• Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
TAF Special #41 - 60 ปีของการขาดหายไปของเรือดำน้ำแห่งราชนาวีไทย สู่การจัดตั้งกองเรือดำน้ำและการจัดหาเรือดำน้ำ Type-206A จากเยอรมัน PDF Print E-mail
Written by Administrator   
Thursday, 21 April 2011 21:36


พลเรือตรีสุริยะ พรสุริยะ ผู้บัญชาการกองเรือดำน้ำ กองเรือยุทธการ

วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 กองทัพเรือได้มีคำสั่งปลดประจำการเรือดำน้ำทั้ง 4 ลำที่ต่อจากญี่ปุ่นลง ตามหลังหมวดเรือดำน้ำที่ถูกยุบลงไปรวมกับหมวดเรือตรวจฝั่งที่ตั้งขึ้นใหม่ .... สยามเป็นประเทศที่สองหลังจากญี่ปุ่นในเอเชีย และเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกนี้ที่มีเรือดำน้ำในประจำการ นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ จากวันที่อ่าวไทยเคยถูกประกาศจากข้าศึกของไทยให้เป็นเขตการปฏิบัติการของเรือดำน้ำซึ่งจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากคุณสมบัติของเรือดำน้ำที่ตรวจจับได้ยาก กองทัพเรือไทยว่างเว้นจากการมีเรือดำน้ำมาจนครบ 60 ปีในปีนี้ และความพยายามหลายครั้งของกองทัพเรือไทยในการกลับมาใช้งานเรือดำน้ำอีกครั้งในอดีตก็ล้มเหลวมาตลอด การมีเรือดำน้ำจึงกลายเป็นเหมือนคำสาปที่กองทัพเรือไทยไม่สามารถลบล้างมาได้ตลอด 60 ปี

ในความพยายามครั้งล่าสุดของกองทัพเรือไทย เพื่อขออนุมัติงบประมาณในการจัดหาเรือดำน้ำแบบ Type-206A (U-206A) จำนวน 6 ลำ จากเยอรมันภายใต้งบประมาณกว่า 7.7 พันล้านบาทนั้นดูเหมือนจะเป็นความพยายามที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุดอีกครั้งหนึ่งในรอบหลายปี คำสาปของกองทัพเรือไทยจะถูกลบล้างไปในครั้งนี้หรือไม่ อีกไม่ นานคงจะรู้คำตอบ แต่ท่ามกลางกระแสข่าวการจัดหาเรือดำน้ำในครั้งนี้ ได้เกิดคำถามมากมาย รวมถึงความเห็นที่ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

หลังจากที่กองทัพเรือได้มีคำสั่งยกฐานะสำนักงานกองเรือดำน้ำ กองเรือยุทธการ (สกด.กร.) ให้เป็นกองเรือดำน้ำ (กดน.) เป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี .... คณะทำงาน TAF ได้รับเกียรติอย่างสูงจากพลเรือตรีสุริยะ พรสุริยะ ผู้บัญชาการกองเรือดำน้ำ (ผบ.กดน.) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับคณะทำงาน TAF ทุกคำถามเกี่ยวกับการจัดหาในครั้งนี้ และนาวาเอกวิเลิศ สมาบัติ รองผู้บัญชาการกองเรือดำน้ำ (รอง ผบ.กดน.) ได้กรุณาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดทางเทคนิคต่างๆ ของเรือ ซึ่งเชื่อว่าเป็นคำตอบที่สำหรับคำถามทุกคำถามที่เราคิดออกสำหรับการจัดหาเรือดำน้ำ เชิญทุกท่านที่สนใจเรื่องนี้ติดตามได้เลยครับ

Q: อยากให้ท่านเล่าถึงรายละเอียดคร่าวๆ ของความต้องการในการจัดหาเรือดำน้ำแบบ Type-206A ในครั้งนี้

- อย่างที่ทราบกันดีว่าหลังจากกองทัพเรือปลดประจำการเรือดำน้ำไปตั้งแต่ปี พ.ศ.2494 นั้น นับเป็นเวลาเกือบ 60 ปี ที่ผ่านมา กองทัพเรือก็ได้มีความพยายามมาโดยตลอดที่จะจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการทดแทนเรือดำน้ำทั้ง 4 ลำที่ปลดประจำการไป แต่กองทัพเรือก็ประสบความล้มเหลวในการจัดหามาโดยตลอด ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศในขณะจัดหานั้นไม่ดีพอ ซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่เราเข้าใจดี แต่ในขณะที่เราไม่มีเรือดำน้ำเข้าประจำการเราก็พยายามศึกษาเทคโนโลยีให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ตรงนี้ผู้บังคับบัญชาจึงมีดำริว่า กองทัพเรือน่าจะมีหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลของเรือดำน้ำเอาไว้เป็นสัดส่วนจากแต่เดิมที่กระจัดกระจายอยู่ตามตัวบุคคลต่างๆ ในหน่วยต่างๆ ของกองทัพเรือ โดยบางส่วนนั้นเป็นกำลังพลที่ได้มีโอกาสฝึกศึกษาหลักสูตรด้านเรือดำน้ำจากต่างประเทศมาก่อน เพื่อที่ว่าต่อไปภายหน้าเมื่อเราพร้อมจะได้จัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการได้ และนั่นหมายถึงการกำหนดยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการใช้เรือดำน้ำของกองทัพเรือ การศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับเรือดำน้ำแบบต่างๆ ที่น่าสนใจในท้องตลาด แม้กระทั่งการร่างข้อกำหนดของฝ่ายเสนาธิการ (staff requirement) หรือเรียกง่ายๆ ก็คือ สเป็คของเรือดำน้ำที่กองทัพเรือต้องการด้วย กองทัพเรือจึงได้มีการจัดตั้งสำนักงานกองเรือดำน้ำ ในสังกัดกองเรือยุทธการขึ้น เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

หากไม่นับรวมถึงความพยายามจัดหาเรือดำน้ำจากสวีเดนที่ตกเป็นข่าวโ่ด่งดังในอดีต ความพยายามล่าสุดของกองทัพเรือในการจัดหาเรือดำน้ำนั้น คือ เมื่อครั้งที่รัฐบาลประกาศแผนปรับปรุงกองทัพระยะเวลารวม 9 ปีเมื่อหลายปีก่อน กองทัพเรือได้เสนอขออนุมัติงบประมาณเป็นจำนวน 4 หมื่นล้านบาท โดยเป็นงบประมาณผูกพันนานถึง 7 ปี เพื่อจัดหาเรือดำน้ำ และเนื่องจากขณะนั้นไม่มีข้อจำกัดด้านงบประมาณกองทัพเรือจึงสามารถเลือกซื้อเรือดำน้ำใหม่เอี่ยมจากอู่ต่อเรือได้ แต่ก็ได้เพียงตัวเรือไม่มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นใดอีก และมีจำนวนเรือเพียง 2 ลำเท่านั้น อย่างไรก็ดีด้วยงบประมาณที่สูง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลสมัยต่อๆ มา รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดี รัฐบาลจึงไม่พร้อมที่จะสนับสนุนงบประมาณให้ได้ เรื่องก็เลยตกไปในที่สุด

ผมทราบดีว่าที่ผ่านๆ มา มีการถกเถียงกันอย่างมากเกี่ยวกับความจำเป็นของกองทัพเรือในการที่จะมีเรือดำน้ำไว้ในประจำการ รวมถึงมีข้อกล่าวหาต่างๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติการของเรือดำน้ำเป็นจำนวนมาก เช่น อ่าวไทยตื้นเกินไปบ้าง เรือดำน้ำดำไม่ได้บ้าง เมื่อผมได้รับหน้าที่มาดูแลสำนักงานกองเรือดำน้ำเมื่อสองปีที่แล้ว สิ่งแรกที่ตั้งใจเอาไว้ก็คือ นอกจากการรวบรวมเทคโนโลยีเรือดำน้ำแล้ว ยังจะพยายามทำความเข้าใจกับสาธารณชนเกี่ยวกับเรือดำน้ำให้มากที่สุด

แต่ในตอนนั้นก็ไม่ได้คิดว่าเราจะมีโอกาสจัดหาเรือดำน้ำเร็วขนาดนี้ พอเมื่อตั้งสำนักงานไม่นานทางประเทศเยอรมันก็ติดต่อเข้ามาว่ากองทัพเรือไทยสนใจจัดหาเรือดำน้ำแบบ Type-206A ไปใช้งานหรือไม่ ... ตรงนี้ต้องบอกก่อนว่าทางกองทัพเรือเยอรมันเขาติดต่อเรามาเป็นประเทศแรก เนื่องจากเขาทราบดีกว่าเรามีโครงการจัดหาเรือดำน้ำอยู่แล้ว และเราก็มีความสัมพันธ์กับกองทัพเรือเยอรมันเป็นอย่างดีมากมาโดยตลอด เขาจึงเลือกถามเรามาก่อนประเทศอื่น กองทัพเรือจึงพิจารณาข้อเสนอของเยอรมันก็พบว่าเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจมาก จึงตอบรับข้อเสนอเพื่อมาดำเนินการขออนุมัติจัดหาต่อไป

Q: เราก็เคยได้ยินมาเช่นกันว่าอ่าวไทยตื้นเกินไป เรือดำน้ำปฏิบัติการไม่ได้ และถึงเรือดำน้ำมาวิ่งก็เอาเครื่องบินมาบินหาก็มองเห็นได้จากบนฟ้าแล้ว

- ตรงนี้เป็นคำพูดที่ได้ยินบ่อยมาก อยากจะเรียนว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพราะอย่างน้อยเราก็เคยมีเรือดำน้ำประจำการมาแล้ว 4 ลำ และในอดีตก็มีเรือดำน้ำหลายชาติเข้ามาสู้รบหรือแม้กระทั่งเข้ามาจมเรือไทยถึงในอ่าวไทย ดังนั้นเรือดำน้ำจึงจึงปฏิบัติการในอ่าวไทยได้แน่นอน โดยเฉพาะเรือแบบ Type-206A ที่ออกแบบมาสำหรับปฏิบัติการในเขตน้ำตื้นของทะเลบอลติคอยู่แล้วยิ่งเหมาะสมกับพื้นที่อ่าวไทยเป็นอย่างมาก โดยเรือแบบนี้นั้นยังสามารถดำน้ำและควบคุมเรือได้ดีแม้จะอยู่ในที่ตื้นที่ทะเลมีความลึกเพียง 20 เมตรเท่านั้น

อีกอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าเรือดำน้ำไม่ได้ดำนั้นสามารถเห็นได้จากเครื่องบินแน่นอน แต่จากการประเมินแล้วการที่จะสามารถมองเห็นเรือดำน้ำได้ด้วยสายตานั้น เรือดำน้ำต้องดำด้วยความลึกไม่เกิน 16 เมตร ดังนั้นถ้าดำลึกเกินกว่านี้ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่มีทางเห็นได้อย่างแน่นอน อีกอย่างอ่าวไทยก็มีความลึกเฉลี่ยมากกว่านั้นคือราว 40-50 เมตร และที่สำคัญก็คือการออกปฏิบัติการของเรือดำน้ำมักจะเป็นไปในเวลากลางคืน ทำให้ยังไงก็มองไม่เห็น

Q: แต่เราก็มีเรือรบหรืออากาศยานสำหรับภารกิจปราบเรือดำน้ำอยู่แล้ว ทำไมเราไม่ใช้ยุทโธปกรณ์เหล่านี้ที่มีอยู่ หรือซื้อยุทโธปกรณ์ประเภทนี้มาเพิ่มเติมเพื่อการปราบเรือดำน้ำ แทนการซื้อเรือดำน้ำ

- ความจริงการใช้อาวุธเพื่อ ทำลายเรือดำน้ำนั้นไม่ใช่สิ่งที่ยุ่งยากแต่อย่างใด แต่สิ่งที่ยากก็คือเราจะต้องตรวจหาเรือดำน้ำให้พบเสียก่อน ซึ่งนี่คืองานถึงกว่า 80% ของภารกิจปราบเรือดำน้ำเลยทีเดียว และยังเป็นงานที่ยากที่สุดเสียด้วย เนื่องจากความอยู่รอดของเรือดำน้ำ คือ ความเงียบและการซ่อนพราง เรือดำน้ำจึงต้องใช้ทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้เราตรวจจับได้ วิธีหลักๆ ที่เราใช้ตรวจจับเรือดำน้ำกันก็คือการใช้โซนาร์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ตรวจจับหรือเซ็นเซอร์ที่ใช้หลักการของคลื่นเสียง ทีนี้การเคลื่อนที่ของคลื่นเสียงจากเรือดำน้ำที่อยู่ใต้น้ำขึ้นมายังผิวน้ำเพื่อให้เซ็นเซอร์ของเรือผิวน้ำหรือของอากาศยานหรือ ที่ปล่อยจากอากาศยานตรวจพบได้นั้น มันมีปัจจัยที่จะมาบิดเบือนหรือบดบังจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิของชั้นน้ำทะเล ความเค็มของน้ำทะเล หรือเสียงรบกวนจากแหล่งต่างๆ (ambient noise) จึงทำให้มักจะมีช่องโหว่ที่เรือดำน้ำจะหลบหลีกการตรวจจับไปได้อยู่เสมอๆ

แต่ถ้าเราย้ายเซ็นเซอร์นี้ลงไปอยู่ใต้น้ำด้วยกันกับเรือดำน้ำที่เราต้องการค้นหา นั่นก็คือการมีเรือดำน้ำของเราเอง ข้อจำกัดจากปัจจัยเหล่านี้จะหายไปทันที เซ็นเซอร์ของเรือดำน้ำเองจึงสามารถดักรับคลื่นเสียงได้ไกลกว่าเรือผิวน้ำหรืออากาศยานถึง 3 เท่า ดังนั้นจากระยะตรวจจับที่สั้นกว่าเราจึงต้องใช้อากาศยานอย่างน้อย 2 เครื่อง เรือผิวน้ำอีกอย่างน้อย 2 ลำ เพื่อจะควานหาเรือดำน้ำให้พบ และด้วยพื้นที่ทะเลที่กว้า่งใหญ่ยิ่งทำให้โอกาสที่จะพบเรือดำน้ำได้ยิ่งยากขึ้นไปอีก เพราะเราไม่รู้ว่าจะไปเริ่มตรงไหน

เราอาจลองเปรียบเทียบง่ายๆ ระหว่างเรือผิวน้ำที่เป็นผู้ล่ากับเรือดำน้ำที่เป็นผู้ถูกล่า เซ็นเซอร์ของเรือดำน้ำสามารถตรวจจับเป้าผิวน้ำได้ไกลเป็นร้อยกิโลเมตร ส่วนเซ็นเซอร์ของเรือผิวน้ำมีระยะตรวจจับเป้าใต้น้ำได้ไม่กี่สิบกิโลเมตร ทำให้ยังไงเรือดำน้ำก็หาเรือผิวน้ำเจอก่อน อีกทั้งอาวุธของเรือดำน้ำก็ยิงได้ไกลกว่าอาวุธของเรือผิวน้ำมาก เช่น ในปัจจุบันเรามีอาวุธปราบเรือดำน้ำที่ยิงได้ไกลที่สุด คือ จรวดปราบเรือดำน้ำแบบแอสร็อค (ASROC) บนเรือฟริเกตชุด ร.ล.พุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ซึ่งมีระยะยิงไกล 22 กิโลเมตร หรืออาวุธปราบเรือดำน้ำมาตรฐานของเรือผิวน้ำ คือ ตอร์ปิโดแบบมาร์ค.46 (Mk.46) ระยะยิงไกล 11 กิโลเมตร แต่ตอร์ปิโดของเรือดำน้ำนั้น อย่างเช่น ตอร์ปิโดแบบแบล็คชาร์ค (Black Shark) ของเรือดำน้ำแบบสคอร์ปีเน่ ยิงได้ไกลถึง 50 กิโลเมตร ทำให้สุดท้ายแล้วเรือผิวน้ำอาจกลายเป็นผู้ถูกล่าเสียเอง ดังเช่นกรณีของเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำของเกาหลีใต้ที่แม้จะทันสมัยมากแต่กลับถูกเรือดำน้ำรุ่นที่โบราณมากๆ ของเกาหลีเหนือยิงจมด้วยตอร์ปิโดที่ไม่ได้ทันสมัยอะไรเลย โดยไม่ได้มีโอกาสตอบโต้แม้แต่น้อย

ดังนั้นสุดท้ายแล้วมันจึงกลายเป็นที่มาของวลีีที่ว่าอาวุธปราบเรือดำน้ำที่ดีที่สุดก็คือเรือดำน้ำด้วยกันเอง เช่นเดียวกันกับกรณีของเครื่องบินขับไล่หรือรถถังของเหล่าทัพอื่นนั่นเอง

Q: อยากย้อนกลับมาถามถึง package ที่เราจะได้ว่ามีอะไรบ้าง

- ตรงนี้ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็เหมือนกับเราได้มาทั้งกองเรือดำน้ำเลย เพราะทางกองทัพเยอรมันเขามีการปรับลดงบประมาณ ทำให้กองทัพเรือเยอรมันจึงต้องปลดประจำการเรือดำน้ำแบบ Type-206A ที่มีอยู่ทั้งหมดก่อนครบกำหนด เพื่อให้เหลือแต่เพียงเรือแบบ Type-212 ที่ใหม่กว่าเพียงแบบเดียวเท่านั้น ดังนั้นทุกๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับเรือแบบ Type-206A ที่เคยเป็นของกองทัพเรือเยอรมันมาก่อน เขาจึงยกให้เราทั้งหมดเพราะไม่มีความจำเป็นจะต้องเก็บไว้อีกต่อไป เพราะฉะนั้นใน package นี้เราจึงได้ทุกอย่างมาอย่างครบเครื่องที่สุด โดยในส่วนของอาวุธเราจะได้ตอร์ปิโดแบบ DM-2A3 ส่วนทุ่นระเบิดนั้นตรงนี้ยังต้องดูก่อนว่าทางเยอรมันจะให้ smart mine (ทุ่นระเบิดฉลาด) เรามาด้วยหรือไม่ เพราะเป็นอาวุธที่มีเทคโนโลยีสูง การขายจะต้องมีการขออนุญาติก่อน แต่ถึงอย่างไรเราก็ได้กล่องบรรจุทุ่นระเบิดมัดกับลำตัวเรือภายนอก (mine belt) มาด้วยแน่นอน ตรงนี้ถ้าเราไม่ได้ smart mine มาเราก็ยังสามารถใช้ทุ่นระเบิดที่เรามีอยู่ได้ นอกจากนี้เรายังได้อะไหล่สำรองคลังมาทั้งหมด อุปกรณ์ ซ่อมบำรุงตั้งแต่ระดับเรือไปจนถึงระดับโรงงาน อุปกรณ์ทดสอบการทำงานของระบบต่างๆ รวมไปถึงอุปกรณ์ฝึกทั้งในส่วนของกำลังพลประจำเรือและช่างซ่อมบำรุงอีกด้วย แม้แต่ escape suite (ชุดที่ใส่สำหรับลูกเรือเพื่อหนีออกจากเรือดำน้ำเวลาเรือจม) เขาก็ยังให้มา

สำหรับอุปกรณ์ที่มากับตัวเรือนั้นทางเยอรมันมีอย่างไร เรา้จะได้มาอย่างนั้นทั้งหมด ไม่มีการถอดอุปกรณ์อะไรใดๆ ออกทั้งสิ้น เรียกได้ว่าเป็นมาตรฐานกองทัพเรือเยอรมันจริงๆ ยกเว้นแต่เพียงอุปกรณ์เข้ารหัสสัญญาณสื่อสารของเขาเท่านั้นที่จะถอดออก เพราะถือว่าเป็นความลับของแต่ ละประเทศ ซึ่งตรงนี้เราก็จะใส่ของของเราเองเข้าไปแทน เรือของเขาก็มีการปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา ตัวเรือแม้จะมีอายุมานานถึง 30 ปี แต่ระบบในตัวเรือนั้นใหม่และทันสมัยมาก หลายๆ อย่างทันสมัยไม่ได้ด้อยไปกว่าเรือดำน้ำที่มีอายุน้อยกว่าเสียอีก เช่น ระบบอำนวยการรบของเรือเป็นแบบ ISUS-83 (Integrated Sensor Underwater System) ของ Atlas มีคอนโซลที่ติดตั้งจอภาพสี ซึ่งเป็นระบบแบบรวมการที่จะรวบรวมข้อมูลจากระบบต่างๆ ทั้งเซ็นเซอร์ อาวุธ ฯลฯ ทั้งหมดในเรือเข้าไว้ด้วยกัน เป็นต้น

ในส่วนของอุปกรณ์ฝึกที่สำคัญที่เราจะได้มา ก็คือ เครื่องฝึกจำลอง หรือ simulator ซึ่งจะจำลองห้องควบคุมภายในเรือจริงๆ มาทั้งหมด เหมือนยกห้องจากภายในเรือมาไว้บนบก เราสามารถใช้ฝึกการดำ ฝึกการใช้อาวุธ ฝึกการซ่อมบำรุง ฝึกการควบคุมความเสียหาย (damage control) ได้เหมือนจริงทุกประการ นอกจากนี้ทางเยอรมันเขาจะฝึกกำลังพลให้เราด้วย โดยเฉพาะกำลังพลชุดรับเรือที่จะได้รับการฝึกไม่เพียงแต่เฉพาะเรื่องการปฏิบัติงานกับเรือเท่านั้นยังรวมไปถึงยุทธวิธีและแทคติคต่างๆ ในการรบที่เป็นเคล็ดลับเฉพาะของทางเยอรมันที่สั่งสมประสบการณ์มาเป็นสิบๆ ปีอีกด้วย ซึ่งในอนาคตกองทัพเรือจะสามารถเปิดหลักสูตรการฝึกกำลังพลเรือดำน้ำของตัวเองได้ในที่สุด

ตรงนี้ยืนยันว่าได้ว่าทุกอย่างเราจะได้รับมานั้นครบเหมือนยกกองเรือดำน้ำ 1 กองเรือของเยอรมันมาไว้ที่ประเทศไทยทั้งหมดเลยจริงๆ เราเพียงแต่เตรียมพื้นที่ เตรียมสร้างอาคาร โรงเก็บ คลัง เอาไว้รอเท่านั้น ดังนั้นการจัดซื้อในครั้งนี้จึงถือว่าไม่ได้เป็นเพียงการซื้อเรือดำน้ำเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเรียกว่าเป็นการซื้อกองเรือดำน้ำทั้งกองเรือจึงจะถูกต้องอย่างที่สุด

Q: การที่กองทัพเรือเลือกซื้อเรือดำน้ำมือ 2 นั้น ในอนาคตจะมีปัญหาอะไรหรือไม่ และเรือชุดนี้จะใช้ได้นานเท่าไหร่

- ต้องขออธิบายก่อนถึงเรื่องอายุการใช้งานของเรือแบบ Type-206A นี้ เนื่องจากเรือแบบนี้กองทัพเรือเยอรมัน ตั้งใจจะใช้งานในเขตน้ำตื้นที่มีความเสี่ยงต่อทุ่นระเบิดโดยเฉพาะประเภทที่ทำงานโดยอาศัยการเหนี่ยวนำด้วยอำนาจแม่เหล็กจากตัวเรือ ดังนั้นโครงสร้างของตัวเรือชุดนี้จึงสร้างขึ้นจากเหล็กแบบ non-magnetic ที่ไม่มีคุณสมบัติความเป็นแม่เหล็ก ซึ่งข้อดีของเหล็กแบบนี้ที่เหนือกว่าเหล็กแบบอื่นๆ ที่ใช้ในการสร้างตัวเรือดำน้ำทั่วไป เช่น เหล็ก high yield (HY-80 หรือ HY-100) คือ จะไม่เป็นสนิมและไม่เกิดการกัดกร่อนใดๆ ทำให้โครงสร้างของเรือแบบ Type-206A นี้ มีอายุการใช้งานไม่จำกัด (unlimited service life) หรือพูดง่ายๆ คือ ไม่มีอายุการใช้งานนั่นเอง ต่างจากเรือดำน้ำอื่น เช่น แบบ Scorpene ที่กองทัพเรือมาเลเซียซื้อไปนั้น ตัวเรือที่เป็นเหล็กมีอายุการใช้งานแค่ 35 ปีเท่านั้น เกินกว่านี้ก็จะใช้ไม่ได้อีกแล้ว เหล็กแบบนี้นั้นแข็งแรงมากและไม่ต้องการการดูแลรักษา ถ้าไม่ไปตัดไม่ไปเจาะมัน ก็ไม่ต้องทำอะไรกับมันเลย เราก็ใช้เรือต่อ ไปได้เรื่อยๆ แต่ปัจจัยที่จะมาจำกัดอายุการใช้งานของเรือ คือ อายุของแบตเตอรี่ ที่มีอายุอยู่ที่ 10 ปี และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีอายุประมาณ 15 ปี ดังนั้นเรือชุดนี้ทางกองทัพเรือจึงกำหนดอายุการใช้งานเอาไว้ 10-15 ปี ส่วนเรื่องอะไหล่นั้นมั่นใจได้ว่าไม่มีปัญหาแน่นอน เพราะดังที่กล่าวไปแล้วในว่าเยอรมันให้อะไหล่สำรองเรามาทั้งหมดจึงไม่ต้องกังวลว่าอะไหล่จะขาดหรือไม่มีใช้งาน

สำหรับในอนาคตหลังจากเรือชุดนี้ครบกำหนดปลดระวางประจำการ เมื่อถึงตอนนั้นกองทัพเรือคงต้องมองว่าสภาพเศรษฐกิจของประเทศหรือนโยบายของรัฐบาลเป็นอย่างไร ถ้าไม่มีปัญหาใดๆ กองทัพเรือคาดหวังว่าจะได้รับอนุมัติงบประมาณให้ดำเนินการจัดซื้อเรือแบบใหม่มาทดแทน ซึ่งอาจจะเป็นเรือใหม่เอี่ยมมือ 1 เลย หรือถ้างบประมาณจำกัดก็อาจจะเป็นเรือมือ 2 ที่เหลืออายุการใช้งานมากกว่านี้ ส่วนจะเป็นเรือแบบใดนั้นเมื่อถึงเวลานั้นก็จะต้องไปพิจารณากันอีกครั้งว่าในตลาดเรือดำน้ำมีเรือแบบใดบ้าง โดยโอกาสยังคงเปิดกว้างสำหรับเรือจากผู้ผลิตทุกประเทศไม่จำเป็นต้องเป็นมาตรฐานนาโต้หรือยุโรป แม้กระทั่งจากรัสเซียก็ยังเป็นไปได้ ซึ่งเรามองไปที่เรือที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้กำลังพลมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นไปอีก ไม่ต้องอยู่แบบคับแคบมากนัก แต่ถ้าเกิดว่าเราเกิดโชคร้ายไม่ได้งบประมาณในการจัดหาเรือใหม่จริงๆ เราก็แค่เพียงเปลี่ยนแบตเตอรี่เท่านั้นและอัพเกรดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เรือก็จะใช้งานได้ต่อไปอย่างไม่มีปัญหา

ความจริงการจัดซื้อเรือดำน้ำมือ 2 นั้น ไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องที่เสียหายอะไร ถ้ามองดีๆ แล้วถือว่าคุ้มค่าเสียด้วยซ้ำ สำหรับกองทัพเรือของเราที่ห่างหายจากการใช้เรือดำน้ำไปถึง 60 ปี เนื่องจากเราต้องเริ่มต้นจากศูนย์ เหมือนเราไม่รู้อะไรเลย ดังนั้นถ้าเราซื้อเรือใหม่ราคาเป็นหมื่นล้าน แต่เราต้องเอามาใช้เพื่อฝึกความคุ้นเคย สร้างประสบการณ์ สร้างองค์ความรู้และยุทธวิธี โดยไม่ได้เอาไปใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพตั้งแต่แรกที่ซื้อมา มันก็เหมือนเราเสียเงินไปเปล่าๆ กองทัพเรืออื่นๆ ก็ใช้หลักการนี้เหมือนกัน อย่างเช่นกองทัพเรือสิงคโปร์ ที่ตอนนี้ถือว่านำหน้าเราเรื่องเรือดำน้ำไปไกลถึง 15 ปีแล้ว เขาก็เริ่มจากเรือดำน้ำมือ 2 ที่เก่ากว่าของเราอีกเสียด้วยซ้ำ และแม้ว่าเรือชุดแรกของเขาจะปลดประจำการไป เรือชุดที่สองก็ยังคงเป็นเรือมือ 2 อยู่ เพียงแต่เหลืออายุการใช้งานมากกว่าชุดแรก อีกอย่างนึง คือ เรือแบบ Type-206A ที่เราได้มานี้ก็มีราคาที่ถือว่าถูกมาก จึงนับว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าอย่างที่สุด

Q: กองทัพเรือยังยืนยันใช่หรือไม่ว่ากองทัพเรือยังเลือก Type-206A เหมือนเดิม แม้ว่าจะมีกระแสข่าวว่ากลาโหมอยากให้ไปเลือก Type-209 ของเกาหลีแทน

- เรายืนยันแน่นอนเนื่องจากข้อเสนอของเยอรมันในการขาย Type-206A จะมีความคุ้มค่ามากกว่า เพราะถึงไปซื้อ Type-209 ของเกาหลีใต้ก็ต้องหางบประมาณมาซื้ออย่างอื่นอีก คือ จะมาแต่ตัวเรืออย่างเดียว ไม่ได้มาทั้งหมดเหมือนของเยอรมัน เนื่องจากเกาหลีไม่ยอมให้อะไรมาด้วยเลยแม้กระทั่งอาวุธ ส่วนเรื่องอาคารสถานที่ ท่าจอด โรงเก็บ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ก็ต้องหางบประมาณเพิ่มเติมอีกแยกอีกต่างหากเพื่อจัดซื้อใหม่ด้วย อีกอย่างอุปกรณ์บนเรือของเกาหลีใต้นั้นแม้จะเป็นของเยอรมันแต่ก็จะเป็นรุ่นส่งออก ซึ่งแน่นอนว่าย่อมจะมีประสิทธิภาพไม่เท่ากับของที่กองทัพเรือเยอรมันแท้ๆ ใช้งานอยู่อย่างแน่นอน และยิ่งเป็นงบประมาณที่สูงจนเกินไปคือเกือบ 5 หมื่นล้าน ต้องตั้งงบประมาณผูกผันระยะยาว แต่ในกรณีการจัดหาเรือ Type-206A นั้นเราไม่ได้ของบประมาณเพิ่มเลย เพราะเราใช้งบประมาณที่กองทัพเรือได้รับอยู่แล้วเท่านั้น เป็นงบประมาณผูกพัน 4 ปี โดยจะไม่ต้องไปใช้งบประมาณกลางเพิ่มเติมอีกแน่นอน

อีกทั้งการจัดซื้อยังเป็นการจัดซื้อแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (G2G) ทำให้มีความโปร่งใส ซึ่งเรื่องความโปร่งใสนี่ผมยืนยันได้เลย เพราะทางเยอรมันเขาไม่ยอมให้มีการให้ค่าคอมมิชชั่นแน่นอนเนื่องจากประเทศเขาโปร่งใสและมีกฏหมายห้ามอยู่ ยืนยันว่าข้อเสนอของเยอรมันนั้นคุ้มค่ามากๆ และถือว่าถูกมากๆ เพราะได้ทุกอย่างจริงๆ คล้ายๆ เขาขายให้ทั้งกองเรือเลย

Q: ตรงนี้อยากจะทราบรายละเอียดว่าเงิน 7.7 พันล้านบาทนั้นเป็นค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

- ต้องบอกก่อนว่าเรือดำน้ำที่เราจะได้มานั้น เราจะใช้งานจริง 4 ลำ ส่วนอีก 2 ลำนั้นเราจะใช้เป็นเรือสำรองสำหรับฝึกในท่า (static training) และใช้เป็นอะไหล่ (สามารถถอดไปใส่เรือที่อีก 4 ลำที่เหลือได้ทันทีที่ต้องการ) เนื่องจากเรือ 2 ลำหลังนี้เยอรมันได้ปลดประจำการไปแล้ว แต่ยังเก็บสำรองเอาไว้ ทำให้อุปกรณ์ภายในหลายอย่างหมดอายุการใช้งานและไม่ได้มีการเปลี่ยนใหม่ ในขณะที่ 4 ลำแรกนั้นเป็นเรือพร้อมใช้ของกองทัพเรือเยอรมันเลย ราคาตัวเรือนั้นเราพูดได้ว่าเรือ 4 ลำที่พร้อมใช้งานนั้นราคาเพียงลำละ 200 ล้านบาท ส่วนเรืออีก 2 ลำที่ไม่พร้อมใช้งานนั้นราคาเพียง 50 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งถือว่าถูกมากๆ

ทีนี้ความจริงแล้วงบทั้ง 7 พันกว่าล้านนั้นไม่ใช่การจัดหาเรืออย่างเดียว ยังมีการปรับปรุงเรืออีกด้วย เพราะทางเยอรมันจะทำการซ่อมใหญ่ (overhaul) ทุกๆ ระบบของเรือพร้อมใช้ 4 ลำให้เราทั้งหมด เหมือนเอารถเข้าอู่ยกเครื่องเซ็ทไมล์เป็น 0 นั่นเอง ซึ่งหลังจากทำแล้วออกมาเรือก็แทบจะเหมือนเรือใหม่จริงๆ ยกเว้นแค่โครงสร้างเหล็กของเรือเท่านั้นที่เป็นของเดิม อุปกรณ์ทุกชิ้นที่มีในเรือจะถูกถอดออกมาตรวจเช็คสภาพ และเปลี่ยนให้ใหม่ รวมทั้งจะมีงบส่วนหนึ่งที่ต้องใช้เพื่อปรับให้เรือชุดนี้สามารถปฏิบัติการในเขตร้อนได้ด้วย นั่นคือ การติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ซึ่งภายในตัวเรือมีพื้นที่รองรับและมีพลังงานไฟฟ้าเพียงพอให้ติดตั้งได้อย่างไม่มีปัญหาใดๆ

นอกจากนี้งบส่วนใหญ่นั้นจะใช้ไปในการสร้างอาคารสถานที่ สร้างสิ่งอำนวยความสะดวก และที่สำคัญคือใช้ในการฝึกกำลังพลด้วยซึ่งสำคัญมากๆ ตรงนี้อยากจะให้คิดว่างบประมาณ 7.7 พันล้านบาทนี้ ไม่ใช่งบซื้อเรือดำน้ำ แต่ถือว่าเป็นงบการจัดตั้งกองเรือดำน้ำที่มีทุกอย่างเพียบพร้อมอยู่ในตัวเลยทีเดียว

Q: พูดถึงตัวเรือแล้วนั้นมีความทันสมัยมากน้อยเพียงใด จะยังรองรับภัยคุกคามในปัจจุบันได้หรือไม่

- อย่างที่บอกไปว่าเยอรมันปรับปรุงเรือดำน้ำของเขาอยู่ตลอดเวลาเพราะเขาจะต้องปฏิบัติการร่วมกับนาโต้ และอุปกรณ์ที่ใช้นั้นมีความทันสมัยมาก หลายๆ อย่างทันสมัยกว่าเรือดำน้ำที่ใหม่กว่าเสียอีก เพราะมันเก่าแต่ตัวถัง แต่ข้างในใหม่หมด เครื่องยนต์ก็เป็นเครื่องยนต์ MTU มอเตอร์ไฟฟ้าก็ใช้ของ Siemens ซึ่งทหารเรือไทยมีความคุ้นเคยเป็นอย่างดี และก็แทบจะไม่แตกต่างจากที่ใช้ในเรือผิวน้ำเลย ดังนั้นเราสามารถซ่อมทำได้เองทั้งหมด

ในเรื่องของระบบอาวุธ เนื่องจากเรือมีขนาดเล็กจึงไม่มีห้องตอร์ปิโดที่ส่วนหัวเรือ อาวุธที่บรรทุกไปได้ทั้งหมดจะบรรจุอยู่ในท่อยิงตอร์ปิโดจำนวน 8 ท่อที่หัวเรือ หรือหมายถึงจำนวนตอร์ปิโดพร้อมใช้สูงสุด 8 ลูก ในการบรรจุอาวุธใหม่จะต้องทำให้ตัวเรือเอียงขึ้นโดยเอาท้ายเรือจมลง แล้วโหลดอาวุธเข้าทางฝาปิดท่อตอร์ปิโดที่ตัวเรือจากภายนอก ต่างจากเรือขนาดใหญ่ที่จะใช้การโหลดอาวุธเข้าทางช่องบนลำตัวเรือ นอกจากนี้เรือยังมีท่อยิงเป้าลวง ซึ่งยิงได้ทั้งชนิดเป้าลวงแบบสร้างเสียง (noise maker) และแบบสร้างฟองอากาศ (bubble generator) เพื่อใช้ป้องกันตัวเอง

ระบบตรวจจับที่สำคัญที่สุดของเรือชุดนี้ก็คือ โซนาร์ ซึ่งทางเยอรมันให้เรามาครบทั้งหมดและมีความทันสมัยมาก ทั้งระบบโซนาร์ DBQS-21 ความถี่ปานกลาง ที่มี spherical array ภาคส่งและภาครับ ติดตั้งที่ภายในส่วนหัวเรือ และ flank array ภาครับ ที่ติดตั้งขนานแนบยาวไปตามลำตัวเรือด้านข้าง เพื่อใช้เป็นเซ็นเซอร์หลักในการค้นหาเป้าหมายเรือดำน้ำและเรือผิวน้ำ ซึ่งแม้ว่าตัว flank array จะสั้นเนื่องจากเรือมีขนาดเล็กทำให้การหาพิกัดเป้่าหมายอาจจะยากกว่าเรือดำน้ำที่มีขนาดใหญ่กว่านี้ แต่ก็นับว่ามีประสิทธิภาพสูงเมื่อเทียบกับเรือที่เล็กขนาดนี้ รวมไปถึงระบบตรวจจับสัญญาณโซนาร์ภาครับ ที่ติดตั้งไว้เหนือลำตัวเรือส่วนหัว เพื่อวัดระยะและหาทิศทางแหล่งที่มาของสัญญาณโซนาร์ที่ส่งมาจากเรือดำน้ำ เรือผิวน้ำ หรืออากาศยาน รวมไปถึงจากหัวนำวิถีของตอร์ปิโด นอกจากนี้เรือยังมีโซนาร์ตรวจการณ์ทุ่นระเบิด ความถี่สูง ที่ติดตั้งไว้บริเวณรอยต่อระหว่างลำตัวเรือส่วนบนกับหอบังคับการ (sail) เพื่อตรวจการณ์ในพื้นที่น้ำตื้นโดยเฉพาะ

ระบบสื่อสารก็เป็นระบบสื่อสารมาตรฐานนาโต้ครบชุด มีทั้งวิทยุตั้งแต่ย่านความถี่ VLF, HF, VHF, UHF และวิทยุสื่อสารผ่านดาวเทียม (SATCOM) โดยวิทยุที่แตกต่างจากเรือผิวน้ำมาก คือ เครื่องรับวิทยุความถี่ VLF ซึ่งเป็นย่านความถี่ต่ำมาก และสามารถแทรกผ่านผิวน้ำลงไปสู่เรือขณะดำอยู่ได้ แต่ตรงนี้ทางกองทัพเรือคงไม่ได้ใช้งานเพราะเราไม่มีเครื่องส่ง ซึ่งในปัจจุบันประเทศที่มีเครื่องส่งมีไม่กี่ประเทศเท่านั้น โอกาสที่จะใช้ได้ใช้งานคงจะต้องปฏิบัติการร่วมกับประเทศพันธมิตร ดังนั้นช่องการติดต่อสื่อสารหลักจะเป็นเครื่องรับวิทยุความถี่ HF เพื่อรับข้อมูลบางอย่างจากฝั่ง โดยกองทัพเรือมีเครื่องส่งวิทยุแบบ HF ใช้งานเป็นหลักอยู่แล้ว อย่างไรก็ดียุทธวิธีการใช้เรือดำน้ำ เรือจะได้รับคำสั่งยุทธการตั้งแต่ก่อนออกจากท่า และจะไม่พยายามสื่อสารกับภายนอกอีก โดยเฉพาะการแพร่คลื่นวิทยุ เพื่อคงความได้เปรียบในการซ่อนพรางตัวเองเอาไว้ให้มากที่สุด ถ้าจะต้องรับข้อมูลเพิ่มเติม เราจะใช้วิธีการดักรับสัญญาณสื่อสารย่านความถี่ HF จากฝั่ง โดยมีการนัดแนะเวลาเอาไว้ล่วงหน้าเพื่อให้เรือขึ้นสู่ความลึกเพอริสโคปและรับสัญญาณ ถ้าเป็นการปฏิบัติการใกล้ชายฝั่งก็สามารถสื่อสารด้วยวิทยุความถี่ VHF ได้ ส่วนระบบ SATCOM นั้น เราต้องเช่าช่องสัญญาณของดาวเทียมเอาไว้จึงจะใช้ได้ เพราะกองทัพเราไม่มีดาวเทียมสื่อสารของตัวเอง

ตัวเรือติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการแพร่คลื่นเสียงที่ทันสมัยในระดับเดียวกับเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศมหาอำนาจต่างๆ เช่น เครื่องยนต์ทั้งหมดจะติดตั้งเอาไว้บนแท่นยางถึง 2 ชั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ความสั่นสะเทือนส่งไปถึงลำตัวเรือและหลุดลอดออกไปภายนอกได้ ลำตัวเรือภายนอกก็จะมีการเคลือบเอาไว้ด้วยวัสดุพิเศษที่จะดูดซับเสียง เป็นต้น

Q: กองเรือดำน้ำมองเรื่องกำลังพลที่จะไปทำงานบนเรือไว้บ้างหรือยัง แตกต่างอย่างไรจากกำลังพลปกติ

- ตรงนี้เรามีการเตรียมการไว้อยู่แล้ว ถ้ามีการลงนามในสัญญาเมื่อไหร่ก็สามารถเริ่มคัดเลือกกำลังผลและฝึกกำลังพลได้เลย ทางเยอรมันบอกว่าลงนามในสัญญาเมื่อไหร่จะเปิดให้เรียนทุกหลักสูตร ซึ่งตรงนี้ทางเยอรมันก็รอทางเราอยู่เช่นกัน เพราะนอกจากเราแล้วยังมีคนต่อคิวรอซื้ออยู่มากเนื่องจากข้อเสนอนั้นคุ้มค่า ถ้าเราไม่เอาคนอื่นก็เอาอยู่ดี แต่ทางเยอรมันเลือกที่จะเสนอให้เราก่อนเพราะทั้งสองกองทัพมีความสัมพันธ์ที่ดีมากต่อกัน

เรื่องการฝึกกำลังพลนี้เป็นงานที่หนัก เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำนั้น เราจะต้องมีกำลังพลอย่างน้อย 6 ชุด เพื่อให้สลับหมุนเวียนกันไป เพราะชีวิตความเป็นอยู่ในเรือดำน้ำนั้นมีลักษณะพิเศษไม่เหมือนเรือผิวน้ำปกติ จึงต้องใช้คนที่พิเศษเท่านั้น ต้องเป็นคนที่ tough มากๆ เช่น ต้องอยู่ในที่แคบๆ นานหลายสัปดาห์ โดยไม่เห็นแสงเดือนแสงตะวัน ถ้าคนที่มีจิตใจไม่เข้มแข็งพอนั้นอาจจะถึงขั้นเสียสติได้ ดังนั้นจะต้องมีการทดสอบด้านจิตวิทยาด้วย ความเป็นอยู่ทั่วไปก็จัดได้ว่าลำบากกว่าบนเรือผิวน้ำมาก บนเรือผิวน้ำนั้นอยู่สบาย มีเตียงนอนส่วนตัว แต่ในเรือดำน้ำอย่างเรือแบบ Type-206A นั้น คนที่มีห้องส่วนตัวมีเพียงแค่นายทหารสัญญาบัตร 5 คนเท่านั้น แต่ห้องก็คับแคบมากๆ นายทหารประทวนอีก 18 นายจะใช้วิธีผลัดกันนอน โดยใช้เตียงนอนร่วมกัน (hot racking หรือ hot bunking) คือ เมื่อคนนึงไปเข้าเวร อีกคนก็จะกลับมานอน การเข้าเวรก็จะต้องเข้าเวรกะละ 12 ชั่วโมงตลอด 3 สัปดาห์ที่อยู่ในทะเล ซึ่งเวรแบบ 2 กะนี้ถือว่าเป็นอะไรที่หนักมาก รวมทั้งเมื่ออยู่ในเรือกำลังพลจะไม่สามารถอาบน้ำได้เลย ทำได้เพียงล้างหน้าแปรงฟันเท่านั้น เพราะเรือไม่มีเครื่องผลิตน้ำจืด มีแต่ถังเก็บที่มีขนาดไม่ใหญ่มากเท่านั้น การติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกไม่สามารถจะทำได้ ไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ไม่มีเคเบิ้ลทีวีให้ดู เป็นการกดดันกำลังพลแบบสุดสุดทีเดียว

กำลังพลที่ทำงานในตำแหน่งต่างๆ ภายในเรือก็ต้องมีความรู้มาก บางอย่างต้องทำแทนกันได้ ผมเคยไปฟังผู้บัญชาการเรือดำน้ำของสหรัฐบรรยายว่าลูกเรือดำน้ำทำงานกันเหมือนเป็นทีมนักกีฬา (sport team) เพราะทุกตำแหน่งต้องประสานงานกัน สอดประสานกันอย่างลงตัว จะแยกกันทำงานไม่ได้เลย และความผิดพลาดนั้นจะต้องเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด เพราะเรื่องเล็กๆ เพียงแค่คนคนหนึ่งเปิดวาวล์ผิดก็อาจจะทำให้เรือจมได้แล้ว คนอื่นๆ ก็พลอยต้องได้รับอันตรายไปด้วย

ดังนั้นตรงนี้เราก็คงจะต้องตอบแทนลูกเรือให้ดีสมกับความยากของงาน อย่างน้อยก็ควรจะต้องมีค่าเสี่ยงภัยให้เหมือนกับนักบิน ความจริงนักบินยังเสี่ยงแค่ไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น แต่ในเรือดำน้ำเราเสี่ยงกันทีหลายสัปดาห์ เราต้องคัดคนที่พิเศษจริงๆ เท่านั้น แม้งานจะยาก แต่ถ้าฝรั่งทำได้ เราก็มั่นใจว่าต้องทำได้

นอกจากนั้นเราก็ต้องสร้างที่พักอาศัยให้กับลูกเรือที่กองเรือดำน้ำด้วย ซึ่งจะต้องอยู่ในบริเวณเดียวกับท่าเทียบเรือ เพราะในเรือดำน้ำนั้นมีพื้นที่คับแคบ ที่นอนไม่เพียงพอ แม้ว่าเรือจะเทียบท่าอยู่ กำลังพลก็ไม่สามารถพักอาศัยอยู่บนเรือได้ ต้องขึ้นมานอนบนฝั่ง แต่ก็ต้องอยู่ใกล้เรือพอจะเข้าไปปฏิบัติงานต่างๆ ได้ตามปกติ และอีกอย่างเราก็ต้องการให้กำลังพลได้มีโอกาสพักผ่อนสบายๆ บ้าง

Q: อยากจะย้อนกลับมาถามว่าแปลว่าตรงนี้กองทัพเรือจะใช้เรือดำน้ำแค่ 4 ลำใช่ไหม และจะใช้งานอย่างไร

- ตามยุทธศาสตร์ที่กองทัพเรือกำหนดเอาไว้แล้ว เรามีความต้องการเรือดำน้ำ 4 ลำ เพื่อทำให้แน่ใจว่าจะมีเรือดำน้ำอยู่ในพื้นที่ปฏิบัติการได้ตลอดเวลา จึงสามารถปฏิบัติภารกิจได้ตลอดโดยไม่มีการขาดช่วง ฝ่ายตรงข้ามจึงต้องคอยพะวงอยู่ตลอด โดยตามหลักแล้วการใช้เรือ 4 ลำจะเป็นอย่างนี้ คือ เรือ 1 ลำจะอยู่ในพื้นที่ปฏิบัติการ อีก 2 ลำจะอยู่ระหว่างเดินทางไปและกลับจากพื้นที่ปฏิบัติการ ส่วนอีก 1 ลำจะเข้ารับการซ่อมบำรุงและการสนับสนุนในท่า ดังนั้น 4 ลำจึงเพียงพอ ถ้ามี 3 ลำก็อาจจะตึงหน่อย คือ จะมีบางเวลาที่เราไม่มีเรืออยู่ในพื้นที่ ส่วนถ้ามี 2 ลำนั้นก็พอทำงานได้แต่จะมีความเสี่ยงพอสมควร แต่ถ้ามีเพียงลำเดียวก็ทำอะไรไม่ได้เลยนอกจากฝึก

ดังนั้นเรือที่เราได้มา 6 ลำ เราจึงใช้งานจริงเพียง 4 ลำ ส่วนอีก 2 ลำจะใช้เพื่อการฝึกกำลังพลในท่าทั้งการฝึกขั้นตอนการปฏิบัติต่างๆ ที่สำคัญๆ เช่น การดำเรือ หรือแม้กระทั่งใช้ฝึกการซ่อมบำรุงก็ยังได้ และใช้เป็นอะไหล่อย่างที่กล่าวไปแล้ว

ความจริงเรือชุดนี้สามารถปฏิบัติงานได้นานถึง 30 วัน ก่อนที่จะต้องรับการส่งกำลังบำรุงเพิ่มเติม แต่ในวงรอบปฏิบัติการปกติ เพื่อไม่ให้กำลังพลประจำเรืออ่อนล้าจนเกินไป เราจะใช้งานเรือเพียง 3 สัปดาห์เท่านั้น คือ เดินทางไปและกลับพื้นที่ปฏิบัติการ 2 สัปดาห์ และปฏิบัติงานในพื้นที่อีก 1 สัปดาห์ นอกจากนี้หากต้องการเพิ่มระยะเวลาปฏิบัติการให้นานขึ้น เราสามารถส่งเรือผิวน้ำไปส่งกำลังบำรุงเพิ่มเติมรวมทั้งซ่อมบำรุงเรือกลางทะเลได้ นี่อาจจะรวมไปถึงการสับเปลี่ยนกำลังพลกลางทะเล หรือที่เรียกว่าการใช้ระบบ sea swap ได้ด้วย เนื่องจากในอนาคตเราจะมีจำนวนชุดของกำลังพลมากกว่าจำนวนเรืออยู่แล้ว (6 ชุดต่อเรือ 4 ลำ)

เราสามารถนำเรือชุดนี้ไปปฏิบัติการในพื้นที่ฝั่งอันดามันในส่วนของทัพเรือภาคที่ 3 ได้ด้วยเช่นกัน ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยของทัพเรือภาคที่ 1 และ 2 เท่านั้น โดยเรือชุดนี้มีรัศมีทำการไกลสุดถึง 4,500 ไมล์ทะเล ดังนั้นการ deploy เรือไปยังฝั่งอันดามันจึงไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความจำเป็นและแผนการใช้เรือนั่นเอง อีกทั้งในฝั่งอันดามันทะเลมีความลึกมากกว่าด้วยแล้ว การใช้เรือดำน้ำก็จะยิ่งสะดวกง่ายดายมากขึ้นไปอีก แต่การ deploy เรือไปหากใช้เส้นทางผ่านช่องแคบมะละกา เราจะต้องเอาเรือขึ้นสู่ผิวน้ำและวิ่งผ่านไป ก็จะทำให้ฝ่ายตรงข้ามตรวจพบได้ อย่างไรก็ดีถ้าเราต้องการปิดลับเราก็สามารถใช้ช่องทางอื่นได้ที่แม้ว่าจะต้องอ้อมไปไกลกว่า แต่สามารถดำเรือไปได้ตลอดก็ทำได้เช่นกัน

Q: ชื่อเรือจะมีการตั้งอย่างไร

- สำหรับเรือ 4 ลำที่ใช้งานจริง ก็คงจะใช้ชื่อเดิมเรียงกันไปเหมือนเดิม ส่วนอีกสองลำนั้น เราถือว่าเป็นเรือนอกประจำการ ดังนั้นก็จะไม่มีการกำหนดหมายเลขหรือการตั้งชื่อเรือให้แต่อย่างใด

Q: ฐานทัพเรือดำน้ำจะต้องมีการเจาะภูเขาเพื่อสร้างหรือไม่

- ท่าจอดเรือดำน้ำแบบนั้นที่เรียกว่า subpen อย่างที่ประเทศในยุโรปนิยมสร้างเพื่อซ่อนพรางการจอดและการเข้าออกจากท่านั้น ไม่จำเป็น เราจะจอดที่ท่าเทียบเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ ตามปกติเหมือนกับเรือผิวน้ำอื่นๆ เนื่องจากหลักนิยมสมัยใหม่ คือ เราจะจอดให้เห็นเลยโดยไม่ต้องซ่อนพราง ฝ่ายตรงข้ามจะได้รู้ว่าเมื่อไหร่เรือดำน้ำอยู่ เมื่อไหร่เรือดำน้ำออกปฏิบัติงาน เพราะเขาจะรู้แค่ว่าเรือดำน้ำออกปฏิบัติงานแล้ว แต่ไม่มีทางรู้ว่าเรือดำน้ำไปปฏิบัติงานที่ไหน ทำให้เขาต้องระวังยิ่งขึ้น ตรงนี้จะเหมือนกับเป็นการป้องปรามไปในตัว ไม่เหมือนเรือผิวน้ำที่จะมักใช้วิธีไปปรากฏตัวให้เขาเห็นจึงจะเป็นการแสดงกำลัง (show of force) ได้

Q: เราจำเป็นจะต้องมีเรือกู้ภัยเรือดำน้ำหรือไม่ กรณีที่เรือประสบปัญหาขณะปฏิบัติงาน

- ตรงนี้นับว่ายังพออุ่นใจได้บ้างว่า ความลึกของอ่าวไทย ที่เรือจะปฏิบัติการเป็นหลักนั้น ไม่ค่อยลึกมากนัก ปกติถ้าความลึกไม่เกิน 70 เมตร กำลังพลประจำเรือสามารถใช้ escape suite ที่ทางเยอรมันให้เรามา และว่ายน้ำหนีออกจากเรือขึ้นสู่ผิวน้ำได้โดยตรง โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใด

Q: กองเรือดำน้ำจะมีการจัดโครงสร้างอย่างไร

- การปฏิบัติงานของเรือดำน้ำมีลักษณะที่พิเศษไม่เหมือนกับเรือผิวน้ำปกติ ดังนั้นอาจจะไม่ได้จัดโครงสร้างเหมือนกองเรือทั่วๆ ไป เช่นอาจจะแบ่งเป็นกองบัญชาการ กองร้อยกองบัญชาการ หมวดเรือดำน้ำ หมวดเรือพี่เลี้ยง หมวดซ่อมบำรุง หน่วยฝึกศึกษาซึ่งอาจรวมกับหน่วยเก็บรวบรวมและวิเคราะห์เสียงใต้น้ำด้วย

ปัจจุบันเรายังมีเพียงส่วนของกองบัญชาการซึ่งตั้งอยู่ที่อาคารเดียวกับกองเรือลำน้ำ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ มีกำลังพลประมาณ 40 คน ตรงนี้เพื่อให้ง่ายต่อการติดต่อประสานงานต่างๆ แต่ในอนาคตกองเรือดำน้ำทั้งหมดทุกส่วนจะมีที่ตั้งอยู่ที่เดียวกับท่าจอดเรือดำน้ำ คือ ในพื้นที่ท่าเทียบเรือแหลมเทียม ฐานทัพเรือสัตหีบ ตรงนี้ได้มีการเตรียมพื้นที่รองรับเอาไว้แล้ว โดยจะมีการกั้นรั้วแบ่งพื้นที่แยกสัดส่วนชัดเจนออกมาต่างหากจากส่วนของเรือผิวน้ำเดิม และเหลือเพียงการสร้างอาคารขึ้นมาเท่านั้น

จะเห็นได้ว่าเราจะมีหมวดเรือพี่เลี้ยง ซึ่งมีความสำคัญ เพราะในยามปกติเมื่อเรือดำน้ำเดินทางไปไหนจะมีเรือพี่เลี้ยงเดินทางไปด้วยเพื่อติดตามทำแผนที่ใต้น้ำ เพราะแผนที่ที่เรามีอยู่นั้นเป็นเพียงแผนที่สำหรับการเดินเรือผิวน้ำ ซึ่งจะบอกแค่ว่าตรงไหนมีโขดหินหรือน้ำตรงไหนลึกเท่าไหร่ แต่เราจะไม่รู้เลยว่าตรงไหนมีกระแสน้ำวนหรือตรงไหนที่เหมาะสมให้เรือดำน้ำซ่อนพรางได้ คือ เราต้องการแผนที่ภูมิประเทศพื้นท้องทะเลอย่างละเอียด บอกแนวเส้นระดับต่างๆ ทั้งหมด หรือเรียกว่า contour map เหมือนแผนที่ที่แสดงภูเขาบนฝั่งเลยทีเดียว โดยเราไม่เคยมีข้อมูลอย่างนี้อยู่เลย เพราะ เราไม่มีเรือดำน้ำมานานมาก ตรงนี้ต้องอาศัยเรือผิวน้ำที่สามารถทำแผนที่ใต้น้ำได้ ตอนนี้ในระยะสั้นเรามองไปที่การใช้เรืออุทกศาสตร์ของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ที่มีอยู่แล้วเป็นเรือพี่เลี้ยงไปก่อน นอกจากนี้เรือพี่เลี้ยงในอนาคตเราอาจใช้เพื่อส่งกำลังบำรุงเพิ่มเติมหรือซ่อมบำรุงหรือสับเปลี่ยนกำลังพลกลางทะเลได้ด้วย

เรื่องของเสียงใต้น้ำก็สำคัญ เพราะเรามีความรู้ด้านนี้น้อยมาก แม้ว่ากองทัพเรือจะได้มีการวิเคราะห์เสียงใต้น้ำเอาไว้บ้าง เช่น ข้อมูลของกองเรือทุ่นระเบิด แต่เสียงใต้น้ำที่เรือดำน้ำได้ยิน จะไม่เหมือนกับเสียงใต้น้ำที่เรือผิวน้ำได้ยิน ดังนั้นกองเรือดำน้ำจึงจะต้องมีหน่วยเก็บรวบรวมและวิเคราะห์เสียงใต้น้ำของตัวเอง เพื่อที่จะได้เก็บรวบรวมเป็นฐานข้อมูลว่าเสียงนี้เป็นเสียงอะไร เป็นเรือประมงหรือเปล่า เรือสินค้าหรือเปล่า เป็นเสียงลากอวนหรือเปล่า เป็นเสียงฝูงปลาหรือเปล่า หรือเป็นเสียงของเรือฝ่ายตรงข้ามกันแน่ เพราะเรื่องเสียงนี้สำคัญมากเนื่องจากเรือดำน้ำเหมือนคนตาบอดแต่หูดี ดังนั้นเสียงที่เราได้ยินจะทำให้เรารู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นข้างนอกบ้าง แบบที่เราเห็นในหนังคือพนักงานโซน่าร์จะมีความสำคัญมากต่อเรือ

อีกส่วนที่สำคัญ ก็คือ หน่วยฝึกศึกษา ซึ่งเราอยากจะมีโรงเรียนเรือดำน้ำภายในกองเรือดำน้ำเอง เพราะว่าการสร้างกำลังพลสายเรือดำน้ำ (submariner) นั้นยาก และแตกต่างจากกำลังสายเรือผิวน้ำมากพอตัว ดังนั้นเราจึงอยากดูแลการฝึกเองด้วย แม้ว่าอุปกรณ์ฝึกอย่าง simulator ที่เราได้มานั้นอาจจะไปฝากไว้กับอาคารของกองการฝึก กองเรือยุทธการ (กฝร.กร.) ซึ่งปกติทำหน้าที่ฝึกกำลังพลประจำเรือผิวน้ำให้กับทุกๆ กองเรือก็ตาม แต่เราจะพยายามส่งคนของเราไปดำเนินการฝึกเอง

อีกอย่างการที่เรารวมหน่วยงานเกี่ยวกับเรือดำน้ำเอาไว้ที่เดียวกันหมด ก็เพื่อจะเป็นสร้างเส้นทางอาชีพ (carreer path) ให้กับกำลังพลหลังจากที่ไม่ได้ปฏิบัติงานในเรือแล้วอีกด้วย เราอยากให้คนที่ทำงานกับเรือดำน้ำได้ทำงานในด้านนี้ต่อไปอย่างต่อเนื่อง เราไม่อยากให้บุคลากรในสายนี้กระจัดกระจายไปตามหน่วยต่างๆ เหมือนบุคลากรในกองเรืออื่นๆ เพราะคนที่ทำงานในเรือดำน้ำก็เหมือนนักบิน มันมีองค์ความรู้ที่มีความจำเพาะ เราไม่อยากเสียคนเหล่านี้ไป อีกทั้งกำลังพลส่วนนี้สามารถใช้เป็นกำลังพลสำรองให้กับกำลังพลประจำเรือจริงๆ ในกรณีที่จำเป็นได้อีกต่างหาก ดังนั้นนี่จึงเป็นการสร้างชุมชนของคนเรือดำน้ำ (submariner community) ขึ้นมาในกองทัพเรือเลยทีเดียว

Q: ทราบมาว่ากองทัพเรือมีการวิจัยเป้าปราบเรือดำน้ำและมีการสร้างเรือดำน้ำขนาดเล็ก การจัดซื้อเรือดำน้ำในครั้งนี้จะมีผลกระทบกับเรือที่สร้างเองหรือไม่

- ต้องบอกก่อนว่าเราสร้างเรือดำน้ำขนาดเล็กในขณะที่เราไม่มีความรู้เรื่องเรือดำน้ำเลย คือตอนนี้เรือดำน้ำขนาดเล็กนั้นยังมีการจัดสร้างอยู่แต่โครงการยังไม่ประสบความสำเร็จ ความจริงการจัดหาเรือดำน้ำในครั้งนี้จะช่วยให้เราได้องค์ความรู้ในการใช้เรือดำน้ำจริงๆ ซึ่งเราสามารถนำไปใช้ในการสร้างเรือดำน้ำขนาดเล็กของเราเองได้

นอกจากนั้นที่สำคัญกว่าก็คือ การที่เรามีเรือดำน้ำเองนั้นจะทำให้กำลังพลของเราได้มีโอกาสฝึกปราบเรือดำน้ำจริงๆ อีกด้วย

Q: ประเทศเราใช้ยุทธศาสตร์เชิงรับ คือเราไม่ต้องการก่อสงครามกับใคร แต่เรือดำน้ำดูเหมือนเป็นอาวุธเชิงรุก ตรงนี้จะขัดกับยุทธศาสตร์ของเราหรือเปล่า

- ไม่ขัดแน่นอน จริงอยู่ที่เรือดำน้ำนั้นถือว่าเป็นอาวุธเชิงรุก แต่ก็ใช้เป็นอาวุธเชิงรับได้เหมือนกัน เพียงแต่เราจะไม่รับในบ้าน เราจะไปรับนอกบ้านแทน คือ แทนที่จะตั้งรับอยู่ในอ่าวไทย เราจะไปตั้งรับถึงหน้าบ้านของฝ่ายตรงข้ามเลย ผมเคยสังเกตการณ์การฝึกจำลองการยุทธ์ของกองทัพเรือเราใน simulator นั้น ถ้าลำพังเราให้โจทย์ไปแต่การใช้เรือผิวน้ำก็จะไม่มีปัญหาอะไรเท่าไหร่ แต่พอเราใส่เรือดำน้ำเข้าไปแค่ลำเดียวเท่านั้น แค่นั้นก็ปั่นป่วนไปหมดเลย เพราะไม่มีใครรู้ว่าเรือดำน้ำไปอยู่ไหน เลยไม่รู้จะวางกำลังเรือผิวน้ำตรงไหนให้ปลอดภัย ไปๆ มาๆ กลายเป็นไม่ค่อยกล้าเอาเรือออกจากท่าด้วยซ้ำไป อันนี้คือการฝึกจำลอง ซึ่งตัวอย่างจริงก็มีให้เห็นแล้วเช่นตอนที่อังกฤษรบกับอาร์เจนติน่าที่เกาะฟอล์กแลนด์ อังกฤษเอาเรือดำน้ำไปแค่ลำเดียวเท่านั้นทำให้อาร์เจนติน่าไม่กล้าเอาเรือบรรทุกเครื่องบินออกจากท่าเลย เพราะกลัวว่าจะถูกเรือดำน้ำยิงจม

อย่างความขัดแย้งกับเพื่อนบ้านนี่ ถ้าสมมุติความขัดแย้งเกิดขึ้นเช่น มีการแย่งพื้นที่ทับซ้อนในทะเลที่มีแหล่งทรัพยากรอย่างน้ำมันและก๊าซธรรมชาติกัน ในปัจจุบันเราสามารถเอาเรือผิวน้ำไปแสดงกำลังได้บ่อยๆ เช่น อาจจะเอาไปวางไว้ที่เกาะกูด เขาก็ไม่กล้าทำอะไร เพราะเขาสู้เราไม่ได้ แต่ผมรับรองว่าถ้าเขามีเรือดำน้ำแค่สักลำเดียว เก่าขนาดไหนก็ได้ รับรองว่าการวางกำลังของเราต้องเปลี่ยนไปมากทีเดียว หรือแม้กระทั่งทางใต้ของเราเอง เราก็มีปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนเหมือนกัน เมื่อก่อนเราอาจจะได้เปรียบเรื่องการเจรจากับเขามาตลอดทำให้เรื่องจบแบบง่ายๆ เพราะกำลังรบผิวน้ำเราเหนือกว่า แต่เดี๋ยวนี้เค้ามีเรือดำน้ำแล้ว ต่อไปถ้าเราไม่มีบ้าง เวลาจะเจรจาอะไรกับเขาคงจะไม่ง่ายเหมือนเดิมอีกแล้ว

ดังนั้นเรือดำน้ำอาจถือได้ว่าเป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์ที่มีอำนาจการป้องปรามที่สูงมากทีเดียว การมีเรือดำน้ำเอาไว้ในประจำการคงไม่ได้หมายถึงว่าเราจะเป็นฝ่ายเริ่มสงครามก่อน หากแต่จะเป็นตัวป้องกันไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามคิดจะก่อสงครามกับเรามากกว่า ซึ่งก็คือยุทธศาสตร์เชิงรับนั่นเอง

Q: ความจริงแล้วเรือดำน้ำมีความสำคัญมากขนาดไหน

- เรือดำน้ำมีลักษณะพิเศษ คือ ทำงานได้นาน ทำงานได้เงียบ แค่เรือหายไปจากท่านั้น ฝ่ายตรงข้ามก็ต้องคิดแล้วว่ามันจะไปซุ่มอยู่ที่ไหน มันสามารถเป็นตาลึกลับให้กับกองเรือได้ และการหาเรือดำน้ำทำได้ยากมาก อย่างกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่ไปเช่าเรือดำน้ำของสวีเดนมาฝึกเป็นเวลาสองปี ก็ไม่เคยหาเรือดำน้ำสวีเดนเจอในการฝึกเลย แถมกลับกันยังโดนเรือดำน้ำสวีเดนโผล่ขึ้นมาในระยะใกล้ๆ กับกองเรือผิวน้ำของเขา เพื่อถ่ายรูปไปได้ทุกครั้ง ซึ่งในสงครามจริงนั้นถ้าถึงขนาดเข้ามาใกล้จนถ่ายรูปได้ เรือรบของสหรัฐฯ คงจะจมไปแล้ว ดังนั้นการมีเรือดำน้ำเสมือนมีตัวทวีกำลังหรือตัวคูณเพิ่ม ที่เรียกกันว่า force multipier คือ มีกำลังน้อยเหมือนมีกำลังมาก การจัดซื้อในครั้งนี้เราลงทุนเสียค่าใช้จ่ายไปน้อยมาก แต่ผลประโยชน์ที่ได้รับกลับมาถือว่าคุ้มค่ามาก กองทัพเรือที่มีเรือดำน้ำ จะเหมือนมีกำลังรบที่เพิ่มพูนขึ้นเป็นอีกหลายเท่าตัวเลยทีเดียว ทำให้คนที่คิดร้ายก็จะต้องคิดหนักกว่าเดิมมากขึ้นอีกหลายๆ เท่า

การจะมีเรือดำน้ำนั้นไม่ง่าย ต้องฝึกคนเป็นเวลา 2 ปีกว่าจะทำงานได้ คือ พร้อมออกปฏิบัติภารกิจจริง หรือพร้อมรบนั่นเอง ในกรณีของเรือแบบ Type-206A ที่เราจะซื้อนี้ ถือว่าเร็วอย่างมากแล้ว เพราะเรามีเรือพร้อมฝึกเลย เราก็ใช้เวลา 2 ปี ก็พร้อมรบ ถ้าเราซื้อเรือใหม่เอี่ยม เราต้องรออย่างน้อย 6 ปี กว่าจะพร้อมรบ คือ ต้องรอเวลาให้สร้างเรืออย่างน้อย 4 ปี และฝึกกำลังพลอีก 2 ปี แต่ภัยคุกคาม (threat) มันอาจจะไม่รอเรา เพราะภัยคุกคามนั้น มันคือ ขีดความสามารถบวกกับความตั้งใจ (threat = capability + intention) ถ้ามีแต่ขีดความสามารถนั้นก็ยังไม่ถือว่าเป็นภัยคุกคาม แต่ความตั้งใจนั้นมันเปลี่ยนได้ชั่วข้ามคืน วันนี้เป็นมิตรกันพรุ่งนี้ก็เป็นศัตรูกันได้แล้ว แบบเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านมาก็เห็นชัดเจน แต่การสร้างขีดความสามารถนั้นกลับต้องใช้เวลาสร้าง จะเร่งให้เร็วก็ไม่ได้ ถึงตอนนั้นถ้ามีภัยคุกคามขึ้นมาแล้ว มีเงินเท่าไหร่ก็ซื้อขีดความสามารถไม่ได้ ทุกอย่างก็จบ นั่นทำให้เราต้องเตรียมพร้อมเอาไว้ล่วงหน้า และเดี๋ยวนี้ประเทศเพื่อนบ้านของเรายกเว้นเพียงกัมพูชาและพม่า ทุกประเทศมีขีดความสามารถทั้งหมด เพราะเขามีเรือดำน้ำกันหมดแล้ว แถมนำหน้าเราไปหลายปีมากๆ เสียด้วย

สิ่งที่ต้องยอมรับอย่างหนึ่งก็คือคนไทยไม่ใช่ชาวทะเล จึงเป็นธรรมดาที่คนส่วนใหญ่จะไม่เข้าใจว่าผลประโยชน์ของชาติทางทะเลนั้นมหาศาลขนาดไหน อย่างผมออกเรือไปทางทะเล ตอนกลางคืนจะเห็นเรือประมงมากมายเปิดไฟกันเต็มอ่าวไทย ก็ตระหนักได้ว่าผลประโยชน์ของชาติทางทะเลนั้นมหาศาลจริงๆ เพราะเรือประมงเหล่านี้ทำรายได้ให้กับประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ไหนจะมีแหล่งก๊าซธรรมชาติ แหล่งน้ำมัน การค้าทางทะเล เหล่านี้ทั้งหมดคือสิ่งที่เราต้องปกป้อง

Q: เรือแบบ Type-206A ที่เราจะได้มานี้ สามารถรับภารกิจอะไรได้บ้าง

- การปฏิบัติการของเรือดำน้ำจะเป็นแบบตัวใครตัวมัน แต่ละลำจะมีภารกิจของตัวเอง และไม่ทำงานร่วมกันเหมือนเรือผิวน้ำ ภารกิจของเรือดำน้ำแบบ Type-206A ในกองทัพเรือไทย อาจจะแบ่งได้เป็นในยามสงครามและในยามสงบ ภารกิจในยามสงครามจะประกอบด้วย

(1) การปราบเรือดำน้ำ โดยเราจะใช้เรือของเราในการค้นหาและไล่ล่าเพื่อทำลายเรือดำน้ำฝ่ายตรงข้าม และที่สำคัญเราจะใช้เพื่อคุ้มกันกองเรือผิวน้ำที่มีคุณค่าทางยุทธการสูง (high value asset) เช่น กองเรือบรรทุกเครื่องบิน กองเรือสะเทินน้ำสะเทินบก ให้รอดพ้นจากการถูกโจมตีโดยเรือดำน้ำฝ่ายตรงข้ามทั้งการโจมตีด้วยตอร์ปิโดหรืออาวุธปล่อยนำวิถีโจมตีเรือ ยุทธวิธี คือ เราจะส่งเรือดำน้ำของเราล่วงหน้ากองเรือไปก่อน โดยจะเคลื่อนที่ไปซุ่มดักรอยังตำบลที่และทิศทางที่คาดว่าฝ่ายตรงข้ามจะเข้ามา (threat axis) เพื่อคุ้มครองป้องกันกำลังของเราที่จะต้องเดินทางผ่านเข้าไปยังตำบลที่ตรงนี้เพื่อปฏิบัติการต่างๆ ต่อไป ทั้งนี้เราจะแบ่งพื้นที่ให้เรือดำน้ำเรารับผิดชอบโดยแยกกันอย่างเด็ดขาดจากพื้นที่ปฏิบัติงานของยุทโธปกรณ์ปราบเรือดำน้ำอื่น เช่น เรือผิวน้ำ หรืออากาศยาน เพื่อป้องกันโอกาสที่เกิดการยิงกันเอง (friendly fire) ขึ้นได้

(2) การต่อต้านเรือผิวน้ำ โดยเราจะใช้เรือของเราเพื่อรักษาจุดยุทธศาสตร์สำคัญๆ (choke point) มิให้ฝ่ายตรงข้ามใช้กำลังเรือผิวน้ำในพื้นที่นี้ได้ รวมทั้งใช้เพื่อการขัดขวางทางทะเล (maritime interdiction) เพื่อจู่โจมทำลายกองเรือผิวน้ำของฝ่ายตรงข้าม

(3) การสงครามทุ่นระเบิด โดยการใช้เรือดำน้ำเข้าไปวางทุ่นระเบิดในพื้นที่สำคัญของฝ่ายตรงข้าม เช่น ปากทางเข้าออกฐานทัพเรือ เพื่อขัดขวางการปฏิบัติการทางเรือของเขา ซึ่งเรือแบบ Type-206A นี้ สามารถบรรทุกทุ่นระเบิดไปได้มากถึง 40 ลูกด้วยกัน ข้อดีของการใช้เรือดำน้ำในภารกิจนี้ คือ การซ่อนพราง (covert) ทำให้เขาไม่รู้ตัวเลยว่าถูกวางทุ่นระเบิดไปแล้ว และเราสามารถเข้าไปวางลึกถึงพื้นที่เขาได้เลย คือ เป็นการวางแบบเชิงรุก ในขณะที่เรือผิวน้ำหรืออากาศยานจะไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะเขาจะรู้ตัวก่อนและขัดขวางเราได้ทัน จึงทำได้เพียงวางทุ่นระเบิดในเชิงป้องกันเส้นทางหรือพื้นที่ของเราไม่ให้เขาเข้ามาได้เท่านั้น

(4) การหาข่าวกรอง เฝ้าตรวจ ลาดตระเวน ซึ่งอันนี้เราสามารถใช้ข้อดีของเรือดำน้ำเรื่องการซ่อนพรางได้อีก ทำให้เราแอบเข้าไปสืบหาข่าวได้ถึงพื้นที่ฝ่ายตรงข้าม โดยที่เขาไม่รู้ตัวเลย เช่น การเฝ้าตรวจจุดยุทธศาสตร์ หรือหาข่าวกรองบริเวณฐานทัพเรือฝ่ายตรงข้าม เป็นต้น

(5) การสนับสนุนการปฏิบัติการสงครามพิเศษ แน่นอนว่าด้วยความสามารถในการซ่อนพรางของเรือดำน้ำอีกเช่นกัน เราสามารถใช้เรือเพื่อนำกำลังหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ (หน่วย SEAL) แทรกซึมเข้าไปปฏิบัติภารกิจหลังเขตแดนฝ่ายตรงข้าม และรับกลับเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ (infiltration/exfiltration) โดยเรือแบบ Type-206A นี้ มีพื้นที่เพียงพอให้สามารถนำชุดปฏิบัติการพิเศษไปได้กับเรือ 1 ชุดปฏิบัติการ แต่จะไม่มีที่พักให้ เพราะขนาดของตัวเรือที่จำกัด และการเข้าออกจากเรือจะใช้วิธีว่ายน้ำผ่านทางท่อตอร์ปิโด เนื่องจากเรือมีขนาดเล็ก จึงไม่มีพื้นที่พอสำหรับการติดตั้งห้อง air lock สำหรับรับส่งนักดำน้ำ (swimmer/diver delivery) เหมือนกับเรือขนาดใหญ่ จะมีก็แต่ช่องทางเข้าออก/ช่องทางหนีภัยเท่านั้น ซึ่งเปิดได้เฉพาะเมื่อเรืออยู่บนผิวน้ำอย่างเดียว ถ้าเปิดขณะดำ น้ำคงจะเข้าเรือจนเรือจมไปเลยทีเดียว

เราสามารถใช้เรือดำน้ำในภารกิจยามสงบได้ด้วย โดยเฉพาะการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางทะเล (maritime security) การต่อต้านการก่อการร้าย หรือการปราบปราม/การรักษากฎหมายทางทะเล เช่น เราอาจจะเอาเรือดำน้ำไปซุ่มอยู่ในพื้นที่ ถ้ามีโจรสลัด มีการขนน้ำมันเถื่อน เกิดขึ้น เราก็สามารถแจ้งเตือนให้ส่งเรือผิวน้ำหรืออากาศยานเข้าไปจัดการได้ทันที ข้อดี คือ ด้วยการซ่อนพรางของเรือดำน้ำ จะทำให้ผู้ที่จะกระทำผิดจะไม่รู้ตัวล่วงหน้าแล้วหลบหนีได้ทัน ต่างจากการใช้เรือผิวน้ำที่เขาจะรู้ตัวเพราะมองเห็น อาจทำให้ไม่กล้าลงมือ หรือรีบหนีไปเสียก่อน นอกจากนี้จะเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการใช้เรือผิวน้ำเสียอีก เพราะเรือแบบ Type-206A นี้สามารถปฏิบัติการได้ต่อเนื่องนานถึง 1 เดือน ในขณะที่เรือตรวจการณ์ของกองทัพเรือปัจจุบัน ปกติจะปฏิบัติการได้นานแค่ 15 วันเท่านั้นก็จะต้องกลับมารับการส่งกำลังบำรุงเพิ่มเติมแล้ว

นอกจากนี้ภารกิจสำคัญยิ่งในยามสงบที่จะมองข้ามไปไม่ได้เลย ก็คือ การฝึก โดยเฉพาะการทำหน้าที่เป็นข้าศึกสมมุติให้กับเรือผิวน้ำและอากาศยานของเราเอง ในการฝึกการปราบเรือดำน้ำ เพื่อให้การฝึกมีความสมจริงมากที่สุด อันจะเป็นสร้างประสบการณ์จริงให้กับกำลังพลส่วนต่างๆ ภายในกองทัพเรือ รวมทั้งการฝึกกับต่างประเทศด้วยเช่นกัน

Q: ถ้าสมมุติไม่ได้เรือแบบ Type-206A จริงๆ จะทำอย่างไร

- ก็คงน่าเสียดายมาก เมื่อเทียบกันแล้วในอดีตจะไม่น่าเสียดายเท่านี้ แต่สำหรับข้อเสนอนี้ถ้าไม่ได้ก็นับว่าน่าเสียดายมาก เพราะเป็นข้อเสนอที่คุ้มค่าและราคาถูกมากๆ ถ้าเราไม่ซื้อก็มีอีกหลายประเทศที่เข้าคิวรอซื้ออยู่ อย่างตอนนี้ทางกองทัพเรือชิลีก็รอซื้อ ไม่นับประเทศอื่นอีก แต่ทางเยอรมันเขายังพอเข้าใจเราและด้วยความที่เราได้ตกลงกับเขาไว้เป็นเจ้าแรกก่อนเพื่อน ความจริงเขาให้เส้นตายกับเราไว้ว่าต้องทำให้เรียบร้อยภายในมีนาคมที่ผ่านมา แต่พอเราอธิบายว่าเรามีขั้นตอนเยอะ เขาก็เข้าใจเรา เลยขยายเส้นตายออกไปให้

Q: สุดท้ายแล้วท่านอยากฝากอะไรถึงประชาชนทั่วไปที่ติดตามข่าวสารในเรื่องนี้บ้าง

- อยากให้มั่นใจว่าทหารเรือเราเป็นทหารอาชีพ ไม่ใช่ว่าเราคิดอยากจะซื้อก็ซื้อ เราเลือกตามหลักวิชาการและโดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารเรือเราถูก สอนมาให้เลือกตัวเลือกที่คุ้มค่ากับเงินภาษีที่สุด ถ้าเศรษฐกิจประเทศเราดีกว่านี้แน่นอนเราก็อยากได้เรือใหม่ๆ ที่ดีที่สุด แต่ตอนนี้เศรษฐกิจเราไม่ค่อยดี เราจึงลด scope ลงมาไม่ให้กระทบกับคนส่วนใหญ่ เราเป็นทหารอาชีพ ศาสตร์ของการทหารเราไม่พูดกันเล่นๆ เราคิดอย่างเป็นระบบตามหลักวิชาการ เน้นที่การวิเคราะห์ความคุ้มค่าให้มากที่สุด ผมยืนยันได้ว่าเราใช้เงินทุกบาททุกสตางค์คุ้มค่าแน่นอน


เรือหลวงมัจฉาณุ หนึ่งในเรือดำน้ำชุดแรกของราชนาวีไทย
ภาพจากหนังสือ ศิริพงษ์ บุญราศรี.เรือดำน้ำแห่งราชนาวีสยาม. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, พ.ศ. 2547. 168 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-276-277-5


ภาคผนวก

ก่อนจะมาเป็นผู้บัญชาการกองเรือดำน้ำคนแรกในรอบ 60 ปี


Q: อยากให้เล่าประวัติของท่านว่าทำไมถึงมาสนใจเรือดำน้ำ และเรือดำน้ำมีเสน่ห์ตรงไหน

- ส่วนตัวผมจบปริญญาโททางด้าน operation research และเคยประจำการอยู่ที่กรมยุทธการทหารเรือ 2 ครั้ง รวม 9 ปี ทำให้มีประสบการณ์ในการบริหารโครงการใหญ่ๆ (program office) โดยเฉพาะการวิเคราะห์ความคุ้มค่าของโครงการ ต่อมาผมมีโอกาสรับตำแหน่งในฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ท่านได้ให้นโยบายในการศึกษาเทคโนโลยีเรือดำน้ำ ก็เลยทำให้ผมเริ่มมาศึกษา พอยิ่งศึกษามาก็ยิ่งทึ่ง เพราะเรือดำน้ำเป็น force multiplier ได้จริงๆ ต่อมาเมื่อมารับตำแหน่งในสำนักงานกองเรือดำน้ำก็วิเคราะห์ว่าเรื่องเรือดำน้ำนั้นยังมีข้อครหามากมาย จึงวางเป้าหมายที่จะทำความเข้าใจกับสาธารณชนก่อน แต่ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ากองทัพเรือค่อนข้างเงียบ เพราะเป็นธรรมชาติของทหารเรือที่มักจะพูดน้อย และไม่ค่อยอยากจะโต้แย้งกับความคิดเห็นของสาธารณชนมากนัก

เสน่ห์ของเรือดำน้ำก็คือมันพิเศษ ลับ เด็ดขาด ยิงครั้งเดียวก็สามารถทำลายข้าศึกได้ (one shot kill) ไปได้ไกล อยู่ได้นาน ลงทุนน้อยแต่ทำได้หลากหลายภารกิจ เหล่านี้เป็นเหตุผลว่าทำไมชาติที่มีกองทัพเรือถึงขวนขวายในการมีเรือดำน้ำ เพราะถึงมีเรือดำน้ำสักลำ แม้จะเก่าอย่างไร ประเทศที่คิดร้ายต่อเราก็ต้องคิดหนักแน่นอน

คุณลักษณะของเรือดำน้ำแบบ Type-206A

ผู้สร้าง
Howaldtswerke-Deutsche Werft (HDW) ประเทศเยอรมันี (U15 และ U17)
Nordseewerke (NSWE) ประเทศเยอรมันี (U16, U18, U23 และ U24)

คุณลักษณะ
ระวางขับน้ำบนผิวน้ำ 450 ตัน ขณะดำ 520 ตัน
ความยาว 48.6 ม. ความกว้าง 4.7 ม. กินน้ำลึกขณะวิ่งบนผิวน้ำ 4.3 ม.
ความเร็วสูงสุดที่ผิวน้ำ 10 น็อต ขณะดำ 17 น็อต ขณะโผล่ท่อหายใจ (snorkel) ขึ้นเหนือผิวน้ำ 5 น็อต
รัศมีทำการที่ความเร็วขณะดำ (5 น็อต) 200 ไมล์ ที่ความเร็วขณะโผล่ท่อหายใจขึ้นเหนือผิวน้ำ 4,500 ไมล์ ระยะเวลาปฏิบัติการนานสุด 30 วัน
ความลึกสูงสุดขณะดำ 250 ม. ความลึกต่ำสุดขณะดำ 20 ม. ความลึกปฏิบัติการ 150 ม.
ตัวเรือรับแรงกดสร้างจากเหล็กกล้าทนแรงดึงสูงและมีคุณสมบัติไม่เป็นแม่เหล็ก (austenitic)
กำลังพลประจำเรือ 23 นาย ประกอบด้วยนายทหารสัญญาบัตร 5 นาย ประทวน 18 นาย

เครื่องจักร
เครื่องจักรใหญ่ดีเซล MTU 12V493 AZ80 GA กำลัง 441 กิโลวัตต์ 2 เครื่อง
เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ASEA-Brown-Boveri (ABB) กำลังไฟฟ้า 405 กิโลวัตต์ 2 เครื่อง
มอเตอร์ไฟฟ้าขับเพลาใบจักร Siemens-Schuckert-Werke กำลัง 1,100 กิโลวัตต์
เพลาใบจักร 1 เพลา ใบจักร 7 กลีบ
ความจุถังเชื้อเพลิง 23.5 ตัน
แบตเตอรี่ Hawker Batteri 3 ลูก ลูกละ 92 เซลล์ น้ำหนักรวม 98 ตัน

อาวุธ
ท่อยิงตอร์ปิโด ขนาด 533 มม. 8 ท่อ ที่หัวเรือ สำหรับตอร์ปิโด Atlas DM-2A3 Seehecht 8 ลูก หรือทุ่นระเบิด Atlas DM-41 16 ลูก
กล่องบรรจุทุ่นระเบิดมัดกับลำตัวเรือภายนอก (mine belt) สำหรับทุ่นระเบิด Atlas DM-41 24 ลูก
ท่อยิงเป้าลวง สำหรับเป้าลวงแบบสร้างเสียง (noise maker) และแบบสร้างฟองอากาศ (bubble generator)

อิเล็กทรอนิกส์
เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ/เดินเรือ Thales Calypso II
กล้องเพอริสโคป Carl Zeiss Optronics SERO 12 ประกอบด้วย
- กล้องเพอริสโคปตรวจการณ์ Carl Zeiss Optronics NavS
- กล้องเพอริสโคปควบคุมการยิง Carl Zeiss Optronics ASC 17
โซนาร์หัวเรือและข้างลำตัวเรือ Atlas DBQS-21D (CSU 83)
โซนาร์ตรวจการณ์ทุ่นระเบิด ITT Electronics System EDO-900
มีระบบรองรับการติดตั้งโซนาร์ลากท้าย
ระบบวัดระยะจากสัญญาณโซนาร์ Thales DUUX-2
ระบบระบุทิศทางสัญญาณโซนาร์ Thales Safare DUUG-1 (Velox)
ระบบ ESM Thales DR-2000U
ระบบอำนวยการรบ Atlas ISUS-83 (Integrated Sensor Underwater System) ประกอบด้วย
- ระบบควบคุมการยิง Atlas LEWA
- คอนโซล Atlas BM802 5 ชุด แต่ละชุดมีจอภาพสีขนาด 15 นิ้ว 2 จอ
ระบบวิเคราะห์สัญญาณเรดาร์ Thorn-EMI SARIE-2 (ติดตั้งคู่กับระบบ ESM DR-2000U)
ระบบวิทยุสื่อสารย่านความถี่ VLF/HF/VHF/UHF
ระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม Rockwell AN/WRN-6(V)
ระบบแสดงตำแหน่งเรืออัตโนมัติ Raythoen Anschutz Nautoplot
ระบบวัดความเร็วเรือด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า Aeronautical & General Instruments AGILOG
ระบบหาตำบลที่เรือด้วยดาวเทียม GPS

Last Updated on Saturday, 23 April 2011 15:28
 

Comments  

 
+42 #1 ake31 2011-04-22 11:26
ถ้าช่วยออกเงินแ ล้วจะซื้อได้ บอกได้เลยครับยิ นดีสนับสนุนหมดต ัว
 
 
+27 #2 กกร่ม 2011-04-22 11:42
สนับสนุน อีก 1 เสียงครับ ลำพังกองเรือหรื ออุปกรณ์ทำลายหร ือต่อต้านเรือดำ น้ำ เราคงเอาไม่อยู่ เรื่อดำน้ำก็ต้อ งแก้ด้วยเรือดำน ้ำเหมือนกัน เรามีเขาไม่กล้า เขามีเราก็ไม่กล ้า เหมือนกัน
 
 
+18 #3 BlueDragonExp 2011-04-22 12:12
ยิ่งอ่านแล้ว ยิ่งอยากได้ครับ ขออนุญาตเอาไปเผ ยแพร่ได้ไหมครับ

ตั่งแต่แรกผมเชี ยร์ U 206 มาแต่แรกแล้ว ถ้าได้เจ้านี่มา ผมว่าเพื่อนบ้าน คิดหนักแน่นอนคร ับ
 
 
+18 #4 tango 2011-04-22 12:17
ผมทำงานให้กับบร ิษัทเยอรมัน ผมเชื่อมั่นในมา ตรฐานวัสดุอุปกร ณ์ของเขา ขอสนับสนุนเต็มท ี่ มากกว่า ของเกาหลี
การจะต้องเพิ่มง บประมาณในส่วนสน ับสนุนอีก ก็ไม่น่าเป็นห่ว ง แม้แต่จะเพิ่มอี กหลายพันล้าน เพราะว่า เงินมันวนเวียนอ ยู่ในประเทศครับ

หวังว่าคนของเรา สามารถเข้าใจภาษ าเยอรมันได้ดี พอพอกับภาษาอังก ฤษนะครับ เพราะเราสามารถท ำความเข้าใจกับ Nameplate ในตำแหน่งต่างต่ างได้ในที่สุด หรือเปลี่ยนเป็น ภาษาไทย หรืออังกฤษเสียเ ลย ให้กำลังพลเข้าใ จได้สะดวก ก็ไม่ยุ่งยาก

แต่ในหน้าจอ ในโปรแกรมนี่อาจ จะลำบาก อาจจะเปลี่ยนแปล งยาก ในบางจุดที่อุปก รณ์เป็นของเยอรม ันเอง

เรื่องราคาผมว่า ถูกมาก เป็นเพราะการปรั บลดยุทโธปกรณ์ขอ งกองทัพเยอรมัน ผมยังอยากได้ Leopard 2 เลย :)


สำคัญที่สุด ผมเชื่อในความเป ็นลูกผู้ชายของท หารเรือครับ

Mit freundlichen Grüssen
 
 
+12 #5 Kiss wawary 2011-04-22 12:30
ขอให้ได้ทีเถอะ สาธุ....
 
 
+7 #6 nok 2011-04-22 13:35
ขออนุญาติทีมงาน นำ URL ไปแปะที่ TFC นะครับ ถ้าไม่ให้ ผมทวง 20 ครับ
 
 
+7 #7 coffeemix 2011-04-22 13:41
คุณ nok

ผมอนุญาตครับ
 
 
+2 #8 nok 2011-04-22 14:04
ขอบคุณครับป๋า
 
 
+10 #9 terdkiet 2011-04-22 14:45
สุดยอดโลหะ non-magnetic แรงดึงสูง 80 ksi (80 กก/ตร.นิ้ว=5,624 กก/ตร.ซม.) การเชื่อมประสาน คงต้องใช้เทคนิค ขั้นสูง...องค์ความรู้นี้ถ ้าได้ถ่ายทอดมาด ้วยจะเยี่ยมมาก....มาเป็นแพ็คแบบนี ้ เป็นสุดยอดดีลเล ยทีเดียว อย่าให้หลุดมือน ะครับ
 
 
+10 #10 rmutk 2011-04-22 14:46
U206A นอนมาครับ 26นี้ เตรียมเฮได้ พี่น้อง
 
 
+13 #11 delete 2011-04-22 15:29
ดีลนี้ คือสุดยอดดีลในป ระวัติศาสตร์ทหา รเรือไทยเลยครับ
ของดี ราคาหาที่ใหนไม่ ได้อีกแล้ว
ไม่อยากให้พลาดเ หมือนคราวอัลฟ่า เจ็ท
 
 
+17 #12 coffeemix 2011-04-22 16:04
ความเห็นส่วนตัว ของผม โดยอ้างอิงตามงบ ประมาณกองทัพเรื อที่มีจำักัด

Type-206A ไม่ใช่เรือดำน้ำ ที่ดีที่สุดที่ ทร. สามารถจัดหาได้ต อนนี้

แต่ Type-206A เป็นเืรือดำน้ำท ี่เหมาะสมที่สุด สำหรับราชนาวีไท ยในเวลานี้ครับ
 
 
+5 #13 phromthong 2011-04-22 16:29
เกิดเหตุแบบนี้ก ับเพื่อนบ้านช่ว งนี้ ผมว่ารัฐบาลต้อง อนุมัติโครงการน ี้ของกองทัพเรือ แน่นอนครับ
 
 
+11 #14 4rmz 2011-04-22 16:44
ดีลนี้เีชียร์เต ็มที่ แต่ ทร. ต้องชี้แจ้งให้ด ีนะครับ

เพราะเดี๋ยวจะมี พวกบ้องตื่น เอา 7700 ล้าน หารด้วย 6 ลำ
 
 
+4 #15 thaipc 2011-04-22 17:04
สนับสนุน อีกคนครับ เสือแก่ใช่ไล้เข ี้ยวเล็บ ฉลามแก่ก็ยังน่า กลัว อู๒๐๖เอ
เก่าไปนิด แต่ก็เก๊ามิใข่เ ล่น มาเป็นครูผู้ให้ วิชาแก่ ราชนาวีไทยในเวล านี้ได้อย่างดี แล้วก็ยังมีความ น่าเกรงขามต่อผู ้รุกรานเราเป็นอ ย่างดีครับ
 
 
+6 #16 Adler 2011-04-22 17:14
ไม่ ไม่ห้าม รีบซื้อเลยครับ....ไม่ซื้อมีเคืองน ะเออ
 
 
+3 #17 nemesis 2011-04-22 18:16
ในการฝึก ทร.54 ก็มีการกล่าวถึง เรื่องเรือดำน้ำ ครับ
 
 
+4 #18 spooky_1 2011-04-22 19:42
เป็นบทความแห่งป ีได้เลยนะเนี้ย 555
 
 
+3 #19 BlueDragonExp 2011-04-22 19:55
Quoting delete:
ดีลนี้ คือสุดยอดดีลในป ระวัติศาสตร์ทหา รเรือไทยเลยครับ
ของดี ราคาหาที่ใหนไม่ ได้อีกแล้ว
ไม่อยากให้พลาดเ หมือนคราวอัลฟ่า เจ็ท

ตอนอัลฟ่าเจตผมเ สียดายมากๆ ไม่งั้นป่านี้ ได้แทน F5 ได้หลายฝุง นักบินเรา คงไม่ ตายเยะขนาดนี้ โดยเฉพาะ F 5 ที่กองบินเจ็ด ตกแต่ละทีใจหายห มดเลยครับ ยังคิดอยู่ว่า ถ้าตอนนั้นเราได ้ อัลฟ่าเจต มา แล้วเอามาแทน เอฟห้าที่ อุดร กับอุบล แล้วย้าย F-5T ลงมากองบินเจ็ด เราอาจได้กริพเพ นเอ็นจี พร้อมของดีๆอีกพ รีบ เสียดายมากๆ ลำละหนึ่งล้านบา ทเอง

Quoting 4rmz:
ดีลนี้เีชียร์เต ็มที่ แต่ ทร. ต้องชี้แจ้งให้ด ีนะครับ

เพราะเดี๋ยวจะมี พวกบ้องตื่น เอา 7700 ล้าน หารด้วย 6 ลำ


มาเรทเดียวกับตอ นซื้อ JAS 39 เลย เดี๋ยวก็จะมีพวก ที่สอง U 209 ทันสมัยกว่า U 206 เพราะว่า U 209 เลขมากกว่า มันเลยทันสมัยกว ่า(เจอมาแล้วครั บ)

ซื้อเรือเก่ามาเ ศษเหล็กทั้งนั้น โกงค่าคอมมิสชั่ นกันพวกที่สาม

ฯลฯ ไม่ไหวจะเครียร์ อะ ชี้แจงไปแล้ว ก็.... นะ....
 
 
+3 #20 coffeemix 2011-04-22 20:11
นอกเรื่องนิดนะค รับ Alphe Jet ไม่ได้มาแทน F-5 นะครับ
 

สมาชิกเท่านั้นจึงสามารถแสดงความเห็นได้ โปรดสมัครสมาชิกหรือติดต่อผู้ดูแลระบบ
Only registered user is able to comment. Please register or contact administrator.

Who's Online

We have 303 guests and 11 members online

Comment ล่าสุด

  • ภาพสวยมากๆ ครับ เสียดายที่ตัวเอ งต้องไปยืนแถวรา ยก...
  • ท่าน chartchai ครับ ตามความเห็นส่วน ตัวของผมนะ ระบ...
  • ภาพสวยดีครับ
  • ขอแสดงความคิดเห ็นเพิ่มเติมนะคร ับ เรือรบไทยทำไม ไ...
  • เห็นเรือมกุฎราช กุมารแล้ว มีความรู้สึดแปล กๆ เป็นเ...

ข้อมูลของผู้ใช้



QR Code for TAF