
5. แขวงไชยสมบูรณ์ ແຂວງໄຊສົມບູນ อะนุวง 8,300 82,000
6. แขวงเซกอง ແຂວງເຊກອງ เซกอง 7,665 124,570
7. แขวงบอลิคำไซ ແຂວງບໍລິຄໍາໄຊ ปากซัน 14,863 214,900
8. แขวงบ่อแก้ว ແຂວງບໍ່ແກ້ວ ห้วยทราย 6,196 149,700
9. แขวงพงสาลี ແຂວງຜົ້ງສາລີ พงสาลี 16,270 199,900
10. แขวงเวียงจันทน์ ແຂວງວຽງຈັນ โพนโฮง 15,927 373,700
11. แขวงสาละวัน ແຂວງສາລະວັນ สาละวัน 10,691 336,600
12. แขวงสุวรรณเขต ແຂວງສະຫວັນນະເຂດ ไกสอน พมวิหาน 21,774 721,500
13. แขวงหลวงน้ำทา ແຂວງຫຼວງນ້ຳທາ หลวงน้ำทา 9,325 150,100
14. แขวงหลวงพระบาง ແຂວງຫຼວງພະບາງ หลวงพระบาง 16,875 408,800
15. แขวงหัวพัน ແຂວງຫົວພັນ ซำเหนือ 16,500 322,200
16. แขวงอัตตะปือ ແຂວງອັດຕະປື อัตตะปือ 10,320 114,300
17. แขวงอุดมไซ ແຂວງອຸດົມໄຊ เมืองไซ 15,370 275,300
18. นครหลวงเวียงจันทน์ ນະຄອນຫຼວງວຽງຈັນ เวียงจันทน์ 3,920 726,000
เขตการปกครองระดับบนสุดของประเทศลาว
Laos, administrative divisions - th - colored.svg

เศรษฐกิจ[แก้]

ภาวะเศรษฐกิจของประเทศลาวมีพัฒนาการที่ดีตามลำดับ โดยในช่วง 20 ปีนับตั้งแต่ปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมสู่ระบบเศรษฐกิจเสรีการตลาดเมื่อปี 1986 ประเทศลาวมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 6.2 ต่อปี ประชากรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากประมาณ 200 ดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี 1986 เป็น 491 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2005 ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในอัตราไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 10 ต่อปี โดยอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าเป็นสาขาหลักที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ

อย่างไรก็ดี ลาวยังคงประสบปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขที่สำคัญได้แก่ ปัญหาราคาน้ำมัน ที่เพิ่มสูงขึ้น ปัญหาการขาดดุลการค้าในอัตราสูง ค่าเงินกีบไม่มีเสถียรภาพ การจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย และปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง

ทรัพยากรสำคัญของลาว ได้แก่ ไม้ ดีบุก ยิปซัม ตะกั่ว หินเกลือ เหล็ก ถ่านหินลิกไนต์ สังกะสี ทองคำ อัญมณี หินอ่อน น้ำมัน และแหล่งน้ำผลิตไฟฟ้า

การลงทุน[แก้]

การลงทุน รัฐบาลได้ปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อสร้างบรรยากาศให้เอื้ออำนวยต่อการลงทุนมากยิ่งขึ้น อาทิ มาตรการด้านภาษี อนุญาตให้นครหลวงเวียงจันทน์ แขวงจำปาศักดิ์ และแขวงหลวงพระบาง มีอำนาจอนุมัติโครงการลงทุนที่มีมูลค่าไม่เกิน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนแขวงอื่น ๆ สามารถอนุมัติโครงการลงทุนที่มีมูลค่าลงทุนไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้การลงทุนจากต่างประเทศในลาวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2003 มีมูลค่า 465 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2004 มีมูลค่า 533 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และปี 2005 มีมูลค่า 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นักลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ ไทย เวียดนาม ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย จีน ฯลฯ

ตลาดหลักทรัพย์[แก้]

ลาวกำหนดให้วันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 2010 (10-10-10) เป็นวันเปิดดำเนินการของตลาดหลักทรัพย์ลาว โดยมีที่ปรึกษาทางการเงินจากประเทศไทย และได้ช่วยเหลือ5บริษัทจากประเทศเกาหลี เปิดทำการจริงในวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 2011 จะมีบริษัทแรกเข้าจดทะเบียนประมาณ 5 บริษัท[18]

โครงการความร่วมมือในภูมิภาคใกล้เคียง[แก้]

  • อาเซียน ลาวเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนเมื่อเดือนกรกฎาคม 1997 ได้เป็นประธาน คณะกรรมการประจำอาเซียนเมื่อกรกฎาคม 2004
  • ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy - ACMECS)
  • ความร่วมมือในกรอบสามเหลี่ยมมรกต

การนำเข้าและการส่งออก[แก้]

สินค้าส่งออกที่สำคัญของลาวได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ไม้ซุง ไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์ไม้ สินแร่ เศษโลหะ ถ่านหิน หนังดิบ และหนังฟอก ข้าวโพด ใบยาสูบ กาแฟ โดยส่งออกไปยังประเทศไทย เวียดนาม ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี ส่วนการนำเข้าสินค้า ประเทศลาวได้นำเข้าสินค้าจากไทย จีน เวียดนาม สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เยอรมนี โดยสินค้าที่สำคัญได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน อาหาร ผ้าผืน สารเคมี และเครื่องอุปโภคบริโภค

การท่องเที่ยว[แก้]

การท่องเที่ยวมีการเติบโตอย่างรวดเร็วจาก 80,000 คนในปี ค.ศ. 1990 เป็นจำนวน 1.876 ล้านคนในปี 2010 [19] การท่องเที่ยวคาดว่าจะมีมูลค่าถึง 679.1 ล้านเหรียญสหรัฐต่อผลผลิตมวลรวมภายในประเทศในปี 2010 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.5857 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี ค.ศ. 2020 รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติและสินค้าเพื่อการท่องเที่ยวคาดว่าจะเติบโต 15.5% ของยอดการส่งออกหรือ 270.3 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2010 และจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 484.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (12.5 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด) ในปี 2020 [20]

โครงสร้างพื้นฐาน[แก้]

แม่น้ำเป็นเส้นทางการขนส่งที่สำคัญในประเทศลาว
ดูบทความหลักที่: การขนส่งในประเทศลาว

ท่ากาศยานหลักของประเทศ คือ ท่าอากาศยานนานาชาติวัตไตของเวียงจันทน์ และท่าอากาศยานนานาชาติหลวงพระบาง ส่วนท่าอากาศยานนานาชาติปากเซมีเที่ยวบินระหว่างประเทศจำนวนน้อย สายการบินประจำชาติ คือ การบินลาว สายการบินอื่น ๆ ไดแก่ บางกอกแอร์เวย์ เวียดนามแอร์ไลน์ แอร์เอเชีย การบินไทย และไชนาอีสเทิร์นแอร์ไลน์

ประเทศลาวมีทางรถไฟระยะสั้น ซึ่งเชื่อมต่อเวียงจันทน์กับประเทศไทยด้วยสะพานมิตรภาพไทย-ลาว 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) ถนนสายหลักในประเทศลาวมีการเชื่อมต่อไปยังเมืองสำคัญต่าง ๆ โดยเฉพาะทางหลวงหมายเลข 13 ซึ่งได้รับการปรับปรุงในไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่หมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลจากถนนสายหลักยังเดินทางด้วยถนนลูกรัง ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงได้ตลอดทั้งปี

ประชากรศาสตร์[แก้]

ดูบทความหลักที่: ประชากรศาสตร์ลาว

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ[แก้]

จิตรกรรมฝาผนัง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในภาพแสดงโครงการพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตร ห้วยซอน-ห้วยซั้ว (หลัก 22) ที่บ้านนายาง เมืองนาทรายทอง นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ร่วมกับ ฯพณฯ หนูฮัก พูมสะหวัน ประธานประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1994

กองทัพ[แก้]

ดูบทความหลักที่: กองทัพประชาชนลาว

กองกำลังกึ่งทหาร[แก้]

สื่อสารมวลชน[แก้]

ตราของสถานีโทรภาพแห่งชาติลาว

สื่อในประเทศลาวล้วนอยู่ในความดูแลของรัฐโดยตรง รัฐบาลลาวมีสำนักข่าวสารประเทศลาว (ขปล.) เป็นสำนักข่าวแห่งชาติที่เผยแพร่ข่าวของรัฐ ส่วนหนังสือพิมพ์ภาษาลาวที่สำคัญในประเทศได้แก่ หนังสือพิมพ์ประชาชนซึ่งเป็นกระบอกเสียงของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว และหนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ใหม่ นอกจากนี้ยังมีหนังสือพิมพ์ภาษาต่างประเทศอีก 2 ฉบับ คือ หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ไทมส์ (Vientiane Times) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ และหนังสือพิมพ์ "เลอเรนอวาเตอร์" (Le Rénovateur) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาฝรั่งเศส

ในประเทศลาวยังไม่มีสถานีโทรทัศน์อย่างเป็นทางการ โดยปัจจุบันนี้มีสถานีโทรทัศน์ที่กำลังทดลองออกอากาศ คือ สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศลาว (ທຊລ.) ซี่งเป็นสถานีโทรทัศน์ของรัฐ ออกอากาศผ่านเครือข่ายสถานีในประเทศ มีสถานีส่งต่อในประเทศไทยในชุมชนลาว และออกอากาศทางดาวเทียมไทยคม 5 นอกจากนี้ยังมีลาวสตาร์แชนแนล ที่ออกอากาศผ่านดาวเทียมจากประเทศไทย

ด้านการใช้อินเทอร์เน็ต ตามหัวเมืองใหญ่และนครหลวงมีการเปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตคาเฟโดยทั่วไป และได้รับความนิยมอย่างยิ่งในหมู่เยาวชนรุ่นใหม่ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลลาวก็ได้มีการตรวจพิจารณาเนื้อหาและการเข้าถึงข้อมูลอินเทอร์เน็ตอย่างเข้มงวด เนื่องจากเป็นประเทศที่ปกครองโดยรัฐบาลคอมมิวนิสต์

สังคม[แก้]

เชื้อชาติ[แก้]

ประเทศลาวเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ แต่กลุ่มชาติพันธุ์ลาวเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ ส่วนที่เหลือเป็นพวกไทขาว ไทดำ และกลุ่มที่อาศัยอยู่ในบริเวณภูเขา ได้แก่ ม้ง เย้า และข่า

ศาสนา[แก้]

ดูบทความหลักที่: ศาสนาในประเทศลาว
ศาสนาในประเทศลาว
ศาสนา ร้อยละ
พุทธ
  
66%
ผี
  
30.7%
คริสต์
  
1.5%
อื่น ๆ
  
1.8%

จากการสำรวจในปี ค.ศ. 2010[21] ประเทศลาวมีผู้นับถือศาสนา 7.2 ล้านคน โดยแบ่งได้ดังนี้ ศาสนาพุทธ 66% ศาสนาผี 30.7% ศาสนาคริสต์ 1.5% และศาสนาอื่น ๆ 1.8%

ภาษา[แก้]

ภาษาประจำชาติ คือ ภาษาลาว

อันดับในเวทีระหว่างประเทศ[แก้]

องค์กร หัวข้อสำรวจ อันดับที่
Heritage Foundation/
The Wall Street Journal
ดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ
(Index of Economic Freedom)
150 จาก 178 [22]
องค์กรสื่อไร้พรมแดน
(Reporters Without Borders)
ดัชนีเสรีภาพสื่อทั่วโลก
(Worldwide Press Freedom Index)
171 จาก 180 [23]
องค์กรความโปร่งใสนานาชาติ
(Transparency International)
ดัชนีความตระหนักในการทุจริตคอร์รัปชั่น
(Corruption Perceptions Index)
145 จาก 175 [24]
United Nations Development Programme ดัชนีการพัฒนามนุษย์
(Human Development Index)
139 จาก 187 [25]

อ้างอิง[แก้]

  1. "The Languages spoken in Laos". Studycountry. สืบค้นเมื่อ 16 September 2018.
  2. "Results of Population and Housing Census 2015" (PDF). Lao Statistics Bureau. สืบค้นเมื่อ 1 May 2020.
  3. https://assets.pewresearch.org/wp-content/uploads/sites/11/2012/12/globalReligion-tables.pdf
  4. "Laos". Lao Department of Statistics. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 13 November 2016.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 "World Economic Outlook Database, Laos". International Monetary Fund. April 2018. สืบค้นเมื่อ 28 April 2018.
  6. "Gini Index". World Bank. สืบค้นเมื่อ 2 March 2011.
  7. "Human Development Report 2019" (PDF). United Nations Development Programme. 2019. สืบค้นเมื่อ 9 December 2019.
  8. 8.0 8.1 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ bbc
  9. Obermeyer, Ziad; Murray, Christopher J. L.; Gakidou, Emmanuela (2008). "Fifty years of violent war deaths from Vietnam to Bosnia: analysis of data from the world health survey programme". BMJ. 336 (7659): 1482–1486. doi:10.1136/bmj.a137. PMC 2440905. PMID 18566045. See Table 3.
  10. Stuart-Fox, Martin (1980). LAOS: The Vietnamese Connection. In Suryadinata, L (Ed.), Southeast Asian Affairs 1980. Singapore: Institute of Southeast Asian Stuides, p. 191.
  11. Kingsbury, Damien (2016). Politics in Contemporary Southeast Asia: Authority, Democracy and Political Change. Taylor & Francis, p. 50. ISBN 978-1-317-49628-1
  12. Savada, Andrea M. (1995). Laos: a country study. Federal Research Division, Library of Congress, p. 271. ISBN 0-8444-0832-8
  13. Prayaga, M. (2005). Renovation in vietnam since 1988 a study in political, economic and social change (PhD thesis). Sri Venkateswara University. Chapter IV: The Metamorphosed Foreign Relations, p. 154.
  14. Laos (04/09). U.S. Department of State.
  15. "Nsc Lao Pdr". Nsc.gov.la. สืบค้นเมื่อ 21 January 2012.
  16. http://www.vientianetimes.org.la/FreeContent/FreeConten_Xaysomboun.htm
  17. http://www.manager.co.th/IndoChina/ViewNews.aspx?NewsID=9570000001654
  18. ตลาดหลักทรัพย์ลาว
  19. "International visitor data". World Travel & Tourism Council. สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2011. Check date values in: |accessdate= (help)
  20. "Laos – Key Facts". World Travel & Tourism Council. สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2011. Check date values in: |accessdate= (help)
  21. [1] Religion in Vietnam
  22. http://www.heritage.org/index/country/laos
  23. https://index.rsf.org/#!/
  24. http://www.transparency.org/cpi2014/results
  25. https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_Human_Development_Index

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

Wikivoyage-Logo-v3-icon.svg ประเทศลาว ข้อมูลการท่องเที่ยวจาก วิกิท่องเที่ยว