ปรีดี พนมยงค์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปรีดี พนมยงค์
ปรีดี พนมยงค์

ดำรงตำแหน่ง
24 มีนาคม พ.ศ. 2489 – 23 สิงหาคม พ.ศ. 2489
สมัยก่อนหน้า พันตรี ควง อภัยวงศ์
สมัยถัดไป พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

เกิด 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443
ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเทศไทย
ถึงแก่อสัญกรรม 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 (82 ปี)
กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
สังกัดพรรค พรรคสหชีพ
สมรสกับ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
ศาสนา พุทธ
ลายมือชื่อ Thai-PM Pridi signature.png

ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (11 พฤษภาคม พ.ศ. 24432 พฤษภาคม พ.ศ. 2526) เป็นผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย 3 สมัย[1] และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ อีกหลายสมัย เป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ประศาสน์การคนแรกและคนเดียวของมหาวิทยาลัยแห่งนี้[2]

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ปรีดีเป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยต่อต้านกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงคราม[3][4][5] นอกจากนี้ท่านยังได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในรัชกาลที่ 8[6] และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องในฐานะ "รัฐบุรุษอาวุโส"[7] ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งทางการเมืองอันทรงเกียรติสูงสุดของไทย

ปรีดี พนมยงค์ ต้องยุติบทบาททางการเมืองหลังเกิดเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8 และถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว ต่อมาเกิดการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 เป็นเหตุให้ท่านต้องลี้ภัยการเมืองไปยังประเทศจีนและฝรั่งเศสรวมระยะเวลากว่า 30 ปี ไม่ได้กลับสู่มาตุภูมิอีกเลยจนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรม[8]ใน พ.ศ. 2526[9][10][11]

ในปี พ.ศ. 2542 ที่ประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 30 ขององค์การยูเนสโกกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้มีมติประกาศให้ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็น "บุคคลสำคัญของโลก" และได้ร่วมเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาลของท่าน ระหว่าง พ.ศ. 2543 - พ.ศ. 2544[12] นอกจากนี้นิตยสารเอเชียวีคยังได้เสนอชื่อของท่านเข้าชิงตำแหน่ง "Asian Of The Century" อีกด้วย [13]

เนื้อหา

[แก้] ชีวิตในวัยเยาว์

ปรีดี พนมยงค์ เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 ณ เรือนแพหน้าวัดพนมยงค์ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในครอบครัวชาวนาไทย เป็นบุตรคนที่ 2 จากจำนวนพี่น้อง 6 คน ของนายเสียง และ นางลูกจันทน์ พนมยงค์

บรรพบุรุษของปรีดีตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้วัดพนมยงค์มาเป็นเวลาช้านาน โดยที่บรรพบุรุษข้างบิดานั้นสืบเชื้อสายมาจากพระนมในสมัยอาณาจักรอยุธยา ชื่อ "ประยงค์" พระนมประยงค์เป็นผู้สร้างวัดในที่สวนของตัวเอง โดยตั้งชื่อวัดตามผู้สร้างว่า วัดพระนมยงค์ หรือ วัดพนมยงค์ กาลเวลาล่วงเลยมาจนเมื่อมีการประกาศพระราชบัญญัติขนานนามสกุล พ.ศ. 2456 ทายาทจึงได้ใช้นามสกุลว่า "พนมยงค์" และได้อุปถัมภ์วัดนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

บรรพบุรุษรุ่นปู่-ย่าของปรีดีประกอบกิจการค้าขายมีฐานะเป็นคหบดีใหญ่ แต่นายเสียงบิดาของปรีดีเป็นคนชอบชีวิตอิสระไม่ชอบประกอบอาชีพค้าขายเจริญรอยตามบรรพบุรุษ จึงหันไปยึดอาชีพกสิกรรม เริ่มต้นด้วยการทำป่าไม้ และต่อมาได้ไปบุกเบิกถางพงร้างเพื่อจับจองที่ทำนาบริเวณทุ่งหลวง อำเภอวังน้อย แต่ก็ต้องประสบกับปัญหาภัยธรรมชาติ โขลงช้างป่า และแมลงที่มารบกวนทำลายต้นข้าวทำให้ผลผลิตออกมาไม่ดี ไม่สามารถขายข้าวได้ ซ้ำร้ายรัฐบาลได้ให้สัมปทานบริษัทขุดคลองแห่งหนึ่งขุดคลองผ่านที่ดินของนายเสียงและยังเรียกเก็บค่าขุดคลอง (ดูประวัติคลองรังสิต) [14] ซึ่งบิดาของปรีดีต้องกู้เงินมาจ่ายเป็นค่ากรอกนาในอัตราไร่ละ 4 บาท แลกกับการได้ครอบครองที่ดินที่จับจองไว้จำนวน 200 ไร่ ทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวย่ำแย่ลงไปอีกต้องอดทนเป็นหนี้สินอยู่หลายปี เหตุการณ์ครั้งนั้นยังทำให้ราษฎรผู้บุกเบิกจับจองที่ดินมาก่อนต้องสูญเสียที่ดินไปเป็นจำนวนมากและกลายเป็นชาวนาผู้เช่าที่ในที่สุด[15][16]

จากการเติบโตในครอบครัวชาวนานี้เอง ปรีดีจึงได้สัมผัสรับรู้เป็นอย่างดีถึงสภาพความเป็นอยู่และความทุกข์ยากของชนชั้นชาวนาทั้งหลายที่ฝากชีวิตไว้กับความไม่แน่นอนของดินฟ้าอากาศ ราคาพืชผลในตลาด และดอกเบี้ยของนายทุน นอกจากนี้ยังต้องพบกับการถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าที่ดินศักดินาที่กระทำผ่านการเก็บภาษีและการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน ประสบการณ์เหล่านี้เป็นแรงกระตุ้นให้ปรีดีคิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของประเทศในเวลาต่อมา

ปรีดีเมื่อครั้งเยาว์วัยเป็นเด็กหัวดี ช่างคิด ช่างสังเกตวิเคราะห์ และเริ่มมีความสนใจทางการเมืองมาตั้งแต่อายุเพียง 11 ปี จากเหตุการณ์ปฏิวัติในประเทศจีนที่นำโดย ดร.ซุน ยัตเซ็น และเหตุการณ์กบฏ ร.ศ. 130 ในสยาม ซึ่งปรีดีได้แสดงความเห็นอกเห็นใจอย่างมากต่อผู้ที่ถูกลงโทษในครั้งนั้น[17] ถึงแม้ว่าปรีดีจะเกิดในครอบครัวชาวนาแต่บิดาของท่านก็เป็นผู้ใฝ่รู้และเล็งเห็นประโยชน์ของการศึกษา จึงสนับสนุนให้บุตรได้รับการศึกษาที่ดีมาโดยตลอด

เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ฝ่ายภรรยานายปรีดี ได้เคยกล่าวถึงนายเสียง พนมยงค์ ว่า

Cquote1.svg

เป็นผู้สนใจในกสิกรรม และที่สนใจที่สุดคือการทำนา ดูเหมือนว่าพบกันกับข้าพเจ้าครั้งไรที่จะไม่พูดกันถึงเรื่องทำนาเป็นไม่มี แต่ถึงว่าจะฝักใฝ่ในการทำนาอยู่มากก็จริง นายเสียง พนมยงค์ มิได้ละเลยที่จะสงเคราะห์ และให้การศึกษาแก่บุตรเลย พยายามส่งบุตรเข้าศึกษาเล่าเรียน...[18]

Cquote2.svg

[แก้] การศึกษา

ปรีดีเริ่มศึกษาหนังสือไทยที่บ้านครูแสง ตำบลท่าวาสุกรี และสำเร็จการศึกษาในระดับประถมที่โรงเรียนวัดศาลาปูน อำเภอกรุงเก่า จากนั้นไปศึกษาชั้นมัธยมเตรียมที่โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร แล้วย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า หรือปัจจุบันคือ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย จนสอบไล่ได้ชั้นมัธยม 6 (ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดสำหรับหัวเมือง) แล้วไปศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย อีก 6 เดือน จึงลาออกเพื่อกลับไปช่วยบิดาทำนา

พ.ศ. 2460 เข้าศึกษาที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม และศึกษาภาษาฝรั่งเศสที่เนติบัณฑิตยสภากับ อาจารย์เลเดแกร์ (E.Ladeker) ที่ปรึกษาศาลต่างประเทศ จนสอบไล่วิชากฎหมายชั้นเนติบัณฑิตได้ ใน พ.ศ. 2462 แต่ตามข้อบังคับสมัยนั้นยังเป็นเนติบัณฑิตไม่ได้เพราะอายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ ต้องรอจนอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ใน พ.ศ. 2463 จึงได้เป็นสมาชิกสามัญแห่งเนติบัณฑิตยสภา

ต่อมาได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงยุติธรรมให้ทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส โดยเข้าศึกษาวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยกอง (Université de Caen) สอบไล่ได้ปริญญารัฐเป็น "บาเชอลิเอร์" กฎหมาย (Bachelier en Droit) และได้ปริญญารัฐเป็น "ลิซองซิเอ" กฎหมาย (Licencié en Droit)

หลังจากศึกษาสำเร็จในระดับปริญญาโทแล้ว ปรีดีได้ย้ายไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกสาขานิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยปารีส (Université de Paris) จนสำเร็จใน พ.ศ. 2469 ด้วยคะแนนเกียรตินิยมดีมาก (Trés Bien) นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ปริญญาเอกแห่งรัฐ (Doctorat d'État) เป็น "ดุษฎีบัณฑิตกฎหมาย" (Docteur en Droit) ฝ่ายนิติศาสตร์ (Sciences Juridiques) [19] นอกจากนี้ท่านยังสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงในสาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง (Diplôme d'Etudes Supérieures d'Economie Politique) อีกด้วย[20]

[แก้] การสมรสและครอบครัว

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้สมรสกับ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ (สกุลเดิม: ณ ป้อมเพชร์) ธิดา มหาอำมาตย์ตรี พระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร) กับ คุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (สุวรรณศร) เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471 มีบุตร-ธิดาด้วยกันทั้งหมด 6 คน คือ

[แก้] หน้าที่การงานก่อนเข้าสู่การเมือง

เมื่อกลับถึงกรุงเทพมหานคร ใน พ.ศ. 2470 ปรีดีเริ่มทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาประจำกระทรวงยุติธรรม ต่อมา ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมายและได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงประดิษฐ์มนูธรรม" (พ.ศ. 2471) ต่อมาใน พ.ศ. 2475 ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการประจำกรมร่างกฎหมาย[21]

ในช่วงที่รับราชการในกระทรวงยุติธรรมนี้ ปรีดีได้รวบรวมกฎหมายไทยตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในสภาพกระจัดกระจายให้มารวมเป็นเล่มเดียว ใช้ชื่อว่า “ประชุมกฎหมายไทย” หนังสือเล่มนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากและได้รับการตีพิมพ์ที่โรงพิมพ์นิติสาส์นซึ่งเป็นกิจการส่วนตัวของท่านเอง[22]

นอกจากงานที่กรมร่างกฎหมายแล้ว ท่านยังเป็นอาจารย์ผู้สอนที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรมอีกด้วย ในชั้นแรกได้สอนวิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ว่าด้วยลักษณะหุ้นส่วน บริษัทและสมาคม ต่อมาได้สอนวิชากฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล ลูกศิษย์ของท่านในช่วงดังกล่าวนี้ได้แก่ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายจิตติ ติงศภัทิย์ นายดิเรก ชัยนาม นายเสริม วินิจฉัยกุล นายเสวต เปี่ยมพงศ์สานต์ นายไพโรจน์ ชัยนาม นายจินดา ชัยรัตน์ นายโชติ สุวรรณโพธิ์ศรี และนายศิริ สันตะบุตร

ใน พ.ศ. 2474 ปรีดีเป็นคนแรกที่เริ่มสอนวิชากฎหมายปกครอง (Droit Administratif) [23] กล่าวกันว่าวิชากฎหมายปกครองนี้ เป็นวิชาที่สร้างชื่อเสียงแก่ปรีดีเป็นอย่างมาก เพราะสาระของวิชานี้ เป็นส่วนหนึ่งของวิชากฎหมายมหาชน ซึ่งอธิบายถึงหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยอันเป็นหัวใจของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในขณะที่ประเทศไทยยังคงปกครองอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์[24]

ในขณะเดียวกัน ก็ได้อาศัยการสอนที่โรงเรียนดังกล่าว ปลุกจิตสำนึกนักศึกษาให้สนใจเป็นขั้น ๆ ถึงความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนระบบการปกครองจากระบบเดิมให้เป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินประชาธิปไตย นอกจากนี้ยังได้เปิดอบรมทบทวนวิชากฎหมายที่บ้านถนนสีลมเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์กับนักศึกษาให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น จึงมีลูกศิษย์ลูกหาเข้าร่วมเป็นสมาชิกและผู้สนับสนุนคณะราษฎรหลายคน[25][26]

[แก้] บทบาททางการเมืองก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง

[แก้] การเปลี่ยนแปลงการปกครอง

หมุดทองเหลือง บนลานพระบรมรูปทรงม้า ด้านสนามเสือป่า ได้มีการจารึกไว้ว่า "ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎร ได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ"

ในขณะที่อยู่ในประเทศฝรั่งเศส นายปรีดี พนมยงค์ ได้ร่วมกับเพื่อนอีก 6 คน ประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรกเพื่อก่อตั้ง "คณะราษฎร" เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 ณ หอพักแห่งหนึ่งย่าน "Rue Du Sommerard" กรุงปารีส ผู้ร่วมประชุมประกอบด้วย ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี, ร.ท.แปลก ขิตตะสังคะ, ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี, ภก.ตั้ว ลพานุกรม, หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี), นายแนบ พหลโยธิน โดยมีวัตถุประสงค์คือเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ[27] และการดำเนินเพื่อให้สยามบรรลุหลัก 6 ประการ คือ

  1. รักษาความเป็นเอกราชของชาติในทุกด้าน ทั้งในทางการเมือง การศาล และทางเศรษฐกิจ
  2. รักษาความปลอดภัยในชาติ ลดการประทุษร้ายต่อกัน
  3. บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ
  4. ให้ราษฎรมีสิทธิเท่าเทียมกัน
  5. ให้ราษฎรมีเสรีภาพ ความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลักการข้ออื่น
  6. ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ปรีดีร่วมกับสมาชิกคณะราษฎรที่ประกอบด้วยกลุ่มทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จโดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อ

หลังจากนั้นคณะราษฎรโดยนายปรีดี พนมยงค์ ได้จัดให้มีการประชุมระหว่างคณะราษฎร และเสนาบดี ปลัดทูลฉลอง ขึ้น ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อชี้แจง จุดประสงค์ หลักการระบอบใหม่ กฎหมายพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินโดยย่อ และขอความร่วมมือในการบริหารราชการแผ่นดินต่อไป[28][29][30][26]

[แก้] การวางรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นายปรีดี พนมยงค์ ถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดวางรูปแบบการปกครองในระบอบใหม่ เป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ โดยเป็นผู้ร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475[31] ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พร้อมกันนั้นยังมีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 อันเป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของสยาม[32] ที่ใช้เป็นบรรทัดฐานของการปกครองในระบอบใหม่

ในขณะเดียวกัน ปรีดีก็ได้รับแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นเลขาธิการคนแรกของสภาผู้แทนราษฎรสยาม ด้วยตำแหน่งดังกล่าว ทำให้ท่านมีบทบาทด้านนิติบัญญัติในการวางหลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคให้แก่ราษฎร โดยเป็นผู้ยกร่างพระราชบัญญัติการเลือกตั้งฉบับแรก และเป็นผู้ริเริ่มให้สตรีมีสิทธิ์ในการออกเสียงเลือกตั้งและสมัครรับเลือกตั้งผู้แทนราษฎรได้เช่นเดียวกับเพศชาย[33]

จากการที่ได้ไปศึกษาในประเทศฝรั่งเศส ปรีดีจึงสนับสนุนแนวคิดเรื่องศาลปกครอง และก็เป็นผู้นำเอาวิชา "กฎหมายปกครอง" (Droit Administratif) มาสอนเป็นคนแรก ณ โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม แนวคิดดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความต้องการให้ราษฎรสามารถตรวจสอบฝ่ายปกครองได้ และมีสิทธิในทางการเมืองเท่าเทียมกับข้าราชการอย่างแท้จริง

เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วท่านจึงผลักดันให้รัฐบาลยกฐานะกรมร่างกฎหมายและสถาปนาขึ้นเป็น "คณะกรรมการกฤษฎีกา"[34] ทำหน้าที่ยกร่างกฎหมายและเป็นที่ปรึกษากฎหมายของแผ่นดิน ทั้งยังพยายามผลักดันให้ "คณะกรรมการกฤษฎีกา" ทำหน้าที่ "ศาลปกครอง" อีกด้วย แต่ก็ทำไม่สำเร็จ เนื่องจากวัฒนธรรมในทางอำนาจนิยมของรัฐไทยยังมีอยู่หนาแน่น ความพยายามในการตั้งศาลปกครองของปรีดีจึงประสบอุปสรรคมาโดยตลอด[35]

ในปี พ.ศ. 2476 ได้เสนอ "เค้าโครงการเศรษฐกิจ" หรือที่เรียกกันว่า "สมุดปกเหลือง" ต่อรัฐบาลเพื่อใช้เป็นนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ[36][37] ตามเจตนารมณ์หลัก 6 ประการของคณะราษฎร โดยดำเนินเศรษฐกิจแบบสหกรณ์ แต่ไม่ทำลายกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชน ซึ่งท่านได้ชี้แจงไว้ว่า

ปรีดีและครอบครัวขณะเยี่ยมเยียนราษฎร จังหวัดพระตะบอง พ.ศ. 2488
Cquote1.svg

การคิดที่จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรนี้ ข้าพเจ้าได้เพ่งเล็งถึงสภาพอันแท้จริง ตลอดจนนิสสัยใจคอของราษฎรส่วนมากว่า การที่จะส่งเสริมให้ราษฎรได้มีความสุขสมบูรณ์นั้น ก็มีอยู่ทางเดียว ซึ่งรัฐบาลจะต้องเป็นผู้จัดการเศรษฐกิจเสียเอง โดยแบ่งการเศรษฐกิจนั้นออกเป็นสหกรณ์ต่าง ๆ ความคิดที่ข้าพเจ้าได้มีอยู่เช่นนี้ ไม่ใช่เป็นด้วยข้าพเจ้าได้มีอุปาทานผูกมั่นอยู่ในลัทธิใด ๆ ข้าพเจ้าได้หยิบเอาส่วนที่ดีของลัทธิต่าง ๆ ที่เห็นว่าเหมาะสมแก่ประเทศสยามแล้ว จึงได้ปรับปรุงยกขึ้นเป็นเค้าโครงการ"[38]

Cquote2.svg

ปรีดียังได้วางหลักการประกันสังคม คือ ให้การประกันแก่ราษฎรทั้งหลายตั้งแต่เกิดจนตาย ที่จะได้รับความอุปการะจากรัฐบาล หากไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนในหมวดที่ 3 แห่งเค้าโครงการเศรษฐกิจ ในชื่อร่าง "พ.ร.บ.ว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร"[39] แต่แนวความคิดดังกล่าวถูกมองว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และถูกคัดค้านอย่างหนักจากกลุ่มอนุรักษ์นิยม[37][26][40]

[แก้] การกระจายอำนาจการปกครอง

ปรีดีเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการร่างพระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 เพื่อให้รูปแบบและระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น

เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (พ.ศ. 2476 - พ.ศ. 2478) ก็ได้ริเริ่มให้มีการจัดตั้ง "เทศบาล" ทั่วราชอาณาจักรสยาม ตาม พ.ร.บ.เทศบาล โดยมุ่งหวังให้การปกครองทัองถิ่นเป็นรากฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย และได้กวดขันให้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านและกำนันตาม พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ และจัดตั้งกรมโยธาเทศบาลเพื่อสอดคล้องกับการปกครองเทศบาลและสร้างทางท้องที่หลายจังหวัด นอกจากนี้ท่านยังได้สร้างโรงพยาบาลหลายแห่ง รวมทั้งจัดให้มีเรือพยาบาลตามลำน้ำโขงโดยใช้สลากกินแบ่งของท้องที่ สร้างฝายและพนังหลายแห่งเพื่อช่วยชาวนาและเกษตรกร สร้างทัณฑนิคมเพื่อให้ผู้พ้นโทษแล้วมีที่ดินของตน ฯลฯ[41][42]

[แก้] ด้านการศึกษา

ในขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปรีดี พนมยงค์ ได้สถาปนา "มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง" (มธก.) ขึ้นเมื่อ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 และได้รับแต่งตั้งเป็น "ผู้ประศาสน์การ"[43] (พ.ศ. 2477 - พ.ศ. 2490) คนแรกและคนเดียวของมหาวิทยาลัย เพื่อสนองเจตนารมณ์ข้อสุดท้ายของหลัก 6 ประการที่ว่า "จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร" ด้วยเห็นว่าในขณะนั้น สถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่มีอยู่มิได้เปิดกว้างเพื่อชนส่วนใหญ่ ดังนั้นมหาวิทยาลัยใหม่ตามแนวความคิดของท่าน จึงเป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดกว้างเพื่อราษฎร เป็นตลาดวิชา ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการศึกษาเล่าเรียนเท่าเทียมกัน[44] ปรีดีกล่าวไว้ในวันสถาปนามหาวิทยาลัยว่า

Cquote1.svg

มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเห็นความจำเป็นในข้อนี้ จึงได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น[45]

Cquote2.svg

มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในระยะแรกมิได้ใช้งบประมาณแผ่นดิน หากอาศัยเงินที่มาจากค่าสมัครเข้าเรียนของนักศึกษาทั่วราชอาณาจักรและดอกผลที่ได้มาจากธนาคารแห่งเอเชียเพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม ซึ่งปรีดีเป็นผู้ก่อตั้ง โดยให้มหาวิทยาลัยถือหุ้นถึง 80%[46] นอกจากนี้ปรีดียังได้ยกกิจการโรงพิมพ์นิติสาส์นของท่านให้แก่มหาวิทยาลัยเพื่อพิมพ์เอกสารตำราคำสอนแก่นักศึกษา[47] นับว่าเป็นสถาบันที่มีเสรีภาพทางวิชาการและเป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐอย่างแท้จริง มหาวิทยาลัยดังกล่าวได้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของไทย ยิ่งไปกว่านั้นยังมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านสงครามและต่อสู้เพื่อสันติภาพ โดยมหาวิทยาลัยเป็นที่ตั้งศูนย์บัญชาการใหญ่ของขบวนการเสรีไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

ภายหลังจากที่ปรีดีต้องลี้ภัยทางการเมือง รัฐบาลได้เปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัย โดยตัดคำว่า "วิชา" และ "การเมือง" ออก เหลือเพียงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อไม่ให้นักศึกษายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ทั้งยังทำการขายหุ้นทั้งหมดของมหาวิทยาลัย จนไม่มีความสามารถที่จะเลี้ยงตัวเองได้ กลายเป็นมหาวิทยาลัยปิดที่ต้องอาศัยงบประมาณจากรัฐบาล[48][49]

โบกมือทักทายประชาชนจำนวนมากที่มารอต้อนรับภายหลังจากเดินทางรอบโลกเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับมิตรประเทศเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490

[แก้] ด้านการต่างประเทศ

ในเวลานั้นสยามยังอยู่ภายใต้บังคับของสนธิสัญญาระหว่างประเทศอันไม่เป็นธรรม ที่รัฐบาลสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ทำไว้กับประเทศต่าง ๆ ถึง 13 ประเทศ ในนามของสนธิสัญญาทางไมตรีพาณิชย์และการเดินเรือ

เมื่อภารกิจด้านการปกครองในกระทรวงมหาดไทยเข้ารูปเข้ารอยแล้ว ปรีดี พนมยงค์ ได้ก้าวเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (พ.ศ. 2478 - พ.ศ. 2481) เป็นผู้นำในการทวงอำนาจอธิปไตยของประเทศกลับคืนมา โดยยึดหลักเอกราชทั้งในทางการเมือง การศาล และเศรษฐกิจ ในระยะเวลา 3 ปีที่ดำรงตำแหน่ง ท่านได้ใช้ความพยายามทางการทูตเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคที่สยามได้ทำไว้กับประเทศมหาอำนาจ 12 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ สเปน โปรตุเกส เดนมาร์ก สวีเดน อิตาลี เบลเยียม และนอร์เวย์ ตามลำดับ ซึ่งประเด็นหลักในการแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคมีอยู่ 2 ประเด็น คือ

  1. สิทธิสภาพนอกอาณาเขต (extraterritorialiry) คือคนในบังคับของต่างประเทศไม่ต้องขึ้นต่อศาลสยาม ทำให้สยามสูญเสียเอกราชในทางศาล
  2. ภาษีร้อยชักสาม คือรัฐบาลสยามสามารถเรียกเก็บภาษีศุลกากรขาเข้าได้เพียงไม่เกินร้อยละ 3 เท่านั้น ทำให้สยามขาดรายได้เข้าประเทศเท่าที่ควรจะได้ นับเป็นการสูญเสียเอกราชในทางเศรษฐกิจ[50]

ปรีดีได้ใช้ยุทธวิธีบอกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับประเทศคู่สัญญาเหล่านั้น และได้ยื่นร่างสนธิสัญญาฉบับใหม่โดยอาศัยหลัก "ดุลยภาพแห่งอำนาจ" จนสามารถยกเลิกสนธิสัญญาดังกล่าวได้สำเร็จ ทำให้สยามได้เอกราชทางศาลและเอกราชทางเศรษฐกิจกลับคืนมา และมีสิทธิเสมอภาคกับนานาประเทศทุกประการ[51][52]

หนังสือพิมพ์สเตรตไทม์ของสิงคโปร์ กล่าวยกย่องปรีดีไว้ในบทบรรณาธิการว่า "ดร. ปรีดี พนมยงค์ เสมือนหนึ่งเป็น แอนโทนี อีเดน" (รัฐมนตรีต่างประเทศคนสำคัญของรัฐบาลอังกฤษ) [28]

[แก้] ด้านการคลัง

เมื่อ ปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (พ.ศ. 2481 - พ.ศ. 2484) ได้ตั้งปณิธานที่จะใช้เครื่องมือทางการคลังสร้างความมั่นคงให้แก่ชาติ สร้างความเป็นธรรมและความสุขสมบูรณ์แก่ราษฎร[36] โดยแถลงต่อรัฐสภาว่าจะปรับปรุงระบบการเก็บภาษีให้เป็นธรรมแก่สังคม และได้บรรลุภารกิจในด้านการจัดเก็บภาษีอากรที่สำคัญ ดังนี้

  1. ช่วยเหลือราษฎรที่ต้องแบกรับภาษีที่ไม่เป็นธรรม ด้วยการยกเลิกเงินภาษีรัชชูปการ และอากรค่านา (เงินส่วย) ซึ่งชาวนาต้องเสียแก่เจ้าศักดินา เป็นต้น
  2. จัดระบบเก็บภาษีอากรที่เป็นธรรมในระบอบประชาธิปไตยโดนสถาปนา "ประมวลรัษฎากร" (Revenue Code) เป็นแบบฉบับครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งรวมบทบัญญัติเกี่ยวกับภาษีอากรทางตรง
  3. ออก พรบ.ภาษีเงินได้ ซึ่งเป็นภาษีก้าวหน้า กล่าวคือผู้ใดมีรายได้มากก็เสียภาษีมากหากมีรายได้น้อยก็เสียภาษีน้อย และผู้ใดบริโภคเครื่องบริโภคที่ไม่จำเป็นแก่การดำรงชีพก็ต้องเสียภาษีอากรมากตามลำดับ[53][54]

ในด้านการสร้างเสถียรภาพทางการเงินและการคลังของประเทศ ปรีดีคาดการณ์ว่าอาจเกิดสงครามโลกครั้งที่สองขึ้นในไม่ช้า เงินปอนด์สเตอร์ลิงซึ่งสยามประเทศใช้เป็นทุนสำรองเงินตราอาจจะลดค่าลงได้ ท่านพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วเห็นว่าภายใต้สถานการณ์ของโลกที่มีความไม่แน่นอนนั้น การเก็บรักษาทุนสำรองของชาติเอาไว้เป็นทองคำแท่งน่าจะเป็นนโยบายที่เหมาะสม และเห็นว่าอังกฤษซึ่งอยู่ในสถานะสงครามกับเยอรมนีในยุโรปแล้วตั้งแต่ปี 2482 มีแนวโน้มว่าจะต้องเผชิญหน้ากับญี่ปุ่นในเอเชียแปซิฟิกด้วยในอนาคตอันใกล้ อันจะมีผลกระทบต่อสถานภาพของเงินปอนด์สเตอร์ลิงอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น จึงได้จัดการเอาเงินปอนด์ที่เป็นเงินทุนสำรองเงินตราจำนวนหนึ่งซื้อทองคำแท่งหนัก 1 ล้าน ออนซ์ ในราคาออนซ์ละ 35 เหรียญสหรัฐฯ นำมาเก็บไว้ในห้องนิรภัยกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ยังได้โอนเงินปอนด์เพื่อแลกซื้อเงินดอลลาร์และทองคำแท่งเก็บไว้ที่สหรัฐอเมริกาอีกส่วนหนึ่ง ทำให้เสถียรภาพของค่าเงินบาทในเวลานั้นมั่นคงที่สุดแม้ว่าเป็นระยะใกล้จะเกิดสงครามเต็มทีแล้ว ทองคำแท่งจำนวนดังกล่าวยังคงเก็บรักษาไว้เป็นทุนสำรองเงินบาทอยู่จนทุกวันนี้[55][56] (ในปัจจุบันทองคำในตลาดโลกมีมูลค่าราว 1,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อออนซ์)

เมื่อได้ปรับปรุงระบบภาษีอากรให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคมขึ้นในระดับหนึ่งแล้ว อีกทั้งระบบการเงินของประเทศก็มีความมั่นคงด้วยทุนสำรองเงินตราอันประกอบด้วยทองคำและเงินตราต่างประเทศในสกุลที่ทั่วโลกยอมรับ ปรีดีในฐานะผู้รับผิดชอบบริหารนโยบายการเงินการคลังของประเทศ ก็ได้รื้อฟื้นเรื่องการจัดตั้งธนาคารกลางหรือธนาคารแห่งชาติ ซึ่งได้เคยปรารภไว้แล้วใน “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” มาพิจารณาดำเนินการอย่างจริงจัง โดยจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทยขึ้นก่อน และเร่งฝึกพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ให้พร้อมในการบริหารธนาคารชาติ ต่อมาจึงได้จัดตั้ง "ธนาคารชาติไทย" ขึ้น ในปี พ.ศ. 2483 หรือต่อมารู้จักกันในนาม "ธนาคารแห่งประเทศไทย"[57][58] เพื่อทำหน้าที่เป็นธนาคารชาติของรัฐโดยสมบูรณ์

[แก้] บทบาทในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองจะอุบัติขึ้น นายปรีดี พนมยงค์ เล็งเห็นว่าลัทธิเผด็จการทหารกำลังจะจุดชนวนให้เกิดสงครามโลก จึงอำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง "พระเจ้าช้างเผือก"[59] เพื่อสื่อทัศนะสันติภาพและคัดค้านการทำสงครามผ่านไปยังนานาประเทศ โดยแสดงจุดยืนอย่างแจ่มชัดด้วยพุทธภาษิตที่ปรากฏในภาพยนตร์ที่ว่า "นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ" (ไม่มีสุขใดเสมอด้วยความสงบสันติ) ยิ่งไปกว่านั้นท่านยังสื่อให้เห็นว่าชาวสยามพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อต่อด้านสงครามรุกรานอย่างมีศักดิ์ศรี[60]

[แก้] ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ธงประจำตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สำหรับใช้เป็นเกียรติยศของผู้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484 สภาผู้แทนราษฎรมีมติแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในรัชกาลที่ 8 ขึ้นใหม่ แทนเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2481 ประกอบด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และนายปรีดี พนมยงค์[61] ต่อมา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงลาออกจากตำแหน่ง สภาผู้แทนราษฎรจึงมีมติแต่งตั้งนายปรีดี พนมยงค์ เป็น "ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" แต่ผู้เดียว (1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 - 20 กันยายน พ.ศ. 2488) [6] และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อไปอีก เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไม่สามารถเสด็จนิวัติประเทศไทยได้[62]

ปลายปี พ.ศ. 2484 สงครามมหาเอเชียบูรพาปะทุขึ้นเมื่อกองทัพญี่ปุ่นเปิดฉากโจมตีฐานทัพเรือเพิร์ลฮาร์เบอร์ของสหรัฐอเมริกา และรวมไปถึงดินแดนในครอบครองของอังกฤษและเนเธอร์แลนด์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อมา เช้ามืดวันที่ 8 ธันวาคม ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกตามแนวชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย และส่งกองกำลังภาคพื้นดินบุกเข้าประเทศไทยทางอินโดจีนฝรั่งเศส รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ตกลงทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นเพื่อให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านแผ่นดินไทย ในที่สุดก็ร่วมวงไพบูลย์กับญี่ปุ่น และประกาศสงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 อันเป็นการละเมิดต่อประกาศพระบรมราชโองการให้ปฏิบัติตามความเป็นกลาง พ.ศ. 2482[63][64][65]

[แก้] หัวหน้าขบวนการเสรีไทย

ฝ่ายอังกฤษจึงประกาศสงครามกับไทยเพื่อเป็นการตอบโต้ อย่างไรก็ตาม ปรีดี พนมยงค์ ไม่เห็นด้วยกับการให้ญี่ปุ่นละเมิดอธิปไตยและแสดงจุดยืนให้ปรากฏโดยเป็นผู้นำในการจัดตั้งองค์การต่อต้านญี่ปุ่น หรือต่อมาเรียกว่า "ขบวนการเสรีไทย" ประกอบด้วยคนไทยทุกชั้นวรรณะ ทั้งที่อยู่ในประเทศและอยู่ต่างประเทศ ท่านไม่ยอมลงนามในประกาศสงครามนั้นด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่า หากลงนามไปแล้วก็ยากที่จะให้ประเทศสัมพันธมิตรเชื่อถือการปฏิบัติการของขบวนการเสรีไทย[66][64][67]

กระแสความไม่พอใจต่อการตัดสินใจของรัฐบาลจอมพล ป. ได้พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในหมู่ชนทุกเหล่า แต่รัฐบาลถือว่าตนเองมีความชอบธรรมในการปราบปรามผู้ที่ไม่เห็นด้วย อีกทั้งกองทัพญี่ปุ่นที่เข้ามาประจำการในประเทศ ก็ใช้ท่าทีที่แข็งกร้าวต่อผู้ที่ต้องสงสัยว่าดำเนินกิจกรรมต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น ดังนั้นปฏิบัติการต่อต้านรัฐบาลและญี่ปุ่นผู้รุกรานจึงต้องเป็นงาน "ใต้ดิน" ที่ปิดลับ[68]

ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในรหัสนามว่า "รู้ธ" (Ruth) ต้องทำงานเสี่ยงตายในสองบทบาทตลอดเวลา 3 ปีกว่าของสงครามมหาเอเชียบูรพา โดยถือความลับสุดยอดเป็นหัวใจของการปฏิบัติงาน[69][70] ทั้งนี้ก็เพื่อให้ภารกิจของเสรีไทยบรรลุเป้าหมายให้ได้ คือ

  1. ต่อสู้กับญี่ปุ่นผู้รุกราน
  2. ปฏิบัติการให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองเจตนารมณ์ที่แท้จริงของราษฎรไทย
  3. ให้สัมพันธมิตรรับรองว่าประเทศไทยไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงครามร่วมกับญี่ปุ่น

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2488 ปรีดีแจ้งให้สัมพันธมิตรทราบว่า เสรีไทยจำนวน 8 หมื่นคนทั่วประเทศพร้อมที่จะลุกฮือขึ้นเพื่อทำสงครามกับทหารญี่ปุ่นอย่างเปิดเผย แต่ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ร้องขอให้ชะลอแผนนี้ไว้ก่อน ด้วยเหตุผลทางแผนยุทธศาสตร์ของฝ่ายสัมพันธมิตร[71] ในที่สุดฝ่ายญี่ปุ่นก็ยอมแพ้สงครามอย่างไม่มีเงื่อนไขเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2488

เมื่อญี่ปุ่นได้ยอมจำนน ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงได้แจ้งให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยว่า สัมพันธมิตรไม่ถือว่าประเทศไทยเป็นผู้แพ้สงคราม ประเทศไทยไม่ต้องถูกยึดครอง รัฐบาลไทยไม่ต้องยอมจำนน กองทัพไทยไม่ต้องวางอาวุธ และให้รีบออกแถลงการณ์ ปฏิเสธการประกาศสงครามระหว่างไทยกับสัมพันธมิตร เพื่อลบล้างข้อผูกพันทั้งหลายที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำไว้กับญี่ปุ่น[64][72][73]

[แก้] ประกาศสันติภาพ

พลพรรคเสรีไทยเดินสวนสนาม
ปรีดี พนมยงค์ เป็นประธานในพิธีสวนสนามของพลพรรคเสรีไทย

วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ออกประกาศสันติภาพในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล[74] ว่าการประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 เป็น "โมฆะ" ไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย และประเทศไทยพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับสหประชาชาติในการสถาปนาสันติภาพในโลกนี้ ต่อมารัฐบาลได้ประกาศให้วันที่ 16 สิงหาคม ของทุกปีเป็น "วันสันติภาพไทย"[75][76]

ภายหลังจากการประกาศสันติภาพ ตัวแทนพลพรรคเสรีไทยจากทั่วประเทศกว่า 8,000 นาย ได้เดินสวนสนามผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และหัวหน้าขบวนการเสรีไทยเป็นประธาน เมื่อสิ้นสุดภารกิจลงแล้ว ท่านได้ประกาศยกเลิกขบวนการเสรีไทย[3] โดยมีสุนทรพจน์บางตอนว่า

Cquote1.svg

...ในโอกาสนี้ ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะแสดงเปิดเผยในนามของสหายทั้งหลายถึงเจตนาอันบริสุทธิ์ซึ่งเราทั้งหลายได้ถือเป็นหลักในการรับใช้ชาติครั้งนี้ว่า เรามุ่งจะทำหน้าที่ในฐานะที่เราเกิดมาเป็นคนไทย ซึ่งจะต้องสนองคุณชาติ เราทั้งหลายไม่ได้มุ่งหวังทวงเอาตำแหน่งในราชการมาเป็นรางวัลตอบแทน การกระทำทั้งหลายไม่ใช่ทำเพื่อประโยชน์ของบุคคลหรือหมู่คณะใด แต่ได้ทำไปเพื่อประโยชน์ของคนไทยทั้งมวล...

...วัตถุประสงค์ของเราที่ทำงานคราวนี้มีจำกัดดังกล่าวแล้ว และมีเงื่อนเวลาสุดสิ้น กล่าวคือเมื่อสภาพการเรียบร้อยลงแล้ว องค์การเหล่านี้ก็จะเลิก และสิ่งซึ่งจะเหลืออยู่ในความทรงจำของเราทั้งหลาย ก็คือมิตรภาพอันดีในทางส่วนตัวที่เราได้ร่วมรับใช้ชาติด้วยกันมา โดยปราศจากความคิดที่จะเปลี่ยนสภาพองค์การเหล่านี้ให้เป็นคณะหรือพรรคการเมือง...ผู้ที่ได้ร่วมงานกับข้าพเจ้าคราวนี้ ถือว่าทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ชาติ มิได้ถือว่าเป็นผู้กู้ชาติ การกู้ชาติเป็นการกระทำของคนไทยทั้งปวง ซึ่งแม้ผู้ไม่ได้ร่วมในองค์การนี้โดยตรง ก็ยังมีอีกประมาณ 17 ล้านคนที่ได้กระทำโดยอิสระในการต่อต้านด้วยวิถีทางที่เขาเหล่านั้นสามารถจะทำได้ หรือเอากำลังใจช่วยขับไล่ให้ญี่ปุ่นพ้นไปจากประเทศไทยโดยเร็วก็มี

Cquote2.svg

เมื่อบ้านเมืองสงบเรียบร้อยดีแล้วนายปรีดี พนมยงค์ จึงขออัญเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัติประเทศไทยเพื่อทรงบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เองต่อไป โดยได้เสด็จกลับถึงพระนครวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอบนายปรีดีที่ไปเฝ้ารับเสด็จดังนี้

Cquote1.svg

ท่านปรีดี พนมยงค์

ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้กลับมาสู่พระนคร เพื่อบำเพ็ญพระกรณียกิจตามหน้าที่ของข้าพเจ้าต่อประชาชนและประเทศชาติ ข้าพเจ้าขอขอบใจท่านเป็นอันมากที่ได้ปฏิบัติกรณียกิจแทนข้าพเจ้า ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อข้าพเจ้าและประเทศชาติ ข้าพเจ้าขอถือโอกาสนี้ แสดงไมตรีจิตในคุณงามความดีของท่าน ที่ส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศชาติ และช่วยบำรุงรักษาความเป็นเอกราชของชาติไว้[77]

Cquote2.svg

[แก้] บทบาททางการเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ ธันวาคม พ.ศ. 2488

ด้วยคุณูปการที่เป็นผู้นำในการกอบกู้บ้านเมืองในยามคับขัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องนายปรีดี พนมยงค์ ไว้ในฐานะ "รัฐบุรุษอาวุโส"[7] ซึ่งถือได้ว่าเป็นตำแหน่งทางการเมืองอันทรงเกียรติสูงสุด ดังที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ว่า

Cquote1.svg

โดยที่ทรงพระราชดำริเห็นว่านายปรีดี พนมยงค์ ได้เคยรับหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในตำแหน่งสำคัญ ๆ มาแล้วหลายตำแหน่ง จนในที่สุดได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และปรากฏว่าตลอดเวลาที่นายปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งเหล่านี้ ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและด้วยความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ ทั้งได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ในความปรีชาสามารถ บำเพ็ญคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นเอนกประการ

จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมยกย่องนายปรีดี พนมยงค์ ไว้ในฐานะ รัฐบุรุษอาวุโส และให้มีหน้าที่รับปรึกษากิจราชการแผ่นดิน เพื่อความวัฒนาถาวรของชาติสืบไป ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

Cquote2.svg

[แก้] ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2489 นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[1] ท่านได้ใช้ความรู้ความสามารถเจรจาต่อรองกับฝ่ายสัมพันธมิตรในปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงกับอังกฤษ เรื่องสัญญาสมบูรณ์แบบ และการเจรจาให้รัฐบาลสหรัฐฯ ยกเลิกคำสั่งเพิกถอนเงินซึ่งได้ถูกกักกันไว้ในสหรัฐฯ ทำให้ประเทศไทยสามารถแก้ไขสถานะผู้แพ้สงครามได้สำเร็จอย่างละมุนละม่อม สามารถเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติลำดับที่ 55[78]

วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จสวรรคต รัฐบาลนายปรีดีที่เพิ่งชนะเลือกตั้งหลังการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 จึงขอความเห็นชอบต่อรัฐสภาให้อัญเชิญพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์ต่อไป[79][80] เมื่อสภามีมติเห็นชอบแล้ว ปรีดีก็ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ทั้งที่เพิ่งได้รับโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2489[81] แต่สภาผู้แทนราษฎรก็สนับสนุนให้นายปรีดีดำรงตำแหน่งตามเดิม[82]

กรณีสวรรคต รัชกาลที่ 8 ถูกศัตรูทางการเมืองของปรีดี ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มทหารที่สูญเสียอำนาจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พรรคการเมืองฝ่ายค้าน และกลุ่มอำนาจเก่า[83] ฉวยโอกาสนำมาใช้ทำลายปรีดีทางการเมือง โดยการกระจายข่าวไปตามหนังสือพิมพ์ ร้านกาแฟ และสถานที่ต่าง ๆ รวมทั้งส่งคนไปตะโกนในศาลาเฉลิมกรุงว่า "ปรีดีฆ่าในหลวง"[84] กลายเป็นกระแสข่าวลือจนนำไปสู่การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของท่านในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2489 โดยหลังจากนั้น หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มนายปรีดี ให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน

ต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2489 ภายหลังจากที่ปรีดีลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็ได้รับเชิญจากรัฐบาลหลายประเทศให้ไปเยือนประเทศเหล่านั้น รัฐบาลไทยจึงมอบหมายให้ท่านเป็นหัวหน้าคณะทูตสันถวไมตรีเดินทางรอบโลกเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีและพบปะกับผู้นำนานาประเทศ โดยได้ไปเยือนประเทศจีนเป็นแห่งแรก จากนั้นก็ไปฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน และนอร์เวย์ รวมทั้งสิ้นเก้าประเทศ และกลับมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 รวมเวลาที่ออกไปปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ 3 เดือนเต็ม[85][86]

[แก้] ลี้ภัยรัฐประหาร

ต่อมาในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 คณะรัฐประหาร ประกอบด้วย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ พ.อ.กาจ กาจสงคราม พ.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.อ.ถนอม กิตติขจร พ.ท.ประภาส จารุเสถียร และ ร.อ.สมบูรณ์ (ชาติชาย) ชุณหะวัณ ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ จากรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ด้วยสาเหตุที่รัฐบาลไม่สามารถคลี่คลายคดีสวรรคตลงได้ ประกอบกับการลดบทบาทของกองทัพ และปัญหาทางเศรษฐกิจ[87] หลังจากยึดอำนาจสำเร็จ คณะรัฐประหารนำกำลังทหารพร้อมรถถังบุกยิงทำเนียบท่าช้างวังหน้าซึ่งปรีดีและครอบครัวอาศัยอยู่ แล้วพยายามจะจับกุมตัวปรีดี แต่ท่านก็หลบหนีไปได้ และได้อาศัยฐานทัพเรือสัตหีบเป็นที่หลบภัยอยู่ชั่วระยะหนึ่ง เมื่อพิจารณาเห็นว่ายังไม่พร้อมที่จะต่อต้านคณะรัฐประหาร จึงได้ลี้ภัยการเมืองไปยังประเทศสิงคโปร์ จนถึงปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2491 จึงออกเดินทางต่อไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน[88]

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2492 ปรีดี พนมยงค์ กลับมาประเทศไทยเพื่อทำการยึดอำนาจคืนจากรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในเหตุการณ์ "ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์" เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 แต่กระทำการไม่สำเร็จ (เรียกกันว่า "กบฏวังหลวง") [89] จึงต้องลี้ภัยไปต่างประเทศและไม่ได้กลับประเทศไทยอีกเลย

[แก้] ปัจฉิมวัย

เข้าเยี่ยมประธาน เหมา เจ๋อตุง ณ กรุงปักกิ่ง พ.ศ. 2508

หลายปีที่นายปรีดีลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ ยังมีการกล่าวหาว่านายปรีดีสมคบการปลงพระชนม์ในหลวง รัชกาลที่ 8 อยู่เป็นระยะ ๆ ท่านจึงต้องดำเนินการฟ้องร้องผู้ใส่ความหมิ่นประมาทต่อศาลยุติธรรม[90][91][92][93] ผลปรากฏว่าศาลตัดสินให้ชนะทุกคดี นอกจากนี้ โดยคำพิพากษาของศาลในกรณีฟ้องร้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีสกับพวก ในข้อหาร่วมกันละเมิดสิทธิของโจทก์ ปรีดีจึงได้รับความรับรองจากทางราชการในฐานะคนไทยโดยสมบูรณ์ตามกฎหมายทุกประการ และได้รับเงินบำนาญตลอดจนได้รับหนังสือเดินทางของไทย[94][95][96][10][97][98]

สนทนากับประธาน โฮจิมินห์ รัฐบุรุษแห่งเวียดนาม ณ กรุงฮานอย พ.ศ. 2509

ขณะพำนักอยู่ในประเทศจีน ปรีดีได้มีโอกาสพบปะสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำพรรคและรัฐบาลจีนไม่ว่าจะเป็น ประธานเหมา เจ๋อตง นายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล จอมพลเฉินยี่ นายเติ้ง เสี่ยวผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน นอกจากนี้ยังได้พบปะสนทนากับผู้นำกอบกู้เอกราชของชาติในอินโดจีน อาทิ ประธานโฮจิมินห์ นายกรัฐมนตรีฝ่ามวันดง เจ้าสุวรรณภูมา เจ้าสุภานุวงศ์ และเจ้าสีหนุ โดยเฉพาะมิตรภาพระหว่างนายปรีดีกับประธานโฮจิมินห์นั้น ยืนยาวมาตั้งแต่สมัยที่ท่านผู้นี้ต่อสู้กับฝรั่งเศส[98]

ลอร์ด หลุยส์ เมานท์แบตแทน (Lord Louis Mountbattan) อดีตผู้บัญชาการสูงสุดกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก พระปิตุลาของเจ้าชายฟิลิปส์ ดยุก แห่งเอดินบะระ พระสวามีในสมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบทที่ 2 ได้เชิญให้นายปรีดีกับภรรยาไปเยือนและพำนักที่ปราสาท Broadlands เมืองแฮมป์เชียร์ ประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2513

ต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2513 โจวเอินไหลได้อำนวยความสะดวกให้ปรีดีเดินทางจากประเทศจีนไปยังกรุงปารีส ด้วยความช่วยเหลือจากนายกีโยม จอร์จ-ปีโก (Guillaume Georges- Picot) มิตรเก่าที่มีตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตถาวรของประเทศฝรั่งเศส และโดยได้รับความเห็นชอบจากประธานาธิบดี ชาร์ลส์ เดอ โกลล์ ปรีดีจึงได้พำนักอยู่ ณ ประเทศฝรั่งเศส ในช่วงปลายชีวิตอย่างสันติสุข ท่านสนใจศึกษาพุทธศาสนา โดยเฉพาะหนังสือเรื่อง "กฎบัตรของพุทธบริษัท" จากสำนักโมกขพลาราม ไชยา นั้น นายปรีดีจะพกในกระเป๋าเสื้อนอกติดตัวอยู่ตลอดเวลา ตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

เวลา 11 นาฬิกาเศษ ของวันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ณ บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส ปรีดี พนมยงค์ สิ้นใจอย่างสงบด้วยอาการหัวใจวายขณะกำลังเขียนหนังสืออยู่ที่โต๊ะทำงาน[10]

[แก้] งานเขียน

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ใฝ่หาความรู้ทางด้านวิทยาการต่าง ๆ ทั้งสังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ขณะพำนักอยู่ในประเทศจีน ได้ศึกษาค้นคว้าเพื่อรู้แจ้งเห็นจริงทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติ รวมทั้งผลงานของเมธีทางด้านปรัชญาและสังคมศาสตร์ เช่น มาร์กซ เองเกลส์ เลนิน สตาลิน และเหมาเจ๋อตง ในเชิงเปรียบเทียบสภาพสังคมไทยทุกแง่ทุกมุม ไม่ว่าจะเป็นระบอบเศรษฐกิจ การเมือง ทัศนะสังคม ประวัติศาสตร์ ชนชาติ ศาสนา ขนบธรรมเนียม ประเพณี ฯลฯ แล้วได้เรียบเรียงเป็นบทความ ซึ่งได้ตีพิมพ์ในโอกาสต่อมา

งานเขียนชิ้นสำคัญของท่านที่นำพุทธปรัชญามาวิเคราะห์วิวัฒนาการของมนุษยสังคมคือ "ความเป็นอนิจจังของสังคม" ซึ่งได้รับการตีพิมพ์หลายครั้งและเป็นที่สนใจของผู้ที่ต้องการศึกษาอยู่ตลอดมา เพราะข้อความที่เขียนอันเป็นสัจจะอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทุกยุคทุกสมัย[10]

Cquote1.svg

สิ่งทั้งหลายในโลกนี้เป็นอนิจจัง ไม่มีสิ่งใดนิ่งคงอยู่กับที่ ทุกสิ่งที่มีอาการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้ง…พืชพันธุ์ รุกขชาติ และสัตวชาติทั้งปวง รวมทั้งมนุษยชาติที่มีชีวิตนั้น เมื่อได้เกิดมาแล้วก็เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงโดยเจริญเติบโตขึ้นตามลำดับ จนถึงขีดที่ไม่อาจเติบโตได้อีกต่อไป แล้วก็ดำเนินสู่ความเสื่อมและสลายในที่สุด

Cquote2.svg

ผลงานงานเขียนบางส่วนของนายปรีดี ได้แก่[99]

  • บันทึกข้อเสนอเรื่อง ขุดคอคอดกระ, กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501
  • ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน (Ma vie mouvementee et mes 21 ans d' exil en Chine Populaire)
  • ความเป็นมาของชื่อ “ประเทศสยาม” กับ “ประเทศไทย”
  • จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม
  • ประชาธิปไตย เบื้องต้นสำหรับสามัญชน
  • ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเบื้องต้นกับการร่างรัฐธรรมนูญ
  • ปรัชญาคืออะไร
  • “ความเป็นไปบางประการในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ใน บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์…
  • บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย
  • ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับเอกภาพของชาติและประชาธิปไตย
  • ความเป็นเอกภาพกับปัญหาสามจังหวัดภาคใต้, สหพันธ์นิสิตนักศึกษาชาวปักษ์ใต้แห่งประเทศไทย, 2517
  • อนาคตของเมืองไทยกับสถานการณ์ของประเทศเพื่อนบ้าน, ประจักษ์การพิมพ์, 2518

[แก้] การเชิดชูเกียรติ

อนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์ ที่หน้าตึกโดมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ถนนประดิษฐ์มนูธรรม เป็นถนนเลียบทางพิเศษฉลองรัช (ทางด่วนสายรามอินทรา-อาจณรงค์) มีความยาว 12 กิโลเมตร ตั้งชื่อตามราชทินนามของปรีดี "หลวงประดิษฐ์มนูธรรม"
  • ถนนปรีดี พนมยงค์ มีอยู่ 3 สาย คือที่ถนนสุขุมวิท 71, ถนนใจกลางเมืองพระนครศรีอยุธยา และภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
  • สะพานปรีดี-ธำรง สะพานข้ามแม่น้ำป่าสักอันเป็นทางเข้าออกหลักของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ตั้งตามชื่อคนดีศรีอยุธยาสองท่านคือนายปรีดี พนมยงค์ และ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์
  • วันปรีดี พนมยงค์ ทุกวันที่ 11 พฤษภาคม เป็นวันคล้ายวันเกิดของปรีดี ในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาล เมื่อ ค.ศ. 2000 ปรีดีได้รับการประกาศยกย่องจากยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก และได้มีการบรรจุชื่อไว้ในปฏิทินเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญของยูเนสโก
  • หอสมุดปรีดี พนมยงค์ เป็นหอสมุดกลางของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีเนื้อที่รวมประมาณ 10,000 ตารางเมตร และมีหนังสือจำนวนมากกว่า 7 แสนเล่ม
  • อนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ มีอยู่สองที่คือ บริเวณที่ดินถิ่นกำเนิดของปรีดี จ.พระนครศรีอยุธยา และ ห้องอนุสรณ์สถานบนตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ วิทยาลัยนานาชาติ มีศักดิ์เทียบเท่าหนึ่งคณะในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ คณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์
  • นกปรีดี (Chloropsis aurifrons pridii) เป็นชื่อนกชนิดย่อยของนกเขียวก้านทองหน้าผากสีทอง ที่สถาบันสมิธโซเนียนแห่งสหรัฐอเมริกาตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่นายปรีดี พนมยงค์

[แก้] เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้] เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย

[แก้] เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ 1.0 1.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศตั้งนายกรัฐมนตรี, ตอนที่ ๑๖, เล่ม ๖๓, วันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙, หน้า ๑๑๘
  2. ^ รายนามผู้ดำรงตำแหน่งผู้ประศาสน์การ อธิการบดี และ ผู้รักษาการแทนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เว็บไซต์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เรียกข้อมูลวันที่ 18 พ.ย. 2552
  3. ^ 3.0 3.1 วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ กับขบวนการเสรีไทย, ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ปรีดี-พูนศุข, เรียกข้อมูลวันที่ 10 พ.ย. 2552
  4. ^ นิยม รักษาขันธ์ (นายสีดอกกาว), บันทึกลับเสรีไทยภูพาน, สถาบันราชภัฏสกลนคร, 2543, หน้า 97, 134-139
  5. ^ ประมาณ อดิเรกสาร, ญี่ปุ่นบุกประเทศไทย, สำนักพิมพ์เส้นทาง, 2545, หน้า 59-62, 81
  6. ^ 6.0 6.1 ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, ตอนที่ ๔๕, เล่ม ๖๑, วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๗, หน้า ๗๓๐
  7. ^ 7.0 7.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่อง นายปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐบุรุษอาวุโส, ตอนที่ ๗๐, เล่ม ๖๒, วันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘, หน้า ๖๙๙
  8. ^ ส. ศิวรักษ์, เรื่องนายปรีดี พนมยงค์ ตามทัศนะ ส.ศิวรักษ์, สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2540, หน้า 8
  9. ^ วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, บางหน้าในประวัติศาสตร์ไทย อัตชีวประวัติของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, socialitywisdom.blogspot.com
  10. ^ 10.0 10.1 10.2 10.3 วาณี สายประดิษฐ์, นายปรีดีในต่างแดน, ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ปรีดี-พูนศุข, เรียกข้อมูลวันที่ 10 พ.ย. 2552
  11. ^ ประมาณ อดิเรกสาร, Unseen ราชครู, สื่อวัฏสาร, 2547, ISBN 974-92685-3-9
  12. ^ UNESCO: MS Data Thailand, UNESCO
  13. ^ Asia Week, Asian of the century
  14. ^ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศบริทขุดคลองแลคูนาสยาม, แผ่นที่ ๓๑ , เล่ม ๑๖, วันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๓, หน้า ๔๔๗
  15. ^ นาวี รังสิวรารักษ์, รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ปรีดี พนมยงค์, สำนักพิมพ์ดับเบิ้ลนายน์, 2544, ISBN 974-604-957-7
  16. ^ สุนทรี อาสะไวย์, ประวัติคลองรังสิต : การพัฒนาที่ดินและผลกระทบต่อสังคม พ.ศ. 2431-2457, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2530
  17. ^ ปรีดี พนมยงค์, เรื่องการมีจิตสำนึกอภิวัฒน์ของข้าพเจ้า ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน, สำนักพิมพ์เทียนวรรณ, 2529, หน้า 14
  18. ^ ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร.ปรีดี พนมยงค์, บพิธการพิมพ์, 2493, หน้า 5
  19. ^ เดือน บุนนาค ข้าพเจ้ารู้จักกับท่านปรีดี พนมยงค์, ปรีดีปริทัศน์, 2542, หน้า 3-4, 19
  20. ^ ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์, สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, 2544, หน้า 13-17, ISBN 974-7834-15-4
  21. ^ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศ ตั้งกรรมการกรมร่างกฎหมาย, เล่ม 49, วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2475, หน้า 313
  22. ^ เดือน บุนนาค ข้าพเจ้ารู้จักกับท่านปรีดี พนมยงค์, ปรีดีปริทัศน์, 2542, หน้า 22
  23. ^ เดือน บุนนาค ข้าพเจ้ารู้จักกับท่านปรีดี พนมยงค์, ปรีดีปริทัศน์, 2542, หน้า 7
  24. ^ ทิพวรรณ (บุญทวี) เจียมธีรสกุล, วิทยานิพนธ์เรื่องความคิดทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ : ระยะเริ่มแรก, 2528, หน้า 409-421, 423-424
  25. ^ ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์, สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, 2544, หน้า 38, ISBN 974-7834-15-4
  26. ^ 26.0 26.1 26.2 สุพจน์ ด่านตระกูล, ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ยุค 2475 ที่ถูกบิดเบือน, สถาบันวิทยาศาตร์สังคม, 2536
  27. ^ กำพล จำปาพันธ์. ประวัตศาสตร์การเมืองในระบอบประชาธิปไตย สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๔๗๕ (ตอนที่ ๑). มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน. เรียกข้อมูล 28-01-2553.
  28. ^ 28.0 28.1 วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์, ๑๐๐ ปีของสามัญชน นาม ปรีดี พนมยงค์, นิตยสารสารคดี, ฉบับที่ 182, เมษายน 2543
  29. ^ ชัยพงษ์ สำเนียง เล่าเรื่องอภิวัฒน์ 2475, ประชาไท, 20 มิ.ย. 2552, เรียกข้อมูลวันที่ 10 พ.ย. 2552
  30. ^ สุนทรพจน์ (บางเรื่องของนายปรีดี พนมยงค์) และ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 (ทัศนะของนายทศ พันธุมเสน), คลังเอกสารสาธารณะ Openbase.in.th, เรียกข้อมูลวันที่ 13 พ.ย. 2552
  31. ^ ราชกิจจานุเบกษา, พระพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕, เล่ม ๔๙, วันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕, หน้า ๑๖๖
  32. ^ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕, ตอนที่ ๐ง, เล่ม ๔๙, วันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕, หน้า ๓๑๓๑
  33. ^ ประมาณ อดิเรกสาร, Unseen ราชครู, สื่อวัฏสาร, 2547, หน้า 186, ISBN 974-92685-3-9
  34. ^ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา พุทธศักราช ๒๔๗๖, ตอนที่ ๐ก, เล่ม ๕๐, วันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖, หน้า ๗๗๙
  35. ^ เดือน บุนนาค ข้าพเจ้ารู้จักกับท่านปรีดี พนมยงค์, ปรีดีปริทัศน์, 2542, หน้า 23
  36. ^ 36.0 36.1 วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ กับเศรษฐกิจแห่งประเทศไทย, ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ปรีดี-พูนศุข, เรียกข้อมูลวันที่ 10 พ.ย. 2552
  37. ^ 37.0 37.1 สถาบันวิทยาศาสตร์สังคม (ประเทศไทย), เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม, ศิษย์อาจารย์ฉบับที่ 3, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, 2541
  38. ^ สถาบันวิทยาศาสตร์สังคม (ประเทศไทย), เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม, ศิษย์อาจารย์ฉบับที่ 3, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, 2541, หน้า 11
  39. ^ สถาบันวิทยาศาสตร์สังคม (ประเทศไทย), เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม, ศิษย์อาจารย์ฉบับที่ 3, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, 2541, หน้า 16-17
  40. ^ เฉลิมเกียรติ ผิวนวล, ความคิดทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์, สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2529, หน้า 146-147
  41. ^ ราชกิจจานุเบกษา, สุนทรพจน์ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทางวิทยุกระจายเสียง, ตอนที่ ๐ง, เล่ม ๕๒, วันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๘, หน้า ๑๑๔๐
  42. ^ ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์, สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, 2544, หน้า 49, ISBN 974-7834-15-4
  43. ^ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศ ตั้งกรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการโดยคุณวุฒิ ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. ๒๔๗๖, ตอนที่ ๐ง, เล่ม ๕๑, วันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๗, หน้า ๒๐๕
  44. ^ ปรีดี พนมยงค์ : ชีวิต งาน และธรรมศาสตร์ , สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2529, หน้า 31, 59-60
  45. ^ ปรีดี พนมยงค์ : ชีวิต งาน และธรรมศาสตร์ , สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2529, หน้า 26
  46. ^ สุพจน์ ด่านตระกูล, จากรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ถึงรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์, สำนักพิมพ์สันติธรรม, 2531, หน้า 126
  47. ^ เดือน บุนนาค ข้าพเจ้ารู้จักกับท่านปรีดี พนมยงค์, ปรีดีปริทัศน์, 2542, หน้า 22
  48. ^ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์กับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ปรีดี-พูนศุข, เรียกข้อมูลวันที่ 10 พ.ย. 2552
  49. ^ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ประวัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, www.tu.ac.th
  50. ^ สุพจน์ ด่านตระกูล, จากรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ถึงรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์, สำนักพิมพ์สันติธรรม, 2531, หน้า 133
  51. ^ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การแก้ไขสนธิสัญญากับนานาประเทศเป็นผลสำเร็จนับเป็นความชอบในราชการของชาติควรตราไว้เป็นสำคัญ, ตอนที่ ๐ง, เล่ม ๕๕, วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑, หน้า ๓๗๘๙
  52. ^ สุพจน์ ด่านตระกูล, จากรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ถึงรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์, สำนักพิมพ์สันติธรรม, 2531, หน้า 135
  53. ^ สุพจน์ ด่านตระกูล, จากรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ถึงรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์, สำนักพิมพ์สันติธรรม, 2531, หน้า 142-143
  54. ^ ประมาณ อดิเรกสาร, Unseen ราชครู, สื่อวัฏสาร, 2547, หน้า 185, ISBN 974-92685-3-9
  55. ^ สุพจน์ ด่านตระกูล, จากรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ถึงรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์, สำนักพิมพ์สันติธรรม, 2531, หน้า 144-145
  56. ^ ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร.ปรีดี พนมยงค์, บพิธการพิมพ์, 2493, หน้า 506-520
  57. ^ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติ ธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕, ตอนที่ ๓๐, เล่ม ๕๙, วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕, หน้า ๙๗๑
  58. ^ ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร.ปรีดี พนมยงค์, บพิธการพิมพ์, 2493, หน้า 521-528
  59. ^ พระเจ้าช้างเผือก ถ่ายช้างได้ดีที่สุดในโลก, มูลนิธิหนังไทย, เรียกข้อมูลวันที่ 11 พ.ย. 2552
  60. ^ สุรัยยา (เบ็ญโส๊ะ) สุไลมาน, กระบวนทัศน์สันติวิธีของปรีดี พนมยงค์ กรณีศึกษาเรื่องพระเจ้าช้างเผือก, เรือนแก้วการพิมพ์, 2544, ISBN 974-7834-10-3
  61. ^ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งซ่อมคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, ตอนที่ ๐ก, เล่ม ๕๘, วันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔, หน้า ๑๘๒๑
  62. ^ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, ตอนที่ ๕๒ ก, เล่ม ๖๒, วันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘, หน้า ๕๕๙
  63. ^ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ให้ปฏิบัติตามความเป็นกลาง พุทธศักราช ๒๔๘๒, ตอนที่ ๐ก, เล่ม ๕๖, วันที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒, หน้า ๘๔๗
  64. ^ 64.0 64.1 64.2 ปรีดี พนมยงค์, หลักฐานสำคัญบางประการเกี่ยวกับสถานะสงครามของประเทศไทยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2, อรุณการพิมพ์, 2521
  65. ^ ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2, สารานุกรมสำหรับเยาวชนฯ เล่ม 4, เว็บไซต์เครือข่ายกาญจนาภิเษก, เรียกข้อมูลวันที่ 11 พ.ย. 2552
  66. ^ เอกสารประวัติศาสตร์, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม, โครงการสรรพสาส์น สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, 2545, หน้า 14, หน้า 114-115, ISBN 974-7834-35-9
  67. ^ สุพจน์ ด่านตระกูล, จากรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ถึงรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์, สำนักพิมพ์สันติธรรม, 2531, หน้า 195-200
  68. ^ วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, บางหน้าในประวัติศาสตร์ไทย อัตชีวประวัติของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, สำนักพิมพ์แสงดาว, 2549, หน้า 251, ISBN: 974-9818-83-0
  69. ^ ทศ พันธุมเสน, จินตนา ยศสุนทร จากมหาสงครามสู่สันติภาพ, คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปีชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, หน้า 106-107
  70. ^ เอกสารประวัติศาสตร์, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม, โครงการสรรพสาส์น สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, 2545, หน้า 18-19, ISBN 974-7834-35-9
  71. ^ วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, นายปรีดี พนมยงค์ กับปฏิบัติการเสรีไทย, คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ภาคเอกชน, 2543, หน้า 47-56, ISBN: 974-7833-69-7
  72. ^ จดหมายของนายปรีดี พนมยงค์ ถึง พระพิศาลสุขุมวิท เรื่องหนังสือจดหมายเหตุของเสรีไทยเกี่ยวกับปฏิบัติการในแคนดี นิวเดลฮี และ สหรัฐอเมริกา, อมรินทร์การพิมพ์, 2522
  73. ^ United States Department of State, Foreign relations of the United States : diplomatic papers, 1945, Volume VI, 1945, pp.1278-1279
  74. ^ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สันติภาพ, ตอนที่ ๔๔ก, เล่ม ๖๒, วันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘, หน้า ๕๐๓
  75. ^ สุพจน์ ด่านตระกูล, จากรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ถึงรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์, สำนักพิมพ์สันติธรรม, 2531, หน้า 202-209
  76. ^ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, 16 สิงหาคม 2488 ประวัติศาสตร์ที่ "ให้จำ" กับ "ให้ลืม", ประชาไท, เรียกข้อมูลวันที่ 17 พ.ย. 2552
  77. ^ สุพจน์ ด่านตระกูล, ปรีดี พนมยงค์ กับ ในหลวงอานันท์ และกรณีสวรรคต, สถาบันวิทยาศาสตร์สังคม (ประเทศไทย), 2541, หน้า 33
  78. ^ ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร.ปรีดี พนมยงค์, บพิธการพิมพ์, 2493, หน้า 606
  79. ^ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศ เรื่อง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชทรงสืบราชสันตติวงศ์ , ตอนที่ ๓๙ก ฉบับพิเศษ, เล่ม ๖๓, วันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙, หน้า ๔
  80. ^ สุพจน์ ด่านตระกูล, ม.จ. ศุภสวัสดิ์ฯ รับสั่งว่า ในหลวงและสมเด็จพระราชชนนีไม่ทรงเชื่อว่า...ปรีดีฯสมคบปลงพระชนม์ ร.8, สำนักพิมพ์สันติธรรม, 2529, หน้า 43-44, 46
  81. ^ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศตั้งนายกรัฐมนตรี ฉบับพิเศษ, ตอนที่ ๓๘, เล่ม ๖๓, วันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙, หน้า ๔๓
  82. ^ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศตั้งนายกรัฐมนตรี ฉบับพิเศษ, ตอนที่ ๔๒, เล่ม ๖๓, วันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙, หน้า ๑
  83. ^ ประมาณ อดิเรกสาร, Unseen ราชครู, สื่อวัฏสาร, 2547, หน้า 260, ISBN 974-92685-3-9
  84. ^ ส. ศิวรักษ์, เรื่องนายปรีดี พนมยงค์ ตามทัศนะ ส.ศิวรักษ์, สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2540, หน้า 54 - 55
  85. ^ วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, บางหน้าในประวัติศาสตร์ไทย อัตชีวประวัติของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, แสงดาว, 2549, หน้า 409-416, ISBN 974-9818-83-0
  86. ^ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์, 100 ปี ของ สามัญชนนาม ปรีดี พนมยงค์, นิตยสารสารคดี, เรียกข้อมูลวันที่ 28 ม.ค. 53
  87. ^ ประมาณ อดิเรกสาร, Unseen ราชครู, สื่อวัฏสาร, 2547, ISBN 974-92685-3-9
  88. ^ ประทีป สายเสน, กบฎวังหลวงกับสถานะของปรีดี พนมยงค์, สำนักพิมพ์อักษรสาส์น, 2532, หน้า 50-60, ISBN: 974-7248-22-7
  89. ^ ประทีป สายเสน, กบฏวังหลวงกับสถานะของปรีดี พนมยงค์, สำนักพิมพ์อักษรสาส์น, 2532, ISBN 974-7248-22-7
  90. ^ สำเนาคำฟ้อง, เรื่องละเมิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและหมิ่นประมาทโดยใส่ความทำให้โจทก์เสียหาย ความแพ่งระหว่างนายปรีดี พนมยงค์ โดย นายวิชา กันตามระ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์กับบริษัทสยามรัฐ จำเลยที่ 1, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จำเลยที่ 2 และคนอื่นๆ, จัดพิมพ์โดย นายทิม ภูริพัฒน์ ธนบุรี : มีชีพกิจการพิมพ์, 2513
  91. ^ สำนาคำฟ้อง, เรื่องละเมิด หมิ่นประมาท ไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของโจทก์, ความแพ่ง ระหว่างนายปรีดี พนมยงค์ โดยนายปาล พนมยงค์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ กับนายรอง ศยามานนท์ จำเลยที่ 1, บริษัทสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำเลยที่ 2 และบริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำเลยที่ 3, 2521 (คดีหมายเลขดำ ที่ 4226/2521)
  92. ^ สำเนาคำฟ้อง, เรื่องละเมิด หมิ่นประมาทความแพ่งระหว่างนายปรีดี พนมยงค์ โดยนายปาล พนมยงค์ ผู้รับมอบอำนาจ กับนายชาลี เอี่ยมกระสินธ์กับพวก จำเลย, คำตัดสินใหม่ กรณีสวรรคต ร.8 โดยคำพิพากษาศาลแพ่ง, 2522
  93. ^ ปรีดี พนมยงค์ ผู้บริสุทธิ์ (คำฟ้อง คดีหมายเลขดำที่ ๔๒๒๖/๒๕๒๑). --กรุงเทพฯ : กฤตญาดา, 2550. ISBN 978-974-85063-2-6
  94. ^ สัจจา วาที, ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เปิดเผยต่อศาล นายปรีดี พนมยงค์ คือผู้บริสุทธิ์, สถาบันวิทยาศาสตร์สังคม
  95. ^ วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, บางหน้าในประวัติศาสตร์ไทย อัตชีวประวัติของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, socialitywisdom.blogspot.com
  96. ^ สุพจน์ ด่านตระกูล, [ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับท่านปรีดีฯและกรณีสวรรคต], สารคดี, 2543, เรียกข้อมูลวันที่ 11 พ.ย. 2552
  97. ^ สุพจน์ ด่านตระกูล, ม.จ. ศุภสวัสดิ์ฯ รับสั่งว่า ในหลวงและสมเด็จพระราชชนนีไม่ทรงเชื่อว่า...ปรีดีฯสมคบปลงพระชนม์ ร.8, สำนักพิมพ์สันติธรรม, 2529, หน้า 46, 69
  98. ^ 98.0 98.1 ปรีดี พนมยงค์ ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน , สำนักพิมพ์เทียนวรรณ, 2529
  99. ^ [บรรณานุกรมงานของปรีดี พนมยงค์], ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ปรีดี-พูนศุข, เรียกข้อมูลวันที่ 11 พ.ย. 2552
  100. ^ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ นพรัตนราชวราภรณ์, ตอนที่ ๗๐ ง, เล่ม ๖๒, ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘, หน้า ๑๙๐๐
  101. ^ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ปฐมจุลจอมเกล้า, ตอนที่ ๗๐ ง, เล่ม ๖๒, ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘, หน้า ๑๙๐๐
  102. ^ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก, ตอนที่ ๐ ง, เล่ม ๕๘, ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔, หน้า ๑๙๔๕
  103. ^ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มหาวชิรมงกุฎ, ตอนที่ ๐ ง, เล่ม ๕๔, ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๐, หน้า ๒๒๑๒
  104. ^ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, ตอนที่ ๐ ง, เล่ม ๕๕, ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑, หน้า ๒๙๕๘
  105. ^ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มราชการแผ่นดิน, ตอนที่ ๐ ง, เล่ม ๕๕, ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑, หน้า ๔๐๓๒
  106. ^ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ, ตอนที่ ๐ ง, เล่ม ๕๒, ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๘, หน้า ๑๓๘
  107. ^ ปรีดี พนมยงค์. Ma Vie Movementee et mes 21 Ans D' Exil en Chine Populaire, แปลและเรียบเรียงโดย วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร จากหนังสือ บางหน้าของประวัติศาสตร์ ประสบการณ์ของบุคคลสำคัญต่าง ๆ ในอดีต -- กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์พิทยาคาร, พ.ศ. 2522
  108. ^ ปรีดี พนมยงค์ ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน , สำนักพิมพ์เทียนวรรณ, 2529, หน้า 9
  109. ^ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, ตอนที่ ๐ ง, เล่ม ๕๖, ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒, หน้า ๑๗๙๘
  110. ^ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, ตอนที่ ๐ ง, เล่ม ๕๖, ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒, หน้า ๒๕๕๖
  111. ^ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, ตอนที่ ๐ ง, เล่ม ๕๖, ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๒, หน้า ๒๖๕๐
  112. ^ ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร.ปรีดี พนมยงค์, บพิธการพิมพ์, 2493, หน้า 741

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

Commons:Category
คอมมอนส์ มีภาพและสื่ออื่นๆ เกี่ยวกับ:
ปรีดี พนมยงค์
สมัยก่อนหน้า ปรีดี พนมยงค์ สมัยถัดไป
ควง อภัยวงศ์ 2leftarrow.png Seal Prime Minister of Thailand.png
นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย
(24 มีนาคม พ.ศ. 248923 สิงหาคม พ.ศ. 2489)
2rightarrow.png พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์)