หน้าหลัก

Print this page Print this page  |   Send this page Send this page  |   export to PDF Export to PDF

บทความพิเศษ
คนไทยในเกาะกง

18 เมษายน 2015 (จำนวนคนอ่าน 6219)

โดย  อดิศักดิ์  ศรีสม
 
 
บนริมฝั่งทะเลอ่าวไทยทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของราชอาณาจักรกัมพูชา คือที่ตั้งของ จ."เกาะกง” ที่มีอาณาเขตชิดติดต่อกับประเทศไทยทาง อ.คลองใหญ่ จังหวัดตราด ย้อนกลับไปเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว เกาะกงเคยเป็นดินแดนภายใต้อาณาจักรกัมพูชา แต่เมื่อตกเป็นประเทศราชของสยาม เกาะกงจึงกลายเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของสยามไปด้วย
 
ในปี พ.ศ.2398 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร. 4 ได้มีพระบรมราชโองการตั้งเกาะกงเป็นเมืองหน้าด่านทางชายฝั่งทะเลตะวันออกของไทย และพระราชทานนามเมืองว่า "ปัจจันตคีรีเขตต์” เพื่อให้คล้องจองกับชื่อเมือง "ประจวบคีรีขันธ์” ซึ่งตั้งอยู่อีกฝากหนึ่งของอ่าวไทยในแนวเส้นรุ้ง (Latitude) เดียวกัน จนเมื่อมีการลงนามในอนุสัญญาฝรั่งเศส - สยาม ในสมัย ร. 5 วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2447 ทำให้เกาะกงต้องตกเป็นของฝรั่งเศส
 
แม้จะมีการเกิดขึ้นของเส้นเขตแดนและรัฐชาติในแบบตะวันตกแต่ชาวบ้านเชื้อสายไทยที่เกาะกงไม่ได้โยกย้ายเข้าสู่แผ่นดินไทยมากนัก ส่วนใหญ่ยังคงใช้ชีวิตประกอบอาชีพทำนาและการประมงต่อไปเช่นเดิม กระทั่งเข้าสู่ยุคเขมรแดงคนไทยเกาะกงจำนวนมากได้อพยพเข้าสู่แผ่นดินไทยทางด้าน จ.ตราด จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่ก่อให้เกิดการลดจำนวนลงของกลุ่มคนไทยในเกาะกงอย่างรวดเร็วที่สุดและมากที่สุดในขณะนั้น ทั้งนี้ ประมาณการกันว่าในยุคก่อนเขมรแดงปี พ.ศ. 2514 มีคนเชื้อสายไทยในเกาะกงราว 4 หมื่นคน แต่ได้ลดจำนวนลงเหลือเพียง 8,000 คน ในปี พ.ศ.2523
 
แม้กาลเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานนับร้อยปี แต่ปัจจุบันยังมีคนเชื้อสายไทยจำนวนมากที่อาศัยอยู่ทั้งในเขตเมืองและรอบนอกของตัวเมือง เช่น " ไพเราะ สังข์ทอง” คนไทยเกาะกงที่เกิดและเติบโตที่นี่ วันนี้เธอเปิดกิจการร้านอาหารไทยเล็ก ๆ อยู่ในตัวเมืองเกาะกงมานานหลายปีแล้ว "เกิดที่นี่ โตที่นี่แหละ ตอนนั้นเขมรแตกในสมัยพอลพต ก็เดินข้ามเขาไปทางโน้น ไปอยู่ที่คลองใหญ่ ไปกันหมด พ่อแม่พี่น้องไปกันหมด พอเหตุการณ์สงบพ่อแม่พี่น้องก็กลับมาบ้านเกิดที่นี่อีก แต่ตัวฉันเองไม่กลับ แต่งงานอยู่กับคนทางโน้น แล้วก็อยู่ทางโน้นจนได้บัตรประชาชนเรียบร้อยแล้ว ก็กลับมาหากินทางนี้อีก” ไพเราะเล่าย้อนอดีตการโยกย้ายข้ามแดนของเธอให้ฟัง
 
สำหรับไพเราะแล้วการได้สัญชาติทั้งไทยและกัมพูชาทำให้เธอได้เปรียบกว่าคนอื่นในการเดินทางไปเยี่ยมลูก ๆ ทั้ง 4 คน ที่ทำงานและเรียนหนังสืออยู่ที่ประเทศไทย ซึ่งไม่ต่างจากคนไทยทั่วไปในเกาะกงที่ส่วนใหญ่จะมีญาติพี่น้องอยู่ในฝั่งประเทศไทยเกือบทั้งสิ้น อีกทั้งการเดินทางไปมาหาสู่กันในปัจจุบันก็เป็นไปอย่างสะดวกง่ายดายเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา
 
ที่หมู่บ้าน "บางกระสอบ” ไม่ห่างจากตัวเมืองเกาะกงนัก ประชากรเกินกว่าครึ่งคือกลุ่มคนไทยที่ตั้งรกรากมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ยึดอาชีพประมงหาเลี้ยงชีพจับสัตว์น้ำส่งไปขายในประเทศไทย และทุกคนในหมู่บ้านนี้ยังคงสื่อสารกันด้วยภาษาไทยเป็นหลัก "แก่ สังข์ทอง” ชายวัย 46 ปี เขาเกิดที่เกาะกง ก่อนจะย้ายตามพ่อแม่ไปอยู่ที่ จ.ตราด ในช่วงสงครามเขาเลือกกลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่อีกครั้งเพราะอย่างน้อยก็เป็นบ้านเกิดและยังมีอาชีพให้เลี้ยงตัวได้ ทุกวันนี้เขาถือสัญชาติทั้งไทยและกัมพูชา แต่งงานกับชาวกัมพูชาจนมีลูกด้วยกัน 3 คน เป็นครอบครัวที่มีความอบอุ่นและมีความสุขตามอัตภาพ
 
การได้สัญชาติไทยสำหรับคนไทยในเกาะกงรุ่นหลัง ๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไปแล้ว นั่นเพราะมีการตรวจสอบที่เข้มงวดมากขึ้น เช่นกรณีของ "แก่ จาบ” หรือมีชื่อไทยว่า "วินัย สังข์ทอง” เขาคือลูกชายวัย 22 ปีของแก่ซึ่งแม้เขาจะมีเชื้อชาติไทย พูดภาษาไทย แต่เขาเป็นคนไทยที่เกิดในเกาะกงจึงต้องถือสัญชาติกัมพูชาโดยปริยาย เช่นเดียวกับ "สมสิทธิ์ ลุนสำเหริด” เธอเป็นคนไทยเกาะกงที่ถือเพียงสัญชาติกัมพูชา เมื่อ 5 ปีที่แล้ว สมสิทธิ์เดินทางไปทำงานที่เมืองไทยและพบรักกับหนุ่มไทยจาก จ.พิษณุโลก วันนี้เธอและสามีย้ายครอบครัวมาอยู่ที่เกาะกงโดยยึดอาชีพประมงเลี้ยงตัวเอง แต่ยังหวังว่าสักวันจะได้กลับไปทำมาหากินในประเทศไทยอีกครั้ง
 
การข้ามชายแดนไปมาระหว่างคนไทยเกาะกงในกัมพูชากับ จ.ตราด ของไทย ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติมาช้านานแล้ว แม้ภายหลังเส้นเขตแดนจะได้แบ่งแยกให้ต้องกลายเป็นคนละประเทศ แต่ไม่อาจตัดขาดผูกพันที่มีต่อกันได้ นั่นเพราะพวกเขาคือคนกลุ่มเดียวกันที่มีมิติความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวระหว่างกัน ปัญหาเรื่องสัญชาติ คือสิ่งตกค้างจากอิทธิพลของรัฐชาติที่มนุษย์ด้วยกันเองเป็นผู้สร้างขึ้น โดยไม่สนใจข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า แม้กระนั้นกติกาเหล่านี้ก็ไม่สามารถสกัดกั้นความต้องการย้ายถิ่นฐานเพื่อการสร้างชีวิตที่ดีกว่าของผู้คนได้เลย
 
 
 
ส่วนอาเซียน สำนักการประชาสัมพันธ์ต่างประเทศ
กรมประชาสัมพันธ์

กรมประชาสัมพันธ์ เลขที่ 9 ซอยอารีย์สัมพันธ์ ถนนพระราม6 เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
Tel.02 618 2323 ต่อ1719, 1723 Fax. 02 618 2372 E-mail:  aseanthai@hotmail.com


จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์