สมชัย เชื่อ กกต.ไม่กล้าให้ใบส้ม ‘ชัชชาติ’ ปมกระเป๋าจากป้าย ยกเคส ‘สุรพล’ เปรียบเทียบ

สมชัย เชื่อ กกต.ไม่กล้าแจกใบส้ม ‘ชัชชาติ’ ปมกระเป๋าจากป้าย ยกเรื่อง ‘สุรพล’ เปรียบเทียบ

จากกรณีที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเสนอรายงานผลคะแนนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) และสมาชิกกรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เข้าสู่ที่ประชุมในวันที่ 30 พฤษภาคม เพื่อพิจารณาประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง โดยเป็นการนำเสนอผลคะแนนในส่วนของผู้บริหาร จำนวน 1 ตำแหน่ง และสมาชิก จำนวน 50 ตำแหน่ง โดยผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดของการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. คือ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ส่วน ส.ก. ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย (พท.) 20 คน พรรคก้าวไกล 14 คน พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 9 คน กลุ่มรักษ์กรุงเทพ 3 คน พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และ พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) 2 คน

เบื้องต้นมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.และ ส.ก. รวม 24 คำร้อง ส่วนใหญ่เป็นการร้องเรียนเรื่องการปิดป้ายหาเสียงไม่ถูกต้อง และข้อความที่ใช้หาเสียงหมิ่นเหม่เกินกรอบอำนาจหน้าที่ เข้าข่ายหลอกลวง เป็นต้น

สำหรับ นายชัชชาติ ถูกร้องเรียน จำนวน 2 เรื่อง คือ

1.กรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อ กกต.ขอให้ไต่สวนนายชัชชาติ กรณีทำป้ายหาเสียงเป็นผ้าไวนิลมีเจตนาแฝงเพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถนำไปรีไซเคิลทำกระเป๋า-ผ้ากันเปื้อน เข้าข่ายกระทำการเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองด้วยวิธีการ จัดทำให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้หรือไม่ เบื้องต้น กรณีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับกฎหมายเลือกตั้ง จึงต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าเข้าข่ายสัญญาว่าจะให้กับผู้ใดภายหลังจากการเลือกตั้ง ตามคำกล่าวอ้างของผู้ร้องหรือไม่ หรือเป็นแค่เพียงนโยบายหาเสียงเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม นโยบายรีไซเคิลและรียูสสิ่งของ

และ 2.การร้องเรียนเกี่ยวกับระบบราชการ ซึ่งเป็นการแจ้งผ่านหน่วยงานอื่นไม่ใช่ กกต.โดยตรง อ้างว่านายชัชชาติ ระบุเนื้อหาทำนองว่าระบบราชการอาจจะส่งผลต่ออุปสรรคการปฏิบัติงานเพราะมีขั้นตอนเยอะ โดยผู้ร้องอ้างว่าการระบุเช่นนี้เหมือนเป็นการดูถูกระบบราชการ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นกรณีนี้ไม่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเลือกตั้ง และยังไม่สามารถระบุได้ว่าตรงกับข้อกฎหมายใด

ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุความเห็นส่วนตัวประเด็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง สามารถให้ใบส้มได้ว่า ทำได้ คือใบส้ม แต่ต้องคิดให้หนัก พ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่น มาตรา 107 ให้อำนาจ กกต.ก่อนการประกาศผล สามารถให้ใบส้ม คือให้มีการเลือกตั้งใหม่ และดึงคนผิดออกจากสนามได้เป็นเวลาหนึ่งปี แบบเดียวกับกรณีให้ใบส้ม นายสุรพล เกียรติไชยากร เขต 8 เชียงใหม่

นายสมชัยกล่าวว่า แต่หลังจากให้ใบส้มแล้ว กกต.ต้องส่งศาลอุทธรณ์ให้ลงโทษอาญา ตัดสิทธิทางการเมือง และชดใช้ค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งศาลอาจเห็นต่างจาก กกต.โดยยกฟ้องและอาจตามด้วยการฟ้องกลับในคดีแพ่ง เหมือนคดีใบส้มใบแรกของการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ กกต.แพ้คดี ถูกตัดสินให้ชดใช้เงินค่าเสียหายถึง 70 ล้านบาท

“ดังนั้น จึงไม่ง่ายนักที่ กกต.จะชักใบส้ม ยกเว้นว่าเชื่อมั่นในหลักฐานและเชื่อต่อว่าเมื่อส่งศาลแล้วจะมีคำพิพากษาในทิศทางเดียวกัน โดยความเห็นส่วนตัว ไม่ได้ชี้นำใคร ผมว่าเขาไม่กล้าชักในกรณีถุงไวนิลที่เป็นข่าวครับ” นายสมชัยกล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่

LINE @Matichon