ประชาธิปัตย์ : จุรินทร์ คว้าเก้าอี้หัวหน้าพรรคคนที่ 8

  • 15 พฤษภาคม 2019
จุรินทร์ Image copyright Thai News Pix/BBC Thai
คำบรรยายภาพ จาก "รักษาการหัวหน้าพรรค" เขากลายเป็น "หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 8"

ในการประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ปรากฏว่านายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคคนที่ 8 ตามคาด โดยเฉือนเอาชนะผู้ท้าชิงอีก 3 รายไปด้วยคะแนนลดหลั่นกันไป

นายจุรินทร์ ถือเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองเก่าแก่รายที่ 3 ที่มีฐานเสียงมาจากภาคใต้ เขาเป็นอดีต ส.ส. พังงา และแบบบัญชีรายชื่อ รวม 11 สมัย เป็นอดีตรัฐมนตรี 5 กระทรวง วันนี้เขาเพิ่งขยับสถานะจาก "รักษาการหัวหน้าพรรค" ขึ้นเป็น "หัวหน้าพรรคอย่างเต็มตัว"

การเลือกหัวหน้า ปชป. คนที่ 8 เกิดขึ้นที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ช่วงสายวันนี้ (15 พ.ค.) หลังจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบที่ทำให้ ปชป. ต้องตกที่นั่ง "พรรคต่ำร้อย" ในการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562

ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกหัวหน้าพรรค (โหวตเตอร์) มีทั้งสิ้น 309 คน มาจาก 19 กลุ่ม แต่มาร่วมประชุม 291 คน โดยกลุ่มที่มี "พลังสูงสุด" คือ ส.ส. ทั้ง 52 คน ซึ่งมีค่าน้ำหนักในการโหวต 70% หรือคิดเป็น 1 คน ต่อ 1.346 คะแนน ขณะที่โหวตเตอร์จากกลุ่มอื่น ๆ มีค่าน้ำหนักในการโหวต 30% หรือคิดเป็น 1 คน ต่อ 0.116 คะแนน

ผลการนับคะแนนเลือกหัวหน้า ปชป. คนที่ 8

  • นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ 50.59% (135 คะแนน)
  • นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค 37.21% (82 คะแนน)
  • นายกรณ์ จาติกวณิช 8.48% (14 คะแนน)
  • นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน 3.69% (8 คะแนน)

ในระหว่างการลงคะแนน ปรากฏว่าเครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ที่ยืมมาจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีปัญหา ทำให้ต้องลงคะแนนใหม่ ผู้ลงคะแนนบางรายจึงถ่ายคลิปวิดีโอไว้เป็นหลักฐาน ทำให้ น.ต. สุธรรม ระหงษ์ รักษาการผู้อำนวยการพรรค ต้องประกาศห้ามไม่ให้มีการดำเนินการดังกล่าว ก่อนเปิดให้ลงคะแนนต่อไป

Image copyright Thai News Pix/BBC Thai
คำบรรยายภาพ ปชป. ได้ยืมเครื่องลงคะแนนเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์มาจากสำนักงาน กกต. เพื่อใช้ในการเลือกหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรค

ก่อนที่โหวตเตอร์จะได้เข้าคูหา แคนดิเดตทั้ง 4 คนได้ขึ้นแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุม โดยใช้เวลาคนละ 15 นาที เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะการนำเสนอแนวทางการกอบกู้พรรคเพื่อนำ ปชป. กลับไปเป็น "พรรคอันดับ 1 ในใจของประชาชน" อีกครั้ง

บีบีซีไทยขอสรุป "คำสำคัญ-คำมั่นสัญญา" จากบรรดาผู้ท้าชิงเก้าอี้ผู้นำ ปชป. โดยเน้น 3 ประเด็นสำคัญคือ 1. มุมมองต่อสถานะ "พรรคครึ่งร้อย" 2. แนวทางปฏิรูปพรรค และ 3. การจับขั้วทางการเมือง

Image copyright Thai News Pix/BBC Thai

นายอภิรักษ์ : เลือกอภิรักษ์ พรรคเปลี่ยน

  • พรรคครึ่งร้อย : ปชป. ได้รับเลือกตั้งน้อยลงกว่าคราวก่อนเยอะมาก จะชนะเลือกตั้งได้อย่างไร ส่วนตัวลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. 2 ครั้ง ชนะทั้ง 2 ครั้ง และเป็นรองหัวหน้าพรรค กทม. ได้ ส.ส. กทม. 28 ที่นั่ง ทำให้ ปชป. เป็นพรรคของคนไทยทั้งประเทศ ดังนั้น "ผมขอเสนอตัวให้เลือกอภิรักษ์ พรรคเปลี่ยน"
  • การปฏิรูปพรรค : เสนอแนวทาง 3 ข้อคือ 1. ดึงพลังของทุกคนมาร่วมกันทำงานโดยไม่แบ่งแยก 2. เปลี่ยนแปลงพรรค แต่ยังยึดมั่นอุดมการณ์ และนำเทคโนโลยีมาสื่อสารเชื่อมโยงกับประชาชน 3. ทำงานเปิดกว้างเชื่อมโยงเครือข่ายสาขาสมาชิกพรรค องค์กรในท้องที่ และเครือข่ายคนรุ่นใหม่
  • ขั้วการเมือง : ไม่มีการพูดถึง

นายจุรินทร์ : ปชป. ต้องเปลี่ยนอย่างมีวุฒิภาวะ

  • พรรคครึ่งร้อย : วันนี้ ปชป. เหลือแค่ 52 คน หัวหน้าพรรคต้องคิดทำอย่างไรให้เพิ่มจนมากกว่า 200 คนในอนาคต ซึ่งมีคำตอบอยู่แล้วคือ "ปชป. ต้องเป็นเอกภาพ" และย้ำว่า "การให้โอกาสผมคือการให้โอกาส ปชป. เพื่อพา ปชป. กลับไปเป็นที่ 1 ในใจของประชาชน"
  • การปฏิรูปพรรค : "ปชป. ต้องเปลี่ยนอย่างมีวุฒิภาวะ" อะไรดีต้องรักษาไว้ อะไรสมควรเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยน แต่สิ่งที่จะไม่เปลี่ยนคืออุดมการณ์ระบอบประชาธิปไตยภายใต้ระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และอุดมการณ์ซื่อสัตย์สุจริต ส่วนสิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนให้ทันโลกยุคสมัยใหม่คือนโยบายและวิสัยทัศน์ รวมถึงการบริหารจัดการภายใน
  • ขั้วการเมือง : ไม่มีการพูดถึง
Image copyright Thai News Pix/BBC Thai
คำบรรยายภาพ 4 ผู้สมัครชิงหัวหน้า ปชป. ทักทายกันก่อนการประชุมจะเริ่มต้นขึ้น

นายพีระพันธุ์ : ปชป. ต้องมีตัวตนที่แท้จริง

  • พรรคครึ่งร้อย : "ผมก็เป็นเหมือนทุกท่านที่ตกใจกับผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา แต่อย่าให้สิ่งเหล่านี้ทำให้เราท้อถอย แต่ให้เอามาก้าวไปข้างหน้า ทำให้ ปชป. เป็นพรรคหลักของประเทศต่อไป… เราต้องมีตัวตนของเราที่แท้จริง และต้องทำให้ประชาชนรู้สึกว่า ปชป. เป็นพรรคที่ประชาชนพึ่งได้"
  • การปฏิรูปพรรค : ยึดอุดมการณ์เดิม แม้รักและห่วงพรรค แต่เหนือขึ้นไปต้องรักประเทศและห่วงประชาชน และปรับเปลี่ยนแนวทางบริหารพรรค ทำให้ ปชป. "คิด-พูด-ทำแบบชาวบ้าน" และบริหารพรรคในรูปคณะกรรมการ แต่ยังเคารพหลักอาวุโส
  • ขั้วการเมือง : ถ้าได้เป็นหัวหน้าพรรคและไปร่วมรัฐบาล จะคอยดูแลพรรคและทุกข์สุขของสมาชิก

นายกรณ์ : ปชป. ต้องยึดหลักปฏิบัตินิยม

  • พรรคครึ่งร้อย : 1 เดือนที่ผ่านมามีความเข้มข้นในชีวิต และมีโอกาสได้นั่งคุยกับ ส.ส. ที่เพิ่งผ่านสนามเลือกตั้ง "นั่งหลั่งน้ำตาด้วยความเสียใจอาลัยแทนเพื่อนหลายคนที่ไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งที่ผ่านมา รวมถึงความกังวลต่ออนาคตของพรรค"
  • การปฏิรูปพรรค : "ปชป. ต้องยึดหลักปฏิบัตินิยม คือให้ความสำคัญกับการทำ กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน มีจุดยืนที่มั่นคง แต่มีความยืดหยุ่นเพื่อให้เดินไปตามแนวทางที่กำหนดไว้ และถ้ามีความเสมอต้นเสมอปลาย อธิบายได้ทุกการตัดสินใจ ก็จะทำให้ประชาชนกลับมาศรัทธา ปชป. ได้" นอกจากนี้ต้องมีการปรับปรุงการสื่อสารของพรรคใหม่ให้เท่าทันกับการพัฒนา
  • ขั้วการเมือง : หลังจากวันนี้ ปชป. จะมีการตัดสินใจที่สำคัญในการกำหนดอนาคตประเทศ เราหลีกเลี่ยงประเด็นไม่ได้ เพราะต้องพิจารณาร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล
Image copyright Thai News Pix/BBC Thai
คำบรรยายภาพ นายกรณ์ จาติกวณิช สวมกอดกับนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ แคนดิเดตเลขาธิการพรรค คู่ใจของเขา หลังพลาดตำแหน่งผู้นำพรรคคนใหม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านข่าวนี้เพิ่มเติม